พลังชุมชนสู่สันติภาพชายแดนใต้
เวทีวิชาการ “พลังชุมชนสู่สันติภาพชายแดนใต้”
17-18 ธันวาคม 2555 ณ หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา
สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) จัดเวทีวิชาการ ““พลังชุมชนสู่สันติภาพชายแดนใต้” ในวันที่ 17-18 ธันวาคม 2555 ณ หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เพื่อนำเสนอและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานพัฒนาเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนโดยกระบวนการ CDD (Community Driven Development) และการเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาสังคม ผ่านบทเรียนการทำงานโครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูชายแดนใต้ กับ ชุมชน เครือข่ายประชาสังคม และหน่วยงานภาคีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อยกระดับ เป้าหมายในการสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคม สร้างความเชื่อมั่นต่อกันของคนในสังคมที่จะนำไปสู่การสร้างสันติภาพและการไม่ใช้ความรุนแรงในพื้นที่ความขัดแย้ง
จากประสบการณ์ทำงานของโครงการฯ ที่ผ่านมา 3 ปี ร่วมกับการหารือกับหน่วยงานภาคีต่างๆ มีข้อเสนอแนะ แนวทางเพื่อการพัฒนาและสร้างพลังชุมชน และประชาสังคม ดังนี้
งานพัฒนาชุมชน อาสาสมัครและแกนนำในชุมชน
ชุมชน คือ พื้นที่ปฏิบัติการที่สำคัญที่สุด ที่อยู่ติดกับชีวิตจริงของประชาชน ดังนั้น คุณภาพของกลไกการพัฒนาที่ดีในระดับชุมชน ย่อมมีผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิต ความไว้วางใจ และความเชื่อมั่นต่อกันและกันของผู้คน
โครงการพัฒนาในระดับชุมชน ที่รัฐให้การสนับสนุน เกือบทั้งหมดดำเนินการผ่านโครงสร้างเดิมซึ่งมีข้อจำกัดอย่างมากในการกระจายผลประโยชน์ มีคำถามถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลเสมอ และไม่นำไปสู่การสร้างความไว้วางใจ ความเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน ประสบการณ์ในการทำงานตลอด 3 ปีที่ผ่านมา จึงมีข้อคิดเห็นและข้อเสนอ ดังนี้
· รัฐและหน่วยงานสนับสนุน ควรตระหนักว่า ชุมชนไม่ได้มีความเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่ได้มีความเหมือนกัน แต่มีโครงสร้าง และมีการใช้อำนาจที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมและไม่เป็นธรรมเสมอ
· การทำงานที่เน้นการมีส่วนร่วมของคนเล็กๆ ในชุมชน เช่น อาสาสมัคร แกนนำที่ไม่เป็นทางการ ได้แสดงให้เห็นว่า คนในชุมชนมีความพึงพอใจอย่างมาก เพราะสามารถตอบสนองต่อความต้องการได้ ซึ่งนำไปสู่การสร้างความไว้วางใจของคนในชุมชนได้
· การบริหารจัดการ กิจกรรมและการเงินที่โปร่งใส เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะอย่างสม่ำเสมอให้รู้ทั่วกัน เป็นเหตุที่ทำให้เกิดความไว้วางใจและความเชื่อมั่นต่อกันอย่างมาก
· การพิจารณางบประมาณสำหรับโครงการในระดับชุมชน นอกจากจะคำนึงถึงความสำคัญเร่งด่วนแล้ว ยังจำเป็นต้องคำนึงถึงการกระจายงบประมาณและการได้รับประโยชน์ไปสู่กลุ่มต่างๆ อย่างทั่วถึง ทั้งนี้เพื่อมิให้งบประมาณ กลายเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งเพิ่มเติมในชุมชน
บทบาทผู้หญิง
ประสบการณ์ในการทำงานของพวกเรา พบว่า กลุ่มผู้หญิงมีความกระตือรือร้นในการทำงาน มีความห่วงใยทุกข์สุขของคนในครอบครัว คนในชุมชน และต่อส่วนรวม แต่ที่ผ่านมา ยังขาดโอกาสและการสนับสนุนที่จะพัฒนาศักยภาพและความสามารถในการทำงานเพื่อส่วนรวมมากเพียงพอ จึงมีข้อเสนอ ดังนี้
· ควรเห็นถึงความสำคัญของผู้หญิงในการมีส่วนร่วมในงานพัฒนาและการสร้างสันติภาพ
· ควรตระหนักว่า ผู้หญิงที่เป็นภรรยาและมารดามีภาระงานในบ้าน ที่ต้องดูแลสมาชิกในครัวเรือนเป็นลำดับแรก การทำงานพัฒนาเป็นสิ่งที่เพิ่มขึ้นมาซึ่งเป็นความเต็มใจและพร้อมเสียสละของผู้หญิง ดังนั้นควรคำนึงถึงความจำเป็นในการแบ่งเบาภาระภายในบ้านและครอบครัว เพื่อสนับสนุนการทำงานเพื่อส่วนรวมของผู้หญิง
· ควรตระหนักถึงอิทธิพลของวัฒนธรรมและบทบาทที่ผู้หญิงถูกคาดหวัง ซึ่งอาจจำกัดการมีส่วนร่วมในการทำงานพัฒนาและสันติภาพ
· รัฐและหน่วยงานสนับสนุนควรสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพและความสามารถของผู้หญิง ตามความสนใจและความถนัดที่เกี่ยวข้องกับการ ศึกษาเรียนรู้ การทำมาหากิน ด้านสุขภาวะ และการเสริมสร้างสันติภาพ
· เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายผู้หญิง เพื่อสร้างพื้นที่ เปิดโอกาสการเรียนรู้ และยกระดับการทำงานให้กว้างขวางมากขึ้น
· ตระหนักและเห็นความสำคัญของการสร้างคนรุ่นใหม่ เยาวชนในพื้นที่ เข้ามาทำงานเพื่อส่วนรวมและเป็นตัวแทนของคนรุ่นปัจจุบัน เพื่อสานต่อให้งานมีความต่อเนื่อง
เยาวชน
เยาวชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ยังถูกมองด้วยอคติ และเพ่งเล็งว่าเป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบ เป็นเด็กมีปัญหาติดยาเสพติด จึงขาดโอกาสในการพัฒนาที่เหมาะสม สอดคล้องกับศักยภาพที่แท้จริงที่จะเอื้อให้ เติบโตอย่างมีคุณภาพ เป็นพลังแห่งอนาคต
แต่จากการทำงานของพวกเรา พบว่า กลุ่มเยาวชนจำนวนมากมีความสนใจและห่วงใยปัญหาของชุมชนและสังคม หากได้รับโอกาสเยาวชนก็สามารถพัฒนาตนเอง และทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ เป็นประโยชน์ต่อสังคมได้เป็นอย่างดี จึงมีข้อเสนอ ดังนี้
· รัฐและหน่วยงานสนับสนุนต้องลดอคติ ความหวาดระแวง ความไม่ไว้วางใจ และไม่ตีความอย่างเหมารวมว่าเยาวชนเป็นแนวร่วม มีปัญหาติดยาเสพติดเหมือนกันทั้งหมด ควรเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้แสดงออกในเชิงสร้างสรรค์ตามศักยภาพและความต้องการที่แท้จริง
· รัฐและหน่วยงานสนับสนุนควรตระหนักว่า กลุ่มเยาวชนต่างพัฒนาตนเองขึ้นมาจาก ความสนใจในประเด็นเฉพาะ ซึ่งทำให้เขามีความรู้และความสามารถในประเด็นนั้นๆ ดังนั้นการส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มเยาวชนควรส่งเสริมตามความถนัด และความสนใจ และสร้างกระบวนการที่เอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มอื่นๆ ที่ทำงานแตกต่างกันไป
· ในการทำงานเป็นกลุ่มเยาวชนที่เข้มแข็ง ต้องลงทุนเรื่องการพัฒนาเยาวชน เพื่อให้มีศักยภาพและความสามารถได้อย่างเต็มที่ เพราะความยั่งยืนของกลุ่มต้องมาจากศักยภาพของเยาวชนเอง
· รัฐและหน่วยงานสนับสนุนควรตระหนักว่า ควรให้โอกาสและระยะเวลาในการสนับสนุนการทำงานของเยาวชนที่ต่อเนื่องอย่างน้อย5 ปี เพื่อทำให้เยาวชนได้รับการพัฒนาและฝึกทำงานอย่างเต็มที่
· การสนับสนุนงานเยาวชนควรมีระบบหรือกลไกในการสนับสนุน ให้คำปรึกษาที่ไม่ทำให้เยาวชนรู้สึกถูกควบคุม หรือครอบงำ เพื่อให้เยาวชนยังคงมีอิสระทางความคิดและการทำงาน
ภาคประชาสังคมและเครือข่ายประชาสังคม
ภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน สมาคม มูลนิธิต่างๆ เป็นต้น ในฐานะกลไกกลางที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้ง ไม่ถืออาวุธ และไม่ใช้อำนาจควบคุม แต่กลับมีบทบาทสำคัญในการทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิต สนับสนุนแนวทางที่ไม่ใช้ความรุนแรงกับคนที่มีความเห็นต่าง โดยสนับสนุนกระบวนการและการพูดคุยเพื่อสร้างสันติภาพระหว่างคู่ขัดแย้ง พวกเราเห็นควรต้องได้รับการส่งเสริมและพัฒนาเพิ่มเติม ดังนี้
· ควรตระหนักว่า บุคคลที่ทำงานในองค์กรภาคประชาสังคมจำนวนมากทำงานในฐานะอาสาสมัคร ที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มคนด้อยโอกาสและไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคม
· องค์กรภาคประชาสังคม ต้องพัฒนาศักยภาพคนรุ่นใหม่ในการทำงานให้มากขึ้นและต่อเนื่อง ซึ่งคนรุ่นใหม่ต้องทำงานด้วยความมุ่งมั่น มีจิตวิญญาณสาธารณะ จึงควรบ่มเพาะการทำงานที่เป็นเสมือนการทำงานเพื่อส่วนรวมตามนัยยะทางศาสนา
· เครือข่ายประชาสังคมต้องขยายฐานการทำงานทั้งในเชิงความหลากหลายของกลุ่ม องค์กร และเชื่อมโยงสู่ชุมชน เพื่อขยายพื้นที่กลางให้มีพลังต่อรองและกดดันผู้ใช้ความรุนแรงทุกฝ่าย
· รัฐและหน่วยงานสนับสนุนควรส่งเสริมและสนับสนุนให้เครือข่ายภาคประชาสังคมมีความรู้ ความสามารถ ที่จะทำงานในกระบวนการสร้างสันติภาพอย่างต่อเนื่อง
· การจัดตั้งกองทุนโดยการระดมเงินทุนจากภายในและจากแหล่งทุนภายนอก โดยพัฒนาศักยภาพองค์กรในแง่การบริหารเงินทุน และการบริหารจัดการองค์กรที่เป็นระบบ เพื่อให้ภาคประชาสังคมสามารถพึ่งตนเองได้ในระยะยาว
Be the first to comment on "พลังชุมชนสู่สันติภาพชายแดนใต้"