พลังสาธารณะ กับการจัดการปัญหาลุ่มน้ำ

ปัจจุบันการบุกรุกทำลายป่าได้ทวีความรุนแรงขึ้นจนทำให้พื้นที่ป่าไม้ลดลงถึงจุดวิกฤตส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศลุ่มน้ำ ทำให้ความสมดุลทางธรรมชาติสูญเสียไป ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย อาทิ ภัยแล้ง น้ำท่วม มลพิษ และ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำทั้งตอนบนและตอนล่าง…

 

ความสำคัญในการจัดการลุ่มน้ำ

ปัจจุบันการบุกรุกทำลายป่าได้ทวีความรุนแรงขึ้นจนทำให้พื้นที่ป่าไม้ลดลงถึงจุดวิกฤตที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศลุ่มน้ำ ทำให้ความสมดุลทางธรรมชาติสูญเสียไป ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย อาทิ ภัยแล้ง น้ำท่วม มลพิษ และ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำทั้งตอนบนและตอนล่าง ปัญหาเหล่านี้ได้ขยายตัวออกไปเกือบทุกพื้นที่

ประเด็นสำคัญของความขัดแย้ง คือ การขาดแคลนน้ำที่ใช้ในการอุปโภค บริโภค รวมทั้งคุณภาพของน้ำลดลง ทำให้เกิดความเดือดร้อนของชุมชนที่อาศัยอยู่ทางตอนล่างของลุ่มน้ำ จึงจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ โดยใช้หลักการจัดการลุ่มน้ำ ที่คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง การแก้ปัญหาโดยเน้นที่มาตรการทางกฎหมายอย่างเดียว ไม่สามารถแก้ปัญหาการบุกรุกทำลายป่าได้ ต้องมีมาตรการเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว และ ป้องกันไม่ให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้นอีก ด้วยการจัดการอย่างเป็นระบบ โดยทุกหน่วยงานของภาครัฐ และเอกชนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และองค์กรชุมชนต่างๆ ในพื้นที่ รวมทั้งการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนแก้ไขปัญหา เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาร่วมกันของรัฐและชุมชน การแก้ไขปัญหาต่างๆ จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อ ชุมชนพร้อมใจที่จะเข้ามามีส่วนร่วม

ความหมายของลุ่มน้ำ และ การจัดการลุ่มน้ำ

ลุ่มน้ำ หมายถึงหน่วยของพื้นที่ซึ่งล้อมรอบด้วยสันปันน้ำ เป็นพื้นที่รับน้ำฝนของแม่น้ำสายหลักในลุ่มน้ำนั้นๆ เมื่อฝนตกลงมาในพื้นที่ลุ่มน้ำ น้ำจะไหลลงสู่ลำธารสายย่อยๆ(sub-order) แล้วรวมกันออกสู่ลำธารสายใหญ่และรวมกันออกสู่แม่น้ำสายหลัก(mainstream) จนไกลออกปากน้ำ(Out let) ในที่สุด”

การจัดการลุ่มน้ำหมายถึงการจัดการพื้นที่หนึ่งพื้นที่ใด ที่มีขอบเขตที่แน่ชัด โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ได้น้ำที่มีปริมาณเหมาะสม (quantity) คุณภาพดี (quality) และมีระยะเวลาการไหล (timing) ตลอดทั้งปีอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งสามารถควบคุมเสถียรภาพของดินและการใช้ทรัพยากรอื่น ๆ ในพื้นที่นั้น

 

ตัวอย่างสภาพปัญหาลุ่มน้ำ


แม่น้ำปราจีนฯ จ.ปราจีนบุรีเกิดจากการรวมของแควพระปรงและแควหนุมานบริเวณ อำเภอกบินทร์บุรีและประจันตคาม โดยไหลไปทางตะวันตกเข้าสู่เขตอำเภอเมืองปราจีนบุรี และไหลไปรวมตัวกับแม่น้ำนครนายกเป็นแม่น้ำบางประกงมีความยาวประมาณ 68 กิโลเมตร แม่น้ำปราจีนบุรีไหลผ่าน 6 อำเภอ รวม 19 ตำบล มีเพียง 1 อำเภอเท่านั้นที่ไม่ไหลผ่าน คือ อำเภอศรีมโหสถ แม่น้ำปราจีนบุรีเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยง คนปราจีนฯ ทั้งอุปโภคและบริโภค กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ มีทั้ง ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรที่ทำนา กลุ่มผู้เลี้ยงปลากระชัง ตลอดจนคนเล็กคนน้อยที่หาปลา ตกกุ้งในแม่น้ำ

สภาพปัญหา ในขณะนี้แม่น้ำปราจีนกำลังวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นที่ต้นน้ำอ.ประจันตคามที่เผชิญปัญหาน้ำท่วม แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำเนื่องกักเก็บน้ำไว้ไม่ได้ ที่นาดีบริเวณต้นน้ำ กำลังสร้างโรงงานแป้งมัน ขณะที่บริเวณกลางน้ำที่ตำบลท่างามชาวนาไม่มีน้ำที่จะทำนา เกิดการแย่งน้ำกันขึ้น ส่วนที่ปลายน้ำที่ ต.บ้านสร้าง เกิดน้ำเสีย วิกฤตปลาตายลอยหัวเกลื่อนแม่น้ำ ภาวะน้ำเค็มหนุนขึ้นมาจากแปดริ้ว ที่รุนแรงขึ้น ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำจืดในการอุปโภคบริโภค

ปฏิบัติการโครงการชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ โดย ศูนย์พัฒนากิจกรรมภาคพลเมืองปราจีนบุรี มีพื้นที่การดำเนิน การ ต้นน้ำที่ ประจันตคาม นาดี กลางน้ำ ที่ตำบลท่างาม อำเภอเมือง ปลายน้ำ ที่ตำบลบ้านสร้าง ตำบลบางแตน อำเภอบ้านสร้าง

เลี้ยงปลาในกระชัง


แม่น้ำปราจีน


ผลจากการดำเนินการ
จากการทำให้ กลุ่มคนต่าง ๆ ซึ่งเป็นผู้ใช้ประโยชน์โดยตรงจากแม่น้ำ ลุกขึ้นมาเป็นเจ้าของปัญหาและร่วมกันหาแนวทางแก้ไข โดยใช้ข้อมูลความรู้ ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมไม่ว่าจะเป็นการร่วมกันกำหนดปัญหา และหาทางออก ทำให้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเนื่องจากการใช้ทรัพยากรบรรเทาเบาบางลง คนทำนาที่ท่างามไม่ต้องแย่งน้ำกัน เมื่อเกิดข้อตกลงร่วมกัน” “ที่บ้านสร้าง กลุ่มปลากระชัง กลุ่มนา และโรงงาน ที่ต่างก็กล่าวหาซึ่งกันและกันว่าเป็นสาเหตุของปัญหาน้ำเน่าเสียในแม่น้ำ คลายความขัดแย้งกัน เมื่อเกิดการพูดคุยและแลกเปลี่ยนข้อมูลหาข้อเท็จจริงร่วมกัน” “ในพื้นที่ตำบลท่างาม เกิดข้อตกลงร่วมในการจัดการน้ำและนำเสนอ/ผลักดันให้อยู่ในแผนขององค์กรปกครองท้องถิ่น ” “เกิดการทำงานร่วมกันของกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 6 ลุ่มน้ำตะวันออก และอนุกรรมการลุ่มน้ำบางปะกง ปราจีนบุรี และโตนเลสาป”

แม่น้ำลี้ จ.ลำพูน แม่น้ำลี้ เป็นแม่น้ำสายเดียวที่มีทั้งต้นน้ำและปลายน้ำอยู่ในจังหวัดลำพูน โดยมีต้นน้ำอยู่ที่ดอยสบเทิม บ้านหนองหลัก อ.ทุ่งหัวช้าง และปลายน้ำหรือสบลี้ที่แม่ลี้จรดแม่น้ำปิงที่บ้านวังสะแกง กิ่งอ.เวียงหนองล่อง ตลอดสายน้ำลี้ 180 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ทางการเกษตร 6 อำเภอคือ อ.ทุ่งหัวช้าง, อ.ลี้, อ.บ้านโฮ่ง, อ.เวียงหนองล่องและพื้นที่บางส่วนของ อ.แม่ทา และ อ.ป่าซาง

สภาพปัญหา ในปัจจุบันแม่น้ำลี้มีปัญหา น้ำแล้ง หนี้เพิ่ม ป่าลดเพราะทรัพยากรป่าไม้ถูกทำลาย การแก้ปัญหาด้วยวิธีการสมัยใหม่ โดยระบบและวิธีการของภาครัฐ อาทิ การสร้างเขื่อนขนาดเล็ก การทำฝายกั้นน้ำคอนกรีตแทนฝายไม้ การขุดลอกทรายจากแม่น้ำ อย่างละเลยวิถีแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่น


ประเพณีแห่ช้างเผือก

ปฏิบัติการโครงการชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ ร่วมดำเนินการกับ 16 องค์กรเครือข่าย ทั้งภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรชุมชน ให้ คนลุ่มน้ำลี้ ประกอบด้วย องค์กรท้องถิ่น ผู้นำหมู่บ้าน ชุมชน พระสงฆ์ ปราชญ์ชาวบ้าน องค์กรเอกชน เจ้าหน้าที่รัฐ ประชาชนและเยาวชน จัดเวทีพูดคุยสภาพปัญหา น้ำแล้ง หนี้เพิ่ม ป่าลด และเห็นพ้องร่วมกันในการนำภูมิปัญญาดั้งเดิมมาสืบสานเชื่อมต่อเพื่อแก้ปัญหาสาธารณะในปัจจุบัน อันเป็นที่มาของการฟื้นคืน ประเพณีแห่ช้างเผือก ร่วมกันตลอดสายน้ำ เมื่อวันที่ 1 14 มิถุนายน 2548 เริ่มที่ปลายน้ำลี้ที่ อ.เวียงหนองล่อง ผ่าน อ.บ้านโฮ่ง อ.ลี้ สิ้นสุดที่ต้นน้ำลี้ ดอยสบเทิม


ผลจากการดำเนินการ
การริเริ่มและรื้อฟื้นประเพณีแห่ช้างเผือกตลอดสายน้ำลี้ นอกจากจะเป็นการฟื้นฟู และสืบสานประเพณีการแห่ช้างเผือกซึ่งขาดหายไปนานหลายสิบปีแล้ว ยังเป็นการใช้คุณค่าแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่นปลุกจิตสำนึก คนลำพูนจน เกิดการจัดตั้ง คณะทำงานพัฒนาแม่น้ำลี้ภาคประชาชนร่วมมือกัน แก้ไขปัญหาแม่น้ำลี้ อย่างจริงจัง เป็นระบบ อย่างยั่งยืน ด้วยพลังประชาชน

แม่น้ำเลย จ.เลย แม่น้ำเลยมีต้นกำเนิดจากเขาก๊อกซาก ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ที่ระดับความสูงประมาณ 1,500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล เป็นแม่น้ำสายหลักของจังหวัดเลย รวมระยะทางประมาณ 321 กิโลเมตร มีพื้นที่ลุ่มน้ำประมาณ 4,010 ตารางกิโลเมตร เป็นสายเลือดใหญ่ของชาวเลย 4 อำเภอ คือ ภูหลวง วังสะพุง เมือง และเชียงคาน มีประชาชนกว่า 14,000 ครัวเรือน มากกว่า 60,000 คน ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำเลย มีวัด โรงเรียน ศาลเจ้าพ่อ ดอนปู่ตา มีวัฒนธรรมท้องถิ่น รูปแบบการทำมาหากิน เครื่องมือจับสัตว์น้ำ ความเชื่อ วัฒนธรรม และอื่นๆ จำนวนมาก ที่ก่อเกิดมาจากแม่น้ำเลยสายนี้


สภาพปัญหา
มีคนบางกลุ่มที่ไม่ใส่ใจใยดี ต่อความเป็นอยู่ของแม่น้ำเลย ทิ้งขยะ ปล่อยน้ำเสีย ทั้งโดยอ้อม และโดยตรง ทั้งโดยเจตนา และโดยไม่เจตนา รุมทึ้งเอาประโยชน์จากแม่น้ำ ไม่ว่าจะเป็นการดูดทราย การสูบน้ำไปใช้ในการผลิต ผ่านวาทะ การใช้ประโยชน์และการพัฒนา จนเกิดน้ำท่วมเมืองเลยในปี 2545 ที่เห็นว่าต้อง จัดการ กับแม่น้ำเลย ด้วยการสร้างเขื่อน กั้นฝาย ขุดลอก โดยคิดว่า น่าจะ ทำให้น้ำหยุดท่วมอย่างยั่งยืน แต่กลับทำให้เกิดปัญหา เช่น เขื่อนหินทิ้งที่ทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนไป คือ ทำให้น้ำหน้าเขื่อนลึก สัตว์น้ำลดลง พฤติกรรมการจับสัตว์น้ำของชาวบ้านก็เปลี่ยนไป ผู้สูงอายุ และผู้หญิง ไม่สามารถหากินได้ พื้นที่ปลูกผักริมน้ำในฤดูแล้งถูกน้ำท่วม ทรายที่ชาวบ้านเคยนำไปก่อสร้างได้อย่างอิสระหายไป ต้องซื้อจากร้านวัสดุก่อสร้างแทน นอกจากนี้ยังมีผลกระทบจากอุบัติเหตุเด็กจมน้ำมากขึ้น

ปฏิบัติการโครงการชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ จังหวัดเลย กระตุ้นให้ผู้คนในภาคส่วนต่างๆ ของจังหวัดเลย ออกมาสนใจ มีส่วนร่วม เอาธุระ กับการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในท้องถิ่นตนเอง ได้อาศัยสื่อวิทยุชุมชน กระบวนการสาธารณะ และภาคีพันธมิตร เครือข่ายประชาสังคม และการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เป็นหัวใจหลักในการสร้างความตระหนัก และการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้น


ผลจากการดำเนินการ
จากการดำเนินการในหลายด้านหลายมิติ ก่อให้เกิดการพยายามจัดดำเนินการกลไก การเฝ้าระวัง ดูแล รักษา คุณภาพของแม่น้ำหมัน แม่น้ำเลย การเคลื่อนงานด้านป่าชุมชน การอนุรักษ์ฟื้นฟู การรณรงค์ เรื่องแม่น้ำ การระดมทุน การทำกลุ่มออมทรัพย์ ฯลฯ

 

คลองกะแดะ จ.สุราษฏร์ธานี

สภาพปัญหา วันนี้ลุ่มน้ำสายต่างๆ ใน จ.สุราษฎร์ฯ อยู่ในภาวะวิกฤตมีทั้งขยะ น้ำเสีย น้ำเน่า น้ำแล้ง ช็อตปลา และใช้ยาเบื่อปลา ทำให้ปลาเป็นหมันและสูญพันธุ์

 

คลองกะแดะปัจจุบัน(ช่วงกลางคลอง)

เขื่อนกั้นน้ำชำรุดใช้งานไม่ได้

ปฏิบัติการโครงการชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่จ.สุราษฎร์ฯ กำหนดรูปธรรมการทำงานที่ คลองกะแดะ อ.กาญจนดิษฐ์ โดยมีพื้นที่งานโครงการเฉพาะในช่วงสั้นๆ ของคลองกะแดะ จาก ต.กรุดถึงปากน้ำกระแดะ ซึ่งเป็นช่วงลำคลองที่สำคัญ เพราะไหลผ่านชุมชนที่หนาแน่น แต่ที่น่าสนใจคือ ในความยาวประมาณ 20 กิโลเมตรของคลองสายน้ำนี้มีเขื่อนถึง 5 เขื่อน เป็นเขื่อนกักน้ำ 3 เขื่อน และเขื่อนน้ำล้นกับเขื่อนใหญ่ อีกประเภทละ 1 เขื่อน ซึ่งมีการปิด-ปล่อยน้ำ อย่างไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน จากสภาพปัญหาดังกล่าว ภาคประชาชนจึงรวมตัวกัน ค้นหาวิธีการแก้ปัญหาด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม อย่างคำนึงถึงวิถีวัฒนธรรมและศาสนา เช่น การกำหนดเขตอภัยทานหรือวังปลา ใช้หลักเมตตา สร้างและรักษาชีวิตสัตว์น้ำ เพื่อฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำ ทั้งยังมีการกำหนดกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งการจัดงานวันสิ่งแวดล้อมโลก เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจในปัญหาและกระตุ้นจิตสำนึกความมีส่วนร่วม ทั้งจากภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคธุรกิจ นอกจากนี้ในการทำงานยังได้เชื่อมโยง ต่อยอดกับกระบวนการอนุรักษ์แหล่งน้ำที่คลองยัน อ.คีรีรัฐ และที่คลองคราม อ.ดอนสักด้วย

 

องค์กรระดับชาติสำหรับการพัฒนาแหล่งน้ำ

ปัจจุบันประเทศไทยมีหลายหน่วยงานที่ดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำ ลักษณะเช่นนี้รวมทั้งระบบการจัดสรรงบประมาณที่ซับซ้อนในแต่ละหน่วยงาน ทำให้การวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำไม่อาจประสานงานกัน บางโครงการของหน่วยงานหนึ่งอาจมีผลกระทบต่อโครงการของหน่วยงานอื่น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานี้ คณะรัฐมนตรีได้ตั้งคณะกรรมการแหล่งน้ำแห่งชาติขึ้น แต่คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ที่จำกัด โดยจะเน้นในด้านให้คำปรึกษาและกำหนดนโยบาย จะไม่ทำด้านการบริหาร เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ควรจัดตั้งองค์กรระดับชาติสำหรับการพัฒนาแหล่งน้ำ ให้มีหน้าที่วางแผนและประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งกรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิต และหน่วยงานอื่น การตั้งองค์กรดังกล่าวจะช่วยให้การใช้ทรัพยากรบุคคลและงบประมาณมีประสิทธิภาพมากขึ้น องค์กรระดับชาตินี้จะประสานงานด้านโครงข่ายของแหล่งข้อมูลทรัพยากร แหล่งน้ำ ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่เก็บรวบรวมข้อมูลด้านอุทกวิทยา และอุทกธรณีวิทยา แต่ยังไม่มีรูปแบบมาตรฐานในการตรวจวัด การบันทึก การเก็บรักษา และการวิเคราะห์ข้อมูล บางหน่วยจึงทำงานซ้ำซ้อนกัน


องค์กรบริหารจัดการน้ำของประเทศ

1. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มี 2 หน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ในการเสนอแนะนโยบาย แผนงาน/โครงการควบคุมดูแล ติดตามและประเมินผลเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ ได้แก่ กรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล

2. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มี 2 หน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ในการก่อสร้างแหล่งน้ำและบริหารจัดการระบบน้ำ เน้นเพื่อการเกษตรกรรมเป็นหลักได้แก่ กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน

3. กระทรวงมหาดไทย มี 3 หน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับระบบน้ำประปาเพื่อการอุปโภคบริโภคและอุตสาหกรรม ได้แก่ การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

4. กระทรวงพลังงาน โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่พัฒนาบำรุงรักษาและบริหารจัดการเขื่อนเพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ

5. ภาคเอกชน มีบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (East Water) ได้รับสัมปทานโครงข่ายท่อส่งน้ำและให้บริการจำหน่ายน้ำดิบแก่ภาคอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก

องค์กรประสานการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระดับชาติและระดับลุ่มน้ำ

เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเกิดความสมดุลและเป็นเอกภาพ จึงมีการกำหนดคณะกรรมการทรัพยากรน้ำระดับชาติและระดับลุ่มน้ำขึ้น เพื่อบริหารจัดการน้ำในด้านนโยบาย การวางแผนพัฒนา และแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับน้ำ รวมทั้งประสานการมีส่วนร่วมของหน่วยงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องดังนี้

คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและวางแผนการพัฒนา จัดสรรและควบคุมการใช้น้ำและอนุรักษ์น้ำ

คณะอนุกรรมการลุ่มน้ำ เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เกี่ยวกับนโยบาย แผนงาน โครงการ แนวทางแก้ไขปัญหา ติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่างๆ และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ รับฟังความคิดเห็น ทำความเข้าใจกับประชาชน

คณะทำงานด้านวิชาการ ปัจจุบันมีคณะทำงานด้านวิชาการ 3 คณะ คือ คณะทำงานด้านแผนบูรณาการลุ่มน้ำ คณะทำงานด้านข้อมูล และคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน

คณะทำงานระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ เสนอความต้องการแผนงาน/โครงการในการพัฒนาอนุรักษ์และฟื้นฟู การแก้ปัญหาอุทกภัยและคุณภาพน้ำ การประนีประนอมไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งในพื้นที่ลุ่มน้ำ

ที่มา : เอกสาร Fact Sheet ตุลาคม 2548 ประกอบเวที บ้านเมืองเรื่องของเรา ตอน “พลังสาธารณะกับการจัดการลุ่มน้ำ” ออกอากาศ เสาร์ที่ 29 ตุลาคม 2548 เวลา 16.05-17.00 น. ทางเนชั่นแชนแนล ไททีวี 1 และเอบีทีวี 1

Be the first to comment on "พลังสาธารณะ กับการจัดการปัญหาลุ่มน้ำ"

Leave a comment

Your email address will not be published.