พลิกทุ่งฟื้นทุนของ “กลุ่มรักษ์เขาชะเมา”

เป็นเวลาหนึ่งทศวรรษแล้วที่กลุ่มเยาวชนรักษ์เขาชะเมาได้รวมตัวกันทำกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ ในชุมชนบ้านเกิด เวลาสิบปีผ่านไป ทำให้เยาวชนจำนวนหนึ่งเติบโตขึ้นทั้งกายใจและความคิด…

เป็นเวลาหนึ่งทศวรรษแล้วที่กลุ่มเยาวชนรักษ์เขาชะเมาได้รวมตัวกันทำกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ ในชุมชนบ้านเกิด

เวลาสิบปีผ่านไป ทำให้เยาวชนจำนวนหนึ่งเติบโตขึ้นทั้งกายใจและความคิด อันเป็นผลจากการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการ “ห่วงใยโลกกว้าง สรรค์สร้างบ้านเกิด” ในฐานะที่เป็นกลุ่มรักษ์เขาชะเมา ภายใต้การนำของ “บุบผาทิพย์ แช่มนิล”

ช่วงเวลาที่ผ่านมาของกลุ่มรักษ์เขาชะเมาเป็นเพียงการเริ่มต้น แต่นับจากนี้เป็นต้นไปคือความมุ่งมั่นที่จุทำให้กลุ่มเติบโตขึ้น เพื่อเป็นฐานที่มั่นคงให้กับเยาวชนที่จะกลับมาช่วยกันฟื้นฟูบ้านเกิดตามปณิธานที่ตั้งไว้

 

 

เริ่มต้นที่ร้านหนังสือเล็กๆ

 

บ้านเขาดิน ต.ทุ่งควายกิน อ.แกลง จ.ระยอง คือบ้านเกิดของบุบผาทิพย์ แช่มนิล หรือ “เจ๊แฟ๊บ” ของเด็กๆ สมาชิกกลุ่มรักษ์เขาชะเมาและเป็นจุดเริ่มต้นของงานพัฒนาชุมชนที่เกิดขึ้นจากพลังของเยาวชนที่เห็นถึงความสำคัญของการฟื้นฟูทุนทางสังคมของบ้านเกิด

กลุ่มรักษ์เขาชะเมาก่อตั้งขึ้นราวปี 2537 จากเด็กไม่กี่คนที่สนใจการอ่านกับผู้ใหญ่ที่เห็นความสำคัญของการสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อเด็ก โดยบุบผาทิพย์ได้ทำร้านหนังสือเช่าชื่อ “ร้านน้ำใจ ขึ้นที่บ้าน นำหนังสือดีที่สะสมไว้มาให้เด็กๆ ได้ยืมอ่านกัน หลังจากนั้นเมื่อมีขาประจำมากขึ้น ร้านน้ำใจจึงกลายเป็นศูนย์กลางของเยาวชนที่มีความสนใจในเรื่องที่ใกล้เคียงกัน


“บุบผาทิพย์ แช่มนิล”

 

กิจกรรมแรกที่ทำร่วมกันคือการเดินป่าเขาชะเมาซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาตเขาชะเมา-เขาวง หลังจากนั้นจึงตั้ง “กลุ่มรักษ์เขาชะเมา” ขึ้น เพื่อทำกิจกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น ปลูกต้นไม้ ลบรอยขีดเขียนในถ้ำ ดูนก เป็นต้น เวลาผ่านไปมีสมาชิกเข้าร่วมโครงการมากขึ้นเนื้อหาของกิจกรรมจึงเริ่มเน้นไปที่การสร้างความรู้ โดยเริ่มจากการจัดค่ายศึกษาธรรมชาติ และกิจกรรมเด็กกับการรณรงค์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม

ในปี 2540 มีการตั้งคณะกรรมการกลุ่มซึ่งเป็นเยาวชนขึ้น และได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการทำกิจกรรม โดยมีเนื้อหาที่กว้างขึ้นและเป็นประเด็นเชิงลึกมากขึ้น เพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพสังคมและชุมชน เช่น การแก้ไขปัญหาช้างป่าที่มีผลกระทบต่อชาวบ้านรอบๆ อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง การเรียนรู้เรื่องสิทธิเด็ก การอนุรักษ์วัฒนธรรมในชุมชน เป็นต้น

ปัจจุบันกลุมรักษ์เขาชะเมามีสมาชิกที่ไม่เป็นทางการ 150 คน ประกอบไปด้วยเด็กและเยาวชนบ้านเขาดินและชุมชนใกล้เคียง ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ ภายใต้ความมุ่งมั่นในคำขวัญที่ว่า “ห่วงใยโลกกว้าง สร้างสรรค์บ้านเกิด” เช่น กิจกรรมศึกษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม “สานฝัน…สู่ป่าสวย” กิจกรรมฟื้นฟูและอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น “ค่ายรักษ์วัฒนธรรม เรื่องเก่าที่บ้านเกิด” เป็นต้น

นอกจากนี้ยังได้มีการร่วมมือประสานงานกับกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ในนาม “เครือข่ายเยาวชนเพื่อการพัฒนา” ด้วยความเชื่อมั่นว่าพลังของเด็กจะเป็น “อีกหนึ่งแรงแข็งขันร่วมสร้างสรรค์สังคมไทย” โดยแต่ละกลุ่มต่างก็ทำหน้าที่ของตัวเองไป ซึ่งถ้าเอามาต่อกันแล้วจะก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวสังคมได้จริง

 

 

กิจกรรมของกลุ่มรักษ์เขาชะเมา

 

จากจุดเริ่มต้นที่มุ่งหวังเพียงความสนุกสนานของเด็กๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไปสิบปีแกนนำกลุ่มรักษ์เขาชะเมาได้มาสรุปบทเรียนกัน และพบจุดประสบการณ์ในการสร้างคนขึ้นมาเป็นอาสาสมัครสังคมว่า ควรมีพื้นฐานการเรียนรู้มาจากอะไร

“สำหรับเด็กคนหนึ่ง การจะให้เขาเติบโตขึ้นมาโดยมีความคุ้นชินกับ

ชุมชน มีใจที่จะทำงานเพื่อชุมชนโดยไม่รังเกียจ และสามารถออกไปเป็นอาสาสมัครสังคมได้เลยนั้น การเรียนรู้ในแต่และช่วงวัยเป็นเรื่องสำคัญ เริ่มตั้งแต่การเรียนรู้จินตนาการในวัยเยาว์ด้วยการสัมผัสกับธรรมชาติ พอโตขึ้นอีกหน่อยเขาต้องรู้จักชุมชนและเชื่อมโยงตัวเองกับชุมชนให้ได้ และมาถึงอีกระดับขั้นหนึ่งก็คือต้องเรียนรู้ในเรื่องของประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม การเมือง”

บุบผาทิพย์บอกว่าเด็กๆ รักษ์เขาชะเมาจะถูกสอนให้เรียนรู้ว่าองค์ประกอบของการเติบโตขึ้นมาเป็นชีวิตนั้นมีอะไรบ้าง พร้อมสอดแทรงเรื่องของคุณธรรมที่ต้องทำตลอดเป็นวิถีประจำวันจนเป็นเสมือนหลักสูตรที่สร้างขึ้นมาเพื่อที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่พร้อมเป็นอาสาสมัครสังคม

“เราไม่สอนว่าต้องมีคุณธรรมจริยธรรมมันเป็นคำใหญ่เกินไปสำหรับเด็ก แต่แค่รู้ว่าเวลาเขาไปตักน้ำเขาต้องตักเผื่อคนอื่น แค่นี้ก็ทำให้เขาเรียนรู้เรื่องของการเอื้อเฟื้อแล้ว และเขาควรจะรู้เรื่องของชุมชน รู้ว่าตัวเขาเป็นยังไง ชุมชนเป็นยังไงทั้งจุดดีและปัญหา สุดท้ายต้องถามกลับเขาว่าเขาจะมีบทบาทอย่างไรกับชุมชน มันเป็นการฝึกการคิดวิเคราะห์ ทำให้เขาเห็นในสิ่งที่เป็นอยู่จริง”

ส่วนการหยิบเรื่องของประวัติศาสตร์สังคม การเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กควรจะรู้นั้น ได้นำมาแปรเป็นกิจกรรม เช่น กิจกรรมเส้นแบ่งเวลา โดยถามเด็กๆ ว่ารู้ไหมแต่ละช่วงเวลาในสังคมไทยเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วค่อยๆ ให้ข้อมูลพร้อมถามกลับตลอดว่า ถ้าเป็นเรา เราจะคิดอย่างไร ถ้าเราอยู่ในเหตุการณ์อย่างนั้น เราจะเป็นยังไง เพื่อกระตุ้นให้เด็กๆ ได้คิดและสร้างความเข้าใจโดยประเด็นการเมืองจะเน้นในระดับที่เยาวชนควรจะรู้ เช่น การเมืองท้องถิ่นเกี่ยวยังไงกับเรา ประเด็นสิทธิเด็ก สิทธิชุมชน เป็นต้น

“จะเห็นว่าเราทำสามส่วน คือ อะไรที่ควรรู้อะไรที่ต้องรู้ และสุดท้ายอยากรู้อะไร คือสามส่วนหลักนี้จะเป็นสามส่วนที่น่าจะทำให้เด็กคนหนึ่งมีความรอบรู้รอบด้าน เติบโตขึ้นไปพร้อมที่จะเป็นอาสาสมัครของสังคมได้” บุบผาทิพย์กล่าวถึงหลักการสร้างสรรค์กิจกรรมของกลุ่ม

 

สืบสานงานเพื่อเด็กและชุมชน

 

“เวลานี้เราค่อนข้างมั่นใจว่ามาถูกทางเพราะเริ่มมีน้องในกลุ่มของเรากลับมาสืบทอดแนวทางของกลุ่มแล้ว หลายคนเดินเข้ามาบอกว่าอยากเป็นนักพัฒนา และเขาเองก็ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ก็เลยมองว่าแท้จริงแล้วเด็กๆ ขาดโอกาสในการเลือกเท่านั้นเอง เขาไม่เคยถูกบอกนี่ว่าอาชีพอื่นที่ไม่ใช่หมอ ไม่ใช่ครูมันก็มี”

บุบผาทิพย์กล่าว พร้อมเล่าว่าเวลานี้แกนนำกำลังคิดว่าจะต้องเตรียมรองรับน้องในกลุ่มที่ตั้งใจว่าเรียนจบแล้วจะกลับมาทำงานพัฒนาชุมชนบ้านเกิด ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่กลุ่มจะต้องเติบโตขึ้น เพื่อรองรับคนรุ่นใหม่

ซึ่งจากการเข้าร่วมดำเนินงานใน “โครงการชุมชนเป็นสุข” ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำให้พอที่จะเป็นแนวทาง

 

“ทีมงานที่อยู่ตอนนี้เราดูแลกันเกือบ 10 คน ถือว่า 1 ปี ที่ผ่านมากับโครงการชุมชนเป็นสุขเราได้ชิมลางตรงนี้พอสมควร วันข้างหน้าก็เริ่มมองในการที่จะยกระดับเป็นองค์กรที่มีทรัพยากรพอในการดูแลน้องๆ เพราะถ้าจะให้น้องกลับบ้านมีอะไรรองรับเขาบ้างล่ะ มันต้องเตรียมตรงนี้”

โดยบุบผาทิพย์บอกว่า แนวทางที่คิดไว้อาจจะเริ่มต้นได้เร้ววัน เนื่องเพราะโครงการชุมชนเป็นสุข ซึ่งกลุ่มรักษ์เขาชะเมาเป็นแกนเคลื่อนงานใน 14 หมู่บ้านของ ต.ทุ่งควายกิน มาตั้งแต่ปี 2547 ได้วางแนวทางในปีที่ 3 (ปี 2549) ว่าจะสร้างโหนด (node) ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งการทำงานในโครงการชุมชนเป็นสุขนี้ทำให้กลุ่มมองเห็นทิศทางการดำเนินงานในอนาคตได้ชัดเจนขึ้น

“ทาง สสส.เขาก็มองว่าที่นี่พร้อมที่จะเป็นไหม ทางกลุ่มก็เลยยื่นข้อเสนอว่า ขอไม่ขยายหมู่บ้าน คือจะขอทำแค่ 14 หมู่บ้านนี่แหละ แต่ขอขยายคน เพราะว่ากับหมู่บ้านที่มันแหลกลาญมาแล้ว แค่ 2 ปี เป็นไปไม่ได้ที่มันจะลงลึกถึงรากของใจ งานนี้ต้องทำเป็นสิบปี และจะขอจับ 14 หมู่บ้านให้ขึ้นมาเป็นกระบวนการให้ได้ และอีกส่วนหนึ่งคือเราจะขยายงานเครือข่ายเยาวชนให้เป็นจริงเป็นจัง คือให้เกิดการเคลื่อนไหวในระดับภาคให้ได้”

บุบผาทิพย์บอกว่า มาวันนี้ถ้าให้พูดถึงรักษ์เขาชะเมาส่วนใหญ่จะบอกว่าเคยได้ยิน ซึ่งการเป็นที่รู้จักมากขึ้นเนื่องเพราะรางวัลต่างๆ มากมายที่ได้รับ เช่น รางวัลลูกโลกสีเขียวปี 2547 รางวัลสร้างสรรค์ชุมชนขององค์การอโชก้า รางวัลของเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคม ฯลฯ ทำให้มีสื่อให้ความสนใจนำเรื่องราวของกลุ่มออกไปเผยแพร่อยู่บ่อยครั้ง

อย่างไรก็ดีในความคิดของบุบผาทิพย์แล้วสิ่งที่สำคัญกว่าการมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักคือ การทำงานของเยาวชนในกลุ่มเป็นที่ยอมรับของคนในชุมชนมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีชาวบ้านเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะค่ายรักษ์วัฒนธรรม “เรื่องเก่าที่บ้านเกิด” ซึ่งเป็นกิจกรรมประจำปีของกลุ่ม เวลานี้ได้กลายเป็นกิจกรรมประจำปีของชุมชนไปแล้ว

“ใครๆ บอกว่าทำงานเยาวชนไประยะหนึ่งแล้วทางจะตัน เพราะกลุ่มเยาวชนจะเข้ากลับชุมชนไม่ได้ แต่สำหรับกลุ่มรักษ์เขาชะเมาคิดว่าไม่ใช่ เพราะเราทุกคนถูกสอนให้ทำงานกับชุมชนตั้งแต่เด็กๆ ก็เลยไม่รู้สึกแปลกแยก อย่างกระบวนการที่เราทำอยู่ เราเรียกมันว่า “พลิกทุ่ง ฟื้นทุน” เพราะคิดว่าบ้านเราคือทุ่งควายกินมันน่าจะถูกพลิกได้แล้ว จากการที่อยู่กันแบบเป็นสังคมอะไรก็ไม่รู้ มันจะต้องถูกพลิกกลับ แล้วฟื้นทุนทางสังคมที่มี แล้ววันนี้การที่เราร่วมมือกับชุมชนได้มากขนาดน้ก็ถือว่าเป็นข้อพิสูจน์ และเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของกลุ่มได้ระดับหนึ่ง” บุบผาทิพย์กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา : หนังสือพิมพ์
By : webmaster 26/06/48

Be the first to comment on "พลิกทุ่งฟื้นทุนของ “กลุ่มรักษ์เขาชะเมา”"

Leave a comment

Your email address will not be published.