“พิบัติภัยธรรมชาติกับชุมชนท้องถิ่น”
จากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกในช่วง 30 ปี ที่ผ่านมา อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นโดยเฉลี่ย 0.2 องศาเซลเซียสในทุกสิบปี
รวมถึงการเปลี่ยนแปลงตามรอบเวลาธรรมชาติทุกร้อยปี พันปี หรือหมื่นปี ทำให้คาดการณ์ ได้ว่าต่อแต่นี้พิบัติภัยธรรมชาติจะเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้นทั่วโลก
การเพิ่มขึ้นของประชากรและการอพยพตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ทำให้ธรรมชาติและฐานทรัพยากร ดิน-น้ำ-ป่า -แร่ธาตุ-น้ำมัน-ทะเล-ภูเขา ล้วนถูกรุกรานยึดครองและขุดมาใช้จนเสียสมดุลไปทั้งระบบ จนมีผู้กล่าวว่าถึงเวลาธรรมชาติจะลงทัณฑ์ต่อโลกมนุษย์แล้ว
ในประเทศไทยของเราเห็นภาพนี้ชัดขึ้นทุกที ประชากรที่เพิ่มขึ้นทั้งจากครอบครัวคนไทยและการอพยพแรงงานอย่างมโหฬารจากประเทศเพื่อนบ้านมีผลต่อการใช้ทรัพยากรทุกด้านและขาดนโยบายการจัดการที่เหมาะสม บัดนี้ที่ดินในพื้นราบถูกยึดครองเป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินโดยหมดสิ้น รวมทั้งพื้นที่ที่เป็นห้วยหนอง คลองบึงและแอ่งเก็บน้ำตามธรรมชาติ เส้นทางไหลของน้ำก็ถูกถนนและบ้านเรือนขวางกั้น น้ำท่วมจึงเกิดขึ้นทุกปีทั้งจากน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขังและน้ำทะเลหนุน ส่วนที่ดินบนภูเขาก็ถูกยึดครองและรุกคืบไม่มีวันหยุดแม้ที่ลาดชันและที่ต้นน้ำก็ไม่เว้น โดยมีพืชเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐเป็นหัวหอก จึงไม่น่าแปลกใจที่อุทกภัยดินโคลนถล่มนับวันจะเผยตัวออกมา
อย่างไรก็ตามแม้ชุมชนท้องถิ่นจะเป็นทั้งผู้รับผลกระทบและเป็นผู้มีส่วนในการก่อปัญหา เราคงจะโยนบาปไปให้พวกเขาทั้งหมดไม่ได้ เพราะการวางแผนและการจัดการในเชิงกายภาพนั้นต้องอาศัยองค์ความรู้ เทคโนโลยีและวิสัยทัศน์ของผู้บริหารบ้านเมืองเป็นสำคัญ และการนี้จะใช้มาตราการทางวิศวกรรมและทางกฎหมายโดยลำพังไม่สำเร็จ ต้องใช้พลังชุมชนพลังทางสังคมเข้ารับมือด้วยโดยแทรกเป็นยาดำไปในทุกเรื่อง ประเด็นทางนโยบายที่ควรพิจารณาคือจะจัดการพิบัติภัยธรรมชาติโดยชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลางกันอย่างไร
พิบัติภัยธรรมชาติที่เราเผชิญอยู่อาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มแรกเป็นพิบัติภัยธรรมชาติแบบที่คาดการณ์ได้และมีเวลาให้เราเตรียมตัวเช่น อุทกภัยทั่วไปอย่างที่กำลังเกิดอยู่ในขณะนี้ ภัยแล้งที่จะมาตามฤดูกาล หมอกควันจากการเผาป่าทางด้านเหนือ หรือจากภูเขาไฟทางหมู่เกาะตอนใต้ รวมทั้งพายุฝนฟ้าคะนองทั่วไป อีกกลุ่มหนึ่งเกิดขึ้นแบบฉับพลันไม่มีโอกาสตั้งตัว จึงเกิดการสูญเสียชีวิตทรัพย์สินรุนแรง คือ อุทกภัยดินโคลนถล่ม ที่เกิดขึ้นกับชุมชนที่สูง–ลาดชัน และขวางทางน้ำบนป่าเขา รวมทั้งพายุหมุนเขตร้อนอย่างเกย์ นาร์กีสที่เกิดบ่อยขึ้นในระยะหลัง และคลื่นยักษ์สึนามิ ที่เป็นลูกโซ่ตามมาจากแผ่นดินไหวในทะเลมหาสมุทรอันไกลโพ้น
ในแผนการจัดการพิบัติภัยธรรมชาติโดยชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลางนั้น อันดับแรกต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับกลุ่มพิบัติภัยธรรมชาติแบบฉับพลัน และต้องประกาศให้ชุมชนท้องถิ่นรู้ว่าบ้านหรือเมืองของเขาเป็นพื้นที่เสี่ยง เพื่อจะได้เตรียมตัวเตรียมใจและจัดการตนเองได้แต่เนิ่น จากข้อมูลย้อนหลัง 30 ปี เราสามารถบอกได้ว่าขณะนี้มีชุมชนที่เสี่ยงต่ออุทกภัย-ดินโคลนถล่มอยู่ใน 277 อำเภอ 52 จังหวัด ซึ่งมีในทุกภูมิภาคและจำนวนมากทีเดียวนะครับ
นอกจากนี้ยังมีชุมชนที่เสี่ยงต่อพายุหมุนเขตร้อน 46 อำเภอ ในจังหวัด ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สกลนคร และนครพนม ส่วนที่เสี่ยงต่อคลื่นยักษ์สึนามิมี 9 อำเภอในจังหวัด ภูเก็ต กระบี่ พังงา และระนอง ซึ่งพิบัติภัยธรรมชาติเหล่านี้ต้องการรายละเอียดในการวางแผนและเตรียมการรับมือที่แตกต่างกัน
ในทุกอำเภอที่เสี่ยงต่อพิบัติภัยธรรมชาติแบบฉับพลัน 3 อย่างดังกล่าว ควรต้องส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการถักทอเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นทั้งอำเภอเพื่อให้สามารถพึ่งตนเอง และช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นสำคัญ โดยเริ่มจากชุมชนที่เข้มแข็งที่มีอยู่แล้วในอำเภอนั้นๆ กลไกสภาองค์กรชุมชนที่มีอยู่ก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ส่วนวิธีการถักทอควรให้เป็นการจัดการกันเองของชุมชนจะดีกว่าการจัดตั้งโดยภาครัฐ หน่วยราชการและองค์กรปกครองท้องถิ่นควรเป็นผู้หนุนเสริม อำเภอและเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นควรทำแผนที่พื้นที่เสี่ยงภัยและกำหนดจุดปลอดภัยสำหรับการอพยพ รวมทั้งแผนเคลื่อนย้ายฉุกเฉินให้ประชาชนได้ทราบจนเกิดความตระหนัก จะกำหนดให้โรงพยาบาลอำเภอหรือที่ใดที่หนึ่งเป็นศูนย์ประสานงานแบบถาวรหรือกึ่งถาวรก็ได้ ซึ่งที่นั่นจะต้องมีระบบอำนวยการกำลังคน ระบบฐานข้อมูลและการติดต่อสื่อสารรองรับอย่างมีประสิทธิภาพด้วย ไม่ใช่ตั้งกันขึ้นมาลอยๆพอเป็นพิธี
ความรู้ความเข้าใจของประชาชนในพื้นที่เสี่ยงก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมาก อุทธาหรณ์จากชาวบ้านที่แม่ฮ่องสอนที่ประสบภัยดินโคลนถล่มเขาเล่าว่า เห็นกันมานานแล้วว่ามีรอบแยกบนภูเขา ทางราชการก็ติดป้ายบอก แต่ไม่เข้าใจไม่ตระหนักว่ามันจะเกิดอะไรตามมา การจัดทำคุ่มือและสื่อสำหรับการเรียนรู้ของประชาชนจึงเป็นสิ่งจำเป็นต้องจัดให้มีกระบวนการสื่อสารและเรียนรู้ให้เกิดความตื่นตัวเข้าใจว่าจะต้องจัดการตนเองอย่างไรทั้งในช่วงก่อน ระหว่าง และภายหลังเหตุการณ์ ต้องทำให้เรื่องเช่นนี้เกิดเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ในชุมชนท้องถิ่นให้ได้
ส่วนในระดับชาติ ก็มีเรื่องเชิงนโยบายที่ควรจัดการเพื่อสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น รับมือพิบัติภัยธรรมชาติหลายประการอาทิ
1.ศูนย์แจ้งเตือนภัยระดับชาติ ที่มีความพร้อมในองค์ความรู้ เทคโนโลยีและบุคลากร ควรตั้งเป้าหมายในการเฝ้าระวัง ทำนายและแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าเพื่อพัฒนาขีดความสามารถที่ชัดเจน เช่น สามารถแจ้งเตือนภัยอุทกภัยดินโคลนถล่มภายใน 3 วัน แจ้งเตือนพายุหมุนเขตร้อนภายใน 5 วัน และแจ้งเตือนภัยสึนามิภายใน 2 ชั่วโมง เพราะหากทำได้เช่นนี้ชุมชนท้องถิ่นจะมีเวลาจัดการตนเองได้ตามสมควร
2.กสทช. และรัฐบาล ควรจัดให้มีคลื่นความถี่สำหรับทีวี วิทยุ และวิทยุสื่อสารรับมือภัยธรรมชาติเป็นการเฉพาะอย่างเพียงพอ และมีกลไกดำเนินงานที่เหมาะสม เชื่อมโยงเครือข่ายการสื่อสารของชุมชนท้องถิ่นและสื่อสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ
3.ศูนย์โลจิสติกเพื่อการบรรเทาทุกข์ เพื่อหนุนเสริมการทำงานขององค์กรบรรเทาทุกข์ภาคเอกชนที่มีอยู่แล้ว ประกอบกับแนวโน้มพิบัติภัยธรรมชาติจะเกิดขึ้นทุกปีและตลอดทั้งปีเช่นนี้ รัฐบาลอาจต้องมีศูนย์โลจิสติกถาวรหรือกึ่งถาวร โดยมีระบบเครือข่ายเชื่อมโยงกับศูนย์โลจิสติกในระดับจังหวัด – อำเภอ และองค์กรการกุศลต่างๆ แต่ก็ต้องระวังอย่าให้ถูกทำให้เป็นแบบราชการเกินไป ควรเน้นภาคีเข้ามามีส่วนร่วมให้มาก
4.พัฒนาระบบงานจิตอาสาและการให้เพื่อเพื่อนมนุษย์ เรื่องนี้มีความจำเป็นมากขึ้นทุกวัน หน่วยงานองค์การมหาชนอย่างสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ , ศูนย์คุณธรรม,สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและกองทุน สสส. น่าจะเป็นหัวหอกด้านนี้ได้ ส่วนหน่วยราชการเช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย ,พม.,วธ.,ศธ., และ สธ. น่าจะเป็นหน่วยหนุน
เพื่อการนี้รัฐบาลควรตั้งกองทุนพิบัติภัยชุมชนเพื่อเป็นเครื่องมือทำงานครับ
พลเดช ปิ่นประทีป
Be the first to comment on "พิบัติภัยธรรมชาติกับชุมชนท้องถิ่น"