ฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นจากสังคมแตกแยก

พลเดช  ปิ่นประทีป/เขียนให้โพสต์ทูเดย์ วันพุธที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๗

 

จำนวนผู้คนมากมายที่หลั่งไหลกันไปร่วมพิธีถวายพระพรและกล่าวสัตยาธิษฐานในงานวันฉัตรมงคลที่ กปปส.เป็นผู้จัด ดูเหมือนว่าจะมีความหมายอย่างมากต่อเกมการเมืองที่กำลังขับเคี่ยวกันอยู่ หรืออย่างน้อยก็เป็นเครื่องสะท้อนความจงรักภักดีของมหาชนชาวสยามที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ไม่เสื่อมคลาย

เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายนที่ผ่านมา เวทีภาคีพัฒนาประเทศไทย(TD Forum) มีหัวข้อพูดคุยเรื่อง “ฟื้นฟูคุณธรรม ปฏิรูปสังคม :ภารกิจภาคพลเมืองภายหลังความขัดแย้ง”  มีผู้ประสานงานเครือข่ายจากทั่วประเทศ ๑๒๐ คน มาช่วยกันประเมินความเสียหายของชุมชนท้องถิ่นในด้านสังคมแตกแยก ค่านิยมซื่อสัตย์สุจริตและสันติวัฒนธรรม ทั้งนี้เพื่อเตรียมแนวทางการแก้ไขฟื้นฟูกัน ถ้าเหตุการณ์คลี่คลาย

ในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนบน เราพบว่าความแตกแยกระหว่างชาวบ้านเองมีไม่มาก  เพราะส่วนใหญ่ยังคงนิยมพรรคการเมืองเดียวกัน แต่ที่แตกแยกรุนแรงกลับเป็นระหว่างเอ็นจีโอ นักวิชาการและผู้นำชุมชนแนวฮาร์ดคอร์ทั้งหลาย น่าสังเกตุว่ากลุ่มที่เห็นต่างในพื้นที่ กล้าแสดงออกมากขึ้นกว่าแต่ก่อน จึงกระทบกระทั่งกันเนืองๆ  ส่วนภาคเหนือตอนล่างนั้นมีความขับเคี่ยวกันรุนแรงกว่า  เพราะทั้งสองขั้วต่างมีกำลังมวลชนแนวปะทะที่มากพอกัน  นักวิชาการบางส่วนเติมไฟ บางส่วนช่วยเตือนสติ อย่างไรก็ตามปัญหาทุจริตข้าวเป็นตัวแปรที่ทำให้ชาวนาเริ่มเปลี่ยนข้างมากขึ้น โดยในภาพรวมชาวบ้านอ่อนล้าและรู้สึกหมดหวัง

ชุมชนท้องถิ่นทางภาคอีสานยังคงสนับสนุนพรรครัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ กลุ่มกปปส.ที่แข็งขันมีเพียงบางจุด เช่นโคราช ขอนแก่น อุบล อำนาจเจริญ ซึ่งเป็นพื้นที่ๆมีสถาบันการศึกษา กลุ่มแพทย์ ชนชั้นกลางและฐานของนักการเมืองฝ่ายค้าน  ทางด้านนปช.นั้นยังมีกำลังอยู่มากในหลากหลายเครือข่าย วาทกรรม”ไพร่-อำมาตย์”และนโยบายประชานิยม ยังคงจับใจชาวบ้าน  มีปัญหาความยากจนและแย่งชิงทรัพยากรควบคู่มากับความขัดแย้งทางการเมือง  กลไกฝ่ายปกครองและตำรวจถูกจัดวางไว้อย่างหนาแน่นทั่วทั้งพื้นที่  ผู้ประสานงานจากอีสานไม่เชื่อว่าการแย่งชิงอำนาจส่วนบนจะจบลงง่ายและตั้งข้อสงสัยว่าการฟื้นฟูจะมีโอกาสได้ทำจริงหรือ ในขณะเดียวกันก็เชื่อว่าหนทางที่จะแก้ไขได้รัฐบาลต้องกระจายอำนาจให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ภาคกลางและตะวันตก จังหวัดส่วนใหญ่ชัดเจนว่าชาวบ้านนิยมพรรคการเมืองขั้วใดจึงไม่มีความขัดแย้งมากนัก  มีบางจังหวัดที่การต่อสู้รุนแรงน่าเป็นห่วง เช่น เพชรบุรี นครปฐม ในภาพรวมกลุ่มชนชั้นนำมีบทบาทสูง สื่อมวลชน วิทยุชุมชนและทีวีดาวเทียมมีอิทธิพลมาก ชาวบ้านเลือกรับข่าวสารช่องเดียวจนแตกแยก เครือข่ายเห็นว่า แท้ที่จริงกลุ่มรักทักษิณส่วนมากต้องการความเท่าเทียม การกระจายอำนาจให้ชุมชนกำหนดตัวเองจึงจำเป็น

ทางภาคตะวันออก แม้จะมีความรุนแรงทางวาจาสาดใส่กันมากอย่างที่เป็นข่าว แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นลงมือลงไม้ ไม่มีฆ่าแกงกัน  สิ่งที่ชาวบ้านรู้สึกกลับไม่ใช่ความขัดแย้งทางการเมือง แต่เป็นปัญหาช่องว่างทางเศรษฐกิจ การแย่งชิงทรัพยากร การถือครองที่ดินที่เปลี่ยนมือไปมาก พื้นที่ผลิตอาหารลดลงอย่างขนานใหญ่ และสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมจนวิกฤติ

ส่วนภาคใต้ แม้จะดูว่ามีเอกภาพในการต่อสู้ทางการเมืองในรอบนี้ แต่ผู้ประสานงานบางส่วนสะท้อนว่า การบริหารจัดการและท่าทีระหว่างส่วนต่างๆ ก็ยังมีปัญหาที่อาจนำไปสู่ความแตกแยกระหว่างกันได้  โดยเฉพาะควันหลงการเลือกตั้งสว.ที่เพิ่งผ่านมา

ที่เล่ามานี้ไม่ใช่งานวิจัยที่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยืนยัน แต่เป็นการประมวลภาพสะท้อนจากความรู้สึกที่สัมผัสได้ของบรรดานักพัฒนาและผู้ประสานงานการปฏิรูปจากภาคสนาม  ในเบื้องต้นคงช่วยทำให้มองเห็นปัญหาตกค้างและผลกระทบที่รัฐบาลชุดต่อๆไปจะต้องเข้าแบกรับและบริหารจัดการ ส่วนภาคประชาสังคมและพลเมืองผู้มีสำนึกรับผิดชอบทั้งหลายคงเป็นเพียงแค่ฝ่ายหนุนเสริม

ปัญหาไฟใต้ได้ทำให้ชุมชนท้องถิ่นที่นั่นเต็มไปด้วยความหวาดระแวง ทั้งระหว่างพวกเดียวกันเอง ระหว่างชุมชนต่างศาสนาและชาติพันธุ์ และระหว่างชาวบ้านกับข้าราชการ  เราพบว่าในภาวะเช่นนั้น งานพัฒนาสังคมจะมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพมากกว่างานความมั่นคงและการปราบปราม ในการฟื้นคืนความเชื่อมั่นไว้วางใจ   เพื่อเตรียมการฟื้นฟูสังคมจากไฟการเมือง ผมมีข้อเสนอแนะบางประการ

๑. CDD(Community-driven Development)   –  ควรใช้งานฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นและพัฒนาสังคมเป็นกระบวนการแก้ปัญหา โดยหลักการที่ให้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง เป็นผู้กำหนดและเป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก เพราะจากประสบการณ์งานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นในประเทศไทยสามสิบปีที่ผ่านมา รวมทั้งบทเรียนรู้ของธนาคารโลกในการช่วยเหลือประเทศที่มีความขัดแย้งทั่วโลก ต่างพบตรงกันว่า มีแต่วิธีนี้เท่านั้นที่จะสามารถฟื้นคืนความเชื่อถือไว้วางใจในชุมชนได้

 

๒. Block Grant  –  คือทุนอุดหนุนชุมชนท้องถิ่นในกระบวนการพัฒนาแบบ CDD ที่ให้อย่างต่อเนื่อง  เป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการปัญหาต่างๆด้วยตนเองของชุมชน  บทเรียนของธนาคารโลกพบว่าทุนอุดหนุนโครงการสาธารณะแบบให้เปล่า (Grant) มีประสิทธิผลในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนมากกว่าเงินให้กู้ยืม (Loan) จึงไม่น่าแปลกที่โครงการกองทุนหมู่บ้านซึ่งรัฐบาลยุคหนึ่งเคยลงทุนไปถึง ๘๐,๐๐๐ ล้านบาท นอกจากไม่ช่วยให้ชุมชนเข้มแข็งแล้ว ยังไปเพิ่มหนี้สินครัวเรือนทั้งระบบ  

 

 

๓. องค์กรชุมชน (CBO)  –  เวลานี้มีหน่วยงานภาคีระดับชาติอย่างน้อย ๔๖ องค์กร ที่มีนโยบายลงไปสนับสนุนชุมชน ต่างคนต่างมีองค์กรชุมชนในรูปแบบที่แตกต่างหลากหลายกันไปตามภารกิจของส่วนกลาง  ล่าสุดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติพบว่ามีองค์กรชุมชน  ๒๓ ประเภท ปรวม  ๓๐๘,๐๐๐  องค์กร หรือเฉลี่ยจังหวัดละ  ๔,๐๐๐  อำเภอละ ๓๐๐ หรือตำบลละ ๔๐ องค์กร   ดังนั้นงานฟื้นฟูและพัฒนาควรอาศัยองค์กรชุมชนเหล่านี้เป็นกลไกเชื่อมโยง

๔. นักพัฒนาอิสระ(Facilitator)  –  สาเหตุหนึ่งที่โครงการ SML หรือชุมชนพอเพียงของรัฐบาลไม่ประสบความสำเร็จในเชิงคุณภาพเท่าที่ควร  เป็นเพราะขับเคลื่อนโดยระบบราชการและอาศัยนักพัฒนาภาครัฐที่ถูกสร้างมาในยุคการพัฒนาแบบเก่า เปรียบเทียบกับโครงการ PNPM ของธนาคารโลกที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในอินโดนีเซีย เขาอาศัยนักพัฒนาอิสระประมาณ ๑๐,๐๐๐  คน เป็นพี่เลี้ยงชาวบ้านในกระบวนการทำงานแบบ CDD ครับ

Be the first to comment on "ฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นจากสังคมแตกแยก"

Leave a comment

Your email address will not be published.