ฟื้นฟูและพัฒนาชุมชนชายแดนใต้ด้วยระบบคู่ขนาน
พุธที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๖
เมื่อก่อนสิ้นปี ผมมีโอกาสพบได้กับคุณทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารกิจการชายภาคแดนใต้ (ศอ.บต.)ในงานที่ LDI เชิญมาเป็นประธานเปิดงานสัมมนาวิชาการโครงการฟื้นฟูชุมชนชายแดนใต้ของธนาคารโลก
เมื่อเลขาธิการ ศอ.บต.ได้ฟังรายงานผลลัพธ์ของโครงการแล้ว ท่านได้กล่าวเปิดงานโดยย้ำเป็นหนักแน่นว่า เป็นหน้าที่ของ ศอ.บต.ที่ท่านดูแล จะเป็นผู้รับไม้ สานต่อภารกิจจากโครงการอย่างเต็มที่
ท่านแลกเปลี่ยนกับผมเป็นการส่วนตัวว่า ท่านเห็นด้วยกับเรื่องที่ผมและ ดร.ปิยะ กิจถาวร (รองเลขาธิการ ศอ.บต.)เคยเสนอให้รัฐบาลตั้งกองทุนสนับสนุนการพัฒนาชุมชน จชต. แบบ สสส. เป็นระบบคู่ขนานไปกับการพัฒนาของหน่วยราชการ ท่านเห็นว่าในระยะยาวอยากให้มีองค์การมหาชนเพื่อการนี้เป็นการเฉพาะ
ได้ฟังดังนั้น ทำให้ผมนึกถึงร่าง พรฎ.องค์การมหาชนฉบับหนึ่งของเราขึ้นมาทันที จึงบอกไปว่าเดี๋ยวจะช่วยคิดเรื่องนี้ต่อให้ โดยขอเวลาเป็นหลังปีใหม่ เรื่องนี้นับว่าเข้าทางอย่างพอเหมาะพอดีทีเดียว
เมื่อเล่าเรื่องนี้ให้กับพวกกลุ่มสภาประชาสังคมชายแดนใต้ในสัปดาห์ถัดๆ มา อ.โซรยา จามจุรี ก็นึกถึงร่าง พรฎ.ของเราฉบับนั้นขึ้นมาทันทีเช่นกัน ตอนที่ผมและอาจารย์ไพบูลย์บริหารกระทรวง พม. (ปี๒๕๕๐) อยู่นั้น ทีมงานรัฐมนตรีกลุ่มหนึ่งได้ทำการยกร่างกฎหมายฉบับนี้เอาไว้ให้ผม เมื่อกองนิติการได้ช่วยดูและทำให้สมบูรณ์อีกครั้งแล้ว ผมจึงให้กระทรวงจะส่งเข้าครม. แต่ โชคไม่ดีครับ ตอนนั้นมีร่าง กม.ของ พม.ค้างอยู่อีกหลายฉบับมาก ผมจำต้องดึงกลับมาเสียบ้างเพื่อไม่ให้เพื่อนรัฐมนตรีกระทรวงอื่นๆ เขาเขม่นเอา ร่าง พรฎ.ฉบับนี้จึงถูกถอนกลับมาเสียก่อน
แต่มันก็ไม่ได้เน่าเสียไปที่ไหน เพราะมันเป็นองค์ความรู้หรือผลึกภูมิปัญญาในการแก้ปัญหาของบ้านเมืองที่พวกเราได้ออกแบบรังสรรค์และเก็บเอาไว้ วันหนึ่งเมื่อผู้คน โดยเฉพาะผู้มีอำนาจหน้าที่ เขาเห็นคุณค่าหรือความจำเป็น ก็จะเรียกหาและถูกหยิบมาใช้เอง
วันนี้จึงได้นำร่างพระราชกฤษฎีกานี้ขึ้นมาปรับปรุง แต่งเติมอีกนิดหน่อย ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และได้นำมาลงไว้ต่อท้ายคอลัมภ์นี้ด้วยแล้ว
ใครสนใจก็สามารถศึกษารายละเอียดได้ตามอัธยาศัยนะครับ ใครจะเสนอแนะอะไรเพิ่มเติมก็ยินดี
ผมตั้งใจว่าจะส่งให้คุณทวีและอาจารย์ปิยะได้พิจารณาในสัปดาห์หน้าครับ
พลเดช ปิ่นประทีป
Be the first to comment on "ฟื้นฟูและพัฒนาชุมชนชายแดนใต้ด้วยระบบคู่ขนาน"