มรดกทางเชื้อชาติ : ไชน่าทาวน์ในแดนอัล คาโปน

ด้วยเงินเริ่มต้นเพียง 1,000 เหรียญสหรัฐ หรือราว 41,000 บาท พร้อมด้วยความตั้งใจจริงอันแน่วแน่ ที่จะสร้างพิพิธภัณฑ์สำหรับชาวจีนอเมริกันขึ้น ฉุยเหม่ยโห และผู้ร่วมอุดมการณ์อีก 5 คน จึงได้รณรงค์ขอการสนับสนุนเรื่องนี้ตามท้องถนน…

มรดกทางเชื้อชาติ : ไชน่าทาวน์ในแดนอัล คาโปน


 

          ด้วยเงินเริ่มต้นเพียง 1,000 เหรียญสหรัฐ หรือราว 41,000 บาท พร้อมด้วยความตั้งใจจริงอันแน่วแน่ ที่จะสร้างพิพิธภัณฑ์สำหรับชาวจีนอเมริกันขึ้น ฉุยเหม่ยโห และผู้ร่วมอุดมการณ์อีก 5 คน จึงได้รณรงค์ขอการสนับสนุนเรื่องนี้ตามท้องถนน ทั้ง 6 พากันไปพูดตามสถานที่ต่างๆเพื่อให้คนทั่วไปได้ทราบว่า ดินแดนไชน่าทาวน์ในชิคาโกแห่งนี้ มีประวัติศาสตร์ร้อยเรียงต่อกันมากมายเพียงไหน

          เราต้องการสื่อให้ทุกคนรู้ว่า เราจริงจังกับประวัติศาสตร์ไชน่าทาวน์มาก และฉันก็คิดว่า เรามีเรื่องดีๆมากมายที่พร้อมจะถ่ายทอดได้

          การกล่าวปาฐกถาในแต่ละเดือนของกลุ่ม ถือว่าคุ้มค่าทีเดียว เพราะทางกลุ่มเริ่มได้รับเงินบริจาคทยอยมาเรื่อยๆรวมทั้งอาคารที่จะใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ และโบราณวัตถุหรือสิ่งของต่างๆของคนรุ่นก่อนจากหลายครอบครัวในชิคาโกแห่งนี้

              3 ปีต่อมา พร้อมกับเงินทั้งหมดที่รวบรวมได้ 1 ล้านเหรียญสหรัฐหรือราว 41 ล้านบาท พิพิธภัณฑ์จีนอเมริกันแห่งชิคาโกก็ได้เริ่มก่อกำเนิดขึ้น ในพื้นที่อาคารซึ่งเป็นอดีตโกดังเก็บของ ในช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา

          การจัดแสดงครั้งแรกของพิพิธภัณฑ์ในชื่อ เพเพอร์ ซัน : ชาวจีนในตะวันตก 1870 1945ได้นำผู้ชมไปสู่ประวัติศาสตร์แห่งไชน่าทาวน์และชาวจีนอเมริกันยุคบุกเบิกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่นี่

          การแสดงดังกล่าว ได้ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านทางจดหมายของผู้อพยพ ชามน้ำตาลจากหนึ่งในร้านอาหารจีนแห่งแรกๆในชิคาโก แบบจำลองร้านซักผ้าของชาวจีน เก้าอี้ฝังมุกและภาพถ่ายอีกราว 150 ภาพ

          นอกจากนี้ ยังได้บอกเล่าเรื่องราวส่วนตัวของบางชีวิตในอดีตอย่าง ทอย เกา และนกเค้าแมวของเขา เกาเป็นชาวนาซึ่งอาศัยอยู่ในเบนตัน ฮาเบอร์ รัฐมิชิแกน และได้ขึงจาข่ายจับนกเค้าแมวที่แอบมากินไก่จำนวนมากของเขา  ในช่วงปี 1940 แต่แทนที่จะฆ่าเจ้าหัวขโมยตัวนี้ เกากลับเลี้ยงดูมันอย่างดี และและหลังจากที่มันตายไป เกาได้สตัฟฟ์มันไว้ และนำมันไปตลาดด้วยกัน เพื่อดึงดูดความสนใจให้คนมาซื้อของ

 

          ปัจจุบัน ลูกหลานของเกา ได้มอบนกสตัฟฟ์ตัวนี้ให้กับพิพิธภัณฑ์แล้ว เพื่อแบ่งปันเรื่องราวของบรรพบุรุษ ให้ผู้อื่นได้รับรู้กันและให้เรื่องนี้คงอยู่ตลอดไป

          หนึ่งในสิ่งที่วิเศษในดินแดนไชน่าทาวน์แห่งนี้ ก็คือ ทุกคนล้วนมีเรื่องราวที่จะถ่ายทอดออกมา  เบน บรอนสัน ผู้ดูแลโบราณคดีเอเชียในพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งของชิคาโก กล่าว  และเขายังเป็นที่ปรึกษาให้กับพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่นี้ด้วย

          ขณะเดียวกัน นอกจากพิพิธภัณฑ์จะบอกเล่าเรื่องราวต่างๆเหล่านี้ ผ่านทางภาษาจีนและอังกฤษแล้ว ยังได้ขยายการบอกเล่าเรื่องราวเป็นภาษาสเปน เพื่อหวังดึงดูดนักท่องเที่ยวจากย่านใกล้เคียง ที่เป็นชุมชนของชาวฮิสแปนิค พิลเซน ด้วย

          ทั้งนี้ ในชิคาโก ซึ่งประกอบไปด้วยชุมชนชาวต่างชาติต่างๆมารวมกัน ได้มีการเปิดพิพิธภัณฑ์ต่างๆขึ้นมากันมาก ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เช่น พิพิธภัณฑ์ของชาวโปแลนด์  พิพิธภัณฑ์ดูซาบล์ ของชาวแอฟริกันอเมริกัน และพิพิธภัณฑ์ของชาวยูเครน

          โทนี คัลลัส  แห่งพิพิธภัณฑ์กรีกโบราณในชิคาโก ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกตั้งแต่สมัย 2535 กล่าวว่า พิพิธภัณฑ์หลายแห่ง ได้ประสานงานกันเพื่อแบ่งปันเรื่องของการระดมทุน และความคิดใหม่ๆที่น่าสนใจในการจัดแสดง

          ทุกพิพิธภัณฑ์ล้วนถูกสร้างขึ้นมาด้วยแรงกายแรงใจ จากคนที่เสียสละและอุทิศตัว เพื่อรักษามรดกที่มีอยู่ให้เป็นอมตะ คัลลัส กล่าว

          โห กล่าวว่า มีผู้มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ถึง 400 คนในวันเปิดตัว เมื่อช่วงต้นเดือนนี้ ทำให้เธอรู้สึกตื่นเต้นดีใจอย่างมาก แม้จะรู้ดีว่า นี่ยังเป็นเพียงแค่การเริ่มต้นเท่านั้น

          ยังมีงานอีกมากที่ต้องทำโห กล่าว  อาสาสมัครของเราบางคนยังไม่เคยเห็นพิพิธภัณฑ์มาก่อนเลยด้วยซ้ำ เราต้องการให้คนเหล่านี้และอีกหลายๆคนมีส่วนร่วม ซึ่งเขาจะได้เห็นพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับพวกเขาเอง


ทว่า อาสาสมัครทั้งหมด อาจไม่สามารถช่วยงานฟรีๆได้ตลอดไป และงานก็เริ่มหนักขึ้นมากจนกระทั่งพิพิธภัณฑ์ต้องจ้างผู้อำนวยการมาดูแล และเริ่มแผนขยายตัวให้ใหญ่ขึ้นอีก

          ปัจจุบันนี้พิพิธภัณฑ์จัดแสดงอยู่ที่ชั้น 1 เพียงชั้นเดียวจากอาคารทั้งหมด 5 ชั้น แต่ทางเจ้าหน้าที่กล่าวว่า อาจจะเปิดชั้น 2 ให้เป็นพื้นที่จัดแสดงเพิ่มขึ้นอีกชั้น ขณะที่ชั้น 3 เป็นพื้นที่เก็บของ และชั้น 4 เป็นห้องสมุดให้ความรู้สึกในด้านนี้ และจะมีการปัดฝุ่นห้องใต้ดินเป็นห้องสำหรับจัดกิจกรรมด้วย

          อย่างไรก็ดี แผนการขยายพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวนี้ จำเป็นต้องใช้เงินมาก ดังนั้นมูลนิธิของพิพิธภัณฑ์จึงต้องพยายามระดมทุนเพิ่มขึ้นต่อไป คาดว่าจะต้องใช้เงินอย่างน้อย 5 แสนเหรียญสหรัฐ หรือราว 20 ล้านบาท เพื่อทำตามแผนการดังกล่าวในอีก 2 3 ปีข้างหน้านี้

          ในช่วงเวลานี้ ทางพิพิธภัณฑ์ก็จะยังคงรับเงินบริจาคต่อไป ทั้งจากนักธุรกิจ ผู้ที่สนใจ และที่สำคัญ จากชุมชนชาวจีนในไชน่าทาวน์แห่งนี้เอง ที่รู้สึกว่า ประวัติศาสตร์ของพวกเขา สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่ได้ในพิพิธภัณฑ์ชาวจีนแห่งนี้……..

 


ที่มา
: เอพี  นสพ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 23 มิ.ย.2548

Be the first to comment on "มรดกทางเชื้อชาติ : ไชน่าทาวน์ในแดนอัล คาโปน"

Leave a comment

Your email address will not be published.