องค์กรสิทธิมนุษยชน ร่วมกับมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ แห่งประเทศออสเตรเลีย มอบ ‘รางวัลการสื่อสารและเปลี่ยนแปลงสังคม’ ให้แก่ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ อันเนื่องมาจากกรณีผู้รับรางวัลต้องต่อสู้คดีฟ้องร้องที่เปิดเผยข้อมูลประกอบการของบริษัทชินคอร์ป
มหาลัยออสซี่มอบรางวัลให้ ‘สุภิญญา’ ในฐานะผู้สนับสนุนเสรีภาพการสื่อสาร |
ประชาไท — 12 ก.ย. 2549 น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ ได้รับรางวัลจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ในฐานะผู้สนับสนุนให้เกิดการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีภายในสังคมไทย เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2549
รางวัลดังกล่าวมีชื่อว่า ‘รางวัลการสื่อสารและเปลี่ยนแปลงสังคม’ (Communication and Social Change) โดยอ้างถึงการที่น.ส.สุภิญญา ร่วมกับหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ เสนอข่าวเรื่องการประกอบธุรกิจในเชิงที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนของบริษัทชินคอร์ป ซึ่งเป็นธุรกิจของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและครอบครัว เป็นเหตุให้น.ส.สุภิญญาและนสพ.ไทยโพสต์ถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 400 ล้านบาท คดีดังกล่าวยุติลงได้เพราะศาลอาญามีคำพิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่ติดใจอุทธรณ์อีก และมีการยื่นคำร้องขอถอนฟ้องในคดีแพ่งตั้งแต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พร้อมกับการขอถอนฟ้องคดีอาญา ซึ่งเมื่อศาลมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีอาญา ถือว่าเป็นชัยชนะของแวดวงสื่อมวลชน ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ได้ก่อตั้งมา 85 ปีแล้ว และเป็นมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่ขึ้นชื่อเรื่องการเรียนการสอนในสาขาสื่อสารมวลชน ศาสตราจารย์ แจน เซอร์เวส ซึ่งเป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัย มอบรางวัลให้แก่น.ส.สุภิญญา พร้อมกับให้ความเห็นว่าการต่อสู้ของเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อนการปฏิรูปสื่อได้เผชิญหน้ากับความเสี่ยงในการถูกฟ้องร้อง เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่าการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นคือสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง และจะต้องเรียกร้องสิทธิพลเมืองตามมาตรา 40 ที่กล่าวว่าโทรทัศน์ วิทยุ และสื่อต่างๆ คือสมบัติของประชาชน และรัฐไม่มีสิทธิ์ในการเข้าไปแทรกแซง นอกจากนี้ ศาสตราจารย์เซอร์เวสได้กล่าวเพิ่มเติมอีกด้วยว่าการกระทำของน.ส.สุภิญญาเป็นประโยชน์แก่การรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่ออย่างแท้จริง และจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ประชาชนไทย ในขณะที่น.ส.สุภิญญาขึ้นไปรับรางวัล ได้กล่าวอีกด้วยว่า ประชาชนไม่ควรจะเป็นเพียงกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดเพียงอย่างเดียว และไม่ควรจะถูกครอบงำโดยสื่อโฆษณาและอำนาจทางการเมือง ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความแตกต่างและหลากหลายมาก มีทั้งชาวต่างจังหวัดและคนยากจน การเผยแพร่ข้อมูลให้กลุ่มคนดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างทั่วถึง และสื่อที่ดีต้องเกิดจากความร่วมมือกันของประชาชน และดำเนินไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน |
ที่มา : ประชาไท |
Be the first to comment on "มหาลัยออสซี่มอบรางวัลให้ สุภิญญา ในฐานะผู้สนับสนุนเสรีภาพการสื่อสาร"