ยกเครื่องการแก้คอร์รัปชัน

ยกเครื่องการแก้คอร์รัปชัน        

                คอร์รัปชันในสังคมไทยเป็นเสมือนมะเร็งร้ายที่เกาะกินประเทศนี้มาอย่างยืดเยื้อเรื้อรัง  ทำลายความเชื่อถือไว้วางใจ และบั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขันของชาติในทุกมิติ 

                ภาพลักษณ์การคอร์รัปชันของประเทศไทยในสายตาต่างชาตินับว่าย่ำแย่มาโดยตลอด  คะแนนดัชนีความโปร่งใสอยู่ในระดับต่ำกว่า ๓.๕ (เต็ม ๑๐) มาเกือบยี่สิบปีแล้ว ซึ่งสะท้อนว่าความพยายามที่ได้ทำอะไรๆ มากมายในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งการตั้งหน่วยงาน ป.ป.ช. และองค์กรตรวจสอบอิสระหลายองค์กร ยังไม่สามารถส่งผลต่อภาพลักษณ์เลยแม้แต่น้อย   ปัญหาการโกงกินนับวันยิ่งหนักกว่าเดิมและสังคมไทยก็มีแนวโน้มที่ยอมจำนนหรือจำทนต่อมันมากขึ้นเสียด้วย

                หากจะเอาชนะปัญหานี้ให้ได้ เราจำเป็นต้องคิดนอกกรอบให้มากและมองให้ครอบคุมทั้งในประเด็นการจัดการปัญหาเฉพาะหน้าและการป้องกันในระยะยาวไปพร้อมกัน  ที่สำคัญต้องคิดในเชิงการปฏิรูปเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของปัญหาและเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับปรากฏการณ์ ในระดับกลไกโครงสร้าง และในระดับจิตสำนึกวิธีคิดหรือวิถีชีวิตวัฒนธรรมกันเลยทีเดียว

              ในที่นี้จะทดลองนำเสนอแนวคิดและแนวทางบางประการสำหรับใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการปฏิรูปหรือยกเครื่องการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน  ดังนี้

 

                     ๑.        ยกเครื่องจิตสำนึกและวิธีคิดคนไทย

 

                คนไทยในที่นี้หมายถึงคนไทยทุกคนและสังคมไทยโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นใคร ชนชั้นใด อยู่สถานะแบบไหน ตำแหน่งหน้าที่การงานอะไร  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติ  จะต้องเลิกความคิดที่ยอมจำนนต่อคอร์รัปชัน ไม่ยอมรับ ไม่ยอมนิ่งเฉยและต้องรังเกียจมันอย่างเข้ากระดูกดำ

                เรื่องจิตสำนึกและวิธีคิด เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่อยู่ลึกที่สุดและสำคัญที่สุด แต่คนมักมองไม่เห็น  ในเมื่อข้าราชการไทย นักการเมืองไทย พ่อค้าไทย และประชาชนคนไทยโดยทั่วไปล้วนติดอยู่กับปัญหานี้คือคิดแต่ว่าคอร์รัปชันไม่มีทางแก้ไขแล้ว คิดแต่ว่าโกงบ้างก็ไม่เป็นไรขอให้ทำประโยชน์ให้ประชาชนหรือแบ่งให้ฉันบ้างเป็นพอ คิดแต่ว่าทีแกทีข้า คิดแต่ว่าโกงส่วนรวมไม่ว่าอย่าโกงของฉันแล้วกัน  คิดแต่ว่าบ้านเมืองไม่ใช่ของเราคนเดียว ฯลฯ อย่างนี้แล้วต่อให้มีเครื่องมือหรือกลไกวิเศษอะไรขึ้นมาก็ไม่มีทางเอาชนะคอร์รัปชันได้

               เรื่องจิตสำนึกและวิธีคิดทำได้ยากที่สุดและต้องใช้ระยะเวลา  การให้การศึกษา อบรมบ่มสอน  การสร้างสภาวะแวดล้อมที่เป็นแบบอย่างและการรณรงค์สังคมทุกรูปแบบจึงจำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่อง  อย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผล

            สังคมไทยต้องเลิกฝากความหวังในการแก้ปัญหาบ้านเมืองไว้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบแต่เพียงลำพัง เลิกความคิดพึ่งพา เลิกนิสัยโยนกลองโทษคนอื่น เลิกบนบานเทวดาฟ้าดิน  จักต้องหันมาพึ่งตัวเอง เพราะบ้านเมืองเป็นเรื่องของเรา  เราเป็นเจ้าของ เราต้องจัดการด้วยสติปัญญาของเราเอง

 

    ๒. ยกเครื่องวิธีคิดและยุทธศาสตร์ขององค์กรตรวจสอบ

 

                องค์กรตรวจสอบในที่นี้หมายถึงองค์กรอิสระทั้งหลายตามรัฐธรรมนูญ ที่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐของฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการ  ได้แก่คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และผู้ตรวจการแผ่นดิน  ทั้งตัวบุคคลผู้เป็นกรรมการและเจ้าหน้าที่ในสำนักงานทุกคน จะต้องมีสำนึกรังเกียจคอร์รัปชันที่มากเป็นพิเศษ ซื่อสัตย์ต่อตนเอง ซื่อตรงในหน้าที่และเป็นแบบอย่างการต่อสู้เอาชนะปัญหาทุจริต ทั้งในการปฏิบัติงานและในวิถีชีวิตประจำวัน

                ในฐานะหน่วยงานหลักของชาติ  องค์กรอิสระต้องแสดงบทบาทนำในการต่อสู้เอาชนะคอร์รัปชัน ต้องเห็นคุณค่าและสนับสนุนบทบาทภาคประชาชนอย่างเต็มที่  มุ่งใช้เครื่องมือทางกฎหมายเท่าที่มีอยู่ให้เต็มประสิทธิภาพมากกว่าจะเรียกหาเครื่องมือใหม่อยู่ร่ำไป และควรบูรณาการมาตรการทางกฎหมายกับมาตรการทางสังคมเพื่อใช้ในการลงโทษผู้กระทำผิดให้เกิดความหลาบจำและให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่สังคมส่วนรวม

                ควรเรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติขององค์กรเครือข่ายภาคประชาชนตามที่เป็นจริง ทั้งด้านศักยภาพและข้อจำกัด  ให้การส่งเสริมสนับสนุนทั้งทางนโยบาย และทางเทคนิควิชาการ ตลอดจัดระบบงบประมาณอุดหนุนอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในระยะยาว

 

     ๓. ยกเครื่องมาตรการคว่ำบาตรทางสังคม

 

                เครือข่ายภาคประชาชน ชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคมที่หลากหลายควรถักทอเชื่อมโยงความสัมพันธ์และปฏิบัติการร่วมกันอย่างจริงจัง ในการจับตา เกาะติดและเฝ้าระวังคอร์รัปชัน  ติดตามผลการวินิจฉัยขององค์กรอิสระทุกคดี ทุกประเภท ทุกระดับ ในทุกสัปดาห์เพื่อนำมาวิเคราะห์ แยกแยะ และเผยแพร่ขยายผลสร้างความรับรู้  สร้างความตื่นตัวทางสังคมอย่างทันท่วงที

 

                เครือข่ายภาคประชาชน  โดยเฉพาะในชุมชนท้องถิ่นซึ่งเป็นภูมิลำเนาหรือที่ทำงานของผู้กระทำผิดและถูกวินิจฉัยลงโทษทุกราย ควรคิดค้นสร้างสรรค์มาตรการคว่ำบาตรทางสังคม [social sanction] โดยกระทำการต่อครอบครัวและวงศ์ตระกูลของเขาอย่างพอเหมาะพอสมและเฉพาะเจาะจง เพื่อให้สำนึกในความผิดและช่วยกันควบคุมดูแล ไม่ปล่อยให้ทำซ้ำอีก 

 

                ในกรณีนี้ภาคประชาชนเองต้องมีจิตใจเข้มแข็ง เพราะผิดคือผิดและต้องรับโทษ  ไม่ลูบหน้าปะจมูก การลงโทษทางกฎหมายไม่เพียงพอสำหรับคดีคอร์รัปชัน เมื่อกระทำการฉ้อโกงต่อสังคมส่วนรวม ก็ควรถูกลงฑัณท์ทางสังคมด้วย

                เงินทุนก็เป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้สามารถทำงานสาธารณะได้อย่างเป็นอิสระและต่อเนื่อง ภาคประชาชนควรต้องจัดตั้งกองทุนของตนเองขึ้นมาเพื่อสนับสนุนกิจกรรมความเคลื่อนไหวในด้านต่างๆ  กองทุนที่อิสระเช่นนี้ควรมีที่มาจากเงินบริจาคของผู้คนที่หลากหลายและวงกว้างเพื่อป้องกันการผูกขาดเป็นเจ้าของ

                ภาคประชาชนควรใช้สื่อพื้นบ้าน สื่อมิติใหม่และเครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือหลักในการทำงานรณรงค์สังคมและเชื่อมโยงสื่อสารกันเอง  ไม่พึ่งพาหรือรอคอยสื่อกระแสหลักจนเสียงาน

 

    ๔. ยกเครื่องสื่อมวลชนต่อต้านคอร์รัปชัน

 

 

                สื่อมวลชนที่ปราวณาตัวต่อสู้ทุจริตและสื่อสาธารณะทุกประเภท ทุกระดับ ควรรวมตัวกันเป็นเครือข่ายเพื่อร่วมกันคิดร่วมกันทำ ปฏิบัติการรณรงค์จับตาคอร์รัปชันอย่างจริงจัง [corruption  watch] ทำรายงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนมากขึ้น  ให้ความรู้ความเข้าใจและรู้เท่าทันแก่สังคมวงกว้าง [corruption literacy]  เผยแพร่ผลคดี  ขุดค้นและเปิดโปงผู้กระทำผิดและถูกลงโทษ สร้างกระแสคว่ำบาตรทางสังคม

 

 

                สื่อมวลชนปฏิรูปต้องประสานร่วมมือกับเครือข่ายภาคประชาชนอย่างใกล้ชิดในการจับตาตรวจสอบการทุจริต  และคิดค้นสร้างสรรค์มาตรการใหม่ๆ ในการกำกับติดตามการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระ ทั้งมาตรการเชิงบวกและมาตรการเชิงลบ เพื่อให้ทุกส่วนอยู่ในครรลองที่ถูกที่ควร

 

 

                                                 พลเดช   ปิ่นประทีป

เขียนให้โพสต์ทูเดย์/๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕

Be the first to comment on "ยกเครื่องการแก้คอร์รัปชัน"

Leave a comment

Your email address will not be published.