ยื่นจม.รัฐสภาอังกฤษค้านปิดบีบีซีไทย

ส.ว.ลุยยื่นจดหมายค้านถึงตัวสส.อังกฤษในลอนดอน สองกรรมาธิการชี้ท่ามกลางบรรยากาศที่เสรีภาพสื่อไม่เต็มร้อยคนไทยควรมีทางเลือก อีกด้านชาวอังกฤษยังคงส่งจดหมายคัดค้านถึงผู้แทนของตนประปราย หลายฝ่ายเตือนให้คิดถึงสายสัมพันธ์สองประเทศในห้วงเวลายากลำบาก

ส.ว.ลุยยื่นจดหมายค้านถึงตัวสส.อังกฤษในลอนดอน สองกรรมาธิการชี้ท่ามกลางบรรยากาศที่เสรีภาพสื่อไม่เต็มร้อยคนไทยควรมีทางเลือก อีกด้านชาวอังกฤษยังคงส่งจดหมายคัดค้านถึงผู้แทนของตนประปราย หลายฝ่ายเตือนให้คิดถึงสายสัมพันธ์สองประเทศในห้วงเวลายากลำบาก

ที่กรุงลอนดอนวันนี้นายจอน อึ้งภากรณ์ รองประธานกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้เข้ายื่นจดหมายคัดค้านจากคณะกรรมาธิการกับสส.อังกฤษคือนายจอห์น โกรแกน และออสติน มิทเชลล์ จากพรรคเลเบอร์ นอกจากยื่นหนังสือคัดค้านนายจอนยังได้หารือกับผู้แทนทั้งสองของพรรครัฐบาลอังกฤษเรื่องผลกระทบจากการที่บีบีซีสั่งปิดรายการภาคภาษาไทยด้วย

จดหมายคัดค้านของคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่มีถึงผู้แทนอังกฤษส่งถึงนายไมค์ เกพส์ ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฏรอังกฤษ เนื้อหาระบุว่าสมาชิกคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวของไทยมีความเห็นตรงกันว่า การสั่งปิดบีบีซีภาคภาษาไทยในห้วงเวลาปัจจุบันนับว่าไม่เหมาะเป็นอย่างยิ่ง เพราะเสรีภาพในการรายงานข่าวของสื่อมวลชนในประเทศไทยกำลังอยู่ในภาวะ “ถูกจำกัดอย่างหนัก” โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับปัญหาทางด้านสิทธิมนุษยชน

จดหมายของคณะกรรมาธิการยกตัวอย่างกรณีที่เป็นปัญหามากในแง่เสรีภาพการนำเสนอข่าวสารของสื่อว่า หนึ่งคือเรื่องการฆ่าตัดตอนในช่วงสงครามปราบยาเสพติด กับอีกหนึ่งคือการรายงานข่าวสถานการณ์รุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และในเรื่องของการถกกันกรณีประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนที่คนในรัฐบาลมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย จดหมายระบุว่า ในประเทศไทยมีการแทรกแซงสื่อสิ่งพิมพ์อย่างมากด้วยจนชมรมผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนได้ลดอันดับความมีเสรีภาพของสื่อไทยจาก 59 ลงมาอยู่ที่ 107

นอกจากการยื่นจดหมายของตัวแทนคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์แล้ว นายไกรศักดิ์ ชุณหวัน ประธานกรรมาธิการต่างประเทศของวุฒิสภาก็ได้ส่งจดหมายคัดค้านการปิดบีบีซีไปยังสภาผู้แทนราษฏรของอังกฤษเช่นเดียวกัน โดยในจดหมายบับหลังนี้กล่าวถึงประเด็นเดียวกันคือปัญหาเสรีภาพสื่อถูกจำกัดโดยเฉพาะในช่วงห้าปีที่ผ่านมา

“ ถ้าเป็นเรื่องจริงที่ว่าเงินที่ประหยัดได้เพียงน้อยนิดจากการปิดแผนกภาษาต่างๆสิบแผนกนี้ บีบีซีจะเอาไปสนับสนุนการเปิดทีวีภาษาอาหรับ ถ้าอย่างนั้นก็หมายความว่าผู้บริหารบีบีซีได้แสดงให้เห็นว่ากำลังมีความเข้าใจผิดกันอย่างใหญ่หลวงในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง “ความจำเป็น” ของประชากรโลกในอันที่จะได้ “รับรู้” กับ “การต่อสู้กับการก่อการร้ายสากล” ..พร้อมทั้งตั้งคำถามว่า “ จะเอาชนะสงครามอย่างหลังโดยไม่เติมเต็มความจำเป็นอย่างแรกได้อย่างไร ”

นายไกรศักดิ์ชี้ว่า การปิดบีบีซีแผนกภาษาไทยจะเท่ากับอังกฤษได้ริดรอน สิ่งสำคัญคืองานบริการข่าววิทยุที่มีชื่อเสียงว่าเป็นกลาง ในขณะที่จะทำให้คนจำนวนมากต้องหมดสิทธิในอันที่จะได้รับรู้ อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในโลกที่เสรีภาพต่างหากที่เป็นตัวตัดสิน หาใช่ข้อมูลไม่

นอกเหนือจากสว.แล้ว ยังปรากฏว่ามีบุคคลสำคัญหลายรายจากประเทศไทยเขียนจดหมายแสดงความไม่เห็นด้วยกับการปิดแผนกไทยไปยังอังกฤษส่งไปที่บีบีซีด้วย เช่นนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีศึกษาธิการมีจดหมายถึงนายไมเคิล เกรดประธานกรรมการของบีบีซีแสดงความเสียใจที่มีการตัดสินใจดังกล่าวว่าบีบีซีอาจประเมินความสำคัญของแผนกภาษาไทยพลาดไป และยังแสดงความเป็นกังวลกับโครงการความร่วมมือในเรื่องเนื้อหารายการสำหรับสื่อสำหรับเยาวชนและครอบครัวว่าจะกระทบไปด้วย

อีกรายหนึ่งที่ส่งจดหมายไปยังบีบีซีคือพลเอกปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ และคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ที่ระบุเนื้อหาคล้ายกันกับอีกหลายฝ่ายว่าการปิดบีบีซีไทยจะในเวลาที่สื่อมีปัญหาเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารจะปิดโอกาสในการรับรู้ของผู้ฟังชาวไทยไปอีกช่องทางหนึ่ง จดหมายของพลเอกปฐมพงษ์และคุณหญิงสุพัตราชี้ว่า การที่บีบีซีไทยได้รับการถ่ายทอดต่อทางคลื่นเอฟเอ็มทำให้เห็นได้ว่าจำนวนผู้ฟังมีแต่จะเพิ่มขึ้นกว่าสมัยเป็นคลื่นสั้น ผศ.จรัล ดิษฐาอภิชัย กรรมการสิทธิมนุษยชนก็เป็นอีกรายที่เขียนจดหมายคัดค้านไปยังผู้บริหารของบีบีซี ซึ่งจดหมายของผศ.จรัลได้รับคำตอบยืนยันจากนายไนเจล แชปแมน ผู้อำนวยการบีบีซีภาคบริการโลกว่าไม่มีเหตุผลดีพอที่จะทุ่มเทงบประมาณเปิดบริการข่าวสารในที่ที่มีผู้ฟังน้อยนิดอย่างประเทศไทย

แต่นอกเหนือจากหนังสือประท้วงของสว.และบุคคลสำคัญฝั่งไทยแล้ว ในอังกฤษเองก็มีชาวอังกฤษจำนวนหนึ่งเขียนจดหมายคัดค้านการปิดบีบีซีแผนกภาษาไทยไปยังรัฐสภาหรือผู้แทนของตน แองโกลไทย โซไซตี้ เชิญชวนให้บรรดาสมาชิกของตนส่งจดหมายไปยังสส.และกระทรวงต่างประเทศเพื่อคัดค้าน ศจ.ฟิลิปป์ สตอตต์ ประธานแองโกลไทยตีพิมพ์จดหมายของตนเองที่ส่งถึงสส.ในเขตเป็นต้นแบบไว้ในเวบไซท์ด้วย จดหมายระบุว่าการตัดบีบีซีแผนกภาษาไทยจะกระทบสายสัมพันธ์ระหว่างประชาชนสองประเทศอย่างมาก

จดหมายของประธานแองโกลไทยระบุว่าการสั่งปิดแผนกภาษาไทยดูจะไม่มีเหตุผลอันสมควร โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ทั้งสองประเทศมีหลายอย่างที่จะต้องแลกเปลี่ยนร่วมมือกันไม่ว่าปัญหาการก่อการร้าย โรคระบาดและภัยธรรมชาติเช่นกรณีสึนามิ นอกจากนี้ยังชี้ด้วยว่า อังกฤษเองก็จะสูญเสียความสำคัญลงไปและจะกระทบไม่ว่าในด้านความสัมพันธ์ทางด้านการค้าในขณะที่อิทธิพลด้านเศรษฐกิจการเมืองของภูมิภาคนี้กำลังมาแรง พร้อมชี้ว่าอังกฤษดึงดูดนักศึกษาจากไทยขณะที่ไทยก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของชาวอังกฤษ

ชาวอังกฤษรายหนึ่งที่เขียนจดหมายถึงสส.เพื่อให้ช่วยคัดค้านการปิดบีบีซีแผนกภาษาไทยคือจอย ไดเคอรส์ ซึ่งเขียนถึงสส.ในพื้นที่ในลอนดอนคือไซมอน ฮิลล์ เธอระบุเหตุผลหลายประการที่ไม่ควรปิดบีบีซีไทย สิ่งสำคัญนั้นเธอชี้ว่า แม้ประเทศไทยจะไม่ได้มีปัญหาภายในรุนแรงเหมือนอีกหลายประเทศ แต่ก็มีเค้าความตึงเครียดหลายจุดโดยเฉพาะที่น่าห่วงมากคือปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ซึ่งทำให้ประเทศไทยทวีความสำคัญโดยเฉพาะในภาวะที่โลกกำลังเป็นห่วงเรื่องปัญหาการก่อการร้าย นอกจากนั้นยังยกข้อมูลของชมรมผู้สื่อไร้พรมแดนที่ลดระดับความมีเสรีภาพของสื่อไทยลงด้วยอย่างฮวบฮาบ ไดเคอรส์ชี้ด้วยว่า ได้ข้อมูลจากอดีตหัวหน้าแผนกภาษาไทยที่ระบุชัดว่าในรอบอย่างน้อยห้าปีที่ผ่านมาบีบีซีไม่เคยทำสำรวจตัวเลขคนฟังแผนกภาษาไทยอย่างชัดเจน ทำให้ข้ออ้างในการปิดของผู้บริหารบีบีซีที่ว่าจำนวนคนฟังน้อยดูไม่มีน้ำหนักทันที

นอกจากนี้กลุ่มนักวิชาการในและนอกอังกฤษที่สนใจเรื่องเมืองไทยไม่ต่ำกว่าสามสิบหกรายยังได้ร่วมกันลงชื่อในจดหมายคัดค้านการปิดบีบีซีแผนกภาษาไทยด้วย จดหมายของกลุ่มนักวิชาการมีเนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่าข้ออ้างของบีบีซีที่ว่า แผนกภาษาไทยไม่สร้างผลกระทบในหมู่ผู้รับสารนั้นเป็นการประเมินที่ต่ำเกินไป

พร้อมทั้งชี้ว่า ในห้วงเวลาที่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นถูกจำกัด บีบีซีไทยเป็นหนึ่งในแหล่งข้อมูลที่เป็นอิสสระและเป็นกลางที่เหลืออยู่ไม่กี่แห่ง

จดหมายของนักวิชาการกลุ่มนี้กล่าวว่า การปิดบีบีซีไทยนับว่าเลือกเวลาได้ไม่เหมาะเป็นอย่างยิ่ง พร้อมกับชี้ว่าสถานะความสำคัญต่อการเมืองโลกของไทยมีแต่จะมากขึ้นและไม่ด้อยลงโดยเฉพาะเมื่อมองดูปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ของไทย

ในบรรดานักวิชาการที่ลงชื่อนั้นมีหลายรายที่มีผลงานเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักศึกษาไทย เบเนเดิกท์ แอนเดอร์สัน ชารลส์ คายส์ ธงชัย วินิจจกุล ทิม ฟอร์ไซท์ แพททริค จอรี่ โจนะธัน ริคค์ เจมส์ สกอตต์ เบนเนดิค แอนเดอร์สัน เรเชล แฮริสัน อาดาดล อิงควณิชย์ ดันคัน แมคคาร์โก้ เควิน ฮิววิสัน ไมเคิล มอนเตซาโน อเล็กซานเดอร์ ฮอร์สแมน เป็นต้น

ที่มา : Thai Broadcast Journalists Association
538/1 Samsen Road, Dusit ,Bangkok 10300
Tel: 662-243-8479, 666-522-4288
Fax: 662-243-8489
www.thaibja.org

 

Be the first to comment on "ยื่นจม.รัฐสภาอังกฤษค้านปิดบีบีซีไทย"

Leave a comment

Your email address will not be published.