ยุทธศาสตร์เงินนิยมจะนำไปสู่ธนาธิปไตยขับเคลื่อนด้วยพลังแห่งโลภจริต ซึ่งจะนำไปสู่การแก่งแย่งการฉ้อโกง การขาดศีลธรรม การใช้ความรุนแรง แต่ยุทธศาสตร์รัตนโกสินทร์ คือพลังทางสังคม และพลังทางปัญญา ใช้พลังทางสังคม พลังทางปัญญาเข้ามาขับเคลื่อนด้วยสัมมาฐิติ…
ปาฐกถาพิเศษ โดยนายแพทย์ประเวศ วะสี |
|
“ประชาธิปไตยสำหรับผมเองถือเป็นสัจจะ ถือเป็นศีลธรรม ธรรมะ ถ้ามีประชาธิปไตยที่แท้ จะเกิดความร่มเย็นเป็นสุขเกิดความเป็นธรรมทางสังคม ที่สำคัญขณะนี้ไม่มี ถ้ามีความเป็นธรรมทางสังคมจะสงบสุข ผู้คนจะมีความสุขจะมีความยินดีต่อกัน มีจิตใจอยากทำเพื่อส่วนร่วม ถ้าขาดความเป็นธรรมทางสังคม คนจะเกลียดประเทศ น้อยใจ บางคนอพยพ ทำร้ายกัน หรือไม่ร่วมมือสารพัด เพราะฉะนั้นประชาธิปไตยต้องเกิดความเป็นธรรมทางสังคม”
การเมืองของพลเมือง บ่อเกิดของความร่มเย็นเป็นสุขในบ้านเมือง พูดถึงการเมืองแล้ว โดยมากผู้คนจะมองเฉพาะการเมืองของนักการเมือง ซึ่งแท้จริงการเมืองไม่ควรเป็นของนักการเมืองเท่านั้น ถ้าการเมืองเป็นเรื่องของนักการเมืองเท่านั้น ยากมากที่จะดี และยากมากที่จะเป็นประชาธิปไตยจริงๆ ที่เรียกว่าประชาธิปไตยโดยอ้อม หรือประชาธิปไตยโดยตัวแทน ซึ่งปัจจุบันเป็นเรื่องที่ล้าหลังแล้วทั่วโลก |
|
ประชาธิปไตยโดยตัวแทนเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมี แต่บ้านเราก็ประสบปัญหาอย่างเห็น คือมีการซื้อเสียงขายเสียงกันโดยใช้เงินเป็นจำนวนมาก ขณะนี้อาจจะถึงแสนล้านที่เข้ามาสู่การเลือกตั้ง เลยกลายเป็นธนาธิปไตยที่ทำให้ประชาธิปไตยในบ้านเราบิดเบี้ยวไป เพราะฉนั้นจึงจำเป็นต้องคิดถึงเรื่องประชาธิปไตยโดยตรง คือคนทั้งหมดเข้ามามีส่วนเข้ามามีบทบาท หรือที่เรียกว่าการเมืองภาคพลเมือง หรือประชาธิปไตยโดยตรง ซึ่งมีประเด็นสำคัญ 3 ประเด็น ได้แก่ 1. ประชาชนทั้งมวลรวมตัว ร่วมคิด ร่วมทำ ในทุกพื้นที่ ในทุกองค์กร และในทุกเรื่อง 2. ร่วมกันตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ ในรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 76 ระว่าบุไว้ต้องสนับสนุนให้ประชาชนมีบทบาทในการกำหนดนโยบาย และตรวจสอบอำนาจรัฐทุกระดับ 3. มีบทบาทในการกำหนดนโยบายสาธารณะ เพราะนโยบายสาธารณะเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องกระทบทุกองคาพยบของสังคม ที่จะทำให้เกิดสันติภาพหรือสงครามอยู่ที่นโยบาย ถ้านโยบายกำหนดให้คนส่วนน้อย โดยมีผลประโยชน์เกี่ยวพันด้วย แต่ว่ากระทบคนส่วนใหญ่การกำหนดนโยบายนั้นไม่ดีไม่ถูกต้อง กระบวนการนโยบายสาธารณะต้องเป็นกระบวนการทางปัญญา ใช้ความรู้ใช้ปัญญา เป็นกระบวนการทางสังคม เป็นกระบวนการทางศีลธรรม ต้องมีความถูกต้อง ไม่ใช่คดในข้องอในกระดูก |
|
ประชาธิปไตยถือเป็นสัจจะ ถือเป็นศีลธรรม ธรรมะ ถ้ามีประชาธิปไตยที่แท้ จะเกิดความร่มเย็นเป็นสุขเกิดความเป็นธรรมทางสังคม ที่สำคัญขณะนี้ไม่มี ถ้ามีความเป็นธรรมทางสังคมจะสงบสุข ผู้คนจะมีความสุขจะมีความยินดีต่อกัน มีจิตใจอยากทำเพื่อส่วนร่วม ถ้าขาดความเป็นธรรมทางสังคม คนจะเกลียดประเทศ น้อยใจ บางคนอพยพ ทำร้ายกัน หรือไม่ร่วมมือสารพัด เพราะฉะนั้นประชาธิปไตยต้องเกิดความเป็นธรรมทางสังคม คือ 1. คนไทยทุกคนไม่ว่าจะชาติพันธุ์ ศาสนาอะไร มีเกียรติและมีศักดิ์ศรี มีคุณค่าความเป็นคน คนไทยต้องเป็นคนที่มีเกียรติและมีศักดิ์ศรีทุกคน 2. มีการเข้าถึงการใช้ทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกัน และเป็นธรรม การใช้ทรัพยากรต่างๆ ทั้งทางธรรมชาติ ทรัพยากรทางกฎหมาย ทรัพยากรทางการเงินของประเทศ ทรัพยากรทางความยุติธรรม จำเป็นต้องเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียมอย่างเป็นธรรมทางสังคม 3. มีไมตรีจิต ต่อกัน มีสันติภาพ และมีการแก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ประชาธิปไตยต้องมีผล คือต้องมีผลแก้ความยากจนได้ แก้ปัญหาต่างๆ ได้ เพราะประชาธิปไตยที่แท้จริงบนพื้นฐานของศีลธรรมที่ว่า เคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะของคนเล็กคนน้อย คนยากคนจน ผมว่านี่คือศีลธรรมพื้นฐาน และประชาธิปไตยต้องอยู่บนศีลธรรม |
|
ที่บ้านเมืองของเราประสบปัญหามากมาย เพราะมีภูเขาที่ขวางกั้น 4 ลูกใหญ่ๆ และเชื่อมกันจนไม่มีใครสามารถผ่านตรงนี้ไปได้ ไม่ว่ารัฐบาลใดๆ ภูเขาลูกที่ 1 คือวัฒนธรรมเชิงอำนาจ ที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยเป็น 100 ปี เป็นโครงสร้างอำนาจที่คนข้างบนกดคนข้างล่างซึ่งเป็นอย่างนั้นตลอด และเป็นอุปสรรคต่อเรื่องทั้งปวง ภูเขาลูกที่ 2 ระบบราชการและระบบการเมืองที่ด้อยประสิทธิภาพ กระทบหมดทุกเรื่องเป็นอำนาจรัฐ ถ้าอำนาจรัฐขาดความรู้ขาดความสุจริต ขาดความอุทิศตัว ขาดการทำงานร่วมกับสังคม จะกระทบหมดทุกเรื่อง แก้ปัญหาต่างๆ ไม่ได้ ปัญหาก็สะสมไว้และรวมไปสู่ความรุนแรง ทีนี้ระบบราชการระบบการเมืองของเรา เชื่อมโยงกับภูเขาลูกแรก คือเรื่องวัฒนธรรมและโครงสร้างอำนาจ จะใช้ความรู้น้อย เชื่อมโยงกับสังคมน้อย จะเน้นกฎหมาย กฎระเบียบ และการสั่งการจากบนลงล่าง คือลักษณะขององค์กรเชิงอำนาจ เช่นองค์กรทางการเมือง องค์กรทางราชการ องค์กรทางการศึกษา องค์กรทางธุรกิจ และองค์กรทางศาสนา ดังนั้นทำงานอะไรจะได้ผลน้อย ซึ่งองค์กรทั้ง 5 เป็นองค์กรที่มีความสำคัญต่อบ้านเมือง แต่เนื่องจากเป็นองค์กรอำนาจใช้การเรียนรู้น้อย สร้างปัญญาน้อย ทำให้บ้านเมืองตกอยู่ในอันตราย มีเรื่องไม่เข้าใจไม่รู้จะทำอย่างไร หรือทำผิดๆ แม้แต่องค์กรทางศาสนา ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งเรื่องศาสนา แต่ว่ามีพลังน้อยมากที่จะทำอะไร เนื่องจากเป็นองค์กรเชิงอำนาจ ภูเขาลูกที่ 3 คือระบบการศึกษาที่คับแคบและอ่อนแอ ทำมา 100 กว่าปีแล้ว โดยเอานักเรียนมาอยู่ในห้องเรียนแล้วมีคูรจำนวนหนึ่งที่สอน เป็นโรงที่มีการสอน มีผู้สอนและผู้ถูกสอน แต่ไม่มีผู้เรียน คูรก็ไม่ได้เรียน คูรก็สอนซ้ำๆ อย่างนั้น ซึ่งที่จริงมนุษย์มีศักยภาพในการเรียนรู้ ต้องระเบิดการเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง แต่นี้เราเรียนแคบ ๆ เรียนแล้วทำอะไรไม่เป็น คิดอะไรไม่เป็นจัดการก็ไม่เป็น การศึกษาของเราที่มีไม่มีเลยว่าศึกษาแล้วเข้าใจตัวเอง ศึกษาและเข้าใจเพื่อนมนุษย์ ไม่มี ศึกษาและเข้าใจความเป็นจริงของสังคมซึ่งซับซ้อนเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง มีแต่ท่องวิชา ไม่มีเลยเข้าใจตัวเองและเข้าใจมนุษย์ ทำงานก็ไม่เป็นเพราะว่าท่องหนังสือลูกเดียว จัดการอะไรก็ไม่เป็น การจัดการเป็นการปฏิบัติต้องปฏิบัติถึงจัดการเป็น และเชื่อมโยงกับภูเขาลูกที่ 4 ภูเขาลูกที่ 4 เป็นทิศทางการพัฒนา ที่เอาเงินเป็นตัวตั้ง และเป็นวัตถุนิยม บริโภคนิยม ซึ่งจะทำร้ายสังคมอย่างรุนแรง จะเร่งความสูญเสียทางศีลธรรมมากมายอย่างที่เราเห็น คนแย่งกัน คิดเอาผลประโยชน์ ทำอย่างไรก็ได้ขอให้ได้ตังค์ จะมอมเมาอย่างไรก็ได้ ห้ได้ตังค์กินเหล้า แม้แต่ขนมเด็ก โฆษณากันเอาตังค์จากพ่อแม่เด็ก 170,000 ล้านต่อปี ไม่นับอย่างอื่น โฆษณาครีมหน้าขาว ลูกบอกว่าแม่ไม่สวยเพราะแม่หน้าดำ อย่างนี้ทำร้ายความเป็นมนุษย์ขนาดไหน เพราะว่ามนุษย์หน้าจะดำ จะด่าง จะลายอย่างไรเขาเป็นคน การกระตุ้นการบริโภคถ้าคนไม่บริโภคแล้วเศรษฐกิจตก เป็นเศรษฐกิจที่ต้องกระตุ้นการบริโภค พยายามกระตุ้นและถูกกระทำ ประชาชนไม่มีทางทำอะไรเลย เขาจะใช้วิธีการทางการเงินให้บริโภคมากขึ้น เช่นลดดอกเบี้ยเงินฝาก คนจะใช้เงินมากขึ้น ถ้าดอกเบี้ยสูงคนอยากออมเงิน เขาจะทำให้บริโภคมากขึ้นให้เอาอนาคตมาใช้ทำบัตรเครดิตต่างๆ สารพัด ซึ่งคิดว่าเหล่านี้ไร้ศีลธรรม และไม่ตรงกับคุณค่าเดิมที่ยึดถือแต่โบราณคือความพอเพียงการประหยัด แต่ไปเร่งการทำลายทรัพยากรต่างๆ ป่าไม้ ให้ไปเป็นตัวเงิน ทั้งหมดนี้เชื่อมกัน และเมื่อเชื่อมกับการศึกษาที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ที่ไม่เชื่อมกับความดี แต่ไปเชื่อมกับความโลภ ทั้งหมดก็ไป ภูเขาทั้ง 4 นี้ไม่มีรัฐบาลใดที่จะฝ่าภูเขานี้ไปได้ มันจะขวาง จะดึงกันไว้ จะไปทำเรื่องอะไรก็ไปไม่ได้ ไม่ว่าปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปการศึกษา ดึงกันอยู่ไปไม่ได้ จำเป็นต้องสร้างพลังที่จะทะลุภูเขาทั้ง 4 ลูกไปพร้อมกันทันที คือ
|
|
ยุทธศาสตร์รัตนโกสินทร์ พลังทางสังคม พลังทางปัญญาฝ่าวิกฤติปัญหา เรื่องที่ 1 ต้องทำให้เกิดประชาสังคม สังคมแนวดิ่งที่เราพูดกัน และเราทำกันมาคือเรื่องนี้ ประชาสังคม สังคมแนวดิ่ง ต้องทำให้เกิดประชาสังคมการเมือง ร่วมคิดร่วมทำทุกพื้นที่ เรื่องที่ 2 องค์กรทุกชนิดต้องปรับเปลี่ยนจากองค์กรอำนาจไปสู่องค์กรเรียนรู้ เรื่องที่ 3 เรื่องการศึกษาต้องเปลี่ยนใหม่ พระเจ้าอยู่หัวใช้คำว่าต้องระเบิดจากภายใน คือพลังแห่งการเรียนรู้สูงมาก มนุษย์มีพลังเรียนรู้ทุกชนิด บรรลุอะไรก็ได้ขอให้เปิด ซึ่งขณะนี้ปิดอยู่ มีการสอนต้องเปิดการเรียนรู้พลังมาก การสอนพลังน้อย จำกัดตัวอยู่ต้องเปิดตรงนี้ เรื่องที่ 4 ทิศทางการพัฒนาเงินนิยมต้องปรับตัวสู่ทิศทางเศรษฐกิจพอเพียง ที่พระเจ้าอยู่หัวตรัสไว้ เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจเท่านั้นแต่เป็นเรื่องจิตใจ เป็นเรื่องสังคมเป็นเรื่องวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมพร้อมกันไปในตัว เพราะฉะนั้นเป็นทิศทางการพัฒนาที่ดี ที่บูรณาการพร้อมกันไป เศรษฐกิจทุนนิยมจะเน้นทุนที่เป็นเงิน เศรษฐกิจพอเพียงจะเน้นทุนที่เป็นสังคมทุนที่เป็นวัฒนธรรม ต้องมีพลังตรงนี้ เรียกว่ายุทธศาสตร์รัตนโกสินทร์ คือยุทธศาสตร์ที่จะระเบิดพลังออกไปทั้ง 4 ด้านพร้อมกัน ที่ใช้คำว่ารัตนโกสินทร์ มาจากอาจารย์รังสรรค์ ธนพรพรรณ ได้บอกว่าโลกขณะนี้เป็นโลกทุนนิยม เงินนิยม องค์กรโลกบาลเกี่ยวกับการเงินคือ WORLD BANK กับ IMF ที่กรุงวอชิงตัน เขาเรียกแนวทางนี้ว่าแนวทาง Washington Concensus อาจารย์รังสรรค์เรียกว่า ฉันทามติวอชิงตัน หมายถึงเงินนิยม ทุนนิยม เนื่องจากแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง พระมหากษัตริย์กรุงรัตนโกสินทร์เป็นผู้ทรงบอกไว้ เราจึงเรียกว่าเป็นแนวทางรัตนโกสินทร์ (Rattanakosin Concensus) ซึ่งเป็นคนละอันกับฉันทามติวอชิงตัน (Washington Concensus) ซึ่งเป็นทุนนิยม บริโภคนิยม ยุทธศาสตร์เงินนิยมจะนำไปสู่ธนาธิปไตยขับเคลื่อนด้วยพลังแห่งโลภจริต ซึ่งจะต่อไปสู่โทสะและโมหะ ซึ่งเราเรียกว่าเป็นอกุศลมูล คือโลภะ โทสะ โมหะ ที่มากับเงิน และนำไปสู่การแก่งแย่งการฉ้อโกง นำไปสู่การขาดศีลธรรม นำไปสู่การใช้ความรุนแรง คือยุทธศาสตร์เงินนิยม แต่ยุทธศาสตร์รัตนโกสินทร์ คือพลังทางสังคม และพลังทางปัญญา ใช้พลังทางสังคม พลังทางปัญญาเข้ามาขับเคลื่อนด้วยสัมมาฐิติ พลังทางสังคมที่ว่านี้กับพลังทางปัญญา มี 5 องค์ประกอบเข้ามาผนึกกันอยู่ในนี้ คือ 1. พลังทางสังคม รวมตัวร่วมคิดร่วมทำ ทุกพื้นที่ ทุกองค์กร ทุกเรื่อง 2. พลังอันมีวัตถุประสงค์อันสูงส่งร่วมกัน เหมือนพลังแสงเลเซอร์ที่เกิดจากคลื่นแสงที่มีพลังต่ำๆ แต่เข้ามาจูนกันจนเกิดพลังแรงมาก คนในสังคมต้องมีวัตถุประสงค์อันสูงส่งร่วมกัน ถ้าวัตถุประสงค์ต่ำเห็นแต่ตัวเห็นแก่พวก ต้องเป็นวัตถุประสงค์ในที่นี้คือเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางเป็นอุดมการณ์ร่วมกัน ขอให้ร่วมกันจะเกิดพลัง 3. พลังของจิตสำนึก เป็นพลังแห่งศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของตัวเอง เท่ากับปลดปล่อยแล้ว คนขณะนี้ถูกกดไม่มีศักดิ์ศรี ไม่มีอำนาจ แต่จริงๆ มี ทุกคนมีเกียรติมีศักดิ์ศรี มีศักยภาพที่จะทำอะไรดีๆ สามารถทำได้ ทุกคนมีความคิดอยู่ในตัวที่ต้องปรับเปลี่ยน เราไม่เห็นคุณค่าความรู้ในตัวคน เราไปให้ความสำคัญกับความรู้ที่อยู่ในกระดาษ ที่จริงในตัวคนมีความรู้มาก มีความรู้จากประสบการณ์ทำงาน แต่เราไม่เห็นคุณค่าตรงนั้น เราไปให้กับคนที่ท่องหนังสือได้ มีดีกรี แต่ว่าทุกคนมีความรู้อยู่ในตัวทั้งสิ้น ตรงนี้จะช่วยบอกเราว่าทำไม ครูที่ดีที่สุดของเราคือแม่ โดยไม่คำนึงถึงการศึกษาของแม่ แม่ไม่เคยเข้าโรงเรียน ไม่เคยได้ปริญญาตรี โท เอก แต่แม่สอนลูกได้ดีที่สุดเพราะแม่มีความรู้ในตัว ถ้าเราให้เกียรติทุกคน ทุกคนมีความรู้หมด พ่อสุกอยู่ร้อยเอ็ดเลี้ยงปลาเก่ง คนนั้นทำขนม คนนี้แต่งเพลงเก่ง ทุกคนเป็นคนเก่งหมด คนละทางที่ต่างกัน ทุกวันนี้ระบบการศึกษาของเราทำร้ายผู้คน ในชั้นเรียนมี 2 – 3 คนที่เก่ง นอกนั้นเป็นคนไม่เก่ง ผมคิดว่าทุกคนเป็นคนเก่งในทางที่ต่างกัน และทุกคนมีเกียรติหมด เขาจะได้ใช้ศักยภาพของเขา ทุกคนเก่งมีดีหมด ถึงจะเกิดพลังตรงนี้ขึ้น เราต้องย้ายการนับถือความรู้ มานับถือความรู้ที่มีอยู่ในตัวคนทุกคนจะเกิดพลังจิตสำนึกขึ้นและเกิดจริงๆ และเกิดเร็วมาก อย่างเช่นโรงเรียนที่อยุธยา โรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์ โรงเรียนวัดพนังเชิงเขาให้นักเรียน เรียนกับชาวบ้านเรียนจากช่างเสริมสวย เรียนจากช่างปูน เรียนกับร้านขายของชำ ทำให้ทุกคนรู้สึกมีเกียรติขึ้นทันที มีเด็กมาเรียนกับเรา นักเรียนเวลาเรียนกับใครเขาเคารพคนนั้นว่าเป็นครู ตัวระบบการศึกษาต้องให้นักเรียนเรียนจากชาวบ้าน เพราะชาวบ้านรู้มากมาย และเรียนเป็นของจริง และนี่คือการสร้างศีลธรรมพื้นฐานคือการเคารพศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นคนของคน 4. พลังแห่งการพัฒนาจิต เราทอดทิ้งไปเราพัฒนาแต่วัตถุและเราก็เข้าสู่วิกฤต การพัฒนาจิตเป็นเรื่องสำคัญและเป็นเรื่องการพัฒนามนุษย์ ควรส่งเสริมการเจริญสติให้วิถีชีวิต ถ้าปราศจากการเจริญสติให้แล้ว เราเข้าไปสู่ความดีไม่ได้ก็จะใช้อารมณ์ ควบคุมตัวเองไม่ได้ ต้องมีการเจริญสติ 5. เป็นพลังทางปัญญา ต้องเปิดพื้นที่ทางปัญญาอย่างกว้างขวาง
ทั้ง 5 ประการรวมกันเรียกว่า พละ 5 พลัง 5 เป็นคำทางพุทธเขาเรียกว่าอินทรีย์ 5 พละ เป็นพลัง 5 ประการ ที่เป็นพลังการรวมตัวทางสังคม พลังแห่งการมีวัตถุประสงค์ ร่วมกัน เศรษฐกิจพอเพียง พลังแห่งจิตสำนึก ศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นคน พลังแห่งการพัฒนาจิต ยิ่งเจริญลดความเห็นแก่ตัวทั้งชาติทั้งประเทศ พลังทางปัญญาต้องระเบิดไปสู่ทางปัญญาอย่างกว้างขวาง เข้ามาเชื่อมกันทั้ง 5 ประการ รวมกันเป็นพลังอย่างกว้างขวาง ทั้ง 5 อันคือเครื่องมือของยุทธศาสตร์รัตนโกสินทร์ ซึ่งอาจจะยากพอสมควร เพราะว่าสังคมเราจะขาดความเข้าใจที่จะรับพวกนี้ |
|
โหวตเชิงยุทธศาสตร์ โหวตเพื่อ… ส่วนในการเลือกตั้งปี 48 ที่กำลังจะมาถึงนั้น ประชาชนควรใช้การโหวตเชิงยุทธศาสตร์ ยกตัวอย่างที่ดีที่สุดคือที่ประเทศอังกฤษ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ทหารอังกฤษยังกลับเกาะอังกฤษไม่หมด มีการเลือกตั้งทั่วไป ตอนนั้นแทชชิวเป็นวีรบุรุษของอังกฤษที่นำอังกฤษชนะสงคราม แต่ชาวบ้านไม่เลือกแทชชิวกลับมาเป็นนายก เพราะรู้ว่าถ้าเลือกแทชชิวจะไม่ปล่อยอินเดียเป็นอิสระ และคนอังกฤษจะต้องไปทำสงครามกับอินเดีย ชาวอังกฤษไม่อยากทำสงครามจึงไม่เลือกแทชชิว ทั้งๆ ที่รักแทชชิว แต่โหวตเลือกแอตลี่เข้ามาเป็นนายกและรีบปล่อยอินเดียเป็นอิสระ ตรงนี้เรียกว่าโหวตเชิงยุทธศาสตร์ รักแทชชิวแต่ไม่โหวตให้แทชชิว โหวตเชิงยุทธศาสตร์รู้ว่าจะเกิดอะไรแต่เราไปไม่ถึงขนาดนั้น ลองพยายามกันดู ถ้าคุณโหวตคุณจะเอายุทธศาสตร์เงินนิยม หรือเอายุทธศาสตร์รัตนโกสินทร์ทดลองดู ยุทธศาสตร์รัตนโกสินทร์แผ่นดินจะร่มเย็น ยุทธศาสตร์เงินนิยมจะล่มจมทั้งชาติ ก็ทดลองดู นพ.ประเวศ กล่าว |
|
เรียบเรียงจากการปาฐกถาพิเศษ “ยุทธศาสตร์รัตนโกสินทร์กับการเลือกตั้ง’48” โดยนายแพทย์ประเวศ วะสี วันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2547 เวทีนโยบายสาธารณะเพื่อเอาชนะความยากจนในสถานการณ์เลือกตั้ง’48 ณ ห้องประชุม จินดา ณ สงขลา สถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน จ.นนทบุรี จัดโดยสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ร่วมกับมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และสถาบันพระปกเกล้า |
Be the first to comment on "ยุทธศาสตร์รัตนโกสินทร์กับการเลือกตั้ง48"