รวมพลังประชาชนต้านคอร์รัปชัน

รวมพลังประชาชนต้านคอร์รัปชัน

ช่วงระยะเวลาหนึ่งสื่อมวลชน ได้เคยเสนอข่าวการเปิดตัวของ “เครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น” (คปต.) และมีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาก เนื่องมาจากการเข้าร่วมของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนั้นยังมีกรณีซุกหุ้นเป็นชนักติดหลังอยู่ และน่าสนใจเป็นพิเศษเพราะสังคมไทยจะมีเครือข่ายของภาคประชาชนที่เข้ามาต่อต้านการคอร์รัปชันอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งๆ ที่ผู้คนต่างก็ตระหนักชัดถึงพิษร้ายของการคอร์รัปชันที่มีอยู่เกือบทุกอณูของสังคมไทย

แต่นั่นก็เป็นกระแสในระยะเวลาสั้นๆ ตามความสนใจของสื่อมวลชนที่เสนอข่าว ซึ่งติดตามเฉพาะเรื่องราวที่คนเด่นคนดังเข้าไปเกี่ยวข้อง การนำเสนอจึงไม่ได้เนื้อหาสาระอะไรมากนัก นอกจาก คนที่มีปัญหาเรื่องการคอร์รัปชันไปงานเปิดตัว “เครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น” ส่วนสาระในเวทีจริงๆ กลับถูกวางทิ้งไว้อย่างน่าเสียดาย

“เครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน” มีจุดเริ่มต้นมาจากการพูดคุยใน ที่ประชุมข่ายประชาสังคมไทย อันเป็นเวทีเคลื่อนไหวภาคพลเมืองที่มีกันเป็นประจำทุกเดือน ของกลุ่มคนและองค์กรที่สนับสนุนงานชุมชนท้องถิ่น และประชาคมที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ได้นำประเด็นปัญหาการคอร์รัปชันต่างๆ มาให้ข้อมูลกัน เริ่มจากกรณีสำคัญ 5 กรณี ได้แก่

กรณีทุจริตยา การก่อสร้างสนามบินหนองงูเห่า โครงการบำบัดน้ำเสียคลองด่าน การคัดเลือกคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) และสหกรณ์สุราษฏร์ธานี (CO-OP) ซึ่งในแต่ละกรณีมีการโกงกินกันนับพันล้าน และทำกันเป็นระบบ แม้สื่อมวลชนจะเข้าไปร่วมเปิดโปงและนำเสนอ แต่ข่าวคราวก็มักจะเงียบหายไป ไม่อาจนำเสนอได้ อย่างครบถ้วนแบบกัดไม่ปล่อย เพราะถูกบีบคั้นด้วยอิทธิพล สินน้ำใจ และหลากหลายวิธีการ จึงไม่ค่อยมีใครกล้าเข้าไปขวางทางการคอร์รัปชัน แม้จะเห็นตำตาตำใจอยู่ก็ตาม จะเหลือก็แต่เพียงคนที่ติดตามแบบกัดไม่ปล่อยอยู่ไม่กี่คน และคนเหล่านั้นมักต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว เนื่องจากเป็นกรณีที่เสี่ยงในการเข้าไปขัดขวางผลประโยชน์มากมายมหาศาลขนาดนั้น

ผู้เข้าร่วมในเวที ที่ประชุมข่ายประชาสังคมไทย จึงเห็นร่วมกันว่า หากประชาชนอดทนรอให้รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจหน้าที่เข้ามาแก้ไข บ้านเมืองก็คงจะวิกฤตหนักยิ่งกว่านี้ ถึงเวลาที่ประชาชนจะต้องรวมตัวกันต่อต้านคอร์รัปชัน ตามสิทธิพลเมืองที่พึงกระทำได้ “เครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน” (คปต.) จึงเป็นรูปเป็นร่างขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2543 เป็นต้นมา โดยมีผู้ปฏิบัติการและผู้สนับสนุนจำนวนหนึ่ง ที่มีจุดมุ่งหมายร่วมกันในการผนึกกำลังของประชาชนเพื่อแก้วิกฤตดังกล่าว
ความมุ่งหวังสำคัญของ คปต. ที่มีต่อสังคมไทยในระยะ 5 ปีข้างหน้านั้น จึงมุ่งหวังที่จะเห็นสังคมไทยเป็นสังคมที่ประชาชนทั่วไปมีสำนึกรังเกียจการคอร์รัปชันและรู้เท่าทันรูปแบบการคอร์รัปชันอันหลากหลาย สังคมมีค่านิยมในการใช้อำนาจและค่านิยม ในการบริโภคที่เหมาะสมแบบพอเพียง มีบรรยากาศและปัจจัยที่เอื้อต่อการคอร์รัปชันลดลง และอยากเห็นเยาวชนได้รับการปลูกฝังค่านิยมยกย่องคนดีและต่อต้านคอร์รัปชัน

คปต. จึงทำหน้าที่เป็นสื่อกลางความเคลื่อนไหว เชื่อมโยงติดต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนความคิดเห็นเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาคอร์รัปชันของบุคคล กลุ่ม องค์กรสมาชิกและประชาชนทั่วไป โดยทำหน้าที่เป็นเสมือนป้อมปราการและแนวหลังที่แข็งแกร่ง คอยให้การสนับสนุนการปฏิบัติการอันเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง และด้วยความสมัครใจของบุคคล กลุ่ม องค์กร หรือเครือข่ายต่างๆ
ทั้งนี้ความเคลื่อนไหวทางสังคมจะกระทำอย่างต่อเนื่อง ด้วยวิถีทางสายกลาง ไม่สุดโต่ง ไม่แยกขั้ว จึงพร้อมที่จะสนับสนุนและทำงานร่วมกับทุกคนทุกกลุ่ม ทุกองค์กร ทุกพรรคการเมือง ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล รวมทั้งองค์กรอิสระต่างๆ เพื่อให้การรวมตัวกันต้านคอร์รัปชันเป็นพลังที่เข้มแข็งและเข้าไปแก้ปัญหาอันเป็นวิกฤตของชาติได้

ในเวทีการประชุมสัมมนา “รวมพลังประชาชนต้านคอร์รัปชัน” เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมจึงได้สรุปผลการสัมมนาที่เป็นแนวทางในการปฏิบัติและเป็นข้อเสนอต่อรัฐบาลใน 9 ประเด็น โดยเสนอผ่าน นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ดังต่อไปนี้
ประการที่ 1 เสนอให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนสื่อให้ทำการวิจัยสืบค้นและเผยแพร่ข้อมูลต้านคอร์รัปชัน ที่เรียกว่า กองทุนสนับสนุน ( Investigative Journalism)
ประการที่ 2 เสนอให้รัฐบาลทบทวนและแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับ ป.ป.ช. ใน 4 ประเด็น คือ หนึ่ง เรื่องอายุความกระทำผิด ขอให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกำหนดให้การกระทำผิด ไม่มีอายุความเช่นเดียวกับกรณีร่ำรวยผิดปกติก็ได้ สอง ขอให้เพิ่มเติมในเรื่องของการกำหนดให้มีรางวัลสำหรับ ผู้ชี้เบาะแสนำยึดทรัพย์สินของผู้ทุจริต สาม อยากให้มีหน่วยงานแยกขึ้นมาอีกหน่วยงานหนึ่ง เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการในกรณีทุจริตรายเล็กๆ ของข้าราชการซึ่งมีเป็นจำนวนมาก เพราะถ้าหากว่าไม่มีหน่วยงานมาแบ่งเบาตรงนี้ ป.ป.ช. จะมีแต่เรื่องเล็กๆ เต็มไปหมดและเรื่องใหญ่ๆ ก็จะไม่มีเวลาทำ สี่ ในเรื่องกระบวนการสรรหา ป.ป.ช. ขอเสนอว่า ไม่ควรจะปล่อยให้มีนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการสรรหาเลย
ประการที่ 3 เสนอให้รัฐบาลทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในการจ้างบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศ โดยควรจะกำหนดให้มีที่ปรึกษาคนไทยในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 และดำเนินการต่างๆ ของบริษัทที่ปรึกษาต้องยึดถือผลประโยชน์ของคนไทยเป็นหลัก
ประการที่ 4 เสนอให้รัฐบาลทบทวนและปรับปรุงกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องในเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 56 เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาผลกระทบจากโครงการหรือกิจกรรมของรัฐและเอกชน เช่นที่เคยเกิดขึ้นกับกรณีบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน โรงไฟฟ้าหินกรูด และบ่อนอก เป็นต้น
ประการที่ 5 ขอให้หน่วยงานของรัฐทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างลงในอินเตอร์เนต และสนับสนุนข้อมูลการวิจัยปัญหาคอร์รัปชันต่างๆ
ประการที่ 6 เสนอให้รัฐบาลส่งเสริมข้าราชการที่ร่วมเป็นอาสาสมัครเพื่อสังคม ร่วมเป็นสมาชิกองค์กรสาธารณะประโยชน์ ร่วมกิจกรรมการเมืองภาคพลเมืองในรูปแบบต่างๆ ตลอดจนสามารถเข้าชื่อ 5 หมื่นรายชื่อ เพื่อร่วมกิจกรรมเสนอกฎหมายและถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 303 มาตรา 304 และมาตรา 307 ของรัฐธรรมนูญ
ประการที่ 7 เสนอให้ใช้สื่อเพื่อการรณรงค์สร้างค่านิยมการต้านทุจริตคอร์รัปชัน ค่านิยมส่งเสริมคนดีและค่านิยมส่งเสริมคนกล้าทำความดีเพื่อสังคม
ประการที่ 8 เสนอให้รัฐบาลดูแลการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 40 ในเรื่องของสื่อเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ไม่บิดเบี้ยวไปโดยความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของข้าราชการ ผู้ปฏิบัติหรืออาจจะบิดเบี้ยวไปโดยความอคติหรือผลประโยชน์เฉพาะส่วน รวมทั้งรัฐบาลควรให้ความสนใจในกรณีสรรหา กทช. และ กสช.ให้โปร่งใส ชอบธรรมด้วย
ประการที่ 9 เฉพาะหน้านี้ ขอเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนเวลาของสถานีวิทยุและ โทรทัศน์ของทางราชการเพื่อให้ประชาชนได้ใช้เป็นช่องทางประจำในการสื่อสารข้อมูล สร้างเครือข่าย สร้างความตื่นตัว และเฝ้าระวังปัญหาคอร์รัปชัน

นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีข้อเสนอที่เป็นมาตรการสร้างพลังเครือข่ายของประชาชน โดยมีข้อเสนอเรียกร้องต่อประชาชนเอง ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง มี 6 ประการ
ประการที่ 1 ประชาชนจะจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ในการต้านคอร์รัปชันด้วยวิถีแห่งการพึ่งตนเอง และยินดีรับการสนับสนุนจากผู้ที่ประสงค์ จะให้การสนับสนุนโดยไม่มีเงื่อนไขแอบแฝง
ประการที่ 2 ภาคประชาชนจะจัดทำฐานข้อมูลที่มีความสมบูรณ์ของเครือข่าย อาสาสมัครประชาชนต้านคอร์รัปชันอย่างน้อย 1 แสนชื่อ ให้สำเร็จภายใน 3 เดือนเพื่อสร้างความพร้อมที่จะใช้ประโยชน์ในการทำงานเคลื่อนไหวการเมืองภาคพลเมืองตามกติการัฐธรรมนูญ
ประการที่ 3 ภาคประชาชนจะจัดทำแผนที่คอร์รัปชัน ที่เรียกว่า Corruption mapping เป็นรายจังหวัด และรายกระทรวง รวบรวมข้อมูลกรณีที่มีความเสี่ยงต่อการมีปัญหาคอร์รัปชันขึ้นเพื่อใช้ในการเฝ้าระวังและช่วยกันติดตามของเครือข่ายประชาชนทั่วประเทศ
ประการที่ 4 ภาคประชาชนจะทำการวิจัยเพื่อจัดลำดับการคอร์รัปชัน ที่เรียกว่า Corruption Rating โดยจัดทำเป็นรายกระทรวง ทบวง กรม ปีละ 1 รอบ เพื่อสะท้อนปัญหาให้รู้ว่ามีการโกงกินมากน้อยแค่ไหน ในกระทรวงใด และใช้เครื่องมือกระตุ้นความเอาใจใส่ดูแลของผู้ซึ่งมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบต่อไป
ประการที่ 5 ภาคประชาชนจะจัดให้มีการประชุมเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชันร่วมกับองค์กรอิสระและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นประจำทุกเดือน เพื่อสร้างประชาคมต้านคอร์รัปชันที่เข้มแข็ง
ประการที่ 6 ภาคประชาชนจะสร้างเครือข่ายแหล่งข่างวงในและเครือข่ายช่องทางเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารภาคประชาชน รวมทั้งการเข้าไปจัดทำรายการวิทยุชุมชนในทุกจังหวัดเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายความเคลื่อนไหว

ข้อเสนอทั้งต่อประชาชนและต่อรัฐบาลนั้น ได้รับการเผยแพร่ทางสื่อสาธารณะในวันนั้น และในส่วนของรัฐบาล นายกฯ ได้รับข้อเสนอ เพื่อนำไปปรึกษาคณะรัฐบาลและจะพิจารณาดำเนินการในแต่ละข้อเสนอต่อไป สำหรับภาคประชาชนเอง ก็ไม่ได้หยุดนิ่ง เพราะข้อเสนอดังกล่าวนั้นต้องการ การปฏิบัติที่เป็นจริงเป็นจัง เป็นการเริ่มต้นหันหน้าเข้าต่อสู้กับปัญหาที่ยืดเยื้อมานานในสังคมไทย สังคมที่ระบบอุปถัมภ์ และการจ่ายเบี้ยบ้ายรายทางเกือบจะเป็นเรื่องธรรมดา จนน่ากลัวว่าการคอร์รัปชันจะเป็นการทำไปโดยผู้กระทำไม่รู้สึกผิดใดๆ อีกแล้ว แต่กลายเป็นการคอร์รัปชั่นกันอย่างเป็นระบบ
สังคมที่กัดกินตัวเองอย่างสังคมไทย จึงควรเริ่มต้นต่อต้านคอร์รัปชันกันอย่างจริงจังเสียที เพราะการคอร์รัปชันนั้นก่อผลเสียหายมากมายกับประเทศชาติ ลูกหลาน และบ้านเมืองของเรา

โครงการอาสาสมัครประชาชนต้านคอร์รัปชัน 100,000 รายชื่อ

โครงการอาสาสมัครประชาชนต้านคอร์รัปชัน 100,000 รายชื่อ เริ่มรวบรวมรายชื่อกันอย่างเข้มข้นในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีหลักการสำคัญคือการสร้างสรรค์กระบวนการการมีส่วนร่วมทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญอย่างเป็นรูปธรรม และทรงพลังของภาคประชาชนในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่ง และการเสนอกฎหมายภาคประชาชน ทั้งนี้โดยความสมัครใจของสมาชิกและมีความยืดหยุ่น คล่องตัว ทันสถานการณ์

การรวบรวมรายชื่อ อย่างน้อย 100,000 รายชื่อ ก็เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายประชาชนให้เข้มแข็งในการเฝ้าระวัง ร่วมตรวจสอบปัญหาคอร์รัปชั่นและแสดงมติถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งที่มีปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ หรือร่วมผลักดันเสนอกฎหมายภาคประชาชน ตามกติกาของรัฐธรรมนูญ
คณะทำงานจึงทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานรวบรวมรายชื่ออาสาสมัครประชาชน จัดทำฐานข้อมูลให้สมบูรณ์ และนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ เมื่อจะมีการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่ง หรือ เสนอร่างกฎหมาย คณะทำงานจะขอความเห็นชอบเป็นลายลักษณ์อักษรจาก สมาชิกก่อนทุกครั้ง ต่อเมื่อสมาชิกมีความเห็นร่วมกันเกิน 5หมื่นคนขึ้นไป คณะทำงานจะรวบรวมรายชื่อเสนอประธานวุฒิสภาต่อไป

Be the first to comment on "รวมพลังประชาชนต้านคอร์รัปชัน"

Leave a comment

Your email address will not be published.