รศ.ศรีศักร เสนอ แก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องให้เครดิตกับท้องถิ่น

รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม  คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ได้ค้นพบว่าสถานการณ์ความขัดแย้งเป็นสถานการณ์ปัจจุบันตามหน้าหนังสือพิมพ์ เป็นปรากฎการณ์ที่รัฐบาลเอาปัจจุบันไปแก้ ถือว่าเป็นปลายเหตุ สังคมก็แปลกอยู่อย่างหนึ่งคือเราทิ้งประวัติศาสตร์  เราไม่แก้ตามประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์แห่งรัฐที่มองส่วนกลางเป็นหลัก มองคนไทย เชื้อชาติไทยเป็นหลัก..

เวทีนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมสมานฉันท์ และสันติสุขสู่สังคมสมานฉันท์…
ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของพลเมือง(ครั้งที่ 6 : 9 จังหวัด ภาคเหนือตอนล่าง)
           วันที่ 21 ธันวาคม 2548 ที่ ห้องสุโขทัย  โรงแรมไพลิน จังหวัดสุโขทัย สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาร่วมกับเครือข่ายประชาสังคมภาคเหนือตอนล่างและพันธมิตร   โดยการสนับสนุนของ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  ร่วมกันจัด เวทีนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมสมานฉันท์และสันติสุข (ภาคเหนือตอนล่าง)  เพื่อสร้างความเข้าใจของสังคมต่อสถานการณ์ปัญหาที่แท้จริงของวิกฤติไฟใต้ และร่วมกันหาทางออกต่อการแก้ไขวิกฤตไฟใต้ และเรียนรู้บทเรียนจากวิกฤติปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้  สู่การคิดค้นแนวทางการแก้ไขปัญหาและความขัดแย้งในท้องถิ่นภาคเหนือตอนล่าง
รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม  คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.)กล่าวปาฐกถานำเรื่อง จากวิกฤติไฟใต้ สู่การเรียนรู้เพื่อสังคมไทยสันติสุข  กอส. ได้ค้นพบว่า สถานการณ์ความขัดแย้งเป็นสถานการณ์ปัจจุบันตามหน้าหนังสือพิมพ์ เป็นปรากฎการณ์ที่รัฐบาลเอาปัจจุบันไปแก้ ถือว่าเป็นปลายเหตุ สังคมก็แปลกอยู่อย่างหนึ่งคือเราทิ้งประวัติศาสตร์  เราไม่แก้ตามประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์แห่งรัฐที่มองส่วนกลางเป็นหลัก มองคนไทย เชื้อชาติไทยเป็นหลัก การมองประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา รัฐใช้ความเป็นประวัติศาสตร์ชาตินิยม อะไรที่รัฐพูดประชาชนเชื่อ สื่อฟัง เป็นปรากฏการณ์ไม่รับฟังจากหลายๆ ฝ่าย ระบบการปกครองแบบเน้นส่วนกลาง เอาส่วนกลาง คนส่วนใหญ่เป็นตัวตั้ง ไม่ฟังเสียงคนส่วนน้อย ทำให้เกิดปัญหาและเป็นการทำลายท้องถิ่นโดยตรง   กอส. คิดว่าเราต้องทบทวนประวัติศาสตร์ต้องรับฟังความคิดเห็นหลายๆ ฝ่าย เพื่อนำไปสู่การแก้ไข
การที่รัฐเข้าไปจัดการหรือคนส่วนใหญ่เข้าไป ไมได้มีความเข้าใจเขา ทำให้เป็นปัญหาและทวีความรุนแรงมากขึ้น
 

แนวทางการแก้ไขปัญหานี้ หนึ่ง สังคมมหาชนต้องทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รับฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่ายว่าเป็นความขัดแย้งภายใน ไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดนและแบ่งพวกเป็นสอง สื่อ ต้องต้องเผยแพร่ข่าวอย่างเป็นกลาง สอง เปลี่ยนมุมมอง “ประวัติศาสตร์รัฐชาติ” เป็นมุมมองที่เคารพความหลากหลายของท้องถิ่นทั้งในวิถีชีวิต ศาสนาและวัฒนธรรม  และ สาม การแก้ปัญหาต้องให้เครดิตกับท้องถิ่นที่จะจัดการแก้ไขปัญหาของตัวเอง เป็นกระบวนการพัฒนาแบบ “ท้องถิ่นพัฒนา” คือการพัฒนาที่มีดุลยภาพ ท้องถิ่นต้องเข้มแข็ง

มีการจัดการท้องถิ่น มีองค์กรท้องถิ่นเดิมๆ กลับมา ศาสนาควรกลับมามีบทบาทเป็นผู้นำทางศีลธรรมหรือสั่งสอน ผู้เฒ่าก็สอนภูมิปัญญาให้ลูกหลานอยู่สืบไป เราต้องสร้างฐานการพัฒนาอย่างมีดุลภาพ เพื่อความมั่นคงแข็งแรงในท้องถิ่น ความอยู่ดีกินดี มีความเอื้ออาทร ตามปรัชญาแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงที่ในหลวงสอนให้อยู่อย่างพอเพียง ไม่ได้หลงใหลเป็นกระแสทุนนิยม

          การพัฒนาโดยเอาส่วนกลางเป็นตัวตั้ง ทำให้เกิดความรุนแรงขึ้น เด็กและเยาวชนเป็นเหยื่อ เด็กถูกมอมเมาเพราะโดดเดี่ยวและมองไม่เห็นโลกจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างสิทธิ์ ถ้าใช้ความรุนแรงในการแก้ไขเด็กจะใช้ความรุนแรงตอบ

             เราต้องมองชาวไทยมุสลิมชายแดนใต้อย่างที่เขาเป็นคนไทยแบบเสมอภาคกับเรา ต้องไม่มีการแย่งชิงทรัยพากร เราต้องสร้างพลังท้องถิ่น เราไม่ต้องไปต่อว่ารัฐบาลเพราะว่าเขาผิดมาโดยตลอด เราต้องตื่นก่อนที่บ้านเมืองจะถูกขยี้กันเองไปมากกว่านี้ ซึ่งไม่ใช่คนภายนอกกระทำเรา แต่เราขยี้ทำลายกันเอง

เครือข่ายประชาสังคมจังหวัด 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง  เสนอแนวทางดับไฟใต้  ชุมชนต้องเป็นตัวตั้งในการแก้ไขปัญหา
 

ในเวทีประชุม ผู้เข้าร่วมได้ระดมความคิดเห็นต่อเหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า รู้สึกเป็นห่วง เห็นใจ และเอาใจช่วยให้เหตุการณ์นี้สงบลงโดยเร็ว ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหา เสนอว่า ให้ฟื้น ศอบต., เจ้าหน้าที่รัฐที่ส่งลงไปต้องเข้าใจวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น, เชิงนโยบาย ให้แก้ปัญหาเรื่องเชื้อชาติ, ด้านการปกครอง ควรจัดตั้งเขตปกครองพิเศษให้เขาพึ่งตนเอง, ด้านศาสนา ศาสนาต้องมีบทบาทหลักนำชุมชน ไม่บิดเบือนหลักคำสอน, ด้านการศึกษา  เสนอให้มีหลักสูตรท้องถิ่น กระจายการศึกษาอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ยอมรับการศึกษาทางเลือก เช่น การศึกษาของอิสลาม จัดการศึกษาโดยคนชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อสร้างหลักสูตรท้องถิ่นที่สอดคล้องกับภาษาและวัฒนธรรม, ด้านเศรษฐกิจ เน้นเศรษฐกิจพอเพียง พึ่งตนเอง ,ระดับชุมชน  ส่งเสริมความภาคภูมิใจของคนในท้องถิ่น เน้นการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่น สร้างเครือข่ายชุมชนมีส่วนร่วม และ สื่อ ต้องสร้างความเชื่อและค่านิยมที่ดี ควรจะผลิตสื่อด้านศาสนามากขึ้น

 
หมายเหตุ: หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ภาพ หรือบทถอดเทปฉบับเต็ม ติดต่อ คุณยุทธดนัย
0-2621-7810-2

21/12/48

 

องค์กรร่วมจัด

คณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา/คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.)/สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม/ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี  มหาวิทยาลัยมหิดล/เครือข่ายสมานฉันท์ และสันติวิธี ศูนย์สนับสนุนฟื้นฟูและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศพต.)/เครือข่ายประชาสังคมจังหวัด 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน/สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา/มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ/สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)

 

Be the first to comment on "รศ.ศรีศักร เสนอ แก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องให้เครดิตกับท้องถิ่น"

Leave a comment

Your email address will not be published.