…งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น เปรียบเสมือน การสร้างสะพานเพื่อเชื่อมต่อระหว่างองค์ความรู้ใหม่และองค์ความรู้เดิม โดยมุ่งสร้างนักวิจัยในท้องถิ่น สร้างองค์ความรู้และสืบสานองค์ความรู้สู่คนรุ่นใหม่และเครือข่ายการทำงานในชุมชนท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์การทำงานภาคนโยบายและมาตรการในหลากหลายๆระดับ….
|
||
โดย…สินธุ์ สโรบล กระบวนการทำงานวิจัยและผลงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ถือได้ว่าเป็นกระบวนทัศน์ที่แตกต่างจากเดิมอันเป็นกระบวนทัศน์เชิงบูรณาการโดยถือเอาปัญหาหรือปรากฏการณ์ในชุมชนท้องถิ่นเป็นตัวตั้งและเป็นงานที่คนในชุมชนร่วมมือร่วมใจกันสร้างพื้นที่และจุดยืนขึ้นมา ผลงานวิจัยแบบนี้ เน้นที่กระบวนการพัฒนาคนและเชื่อมโยงงานในหลายๆส่วนเข้าด้วยกัน โดยอาศัยเวทีการเรียนรู้เป็นเครื่องนำทาง กระบวนการวิจัยแบบนี้เป็นการเน้นให้มองเห็นการเชื่อมโยง ถักทอ และร้อยกันระหว่างงานวิจัยและงานพัฒนา ระหว่างงานวิจัยกับการจัดการความรู้และภูมิปัญญาของท้องถิ่นระหว่างงานวิจัยกับความเคลื่อนไหวของขบวนการภาคชาวบ้าน รวมทั้งการผสมกลมกลืนเอื้ออาทรต่อกันระหว่างนักวิจัยที่เป็นชาวบ้าน กับข้าราชการ นักพัฒนาและนักวิชาการ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจึงถูกเสนอเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นเพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์การวิจัยแบบเดิม มาสู่กระบวนทัศน์วิจัยเพื่อท้องถิ่น ด้วยเหตุนี้ กระบวนทัศน์วิจัยจึงเป็นการทำงานเพื่อเสริมรากฐานเดิมของชุมชนให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น ประการแรก เป็นการสร้างและผสมผสาน รวมทั้งการปรับใช้ภูมิปัญญา ความรู้ท้องถิ่น ประการต่อมา เป็นการสืบทอดวัฒนธรรมและความเชื่อของท้องถิ่นให้เกื้อกูลและยั่งยืน ประการที่สาม เป็นการช่วยเสริมวิธีการจัดการฐานทรัพยากรของชุมชนให้เอื้อและหนุนช่วยต่อการดำรงชีพ และประการสุดท้าย เป็นการเพิ่มศักยภาพของเครือข่ายการทำงานในท้องถิ่นภาคประชาชน ทีมีมาอยู่ช้านานแล้ว ให้มีวิธีการทำงานและจัดการกับปัญหาของตนเองได้ดีขึ้น ดังนั้น ตั้งแต่ระดับชุมชน ระดับท้องถิ่น ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ จากเป้าหมายดังกล่าว งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจึงมีลักษณะสำคัญที่มุ่งเน้นประเด็นคำถาม เป็นปัญหาหรือโจทย์ที่เกิดขึ้นในชุมชนท้องถิ่น โดยมีคนในชุมชนร่วมกระบวนการค้นคว้าเพื่อหาคำตอบ งานวิจัยแบบนี้เป็นความพยายามสร้างทีมงานวิจัยในพื้นที่ เพื่อรวบรวมข้อมูล มีการวางแผนดำเนินการ มีการวิเคราะห์และทดลองปฏิบัติ รวมทั้งการสร้างทางเลือกในการจัดการ ส่วนสุดท้ายปลายทางของการทำงานวิจัยคือ ได้ บทสรุป บทเรียน เพื่อนำไปปรับแก้ปัญหาของชุมชนท้องถิ่น…….. จากการทบทวนกระบวนการทำงาน ได้พบว่า งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นถูกพัฒนาขึ้นมาด้วยการผสมผสานวิธีวิทยาหลากหลายรูปแบบและหลากหลายสำนักโดยการประยุกต์โลกทัศน์ แนวคิด ระเบียบวิธีการศึกษา วิธีการวิเคราะห์ตามแนวทางของนักคิดตะวันตก ทั้งวิธีการวิจัยเชิงปริมาณและวิธีการเชิงคุณภาพ โดยมุ่งเน้นกระบวนทัศน์ของผู้ที่ทำการศึกษาวิจัยซึ่งเป็นคนในเป็นส่วนสำคัญ กล่าวคือ ตั้งแต่การพัฒนาโจทย์วิจัย กระบวนการวิจัยจนถึงการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ล้วนแล้วแต่เป็นทัศนะจากคนในทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้กระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น จึงเป็นวิธีการใช้โครงการวิจัยเป็น “เครื่องมือ” ให้คนในชุมชนท้องถิ่นได้ร่วมกันคิด มองศักยภาพของตนเอง ร่วมกันวางแผน ร่วมกันปฏิบัติดำเนินงาน ร่วมกันวิเคราะห์ สรุปผลการดำเนินการ ร่วมแก้ปัญหาและสร้างทางเลือกใหม่ให้กับชุมชนท้องถิ่น กระบวนการดังกล่าวมีขั้นตอนโดยเริ่มจากการวิเคราะห์ปัญหา หาสาเหตุของปรากฎการณ์ที่ชาวบ้านได้สัมผัส จากนั้นก็ร่วมกันคิด ร่วมกันวิเคราะห์ โดยอาศัยความรู้เดิมและทุนเดิม ฐานทรัพยากรเดิม เพื่อร่วมกันกำหนดแผนงาน และหาวิธีการทำงาน ตั้งแต่การออกแบบการวิจัย การเก็บรวบรวมข้อมูล โดยมีการร่วมกันวิเคราะห์ค้นหาเหตุ-ปัจจัย หาทางเลือก จากนั้น ค่อยทดลองปฏิบัติเพื่อเฟ้นหาทางเลือกในการจัดการ รวมทั้งการร่วมวิเคราะห์สรุปบทเรียนค้นหารูปธรรมและความรู้ ตลอดจนการประเมินสรุปผลทางเลือกเชื่อมโยงสู่การจัดการของชุมชน งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 รวมเป็นระยะเวลา 6 ปี ได้เปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์วิจัยแบบเดิม เข้าสู่กระบวนทัศน์ใหม่ที่เรียกว่า “กระบวนทัศน์วิจัยเพื่อท้องถิ่น” ทั้งนี้ได้มีการผสมผสานกระบวนทัศน์จากฐานความคิดอยู่ 3 ฐานด้วยกัน ฐานแรกเป็นสำนักคิดปฏิฐานนิยม (Positivism) ที่มีการเรียกกันว่า การวิจัยเชิงปริมาณ ฐานที่สองคือสำนักคิดปรากฎการณ์นิยม (Phenomenology) ที่เรียกกันในแวดวงวิชาการว่า การวิจัยเชิงคุณภาพ และฐานความคิดกลุ่มที่สามคือสำนักคิดปฏิบัติการนิยม (Praxiology) ที่มุ่งใช้ประโยชน์จากงานวิจัยสู่ความเลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทั้งนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ได้ใช้เวลาระยะหนึ่งในการคิดร่วมกัน ทดลองปฏิบัติร่วมกัน และสรุปผลร่วมกับชาวบ้าน พี่เลี้ยง ที่ปรึกษา นักพัฒนา นักวิชาการ และข้าราชการ เพื่อนำไปสู่การประยุกต์ปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของชุมชนท้องถิ่นในสังคมไทย อาจกล่าวได้ว่า “กระบวนทัศน์วิจัยเพื่อท้องถิ่น” ได้เป็นจุดเปลี่ยนของการเข้าสู่การพัฒนาสังคมแห่งความรู้หรือ “Knowledge- based society” โดยมุ่งใช้และจัดการความรู้เพื่อการพัฒนาสังคม และจากผลการปฏิบัติการโดยใช้ “งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” ในชุมชนท้องถิ่นไทยทั่วประเทศ ได้พบจุดเปลี่ยนของกระบวนทัศน์ในภวะเดิม ย้ายสู่กระบวนทัศน์วิจัยเพื่อท้องถิ่น ดังนี้ 1. “จุดมุ่งหมายของการวิจัย” กระบวนทัศน์วิจัยในภวะเดิมนั้น เป็นการเน้นกลุ่มคนที่มีความรู้การศึกษาในระบบ และเน้นการได้ข้อมูลมาเพื่อตอบปัญหาการวิจัยเชิงทฤษฎี รวมทั้งการนำข้อมูลสู่การวางแผนระดับมหภาค ในขณะที่กระบวนทัศน์วิจัยเพื่อท้องถิ่น มุ่งเน้นการเพิ่มพลังทางปัญญาให้กลุ่มชาวบ้านที่ขาดโอกาสทางการเรียนรู้เข้ามาจัดการ กับปัญหาที่ตนเองสัมผัส รวมทั้งเป็นการสร้างพันธกิจให้ชาวบ้านมีการทำงานร่วมกันผ่านกระบวนการวิจัย และนำข้อมูลที่ได้วิเคราะห์ เฟ้นหาทางเลือกแล้วไปสู่การจัดการปัญหาที่แท้ 2. “วิธีการและกระบวนการค้นคว้าหาคำตอบ” กระบวนทัศน์ในงานวิจัยในภวะเดิมเป็นการวิจัยที่ค่อนข้างมีรูปแบบสำเร็จรูป มีรูปแบบวิชาการเข้มงวดและเป็นพิมพ์เขียวแม่แบบที่นำไปใช้โดยทั่วไป แต่อาจมีข้อจำกัดในบางวัฒนธรรมของการเรียนรู้และมักมีกรอบคิดเดียว กำหนดแผนงานวิธีการล่วงหน้า ปรับเปลี่ยนได้ยาก การวิจัยแบบนี้มักจะกำหนดจากหน่วยงานและองค์กรที่ต้องการใช้ประโยชน์เฉพาะเรื่องโดยมีคนนอกพื้นที่ที่ศึกษาเป็นเจ้าของโครงการ บริหารงบประมาณ รวมทั้งกำหนดกระบวนการและใช้เทคโนโลยีชั้นสูงเป็นเครื่องมือ ส่วนกระบวนทัศน์วิจัยเพื่อท้องถิ่นนั้น เป็นกระบวนการที่มีการพัฒนาโครงการโดยมุ่งการแก้ไขปัญหาและปรากฏการณ์ของท้องถิ่นเป็นสำคัญ โดยมีชาวบ้านเป็นเจ้าของโครงการ และเป็นผู้บริหารงบประมาณการวิจัยเอง โดยมีพี่เลี้ยงเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำ งานวิจัยแบบนี้เน้นการสร้าง”คน” เข้าร่วมกระบวนการวิจัยทุกขั้นตอนซึ่งเริ่มตั้งแต่กระบวนการกำหนดกรอบวิจัยที่อาศัยสถานการณ์ปัญหาในพื้นที่เป็นตัวกำหนด ร่วมวิเคราะห์ปัญหาหาศักยภาพ ร่วมกำหนดแผนงานและการเก็บรวบรวมข้อมูล ร่วมทดลองปฏิบัติ ร่วมเฟ้นหาทางเลือกเพื่อจัดการปัญหาของท้องถิ่น งานวิจัยแบบนี้มีการปรับเปลี่ยนได้เพื่อความเหมาะสมเพื่อกระบวนการร่วมเรียนรู้ร่วมกันของชาวบ้านในท้องถิ่น อาจกล่าวได้ว่างานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเป็นกระบวนทัศน์ที่เรียบง่าย เปลี่ยนตามเงื่อนไขของชาวบ้านได้และมักจะใช้วิธีการที่ชาวบ้านคุ้นเคย รวมทั้งมีทางเลือกที่หลากหลายในการปฏิบัติ…. 3. “ผลผลิตของงานสู่กระบวนการพัฒนา” กระบวนทัศน์วิจัยในภวะเดิม มักจะเน้นการได้ซึ่งข้อมูลเพื่อนำไปสู่การวางแผนพัฒนาเชิงโครงสร้างพื้นฐาน จำแนกตามโครงสร้างทางสังคม รวมทั้งเป็นการหาคำตอบทางทฤษฎีทางวิชาการและมุ่งตอบสนองผู้ทำวิจัยเป็นหลัก งานแบบนี้มักจะได้รูปแบบการรายงานมีมาตราฐานสากลเป็นแบบเดียว มีข้อเสนอเชิงทางเลือกครอบคลุมทุกปัญหาแต่ขาดความเชื่อมโยง ในขณะเดียวกัน กระบวนทัศน์วิจัยเพื่อท้องถิ่นนั้น เป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างคน และทำความเข้าใจต่อปัญหารวมทั้งเงื่อนไขปัจจัยที่มีผลต่อปรากฎการณ์ของท้องถิ่น งานแบบนี้เป็นมาตราฐานเฉพาะพื้นที่ เน้นการบูรณาการเชิงวัฒนธรรมเนื่องจากสังคมไทยมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม รวมทั้งมีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายการทำงานของท้องถิ่น มีรูปธรรมที่ชัดเจนอันเป็นแหล่งเรียนรู้ของชาวบ้านในและนอกพื้นที่ได้ นอกจากนี้งานวิจัยยังได้เน้นการสร้างกลไกการทำงานพัฒนาในท้องถิ่น โดยใช้เวทีสาธารณะเป็นเครื่องมือในการทำความเข้าต่อทางเลือกและจัดการกับปัญหาของท้องถิ่น………. 4.“ภาพสะท้อนแห่งคุณค่าในการพัฒนาท้องถิ่น” กระบวนทัศน์วิจัยในภวะเดิม มักเน้นการรวมศูนย์อำนาจสู่การตัดสินใจเนื่องจากเป็นริเริ่มโดยคนภายนอก จึงทำให้มองไม่เห็นถึงภาพรวมและนำไปสู่การวิเคราะห์อย่างแยกส่วน ที่สำคัญก็คือมีการสร้างแรง จูงใจเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล เพื่อนำข้อมูลนั้นไปสู่การจัดการวางแผนการทำงานให้กับผู้เริ่มงานวิจัย องค์กร หรือหน่วยงาน รวมทั้งกระจายประโยชน์ตามโครงสร้างทางสังคม… ส่วนกระบวนทัศน์วิจัยเพื่อท้องถิ่น นั้น เป็นการริเริ่มจากชาวบ้านในท้องถิ่นซึ่งเป็นคนใน มีพี่เลี้ยงช่วยให้คำปรึกษาและกระตุ้นให้เห็นการวิเคราะห์เชื่อมโยงแบบองค์รวม งานวิจัยแบบนี้เน้นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนเกือบทุกขั้นตอนเพื่อให้เห็นความสำคัญของเงื่อนไขต่างๆ ที่สำคัญงานวิจัยแบบนี้เป็นการสร้างกำลังใจและการเพิ่มอำนาจในการตัดสินใจให้ชาวบ้านที่เป็นผู้คิดเป็นผู้ตัดสินใจ โดยกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวจะทำให้ชาวบ้านมีศักยภาพความสามารถในการสร้างทางเลือกของตนเองสู่ความหลากหลายในการจัดการปัญหาของตนเองและท้องถิ่น…….. กล่าวโดยสรุป “กระบวนทัศน์วิจัยเพื่อท้องถิ่น” มีความเชื่อพื้นฐานที่ว่า “ชาวบ้านมีศักยภาพเป็นผู้แก้ไขปัญหาของท้องถิ่นได้ด้วยตัวเอง และชาวบ้านสามารถใช้กระบวนการวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาได้ โดยการร่วมกันศึกษาวิเคราะห์ถึงปัญหาและหาสาเหตุของปัญหา จากนั้นก็ร่วมกันค้นหาศักยภาพของตนเอง ร่วมกันกำหนดแผนงานวิจัย มีการเก็บรวบรวมข้อมูล โดยความช่วยเหลือแนะนำของที่ปรึกษา และพี่เลี้ยง ร่วมกันวิเคราะห์หาทางเลือก ทดลองปฏิบัติ สรุปผลการทำงานทั้งที่เป็นความรู้และรูปธรรมในพื้นที่ เพื่อสร้างทางเลือกในการจัดการปัญหาของชุมชนท้องถิ่น ผลที่ได้ถูกนำไปขยายผลเพื่อยกระดับทางความคิดของชาวบ้าน รวมทั้งการปรับปรุงวิธีการทำงาน และปรับเปลี่ยนมาตรการหรือนโยบายเพื่อพัฒนาท้องถิ่นไทยต่อไป ผู้เขียนมีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่างานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ลักษณะอย่างนี้ จะมีผู้เข้าร่วมขบวนการมากขึ้น และเริ่มเปลี่ยนกระบวนทัศน์จากเดิมที่คนภายนอกเป็นผู้ทำวิจัย และชาวบ้านเป็นผู้ให้ข้อมูล สู่การที่ชาวบ้านเป็นผู้คิดเอง ทำวิจัยเอง เพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชนท้องถิ่นในที่สุด กระบวนการทำงานแบบนี้ไม่ใช่การต่อต้านการทำงานวิจัยแบบเดิมที่ทำกันมาช้านาน หากแต่เป็นความพยายามที่จะเสริมส่วนที่ขาดไป ต่อเติมให้มีความมั่นคงแข็งแรงมากขึ้น และเป็นความพยายามที่จะสร้างพื้นที่และสร้างตัวตนของความเป็น“ศาสตร์ของชาวบ้าน” ขึ้นมาท่ามกลางกระแสชุมชนแนวปฏิบัติทางซีกฝั่งตะวันออกของโลกนั่นเอง **** ที่มา : www.manager.co.th มุม : คุณภาพชีวิต |
Be the first to comment on "รากแก้วแห่งปัญญา : กระบวนทัศน์วิจัยเพื่อท้องถิ่น: สู่จุดเริ่มต้นของกระบวนการพัฒนาท้องถิ่นไท (2)"