รายงานกิจกรรมการวิเคราะห์ตัวชี้วัดและการประยุกต์ใช้

รศ.ดร.เนาวรัตน์  พลายน้อย  กล่าวถึงทิศทางการดำเนินงานว่า  “ในปีหน้าซึ่งเป็นปีสุดท้ายของโครงการฯ เราต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า เรามีองค์ความรู้ของโครงการฯ …

สันสกฤต  มุนีโมไนย  กองบรรณาธิการ : รายงาน

 

เมื่อวันที่ 23-24 เมษายน 2548 ทีมประเมินผลภายในส่วนกลาง จากคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล   จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การวิเคราะห์ตัวชี้วัดและการประยุกต์ใช้ ในโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ ท้องถิ่นน่าอยู่ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา   ณ โรงแรม วี แอล หาดใหญ่ จ.สงขลา มีผู้เข้าร่วมประมาณ18คน จาก 6 จังหวัด ได้แก่ สุราษฏร์ธานี  ภูเก็ต  พังงา   ตรัง  ปัตตานี  นราธิวาส

          เริ่มเปิดการประชุมและบรรยายโดย รศ.ดร.เนาวรัตน์  พลายน้อย  เรื่อง ข้อคิดต่อการพัฒนาตัวชี้วัด กล่าวคือ ตัวชี้วัด (KPI-Key Performance Indicators) เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของระบบติดตามประเมินผลภายใน ตัวชี้วัดจำแนกได้ 2 กลุ่มหลักคือ -ตัวชี้วัดผลงาน/ผลลัพธ์ (Lagging Indicators)       -ตัวชี้วัดการขับเคลื่อน (Leading Indicators)           

 

ตัวชี้วัดเน้น 2 เรื่อง   (1) คุณภาพการจัดการ (ประสิทธิภาพ,กระบวนการ,การเรียนรู้)  (2) คุณภาพผลงาน (ตามวัตถุประสงค์,ยุทธศาสตร์,แผนงานและกิจกรรม)

 

ตัวชี้วัดมี 2 ระดับ คือ  ระดับแนวคิด (Conceptual Indicators) และระดับการปฏิบัติ (Operation Indicators) เช่น ความสุขเป็นตัวชี้วัดระดับแนวคิด ต้องทำเป็นระดับปฏิบัติการ เช่น GDP หรือ GDH สุขภาพดีเป็นตัวชี้วัดระดับแนวคิด ซึ่งระดับปฏิบัติการอาจมีตัวชี้วัดเป็นอายุขัยเฉลี่ย เป็นต้น     สิ่งที่ควรพิจารณาให้ชัด คือ มักตั้งตัวชี้วัดกันเป็นระดับกิจกรรมแต่ไปไม่ถึงตัวชี้วัดระดับโครงการ   

ตัวชี้วัดมีทั้งระดับ Output, Outcome, Impact เช่น กรณีโรงพยาบาล   

 

 Output เช่น จำนวนคนไข้ที่มารับการรักษาพยาบาล 

 Outcome เช่น จำนวนคนไข้ที่หายป่วยจากการมารับการรักษา/ไม่ต้องมารับการรักษาซ้ำภายในเวลาที่ไม่สมควร   

Impact เช่น ค่าใช้จ่าย ค่ารักษา/ซ่อมสุขภาพที่ลดลงในเขตบริการนั้นๆ

ต่อมา รศ.ดร.ประภาพรรณ  อุ่นอบ บรรยายเรื่อง การพัฒนาเกณฑ์ตัวชี้วัดในการประเมินผลภายใน โดยกล่าวถึงตัวชี้วัดในโครงการฯ ที่มี 2 ประการ คือ  

1.ตัวชี้วัดภาพรวมโครงการชีวิตสาธารณะ (ส่วนกลาง) อยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายติดตามและประเมินผลโครงการ (IEส่วนกลาง) จากคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

·         ตัวชี้วัดการบริการยุทธศาสตร์ของโครงการส่วนกลาง (LDI)

·         ตัวชี้วัดระดับจังหวัด (ตัวชี้วัดร่วมที่ IE ส่วนกลางใช้กับทุกจังหวัด)

2. ตัวชี้วัดโครงการชีวิตสาธารณะฯ ระดับจังหวัด อยู่ในความรับผิดชอบของจังหวัด  จังหวัดพัฒนาขึ้นเอง ซึ่งมีตัวชี้วัดร่วมบางตัวที่เหมือนกับส่วนกลาง หรือตัวชี้วัดเฉพาะจังหวัด เช่น ตัวชี้วัด ผลลัพธ์  ตัวชี้วัดที่จังหวัดพัฒนา พบว่ามี 2 ประเภท

 

 

·         ตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการ 

·         ตัวชี้วัดความสำเร็จของกิจกรรม (ควรบ่งบอกได้ว่าเชื่อมโยงกับตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการอย่างไร)


ฐานคิดในการพัฒนาตัวชี้วัด

·    ตัวชี้วัดที่พัฒนามีฐานคิดจากการปฏิบัติจริง และร่วมคิดจากหลายภาคส่วน เช่น สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา จากการประชุมร่วมกับพื้นที่ในหลายโอกาส รวมทั้งการออกแบบสำรวจผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่มาประกอบด้วย

·         ตัวชี้วัดเป็นเครื่องมือในการยกระดับการเรียนรู้ มิใช่เพียงเครื่องมือสะท้อนการบรรลุเป้าหมาย

·         ตัวชี้วัดประกอบด้วยตัวชี้วัดทั้งเชิงปริมาณ  คุณภาพ และเกณฑ์ที่สะท้อนความก้าวหน้า

 

ระดับตัวชี้วัดของโครงการมี 5 ระดับ คือ     

ระดับ 1-2    ผลขั้นต่ำสุดที่ควรเกิด (Expect to see)

          ระดับ 3-4    ผลที่สะท้อนความสำเร็จปานกลาง (Like to see)

          ระดับ 5        ผลสำเร็จที่ดีมาก (Love to see)      

         

          ต่อมาคือการแบ่งกลุ่ม แยกรายจังหวัดโดยมีทีมประเมินภายใน (ส่วนกลาง)ประจำอยู่ทุกกลุ่ม เพื่อช่วยให้คำแนะนำให้แต่ละจังหวัดประเมินผลการทำงานในทีมของตน และทำแบบฝึกหัด โดยใช้พจนานุกรมตัวชี้วัด และระดับตัวชี้วัดของโครงการ 5 ระดับเพื่อจุดมุ่งหมายที่จะช่วยกำหนดทิศทางของการพัฒนาไปสู่ความสำเร็จของโครงการเป็นการบ่งชี้หรือวินิจฉัย(Indicate,Diagnose)    เพื่อการพัฒนาปรับเปลี่ยนร่วมกัน

          จากการสังเกตการณ์  เห็นว่า กว่าแต่ละจังหวัดจะประเมินออกมาได้เสร็จในแต่ละข้อ ต้องใช้พลังในทีมที่จะคิด และวิเคราะห์พอสมควร  กว่าจะประเมินเสร็จทุกกลุ่ม เวลาก็ล่วงเลยไปถึงสองทุ่มจึงแยกย้ายไปพักผ่อน

กระบวนการในวันที่สอง คือ แบ่งกลุ่ม และถอดบทเรียนตามกลุ่มจังหวัด เพื่อให้ทราบถึงเหตุ/ปัจจัย ที่ทำให้เกิดผลตามตัวชี้วัดนั้นและความรู้/บทเรียนที่ได้จากตัวชี้วัด รวมถึงข้อเสนอเพื่อยกระดับคุณภาพตัวชี้วัดนั้นต่อไป     และในการประชุมครั้งนี้ผู้เข้าร่วมหลายคนสะท้อนความเห็นเรื่องแบบฝึกหัด พจนานุกรมตัวชี้วัด และระดับตัวชี้วัดของโครงการ 5 ระดับ ว่านอกจากจะมีประโยชน์ในการทำงานโครงการแล้ว สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้ในครอบครัวอีกทั้งยังสามารถประเมินถึงการทำงานของตนเองได้เป็นอย่างดี

          ในช่วงสุดท้าย รศ.ดร.เนาวรัตน์  พลายน้อย  กล่าวสรุปงานและทิศทางการดำเนินงานในระยะต่อไปว่า  ในปีหน้าซึ่งเป็นปีสุดท้ายของโครงการฯ เราต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า เรามีองค์ความรู้ของโครงการฯ ปีหน้าผมขอเรียนเชิญฝ่ายประเมินภายในจังหวัดละหนึ่งคน รวมถึงผู้ประสานงานและที่ปรึกษา มาร่วมกันสร้างองค์ความรู้และแผนปฏิบัติการในหนึ่งปีสุดท้ายในแต่ละจังหวัดของภาคใต้อย่างจริงจัง เข้มข้น

Be the first to comment on "รายงานกิจกรรมการวิเคราะห์ตัวชี้วัดและการประยุกต์ใช้"

Leave a comment

Your email address will not be published.