รายงานกิจกรรม “ตัวตน…ฅนแม่กลอง”

แม่กลองเป็นเมืองสามน้ำ มีทั้งน้ำเค็ม น้ำกร่อย น้ำจืดที่สลับสับเปลี่ยนกันมาสร้างความสมบูรณ์โดยมีสายน้ำแม่กลองเป็นสายเลือดหลัก…ทำให้คนแม่กลองมีอาชีพที่เปลี่ยนแปลงกับสายน้ำอย่างกลมกลืน ใกล้น้ำเค็มทำประมงและนาเกลือ ใกล้น้ำกร่อยทำสวนมะพร้าว ใกล้น้ำจืดยกร่องทำสวนผลไม้ผสมผสาน…

กองบรรณาธิการ : ทีมสื่อสารสาธารณะ

เมืองแม่กลองหรือจังหวัดสมุทรสงคราม เป็นจังหวัดขนาดเล็กที่สุดในประเทศไทย  มีพื้นที่เพียง 416 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย 3 อำเภอ 33 ตำบล แต่กลับเต็มไปด้วยเรื่องราวที่หลากหลาย ทั้งประวัติศาสตร์การเป็นเมืองราชนิกูล เพราะเคยเป็นพื้นเพของอัครมเหสีของรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2 และเป็นสวนนอกหรือบ้านสวนของเจ้านายในหลายราชสกุล จนมีคำกล่าว บางช้างสวนนอก บางกอกสวนใน นอกจากความรุ่งเรืองทางด้านสังคมและวัฒนธรรมแล้ว สมุทรสงครามยังมีความพร้อมทางด้านทรัพยากร โดยเฉพาะทรัพยากรประมง  แม่กลองได้ชื่อว่าเป็นนักดัดแปลงที่มีภูมิปัญญาสูงส่งในการใช้เครื่องมือทะเล เพราะเทคโนโลยีประมงทะเลยุคแรกเริ่มของไทยมักถูกนำมาใช้ที่นี่เป็นแห่งแรก

          แม่กลองเป็นเมืองสามน้ำ มีทั้งน้ำเค็ม น้ำกร่อย น้ำจืดที่สลับสับเปลี่ยนกันมาสร้างความสมบูรณ์โดยมีสายน้ำแม่กลองเป็นสายเลือดหลัก และยังมีลำคลองสาขาย่อยไปหล่อเลี้ยงแผ่นดินอีกเป็นจำนวนมาก ชีวิตที่ผูกพันกับการหมุนเวียนของน้ำ ทำให้คนแม่กลองมีอาชีพที่เปลี่ยนแปลงกับสายน้ำอย่างกลมกลืน ใกล้น้ำเค็มทำประมงและนาเกลือ ใกล้น้ำกร่อยทำสวนมะพร้าว ใกล้น้ำจืดยกร่องทำสวนผลไม้ผสมผสาน เพราะความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทำให้ในอดีตนั้นเมืองแม่กลอง เป็นจังหวัดที่มีเศรษฐกิจดี จนสามารถเก็บภาษีได้มากที่สุดของประเทศ

เมื่อกระแสของการพัฒนาเข้ามา ลุ่มน้ำแม่กลองเริ่มเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่ง คุณภาพน้ำแม่กลองเสื่อมโทรมลง เพราะโรงงานปล่อยของเสียทำให้ระบบนิเวศในแม่น้ำเสียหาย เท่านั้นยังไม่พอ การพัฒนาแหล่งพลังงานด้วยการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่ต้นน้ำในจังหวัดกาญจนบุรี ทำให้การหมุนเวียนของน้ำจืดและน้ำเค็มเปลี่ยนไป น้ำเค็มไหลล้ำเข้ามาแช่ในเรือกสวนส่งผลให้มะพร้าวลีบ ทุเรียน มังคุดตายเสียหายกันหมด

นอกจากนั้นการสร้างถนนพระรามสองตัดผ่านเมือง ทำให้แม่กลองลดความสำคัญของการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและการค้าขายทางน้ำ ซ้ำยังกลายเป็นกำแพงแบ่งเขตระหว่างน้ำจืดและน้ำเค็มอย่างถาวร ส่งผลให้สวนผลไม้ที่อยู่ในเขตน้ำเค็มเสียหาย สวนผสมไม่อาจสร้างผลผลิตให้เต็มที่ได้ดังในอดีต ผลไม้ดั้งเดิม รสดี หลายชนิดสูญหาย ชาวสวนต้องทำการเกษตรโดยคำนึงถึงการตลาดเป็นสำคัญ

ทุกเช้าวันนี้คนหนุ่มสาวที่เคยเดินเข้าสวน กลับขึ้นรถไปโรงงาน บ่ายหน้าไปเป็นมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้มั่นคงกว่า เลิกรอความไม่แน่นอนและเหนื่อยหนักจากชีวิตชาวสวน ที่ต้องพึ่งน้ำ พึ่งดินที่เสื่อมลงทุกวัน โรงงานจึงเป็นคำตอบที่แน่นอนของชีวิตยุคใหม่แม้รายได้อาจไม่เหนือกับการทำสวนแต่อย่างน้อยการไปโรงงานทำให้ได้พบพานวิถีชีวิตสมัยใหม่ที่สดใสและน่าลิ้มลองกว่าร่องสวนและโรงตาล เด็กๆ ก็มุ่งเข้ารับการศึกษาในเมืองหลวง และส่วนใหญ่ไม่กลับมาหาเลี้ยงชีพตามอาชีพดั้งเดิม โรงเรียนในท้องถิ่นหลายแห่งต้องปิดลงเพราะจำนวนนักเรียนลดลง แม่กลองวันนี้ กำลังกลายเป็นเมืองท่องเที่ยว และบ้านพักตากอากาศของคนเมืองหลวงที่ไปกว้านซื้อที่ดิน แผ่นดิน และชีวิตที่แม่กลองกำลังเปลี่ยนไป ทั้งที่ร่ำรวยทุนทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม

 

โดยเมื่อวันเสาร์ที่  22  มกราคม  ที่ผ่านมา  เวลา 17.00 – 20.00 น. ณ ลานแพร่งภูธร (หลังสถานีกาชาด)   ถ.แพร่งภูธร แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพฯ    มีการบันทึกเทปรายการ   ตอน ตัวตน…ฅนแม่กลอง  มีผู้เข้าร่วมกว่า 100  คน  มีผู้ดำเนินรายการคือ นายก่อเขต  จันทเลิศลักษณ์ จากเนชั่น แชนแนล และ อาจารย์ขวัญสรวง  อติโพธิ จากสถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม

 คุณสุรจิต  ชิรเวทย์  ประธานหอการค้าสมุทรสงคราม  กล่าวว่า  แม่กลองเป็นเมืองแห่งน้ำ เป็นที่ราบลุ่มปากแม่น้ำ เมืองปากแม่น้ำมีอาชีพหลากหลาย บริเวณตอนบน อ.บางคนที น้ำขึ้นน้ำลงเป็นน้ำจืด บริเวณนี้จึงเป็นสวนผลไม้  ตอนกลางอยู่ใต้อิทธิพลน้ำกร่อยเป็นครั้งคราวจะปลูกพืชที่อยู่ได้สองน้ำเช่นมะพร้าวน้ำตาล ส่วนตอนล่างอยู่ติดทะเล ชาวบ้านประกอบอาชีพทำนาเกลือ นากุ้ง และปลูกป่าโกงกางขายถ่าน      พื้นที่ชายทะเลก็ทำประมงพื้นบ้าน

กำนันนิคม  อู่อ่อน ชาวสวนผลไม้ กล่าวว่า  ผมใช้ชีวิตดิ้นรนอย่างชาวบ้านคนหนึ่ง เหนื่อยมากกับการขึ้นตาลเช้า เย็น  ปีนต้นตาลวันละเกือบ 200 ต้น ช่วยพ่อแม่ขึ้นตาล  เหนื่อยมาก  มีระยะหนึ่งมีความคิดว่าบ้านนี้ไม่น่าอยู่ และเห็นเพื่อนหลายคนเข้ามาในกรุงเทพฯแล้วมีความทะเยอทะยาน แต่หารู้ไม่ว่าในความทะเยอทะยาน ปัจจัยเราไม่เพียงพอเราคิดว่าที่ไหนที่ลำบากอยากจะเห็นที่ไหนสนุกอยากจะไปแต่ผมกลับมาคิดว่า บ้านเราน่าอยู่กว่า  กลับมาเห็นพ่อ แม่ เห็นน้ำเค็มจัด ต้นไม้ตายหมด ทำไมคนเราเมื่อเรามีประสบการณ์หลายอย่างแล้ว  เราไม่กลับไปดูบ้านเราสักครั้ง ขณะนี้ผมไม่ได้อยู่กับครอบครัว ผมอยู่สองคน แต่ก็ไม่แน่ใจว่าที่ดินที่ผมทำอยู่ปัจจุบันนี้จะมีใครทำให้ผมต่อหรือไม่ นี่คือสิ่งหนึ่งที่คนโบราณเขากังวล  ต้องหาทางว่าทำอย่างไรในอนาคตว่าสมุทรสงครามมีคนอยู่  ทำอย่างไรให้เกิดความมั่นคงต่อชีวิตเกษตรกร

จากการพูดคุยในเวทีนี้จะเห็นได้ว่า  แม่กลองเป็นเพียงหนึ่งในชะตากรรมของวิถีท้องถิ่นอีกหลายแห่งในประเทศไทยที่สับสนละล้าละลัง ไม่รู้อนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร คนแม่กลองจะรับความเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามาให้สอดคล้องกับรากเหง้า และต้นทุนที่เคยมีที่เคยเป็นได้อย่างไร คำตอบที่ชัดเจนอยู่ที่ไหน คงเป็นภาระที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชน และนักวิชาการ ตลอดจนสาธารณะทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับประเทศ ต้องมาพิจารณาใคร่ครวญ เพื่อหาทางออกร่วมกัน


ติดตามรายงานกิจกรรมครั้งต่อไปในสัปดาห์หน้า กับรายการ บ้านเมืองเรื่องของเรา ตอน
อนาคตลูกหลานไทย

Be the first to comment on "รายงานกิจกรรม “ตัวตน…ฅนแม่กลอง”"

Leave a comment

Your email address will not be published.