รายงานกิจกรรม 2 ปี สสส.

ระหว่างวันที่ 10 – 12 พฤศจิกายน 2546 ได้มีเวทีเสวนา “ สู่ความสุขถิ่นฐานไทย”  ซึ่งมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวคิด ทัศนะ ต่อการสร้างสุขภาวะ และการทำเมือง ให้น่าอยู่ ทีมงานชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่ (LDI) ได้เก็บประเด็นที่น่าสนใจ จากการพูดคุย มาเล่าสู่กันฟัง ในหมู่เพื่อนพ้อง ที่เคลื่อนงาน อยู่ในจังหวัด

สืบเนื่องจากงาน 2 ปี สสส. ระหว่างวันที่ 10 – 12 พฤศจิกายน 2546 ได้มีเวทีเสวนา “ สู่ความสุขถิ่นฐานไทย” ซึ่งมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวคิด ทัศนะ ต่อการสร้างสุขภาวะ และการทำเมืองให้น่าอยู่

ทีมงานชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่(LDI) ได้เก็บประเด็นที่น่าสนใจจากการพูดคุยมาเล่าสู่กันฟัง ในหมู่เพื่อนพ้องที่เคลื่อนงานอยู่ในจังหวัด
อ. ขวัญสรวง อติโพธิ ได้ให้มุมมอง แนวคิด ของการสร้างวิถีในการอยู่ร่วมกันของผู้คนในสังคม ที่จะนำไปสู่สุขภาวะ หรือ เมืองน่าอยู่ ไว้ว่า

“ จะทำอย่างไรกับการทำให้เกิด ความเป็นเรา ในสภาวะการณ์ที่มีความแตกต่างที่อยู่ร่วมกันหลายระดับ (กำหนดความสุขร่วม ชะตากรรมร่วม พยายามสร้างการใช้ชีวิตร่วมกันในความแตกต่าง ฉะนั้นต้องมีวิถีชีวิตใหม่ๆ ที่ก่อให้เกิดความสุขนำมาขจัดทุกข์ สร้าง “ ความหวังกับชีวิตที่หลากหลาย” )”

โดยเสนอตัวอย่างในเชิงการปฏิบัติขึ้นมาเรื่องหนึ่งคือ การที่ผู้คนในท้องถิ่นเรียกร้องให้งานประจำจังหวัดของทุกจังหวัดที่ถูกผู้ว่าฯ สัมปทานไปให้เอากลับคืนมาเป็นงานของเรา และยกตัวอย่างของเมืองตรังให้เห็นว่า เมื่อก่อนงานฉลองรัฐที่จังหวัดตรัง เป็นงานที่ ทั้งเมือง ท้องถิ่น ทั้งบ้านนอก ทั้งราชการ และคนต่างถิ่นมาพร้อมหน้ากัน แล้วใช้ชีวิตพูดคุยกัน เด็กก็มีประสบการณ์ในการเป็นส่วนหนึ่งของงานร่วมกัน

ซึ่งมันเป็นกุศโลบายที่ทำให้คนตรังไม่รู้ตัวว่ามี “มุ้ง “ กันอยู่ (ภาวะที่ต่างคนต่างอยู่ หลับใหล ไม่ตื่นตัว ไม่สนใจหรือ เอาธุระกับเรื่องของส่วนรวม) แต่ช่วงหลังถูกสัมปทานไปให้เอกชนทำ จึงขาดการมีส่วนร่วมและเสพแต่ทรัพย์ เนื่องจากตัวโครงสร้างพื้นฐานที่ผูกพันผู้คนไว้ด้วยกันทางจิตวิญญาณมันหายไป
ดังนั้นจะทำอย่างไรที่จะรื้อฟื้นมันขึ้นมา

หรือกรณีของศาลากลางเก่า สนามหน้าศาลากลาง ที่ลำปางซึ่งยังว่างอยู่ ก็รีบบอกคนลำปางว่า เอามาเป็นของเราให้ได้ แล้วหาผู้คนให้เข้ามาทำกิจกรรม มาใช้ชีวิตร่วมกันโดยการสร้างความสุขที่อยู่บนรากเหง้าของเขาเอง ฟื้นชีวิตทำให้มีสิ่งใหม่ ให้มีความสุขร่วมกัน (Recentralizing)

นอกจากนั้นอ. ขวัญสรวงยังได้วิเคราะห์ให้เห็นเงื่อนไข/ สภาวการณ์ เกี่ยวกับการทำงานพัฒนาที่เป็นอยู่ในสังคมไทยไว้ดังนี้

– ความคิด ความเข้าใจ
และมุมมองของผู้คนที่มีต่อองค์กรที่ทำงานพัฒนาในสังคมไทย เมื่อก่อนองค์กรที่ทำงานพัฒนาเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ เช่น มูลนิธิ สมาคม ต่อมาภายหลังเกิดเป็น องค์กรพัฒนาเอกชน และถูกทำให้เข้าใจว่าไม่เอารัฐบาล ตรงนี้เป็นจุดที่ทำให้เกิดการแบ่งแยก แบ่งขั้ว

– ในสมัย SIF เป็นต้นมา หรือก่อนหน้านั้น มีลักษณะเป็นเครือข่ายชุมชน เป็นโครงการภาครัฐที่มีความมุ่งมั่นในระดับชาติลงไป แล้วให้ผู้คนในท้องถิ่นเข้ามาทำงานพัฒนาชุมชน ปรากฏการณ์ที่เป็นอยู่ก็คือ แกนนำไม่สามารถจัดสรรเวลา หรือทำให้เกิดความลงตัวระหว่างวิถีชีวิตกับงานที่กำลังทำอยู่ได้
จึงนำไปสู่การเสนอแนวทาง วิถีทางที่จะคลี่คลายภาวะข้างต้นดังนี้คือ
ประการที่หนึ่ง การสร้าง “ความเป็นเรา” การทำให้เกิดวิถีชีวิตของการอยู่ร่วมกันของผู้คน อย่างมีความสุขได้นั้น ต้องมีการสร้างพื้นที่สาธารณะ (Public space) ที่ดึงให้ผู้คนมาทำกิจกรรมร่วมกัน ได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยน และเกิดการใช้อย่างเป็นกิจวัตร “ วิถีชีวิต ต้องมีที่ลง ต้องมีสถานที่ที่ถูกพัฒนาไปด้วยกัน”

ประการที่สอง จะต้องทำให้ พลเมืองอาสา ผุดขึ้นมาให้ได้ มีหลายเรื่องที่เราทำเองได้ เรามาสร้างภาวะที่ทำให้เห็นภาพรวมของท้องถิ่นร่วมกัน โดยการตั้งทีมสำรวจให้ดี ใช้สติปัญญาให้มาก และเก็บข้อมูลองค์กรสาธารณะประโยชน์ต่างๆ มูลนิธิ สมาคม องค์กรพัฒนาเอกชน เครือข่ายต่างๆ ในท้องถิ่นว่า ใคร ทำเรื่องอะไรกันบ้าง โครงสร้างองค์กรเป็นอย่างไร เงินทุนเป็นอย่างไร โดยมีทีมงานคอยรวบรวมแล้วนำมาทำให้เป็นทำเนียบ ทำให้เป็นหนังสือน้อย แล้วจัดสถานที่ เปิดเวทีชักชวนผู้คนให้มาดู แลกเปลี่ยน วิเคราะห์สถานการณ์ จุดอ่อน จุดแข็ง ความเป็นไปของแต่ละกลุ่มองค์กรร่วมกัน

ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะทำให้ผู้คนได้เริ่มรู้จักกันและกัน อยากที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ทำตรงนี้ให้ได้ก่อน หลังจากนั้นแล้วมันจะไปต่อ จะมีการใช้ร่วมกันเป็นประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นห้องประชุม เป็นศูนย์ข้อมูล เกิดเป็นกิจวัตร เป็นวิถีชีวิต ถ้าเป็นเช่นนี้แล้วคำว่า เครือข่าย หรือ บูรณาการ ก็จะค่อยๆ เกิดขึ้นเอง เป็นธรรมชาติ งานอย่างนี้ไม่มีหีบห่อ ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ รู้จัก และเรียนรู้กันมากขึ้น ต่อเนื่องไม่มีสิ้นสุด

รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี : จับประเด็นจากการพูดคุย และให้ทัศนะ แนวคิดที่น่าสนใจดังนี้

1) นัยยะของคำว่า “ร้อยเรียง” คือการร้อยเรียงคนเข้ามาหากัน เอาเพื่อนมาเจอกัน เอาคนแต่ละพื้นที่มาเจอกัน เอาคนมาเจอคน เอาคนมาเจอสาธารณะ เป็นประเด็นที่พูดถึงการ”เชื่อมโยง”

2) คำที่เป็นหัวใจของการเสวนาในวันนี้คือ คำว่า “ เรา” การพูดถึงสุขภาวะ หรือสุขของสาธารณะ มันจะมาสิ้นสุดอยู่ตรงคำว่า “ เรา” คือการสร้างสิ่งที่เรียกว่าเราขึ้นมาในสังคมไทย แล้ว”เรา”คืออะไร ซึ่งอาจารย์มองว่า

“ เรา” มีฐานะเป็น ตัวตน ครอบครัว ท้องถิ่น จิตวิญญาณ เจ้าของความสุข(สุขภาวะ ต้องมีเราที่เป็นเจ้าของความสุขนั้น) เป็นจุดยืนเป็นความคิดที่จะสร้างและพัฒนาต่อไป นัยยะที่สำคัญของคำว่าเราในบริบทของคำว่าสุขภาวะ และสร้างเมืองน่าอยู่คือ ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
3) ในท่ามกลางความเป็นเราที่พยายามสร้างและยึดโยงเข้ามา มีสิ่งที่ซ่อนอยู่ในนั้นคือ
ไม่ใช่เราที่ต้องทำทุกอย่างเหมือนกัน แต่เป็นเราที่ให้ความเคารพยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย (เป็นหัวใจสำคัญ ของการทำให้เกิดสุขภาวะ และเมืองน่าอยู่) ทำอย่างไรให้เกิดความเป็นเราบนความแตกต่างหลากหลาย ที่ต่างคนต่างผลักดันโดยมีเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งเราจำเป็นต้องทำความเข้าใจความแตกต่างหลากหลายนั้นทั้งในเชิงระบบ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมือง ในพื้นที่ ว่าเราจะอยู่ร่วมกับโลกและโลกาภิวัฒน์ได้อย่างไร
4) จุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การสร้างความเป็นเรา คือ การสร้างพลเมืองอาสา เป็นพลเมืองที่มีความตื่นรู้ และเข้ามารับรู้ต่อสิ่งที่เป็นสาธารณะนั้น สิ่งสำคัญคือการผ่านภาคปฏิบัติของพลเมือง ต้องนำพาพลเมืองไปสู่การปฏิบัติ (ใช้ยุทธศาสตร์ทำของจริงและยกระดับจากของจริงขึ้นมา )
5) การสร้างสุขภาวะ การทำเมืองให้น่าอยู่นั้น สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ กระบวนการสร้างความรู้ กิจกรรมที่ทำมาทั้งหมดจะไม่มีความหมาย จะเป็นเพียงประสบการณ์ที่ทำแล้วได้ความสุข แต่ถ้าต้องการยกระดับความคิด หรือเปลี่ยนความคิดนั้น เป็นเรื่องของการจัดการความรู้ นำประสบการณ์ที่เกิดขึ้นมาถอดบทเรียนแล้วยกระดับเป็นทฤษฎี เป็นความรู้ใหม่

Be the first to comment on "รายงานกิจกรรม 2 ปี สสส."

Leave a comment

Your email address will not be published.