โจทย์ใหญ่ในขบวนการปฏิรูปประเทศไทยซึ่งมีการกำหนดประเด็นการศึกษาค้นคว้า จัดทำเป็นชุดความรู้ออกมาเป็นจำนวนมาก ทั้งในส่วนของคณะกรรมการปฏิรูปและคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปเมื่อปี 2553-2556 ที่ผ่านมา มีความเห็นตรงกันจากสองคณะกรรมการ“ภาคประชาชน”อย่างน่าสนใจว่าปัญหาใหญ่ของสังคมไทยเกิดจาก“ความไม่เป็นธรรม”และ“ความเหลื่อมล้ำ” ที่หยั่งรากฝังลึกมานาน
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) ในฐานะอดีต รมช.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แพทย์แถวหน้าหัวขบวนปฏิรูปสังคมผู้มองเห็นถึงกลไกการปฏิรูปสังคมแก้ความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสังคมเข้มแข็งอย่างเป็นระบบ สามารถบอกเล่าแนวทางที่เป็นรูปธรรม ทำได้จริง ทำได้ทันทีในการแก้ปัญหาสังคม พร้อมกับ มีข้อเสนอเรื่อง“อุดมการณ์ชาติด้านสังคม”ใหม่ๆ ที่บางทีสังคมไทยอาจจะถึงเวลาต้องมานั่งคิด นั่งคุยเพื่อมองไกลในอีก 50-100 ปีข้างหน้าร่วมกัน
“วันนี้ ชุดอุดมการณ์ของชาติที่เราใช้กันมาสัก 50-60 ปีแล้วคือชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เราใช้มาอย่างนี้มาโดยตลอด ตอนหลังกองทัพมาเพิ่มคำว่าประชาชนเข้าไปอีกคำหนึ่ง คำถามคือวันนี้มันเสื่อมมนต์ขลังหรือยัง ล้าสมัยหรือเปล่า หรือว่ามันเป็นอุดมการณ์ที่กำหนดขึ้นเฉพาะสำหรับด้านความมั่นคงของประเทศเท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมความมั่นคงของมนุษย์หรือของสังคมที่หลายฝ่ายสนใจ แล้วเราควรจะมีอุดมการณ์ของชาติอะไรที่มันสดใหม่กว่านี้เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เข้าถึงและยึดกุมได้มากขึ้นหรือไม่ ตรงนี้ต้องใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนมาร่วมคิดร่วมกำหนดร่วมเป็นเจ้าของ จัดเวทีพูดคุยทำวิสัยทัศน์ร่วมกัน แล้วค่อยๆทำเป้าหมายร่วม และค่านิยมพื้นฐานของคนไทยที่จะนำพาประเทศไปสู่เป้าหมายใหญ่ร่วมกันดังกล่าว เหมือนสิงคโปร์ เค้าก็ทำวิสัยทัศน์ระยะยาว วิสัยทัศน์และเป้าหมายใหญ่ที่ดีมันจะช่วยเป็นพลังดึงดูด ทำให้ผู้คนเกิดแรงบันดาลใจ (Inspiring)ที่จะทำอะไรๆเพื่อส่วนรวมร่วมกัน ดึงดูดพลังของการร่วมมือของประชาชนทุกภาคส่วนในชาติให้ไปสู่เป้าหมายนั้น เช่นภายใน 20ปี 30ปีหรือ50 ปีข้างหน้า สิ่งนี้เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ ”นพ.พลเดช ระบุ
หมอนักคิดแถวหน้า ระบุว่าอาจใช้ตุ๊กตาตั้งต้นเพื่อจัดกระบวนการระดมความคิด กำหนดอุดมการณ์ชาติด้านสังคม เป็นต้นว่า เป้าหมาย”สังคมสันติประชาธรรม” ที่ควบคู่มากับแนวคิดสวัสดิการสังคมที่ว่าด้วย“จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน”ของดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งน่าจะครอบคลุมความหมายของ“ความมั่นคงของมนุษย์” ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา จนกระทั่งตายได้เป็นอย่างดี อาจารย์ป๋วยได้กล่าวไว้อย่างแยบคายว่า ในช่วงชีวิตหนึ่งของคนเรานั้น นอกจากความต้องการขั้นพื้นฐาน 4 อย่าง (อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค) แล้ว ยังมีเรื่อง “สวัสดิการ” ในแต่ละช่วงชีวิตที่ผู้คนในหลากหลายสาขาจำเป็น “ต้องมี” และ “ควรมี” เพื่อให้มี“คุณภาพชีวิตและความมั่นคงในการดำรงชีวิต” หลายสิ่งอย่างที่ท่านเสนอไว้นั้น มิได้เป็นสิ่งที่ไกลเกินเอื้อม หากแต่ผ่านมาแล้วหลายปีสิ่งที่ท่านเสนอไว้ก็ยังไม่เกิดผลเป็นรูปธรรมขึ้นมาทั้งหมดได้นั่นเป็นเพราะ “รัฐบาลขาดความตระหนักและเห็นความสำคัญ”เรื่องดังกล่าว หรือว่า “รัฐบาลไม่มีศักยภาพ” ที่จะทำให้เรื่องดังกล่าวเป็นรูปธรรม วันนี้“พลังพลเมืองในสังคมไทยเข้มแข็งขึ้น”จึงหวังว่า “จะเป็นฟันเฟือง” ผลักดันให้เรื่องดังกล่าวเป็นจริงขึ้นมาได้
“แนวคิดต้นแบบชุดที่สองผมขอเสนอของศ.นพ. ประเวศ วะสี คือแนวคิดสังคมไทยที่ดีงามและอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ข้อนี้เป้าหมายใหญ่ของการพัฒนาประเทศคือการมีสังคมที่อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน สังคมไทยที่พึงปรารถนาคือสังคมที่ดีงามและอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน อันนี้ใช่ไหม ประเทศทันสมัยแต่เละเทะไม่พัฒนาไม่เอาแล้ว และต้องอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันด้วยนะ บางส่วนสุขสบายบางส่วนทุกข์ยากไม่เอานะ อันนี้ผมจับ 2 อันใหญ่นี้เป็นตุ๊กตาขึ้นมาก่อน อันนี้เป็นยอดของพระเจดีย์เลย คือสังคมเราต้องมีคุณค่าและมีเป้าหมายใหญ่ร่วมกัน ถ้าผิดจากนี้ ไม่ใช่” หมอพลเดช อธิบายถึง 2 ต้นแบบใหญ่ๆ อุดมการณ์ของชาติด้านสังคมที่ชวนสังคมขบคิด
ในทัศนะแพทย์ผู้จับเรื่องกระแสงานภาคประชาสังคมมาโดยตลอด มาครั้งนี้ตกผลึกมากพอในการกำหนดยุทธศาสตร์ 3 ด้าน โดยมีมาตรการรูปธรรม 16 ประการสำหรับ 5 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อย (เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน) กลุ่มผู้ด้อยโอกาส (คนเร่ร่อน,ไร้สัญชาติ,ติดเชื้อ,ติดยา,ต้องโทษ) กลุ่มเปราะบางทางสังคม (เด็ก,เยาวชน,ผู้สูงอายุ,สตรี,ผู้พิการ,กลุ่มชาติพันธุ์) กลุ่มชุมชนท้องถิ่น และเครือข่ายภาคประชาสังคม ทั้งนี้ไม่รวมประเด็นสิทธิด้านการศึกษาและสุขภาพ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่แยกออกไปต่างหาก
โดยข้อเสนอที่ได้รวบรวมมาจากภาคีต่างๆ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) ในฐานะผู้รวบรวมข้อเสนอทางนโยบายของสถาบัน องค์กรและภาคีต่างๆ มากมายและในฐานะที่เป็นผู้ดำเนินกระบวนการประชุมระดมความคิดรับฟังข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติการภาคสนามหลายเวทีทั้งเวที กปปส.,เวทีภาคีพัฒนาประเทศไทย(Thailand Development Forum : TD forum) ,เวทีสมัชชาปฏิรูปชายแดนใต้,เวทีเครือข่ายสมัชชาคุณธรรม จึงได้ทำการประมวลสรุปผลการระดมความคิด และจัดทำเป็นกรอบประเด็นเพื่อการปฏิรูปประเทศสำหรับสังคมได้ติดตามอย่างเท่าทันและมีส่วนร่วม
นี่จึงนับเป็น “คลังความรู้” มหาศาลที่ถอดรหัส“วิธีการ”ขับเคลื่อนไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว รอเพียงการนำไปใช้ในภาคปฏิบัติเท่านั้น
ด้านแรก::ด้านสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน
ประกอบด้วยมาตรการการกระจายความเป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรที่ดินและสิ่งแวดล้อมอันเป็นสมบัติสาธารณะของชาติ สร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตและความปลอดภัยในการทำงานให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยผู้ด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบางและซ่อมแซมฐานล่างของสังคมอย่างเป็นระบบ ตามข้อเสนอของเครือข่ายสมัชชาปฏิรูประดับชาติรวม 6 มาตรการ ได้แก่
1) การผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติเพื่อให้คนจนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน
2) การผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า เพื่อป้องกันการกักตุนเก็งกำไรจากที่ดินโดยปล่อยทิ้งร้างว่างเปล่า
3) การผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน เพื่อเป็นกลไกการจัดการทรัพยากรที่ดินให้เกิดการกระจายตัว เกิดประโยชน์สุขและความเป็นธรรมในสังคม
4) การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ๒๕๒๔ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ทางด้านเกษตรกรรม อย่างเต็มประสิทธิภาพ
5) การผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม เพื่อเป็นเครื่องมือดูแลประชาชนที่ยากจน ผู้ได้รับผลกระทบจากกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับปัญหาที่ดินและอื่นๆ
6)การเร่งรัดการบังคับใช้พ.ร.บ.ความปลอดภัยอาชีวะอนามัยฯ 2554 เพื่อเพิ่มหลักประกันแก่ผู้ใช้แรงงาน ในด้านความปลอดภัยและคุณภาพสิ่งแวดล้อมในโรงงาน
ด้านที่สอง :: ด้านสังคมเข้มแข็ง
ประกอบด้วย 4 มาตรการในการส่งเสริมสนับสนุนการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำเพื่อการพึ่งตนเองได้ในกลุ่มประชากรรากหญ้า ทั้งในชนบทและในเมือง เสริมสร้างความเข้มแข็งของสังคมจากฐานล่างพระเจดีย์ เพิ่มเครื่องมือในการพัฒนาสังคมและขยายบทบาทพลเมืองเมืองผู้ตื่นรู้ในการพัฒนาประเทศ ในทุกมิติ
1) ผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.กองทุนภาคประชาสังคม เพื่อนำรายได้และผลกำไรจากสลากกินแบ่งส่วนหนึ่ง มาตั้งเป็นกองทุนสนับสนุนการพัฒนาสังคม ดูแลประชากรกลุ่มเป้าหมายผู้มีรายได้น้อยผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบางทางสังคมอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ ตามข้อเสนอของเครือข่ายปฏิรูปสลากเพื่อสังคมเข้มแข็งและคณะกรรมาธิการวิสามัญของวุฒิสภา
2)ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์รวมแสงเลเซอร์สนับสนุนชุมชนเข้มแข็ง-ชุมชนสุขภาวะอย่างเป็นขบวนการ เพื่อบูรณาการภารกิจสนับสนุนชุมชนเข้มแข็งของ46 หน่วยงานภาคีระดับชาติ มุ่งเสริมความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนทั่วประเทศทั้ง23 ประเภท 300,000 องค์กร ภายใน 10 ปี ทั้งนี้ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 6
3)ผลักดันแนวคิดการจัดตั้งธนาคารแรงงาน เพื่อให้เป็นสถาบันการเงินของผู้ใช้แรงงาน 20 ล้านคน ตามข้อเสนอของกรรมการปฏิรูป
4)การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกันสังคมเพื่อให้มีอิสระ ประสิทธิภาพ ธรรมาภิบาลและการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน ในการดำเนินงานมากขึ้น เป็นไปตามข้อเสนอของเครือข่ายสมานฉันท์แรงงานไทย
5)ผลักดัน (ร่าง) พรฏ.จัดตั้งสถาบันส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้พ.ศ…ตามข้อเสนอของสมัชชาปฏิรูปชายแดนใต้
“ด้านสังคมเข้มแข็งจะต้องทำให้คนชนชั้นกลาง ที่พึ่งตัวเองได้แล้วสามารถไปช่วยคนข้างล่างและไปช่วยกันเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทางที่ดีขึ้น จึงต้องมีเครื่องมือมาสนับสนุนตรงนี้ อันแรกคือพ.ร.บ.กองทุนภาคประชาสังคม ร่างพ.ร.บ.เสร็จแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ถ้าจะให้ดีต้องไปเชื่อมโยงกับการปฏิรูประบบสลากเพื่อสังคม คือต้องเปลี่ยนแปลงระบบนี้หมดเลย แก้ปัญหาหวยเกินราคาทั้งหลาย เอาเงินตรงนั้นมาใช้เพื่อสังคม โดยมาตั้งกองทุนเหมือน สสส.ภาคสังคม แบบนี้เลย มีเครือข่ายเคลื่อนไหวอยู่แล้ว” หมอพลเดชอธิบายถึงวิธีการเชื่อมโยงพ.ร.บ.ต่างๆอย่างเห็นภาพ
ด้านที่สาม :: ด้านสังคมคุณธรรม
ประกอบด้วย 5 มาตรการในการปรับโครงสร้างความสัมพันธ์และผลประโยชน์ เปิดโอกาสให้กับคนเล็กคนน้อยในสังคม ทั้งในและนอกระบบ เพิ่มหลักประกันในชีวิต รวมทั้งขยายบทบาทชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคมในการเยียวยาผลกระทบจากความแตกแยกทางสังคมและฟื้นฟูคุณธรรมจริยธรรมของสังคมไทย ภายหลังความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงอยู่อีกด้วย
1) ผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.สลากกินแบ่งฉบับประชาชน เพื่อปฏิรูประบบสลากกินแบ่งอันมีแหล่งที่มาของรายได้หลักจากคนจน ให้กลับไปดูแลและสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มเป้าหมายตามข้อเสนอของเครือข่ายปฏิรูปสลากเพื่อสังคม
“พ.ร.บ.สลากกินแบ่งภาคประชาชน เรื่องนี้เป็นเรื่องเชิงคุณธรรม เพราะเงินสลากเป็นเงินที่คนจนเล่นหวย ในขณะที่คนรวยเล่นหุ้น แต่เงินของคนจนที่เล่นหวยกลับเอาไปใช้เพื่อประชานิยม ไปแจกไปหว่านแลกคะแนนนิยมส่วนตัวนั้นไม่ถูก เพราะฉะนั้นต้องปฏิรูประบบสลากทั้งหมดเลยว่าเป็นระบบสลากเพื่อสังคม เปลี่ยนคอนเซปต์ สลากเป็นการพนันรูปแบบหนึ่ง สลากต้องไม่ใช่เป้าหมายเพื่อหารายได้ให้รัฐ แต่ว่าเราจะเลิกสลากก็ไม่ได้เพราะว่ายังเป็นความหวังและความสุขของประชาชนฐานล่าง แต่ต้องเอาเงินที่ประชาชนมาตรงนี้เป็นส่วนกำไรคืนกลับสังคมโดยการสร้างสังคมเข้มแข็ง จึงเป็นที่มาของกองทุนประชาสังคม อันนี้เราจึงใส่ไว้ในเรื่องของคุณธรรม” หมอพลเดช ย้ำเหตุผล
2)การเร่งรัดการบังคับใช้พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ2554 เพื่อให้กฎหมายที่ถูกดองเอาไว้ด้วยเหตุผลทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ได้รับการดำเนินการให้เกิดประโยชน์ สร้างหลักประกันแก่ประชาชนและรองรับสังคมผู้สูงอายุซึ่งขณะนี้ทราบข่าวดีล่าสุดว่าผู้มีอำนาจได้รับไปดำเนินการแล้ว
3)การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 เพื่อให้มีความเป็นธรรมแก่ผู้ใช้แรงงาน ตามอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ
4) การขับเคลื่อนแผนพัฒนาความซื่อตรงแห่งชาติเพื่อเสริมสร้างคุณธรรมความซื่อสัตย์ซื่อตรงผ่าน 7 เครือข่ายสังคมคุณธรรม ตามมติสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติครั้งที่ 6
5) การขับเคลื่อนแผนฟื้นฟูคุณธรรมจริยธรรมของสังคมไทย โดยเฉพาะความซื่อสัตย์ซื่อตรง ความถูกต้องดีงามและความรับผิดชอบ รวมทั้งคุณธรรมสังคมในด้านความสามัคคีเป็นปึกแผ่น ความเอื้ออาทร ความมีน้ำใจ เพื่อนำสังคมไทยกลับสู่สังคมแห่งรอยยิ้มอันบริสุทธิ์ ตามข้อเสนอของเครือข่ายองค์กรภาคีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ
ความหวังของหัวขบวนด้านงานปฏิรูปกำลังจะใกล้ความจริงหรือไม่แค่ไหน ครั้งนี้นพ.พลเดช ย้ำว่าตัวแปรสำคัญคือคณะรัฐมนตรี(ครม.) ถ้าเป็นรัฐบาลนักปฏิรูปชาวบ้านก็จะเกิดความหวัง การปฏิรูปจะสามารถขับเคลื่อนได้ทันทีไม่ต้องรอสภาปฏิรูปแห่งชาติหรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติเลยด้วยซ้ำ
“การปฏิรูปประเทศไทยมีทั้งเรื่องการปฏิรูปความคิด ความเข้าใจ จิตสำนึก พฤติกรรม และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในหน่วยงานย่อย ซึ่งทั้งหมดนี้การแก้กฎหมายเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น รัฐบาลทำได้หมดทุกอย่าง สนช.ก็ทำกฎหมายไป แต่ครม. ต้องทำเรื่องอื่นๆที่มีเยอะมาก แล้วรัฐบาลก็มีทรัพยากรมากที่สุดในแผ่นดิน ทั้งคน ทั้งเงิน ทั้งกฎหมาย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องการคือ ครม.ปฏิรูป รัฐบาลปฏิรูป อย่างกระทรวงการพัฒนาสังคมฯต้องเป็นแม่งานปฏิรูปสังคมเลย ถ้ารมต.และปลัดกระทรวงเอาแนวทางนี้ก็สามารถขับเคลื่อนประเทศไทยได้เลย ไม่ต้องรออะไรอีกแล้ว เราต้องแข่งกับเวลาในการทำให้งานปฏิรูปสัมฤทธิ์ผลอย่างยั่งยืน” หมอพลเดช ย้ำทิศทางงานใหญ่เพื่อการปฏิรูปประเทศในอนาคต
Be the first to comment on "รายงานพิเศษ"