รายงานพิเศษ

 

          อุทาหรณ์ของระบบเกษตรกรรมไทยที่กระตุกเตือนทำให้ประเทศไทยต้องเร่งเครื่องแผนปฏิบัติการปฏิรูประบบเกษตรกรรมอย่างเร่งด่วน คือกรณีหายนะภัยที่เกิดขึ้นกับวงการข้าวไทยจากโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลที่ผ่านมา

          นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม  อดีตส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ เคยให้ข้อมูลไว้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลต้องมีค่าใช้จ่ายนับหมื่นล้านต่อปีในการฝากเก็บข้าวรัฐบาล โดยจะฝากเก็บใน 2  รูปแบบ คือฝากที่โกดังในรูปกระสอบ และฝากเก็บที่ไซโลเป็นเนื้อข้าวสาร มีค่าใช้จ่ายแยกเป็นจำนวนมากอาทิ เป็นค่าเช่า 20 บาทต่อตันต่อเดือน, ค่าจ้างผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าว 16 บาทต่อตันจ่ายครั้งเดียว, ค่าจ้างรมยาเดือนละ 6 บาทต่อตัน, ค่ากรรมกรแบกขนตันละ 30  บาทครั้งเดียว และค่าเบี้ยประกันภัยน้ำท่วม 100%  ซึ่งมีค่าเบี้ยแพงขึ้นหลังจากเกิดน้ำท่วมสูงมาก 10 % ของราคาข้าวสาร โดยเฉลี่ยประมาณ 100 บาทต่อตันต่อเดือน หากข้าว 18 ล้านตัน จะตกประมาณเดือนละ 1,800 ล้านบาท

จากค่าใช้จ่ายที่เห็นชัดเจนว่าเอกชนไม่ได้เก็บข้าวให้รัฐบาลฟรี ข้าวยอดรวมประมาณ 18 ล้านตัน ใน 1,800 โกดัง และ 137ไซโล คิดเป็นค่าใช้จ่ายมหาศาล ปีหนึ่งนับหมื่นล้านบาทที่ต้องจ่ายไปฟรีๆ แล้วต้องมาเจอปัญหาข้าวเหลือง ข้าวเสื่อม  ข้าวยัดไส้และข้าวหาย” นพ.วรงค์กล่าว(นสพ.ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 15 ก.ค.2557)

           นี่เป็นเพียงตัวอย่างของปัญหาใหญ่ในการปฏิรูประบบเกษตรกรรมของไทย ซึ่งหากเทียบกับระบบคิดเชิงก้าวหน้าในแวดวงสุขภาพแล้ว แพทย์ผู้คร่ำหวอดกับการมองปัญหาประเทศไทยในเชิงโครงสร้างอย่างนพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI)อธิบายว่า เรื่องปฏิรูประบบเกษตรกรรมถ้าเทียบกับสายสุขภาพยังห่างชั้นกันมากในเรื่อง องค์ความรู้ และ ความพร้อมในการเชื่อมโยงพลังเครือข่ายทางสังคมและระบบฐานข้อมูล เพราะว่าที่ผ่านมางานศึกษาด้านเกษตรกรรมมักมองแยกเป็นส่วนเสี้ยวในการจัดการ โดยเมื่อหมอพลเดช ใช้วิธีการทำตารางแบ่งหมวดหมู่ให้ชัดเป็น 9มิติ  ทำให้เห็นภาพโครงสร้าง องค์ประกอบและระบบเกษตรกรรมที่องค์กรและสถาบันที่เกี่ยวข้องไม่เคยมีการคิดเชื่อมโยงให้เห็นทั้งระบบกันมาก่อน

หมอพลเดชบอกว่า เมื่อได้ใช้วิธีรีวิวเอกสารจากหลายสำนักแนวคิดในด้านการปฏิรูปเกษตรกรรม ทำให้พบว่าแต่ละข้อเสนอไม่ว่าจะเป็นของคณะกรรมการปฏิรูปชุดของคุณอานันท์ ปันยารชุน ข้อเสนอของเครือข่ายเกษตรพันธะสัญญา และสมัชชาปฏิรูปของศ.นพ.ประเวศ วะสี ฯลฯก็มักจะพูดเฉพาะบางเรื่องเท่านั้น แต่แล้ววันนี้ประเทศไทยมีเรื่องใหม่เข้ามาคือเรื่องความมั่นคงทางพลังงานที่ต้องนึกถึงการปลูกพืชพลังงานด้วย เพราะว่าบราซิลเปลี่ยนจากใช้น้ำมันใต้ดินมาใช้แก๊สโซฮอลล์ ไบโอดีเซล มีการปลูกพืชเพื่อทำพลังงานไม่ต้องรอให้ธรรมชาติสะสมเป็นฟอสซิลนานนับล้านๆปี  จึงเป็นเรื่องของเกษตรกรรมสำหรับอนาคตที่ต้องจัดสัดส่วนให้ชัดเจนว่าประเทศไทยจะทำเกษตรเพื่ออาหารกับเพื่อพลังงานในสัดส่วนอย่างไร  เพราะบราซิลในช่วงหลังไปทางเกษตรเพื่อพลังงานกว่า60-70% แล้ว

การปฏิรูปการเก็บเกี่ยว การขนส่ง แปรรูป หรือเรื่องไซโล มีการเสนอเป็นรูปธรรมถึงขนาดที่ว่า เรื่องไซโลกับเรื่องลานตากถือเป็นปัจจัยพื้นฐานของเกษตรกรท้องถิ่น แม้แต่อบต.ก็สามารถลงทุนได้ทำลานตากของท้องถิ่นเองได้ ไม่ว่าฝนตกแดดออกต้องทำให้แห้ง ตากหรืออบให้แห้ง ไม่เช่นนั้นที่เก็บไว้มากมายก็จะเสียค่าความชื้นและทำให้เสียหายได้ เน่า ขึ้นรา นี่เป็นเครื่องมือพื้นฐานต้องมีเลย พอเก็บเกี่ยวแล้วก็ต้องลานตากกับไซโล อย่างน้อยก็ทำให้มีคุณภาพระดับหนึ่ง  แล้วระบบการขนส่งวิธีการระบบขนส่งจะทำอย่างไร ก็ต้องดูว่าระยะห่างจากแหล่งผลิตกับระยะที่ตากจะใช้ระบบลำเลียงอย่างไร การรวมตัวของเกษตรกรในรูปแบบสหกรณ์เพื่อจะทำรถขนส่งของประชาชนเองก็ใช้ได้  สหกรณ์ทำได้ในราคาถูก นอกจากนั้นยังมีระบบปันผลกำไรก็เป็นเรื่องของสมาชิกอีก เราต้องคิดเชิงระบบแบบนี้ด้วยนพ.พลเดช ระบุ

หมอพลเดช ระบุว่าเมื่อรวบรวมข้อเสนอเชิงนโยบายในการปฏิรูประบบเกษตรกรรม ที่สถาบัน องค์กร และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องได้นำเสนอผ่านเวทีสาธารณะ สื่อมวลชน และเอกสารวิชาการต่างๆ คณะทำงานวิชาการในโครงการเวทีภาคีพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Forum)ได้ทำการสังเคราะห์ขึ้นเป็นกรอบประเด็นสำคัญในการปฏิรูป 9 มิติสำคัญโดยข้อเสนอเหล่านี้เป็นข้อเชิงระบบ ที่ต้องคิดพร้อมกันทุกข้อ ขาดข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้เด็ดขาด เวลาลงมือทำด้านใดก็จะเชื่อมโยงกัยด้านอท่นๆด้วย เพราะองคาพยพของการปฏิรูปเกษตรกรรมไม่เหมือนการปฏิรูปด้านๆอื่น จำเป็นต้องเคลื่อนไปพร้อมกันทุกกลุ่มจึงจะเกิดการปฏิรูปอย่างเห็นผลได้

1.ปฏิรูประบบการจัดการทรัพยากรที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม

มีแนวทางรูปธรรมที่เป็นทางเลือกหลายประการอาทิ: ข้อเสนอการปฏิรูปที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน โดยการผลักดันเรื่องกฎหมายเพื่อคนจน 4 ฉบับ ตามมติสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่ 2 ได้แก่ 1.(ร่าง) พ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรพ.ศ….. 2. (ร่าง) พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน  พ.ศ….. 3. (ร่าง)          พ.ร.บ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า  พ.ศ….4.(ร่าง) พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม  พ.ศ…,นอกจากนั้นยังมีเรื่องการพัฒนาระบบผังเมืองและผังการใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่ดิน ,การโซนนิ่งพื้นที่การเกษตรเพื่อวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย และ(ร่าง) พ.ร.บ.กำหนดเขตพื้นที่เพาะปลูกพืชตามพันธะสัญญา

2.ปฏิรูประบบจัดการทรัพยากรน้ำและการชลประทาน

มีแนวทางรูปธรรมที่เสนอไว้หลากหลาย อาทิ:การลงทุนระบบชลประทาน,พัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กระดับไร่นาและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

3.ปฏิรูประบบการจัดการหนี้สินเกษตรกรรายย่อยและแหล่งเงินทุนการเกษตร

มีแนวทางรูปธรรมอาทิ:การจัดการหนี้สินเกษตรกรและเงินทุนทำการเกษตร 6 ประการ ของคณะกรรมการปฏิรูป, (ร่าง) พ.ร.บ.ระบบหนี้สินเพื่อการเกษตรแบบพันธะสัญญา , การส่งเสริมเกษตรกรรมแบบยั่งยืนเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรเชิงปัจเจกบุคคล,โครงการ Green Creditโดยธกส. ,การบูรณาการระบบกองทุนเพื่อเกษตรกรที่มีอยู่แล้วทั้ง 14 กองทุน

4.ปฏิรูประบบปัจจัยการผลิต ปุ๋ย และพันธุกรรม

มีแนวทางรูปธรรม อาทิ: การปกป้องพันธุกรรมไทยจากผลกระทบ FTA, การฟื้นฟูอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ,(ร่าง) พ.ร.บ.การตลาดปัจจัยการผลิตและสินค้าการเกษตร, การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์

5.ปฏิรูประบบการเก็บเกี่ยว แปรรูปและการขนส่ง

มีแนวทางรูปธรรมอาทิ:การปรับโครงสร้างกระบวนการผลิตหลังเก็บเกี่ยว แปรรูปตลาดและการขนส่ง,การส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรเป็นเจ้าของลานตาก โรงเก็บ และโรงงานแปรรูปขั้นต้น,การพัฒนาระบบอุตสาหกรรมการเกษตร

6. ปฏิรูปการตลาดและประกันรายได้เกษตรกร

มีแนวทางรูปธรรม อาทิ: การปฏิรูประบบตลาดเสรี 3 ประการตามข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูป ,การสร้างหลักประกันความเสี่ยงเกษตรกรรายย่อย,การสนับสนุนการตลาดที่เป็นธรรมและการเป็นหุ้นส่วนกันระหว่างเกษตรกรกับผู้บริโภคในรูปแบบต่างๆ ,(ร่าง) พ.ร.บ.ค้าปลีก,แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า 2542 ,การประกันรายได้เกษตรกร , และนโยบายการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ

7.ปฏิรูประบบพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร

มีแนวทางรูปธรรม อาทิ: ส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกร ส่งเสริมความรู้ก้าวหน้าและเทคโนโลยีที่เหมาะสม,การคุ้มครองสิทธิเกษตรกรทั่วไป 3 ด้าน , การคุ้มครองเกษตรกรพันธะสัญญา 4 ด้าน,(ร่าง) พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาสถาบันเกษตรกร, (ร่าง)พ.ร.บ.คุ้มครองเกษตรกรรายได้การเกษตรพันธะสัญญา,(ร่าง)พ.ร.บ.เกษตรกรรมยั่งยืน,พ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ, ข้อเสนอการจัดตั้งกลไกเฉพาะกิจเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร, การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและภาคประชาสังคม,การผลิตและส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรและผู้ประกอบการด้านเกษตรกรรุ่นใหม่

8. ปฏิรูประบบความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหาร

มีแนวทางรูปธรรมอาทิ: (ร่าง) พ.ร.บ.ว่าด้วยความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหาร,การส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน ,การยกเลิกการใช้สารเคมีเกษตรอันตราย 4ชนิด

9. ปฏิรูประบบเกษตรกรรมเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน

มีแนวทางรูปธรรมอาทิ:การประกาศทิศทางนโยบายที่ชัดเจนระหว่างการเกษตรเพื่ออาหารกับการเกษตรเพื่อพลังงาน และการมีแผนดำเนินการทั้งระบบให้เป็นไปตามนั้น

ทั้งหมดนี้เป็นการทำงานที่ต้องแข่งกับเวลาเพราะประเทศไทยกำลังการเข้าสู่วิกฤติภาคการเกษตร เมื่อประชาชนเกือบ 40 % ในภาคการเกษตรกำลังเสื่อมถอยและลำบากในการต่อสู้กับความยากจนและรอการพึ่งพิงความช่วยเหลือจากรัฐ จนเป็นบ่อเกิดแห่งปัญหาการเมืองและสังคมเหลื่อมล้ำในปัจจุบันนี้

Be the first to comment on "รายงานพิเศษ"

Leave a comment

Your email address will not be published.