“ร่วมพลาง ตรวจสอบพลาง” : นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป
จันทร์ 26 มกราคม 2552
หนึ่งเดือนแรกของรัฐบาลอภิสิทธิ์ นอกจากเราเห็นภาพของการขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบประชานิยมที่หวือหวา และการเดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นจากนานาประเทศแล้ว พวกเราที่กรุงเทพยังสัมผัสได้ถึงความพยายามเดินเข้ามาหาภาคประชาสังคมด้วยความกระตือรือร้นของทีมงานรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งผิดกับรัฐบาล 2 ชุดที่ผ่านมาในปี 2551 ราวฟ้ากับดิน
การว่างเว้นจากโอกาสในการบริหารประเทศและต้องเป็นฝ่ายค้านอยู่เกือบ 8 ปี บวกกับสถานการณ์การเติบโตของการเมืองภาคประชาชน คงมีส่วนทำให้พรรคประชาธิปัตย์มีเวลาได้ตั้งหลักคิด และเตรียมตัวมาเป็นรัฐบาลตามสมควร
เวทีคณะทำงานของทีมที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีมีการพูดคุย ระดมความคิดกับเครือข่ายภาคประชาสังคม และเอ็นจีโอเป็นประจำ สิ่งที่พวกเขากังวลคือทำอย่างไรจะพลักดันนโยบายประชานิยมเชิงสร้างสรรค์ออกไปให้ทันมาตรการลดแลกแจกแถมในนามของการกระตุ้นเศรษฐกิจที่นำหน้าไปแล้ว
เท่าที่ผมเห็นในตอนนี้ พวกเขากำลังคิดอยู่หลายเรื่อง ซึ่งคงมีการชงเรื่องให้คุณอภิสิทธิ์ทราบเป็นระยะๆ และมีการตัดสินใจเมื่อถึงจังหวะที่เหมาะสม สำหรับผมสนใจบางเรื่องเป็นพิเศษ อาทิ :
· การขับเคลื่อน “การปฏิรูประบบการเกษตรแห่งชาติเพื่อคนไทยทั้งมวล” เรื่องนี้เขากำลังก้าวข้ามการแก้ปัญหาเกษตรกรแบบเป็นเสี่ยงเป็นส่วน แบบ สปก., แบบสภาเกษตรกร, แบบประกันราคาพืชผล ไปสนใจระบบการเกษตรทั้งระบบแบบองค์รวมทั้งมิติที่ดิน แหล่งน้ำ เงินทุน ความรู้ภูมิปัญญา พันธุกรรม และสุขภาวะเกษตรกร ฯลฯ โดยพวกเขากำลังคิดจะใช้แนวทางการขับเคลื่อนเป็นขบวนแบบปฏิรูประบบสุขภาพเป็นต้นแบบ แต่ก็รู้ดีว่าทุนทางปัญญาระหว่าง 2 วงการนั้นต่างกันมากนัก
· การประกาศนโยบายกองทุนมวลชนลูกจ้างเพื่อดูแลผู้ใช้แรงงานกว่า 20 ล้านคน ในลักษณะสังคมสวัสดิการ (Welfare Society) ซึ่งประชาชนผู้ใช้แรงงานมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของ ไม่ใช่ลักษณะเป็นแค่สวัสดิการสังคม (Social Welfare) ที่รัฐเป็นผู้จัดหาให้ฝ่ายเดียว (Welfare State) ที่พวกเขาคิดคือ จะยืมเงินจากกองทุนประกันสังคมสักแค่ 40,000 ล้านบาท เพื่อเป็นโครงการเงินกู้สำหรับแรงงาน แล้วในระยะต่อไปจึงค่อยพัฒนาเป็นธนาคารแรงงานในอนาคต และอาจรวมกับสถาบันการเงินชุมชน สหกรณ์ เครดิตยูเนียน ฯลฯ เป็นธนาคารประชาชนที่มวลชนฐานล่างเป็นเจ้าของแบบเดียวกับในประเทศเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส หรือเดนมาร์ค
· โครงการระบบการออมเพื่อบำนาญคนไทยที่จะรองรับสังคมผู้สูงอายุ เขากำลังจัดทำข้อเสนอทางเลือกให้รัฐบาลพิจารณา ว่าถ้าหากจะสร้างหลักประกันให้กับผู้สูงอายุที่ไม่ใช่ข้าราชการบำนาญ ไม่ใช่แรงงานประกันสังคม ว่าจะมีเบี้ยผู้สูงอายุที่เกิดจากการออมของตนเอง และการสมทบของภาครัฐ จะมีทางเลือกแบบไหนได้บ้าง ระบบนี้สามารถมาแทนที่การแจกเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบสังคมสงเคราะห์ที่ทำอยู่ทุกวันนี้ได้ แค่รัฐบาลต้องลงทุนในขั้นแรกก่อน
ที่เล่ามานี้ก็อย่าเพิ่งเคลิ้มนะครับ มันเป็นเพียงแค่โอกาสในการช่วยกันทำงานเพื่อให้รัฐบาลสามารถรับใช้ประชาชนได้มาก และชาญฉลาดขึ้นเท่านั้น จะได้ทำและทำได้แค่ไหนมันมีเหตุปัจจัยอื่นๆ ประกอบอีกมาก
สิ่งหนึ่งที่ผมรับฟังมา ผู้นำรัฐบาลก็เป็นห่วงรัฐมนตรีป้ายแดงกันเป็นอย่างมาก ด้านหนึ่งกลัวว่าจะทำงานยังไม่เป็น และตกเป็นเบี้ยล่างให้ราชการหลอกใช้ อีกด้านหนึ่งก็กลัวว่าจะก่อเรื่องเสื่อมเสียมาสู่รัฐบาลด้วยนิสัยนักการเมืองแบบเก่า นี่ก็เริ่มมีป้ายประชาสัมพันธ์ตัวรัฐมนตรีโดยใช้งบของกระทรวงออกมาตามหัวเมืองต่างจังหวัดแล้ว เดี๋ยวก็คงจะมีสปอตตามทีวี และวิทยุตามมา
เรื่องทุจริต คอร์รัปชั่น และการลุ่มหลงในลาภ ยศ สรรเสริญ นั้นไม่ได้เข้าใครออกใคร
ข่ายงานประชาสังคมของพวกเราที่ทำงานใกล้ชิดทั้งภาคประชาชน และภาครัฐในพื้นที่ทั่วประเทศ คงต้องเข้าร่วมโดยรักษาความเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง มีวุฒิภาวะ รักษาระยะห่าง และทำหน้าที่ตรวจสอบไปพร้อมกัน
Be the first to comment on "“ร่วมพลาง ตรวจสอบพลาง” : นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป"