ร่วมสร้างชุมชนคนรักอุทัยธานี

ท่ามกลางขุนเขาที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติของเมืองอุทัยธานีแห่งนี้ เป็นแหล่งรวมผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ ทั้งจีน มอญ ลาวครั่ง และกะเหรี่ยง ที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขมายาวนาน

ออกอากาศทางเนชั่นแชนแนล ทีทีวี1 วันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2548
ท่ามกลางขุนเขาที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติของเมืองอุทัยธานีแห่งนี้ เป็นแหล่งรวมผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ ทั้งจีน มอญ ลาวครั่ง และกะเหรี่ยง ที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขมายาวนาน

แต่ด้วยชีวิตที่สงบสุขเรียบง่ายบนวิถีเกษตรกรรม ปราศจากการแย่งชิงแข่งขันของคนอุทัยธานีในวันนี้ อาจง่ายต่อการซัดส่ายไปตามกระแสการพัฒนา เพราะในความเป็นจริง อุทัยธานีกำลังถูกรุมล้อมและท้าทายจากสถานการณ์รอบด้าน ด้วยโครงการพัฒนาหลายโครงการ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว หากคนอุทัยธานียังไม่เตรียมที่จะตั้งรับและปรับตัวให้เท่าทันกับสถานการณ์ การเปลี่ยนแปลงจะนำพาอุทัยธานีไปสู่ทิศทางใด

ลาวรรณ ทัยคุปต์ คณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.อุทัยธานี

“ถ้าพูดถึงอุทัยธานีมันจะเป็นเมืองเก่าที่มีประวัติความเป็นมา แล้วก็สิ่งที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบันมันจะเป็นภาพต่อเนื่องของอดีตกับปัจจุบัน ทีนี้ถ้าเราขาดความรู้ความเข้าใจ สิ่งที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนามันก็จะง่าย ก็เลยมาจับเรื่องความรู้เรื่องเมือง จริงๆ ความรู้เรื่องเมือง ถ้าคนไม่เข้าใจจะมองเห็นแค่เพียงความสวยงาม แต่ไม่รู้ว่ากว่าจะมาเป็นความสวยงาม มันมีที่มาที่ไปอย่างไร มันก็น่าให้คนที่อยู่ในเมืองเองได้เรียนรู้เรื่องราวของตัวเอง”

บรรยาย ตลาดริมน้ำ บ้านเรือนแพ วัดโบสถ์ ยังคงเป็นภาพต่อผืนเดียวกันที่เป็นเอกลักษณ์และทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของเมืองอุทัยธานี ที่ยังคงความมีชีวิตชีวา ทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของเมืองได้เป็นอย่างดี โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ จังหวัดอุทัยธานี จึงเชิญชวนเยาวชนมาสืบค้นเมืองจากผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งไม่เพียงเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ วิถีชุมชนและภูมิปัญญาเท่านั้น แต่ยังเป็นการทำให้คนอุทัยรุ่นใหม่เกิดความรู้สึกรักและผูกพันต่อชุมชนของตนเอง

ลาวรรณ ทัยคุปต์ คณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.อุทัยธานี

“เด็กจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามารับช่วงต่อ จากคนรุ่นพ่อแม่ ในการไม่เรียนรู้บ้านเมืองตนเอง มันคงไม่ได้ สืบต่อเรื่องของคุณค่า ความดีความงาม เรื่องของผู้คน”

น้องแอ้-น้องเบญ ผู้เข้าร่วมค่ายความงามของวิถีชีวิตผ่านงานศิลปะ

“ก็ได้รู้ว่าเมืองอุทัยมีของดียังไง เก่าแก่มาก สวยด้วย มีแม่น้ำที่สำคัญ มีแม่น้ำสะแกกรัง มีร้านค้าเยอะ”

ฉัตรทิพย์ คำด้ว ผู้เข้าร่วมค่ายเขียนบ้านอ่านเมือง

“อยากให้อยู่อย่างนี้ไปนานๆ เหมือนว่ามันเป็นสัญลักษณ์ของเมืองอุทัย จังหวัดอุทัยถ้าไม่นึกถึงห้วยขาแข้งก็จะนึกถึงเรือนแพ”

ไพโรจน์ ตรุณาวงษานนท์ ผู้เข้าร่วมโครงการภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองอุทัย

“ผมว่าเหมาะดีนะครับ อย่างน้อยทำให้เด็กรุ่นหลังหรือรุ่นผมสามารถสืบสาวราวเรื่องในอดีตของเมืองอุทัย ธานีอย่างชัดเจน พอเราเห็นภาพ คนที่รู้อาจจะมีอายุก่อนผมตอนที่ผมยังไม่เกิด เขาก็สามารถชี้แจงได้ว่าลักษณะภาพนี้อยู่ตรงไหน”

บรรยาย การพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของชุมชนมีให้เห็นหลายพื้นที่ในประเทศไทย บ้านทัพคล้าย อำเภอบ้านไร่ เป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งที่ความผูกพัน เอื้อเฟื้อ เกื้อกูล ตามวิถีชุมชนเริ่มจืดจาง ด้วยเหตุจากการแบ่งพื้นที่การปกครอง และการมุ่งหารายได้ ตามวิถีการแข่งขันทางการตลาด ตลอด 200 ของตลาด ที่ทำให้การผลิตเปลี่ยนรูป จากการผลิตเพื่อใช้ที่เหลือจึงขาย กลายเป็นการผลิตเพื่อขาย จนนำมาสู่กว่าปีที่ผ่านมา ชาวทัพคล้ายคือผู้สืบสานภูมิปัญญาการทอผ้าของชนชาวลาวครั่ง เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป จนเกิดความต้องการการแข่งขันกันทางการค้าของคนในชุมชน

อรสา สิทธิธัญกิจ แกนนำเครือข่ายผ้าทอ โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.อุทัยธานี

“เมื่อก่อนนี้ก็เป็นชุมชน เป็นหมู่บ้านเดียว แต่พอเป็นเขตการปกครองมันก็เริ่มที่จะแยกหมู่บ้านกิจกรรมความสัมพันธ์ต่างๆที่ทำร่วมกันก็เริ่มห่างหายไปเริ่มที่จะไม่ได้ทำกิจ

กรรมร่วมกัน เพราะจะทำหมู่ใครหมู่มัน ก็มามองดูว่ากิจกรรมที่จะทำให้เกิดความสามัคคีกันคืออะไร เราก็มองว่าวิถีชีวิตของคนที่นี่คือเขาคือทอผ้า เราจะใช้กิจกรรมทอผ้าเป็นตัวเชื่อม แล้วจะเป็นกิจกรรมอะไร ก็เลยบอกว่างานที่จะเชื่อมความสัมพันธ์กับคน เรื่องของประเพณีงานบุญเชื่อมง่าย ก็เลยมองที่จุลกฐิน เราก็เลยคิดว่าอยากจะมีเวทีทำจุลกฐินของทับคล้ายดูนะ เพราะที่นี่ทุกหมู่บ้านทอผ้าหมด”

ปัญญา ขุนแท้ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 บ้านทัพคล้าย ต.ทัพหลวง อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี

“ความรู้สึกของเขา เขาก็ดีใจนะครับ ที่เราได้มีโอกาสร่วมกันทำงาน งานใหญ่นะครับ ถือว่าเป็นงานที่เป็นหน้าเป็นตาให้กับชุมชนของเรา แสดงถึงความสามัคคีของเราให้คนอื่นได้เห็นนะครับ ว่าวัฒนธรรมของเรานั้นที่เราสืบสาน ไม่เสียเปล่า เราใช้วัฒนธรรมตรงนั้นดึงคนเข้ามารวมกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นชุมชนของเราเอง ชุมชนอื่นๆที่อยู่ใกล้เคียงในตำบลของเราทั้ง 15 หมู่บ้าน ปัจจุบันนี้ก็ให้ความร่วมมือทุกหมู่บ้านครับ”

บรรยาย งานจุลกฐิน ไม่ใช่เพียงร้อยใจให้คนมารวมกันเท่านั้น แต่ยังเป็นการอนุรักษ์การทอผ้าแบบดั้งเดิม ทำให้คนในชุมชน ตระหนักและภาคภูมิใจในคุณค่าแห่งภูมิปัญญาที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษจนเกิดความรู้สึกผูกพันและมุ่งมั่นร่วมกันรักษาให้คงอยู่คู่ชุมชนอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

นิทัศน์ จันทร ประธานเครือข่ายผ้าทอ บ้านทัพคล้าย คณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.อุทัยธานี

“ในความคิดของผมนะ ผมคิดว่าถ้าหมดคนตั้งแต่รุ่นอายุ 40 ปีถึง50ปี รุ่นที่มีอยู่ปัจจุบันนี้ไป ผมคิดว่าเอกลักษณ์พวกนี้มันจะถูกเลือนหายไปทั้งหมดเลย จะไม่มีใครรู้ที่ไปที่มาและก็จะไม่มีใครเก็บข้อมูลตรงนี้ได้เหมือนกับชุมชนเราเอง ถ้าเราไม่ปลูกฝัง ถ้าเราไม่เริ่ม เพื่อที่จะเรียนรู้ของเราเองว่าทุนเดิมของเราจริงๆน่ะมันมีอะไรบ้าง ก็จะทำให้สิ่งเหล่านี้ลบเลือนหายไปได้เหมือนกัน อันนี้ก็ทำให้เราคิดได้ว่า ถ้าเป็นเรื่องของเราจริงๆ คนในพื้นที่ของเราจริงๆไม่ค่อยรู้เรื่องพวกนี้เท่าไร แต่กลับไปเผยแพร่ให้คนอื่นเขาสนใจเรื่องราวของบ้านเราเอง มันทำให้ฉุกคิดว่า คนอื่นแท้ๆที่ไม่ใช่คนของเราเอง เขากลับสนใจในเรื่องราวพวกนี้ แล้วทำไมคนเราเองไม่สนใจ ไม่ค้นคว้า เพื่อที่จะเก็บหลักฐานพวกนี้ไว้ให้ลูกหลานได้ดูบ้าง”

บรรยาย ที่อำเภอลานสัก ความพยายามในการเก็บรักษาสิ่งดีงามไว้ให้ลูกหลานอีกรูปแบบหนึ่งกำลังเกิดขึ้นป่าชุมชนเขาหินเหล็กไฟ เป็นแหล่งอาหารและสมุนไพรธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ของชาวลานสักกว่า 4 หมู่บ้าน เพราะมีพื้นที่กว้างถึง 6,600 ไร่ แต่หากขาดการดูแลรักษา ทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ อาจหมดไปอย่างรวดเร็ว

สมเกียรติ พูลเขตร์กรณ์ คณะกรรมการป่าชุมชนเขาหินเหล็กไฟ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี

“การจัดการของเรา แบ่งพื้นที่เป็นสองส่วน เป็นเขตอนุรักษ์ มีกฎกติกาการใช้ และเป้าหมายของชุมชนคือ อยากให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของชุมชนต่างๆที่อยากจะทำป่า อยากสร้างหอดูไฟและชมธรรมชาติด้วย”

บรรยาย การนำกฎ กติกามาใช้ ผู้ใดทำผิดต้องจับหรือปรับ ช่วยรักษาป่าได้บางส่วน แต่ทำให้คนในหมู่บ้านบางกลุ่มไม่พอใจ คณะกรรมการป่าชุมชนเขาหินเหล็กไฟจึงต้องปรับแนวทางการทำงาน เพราะหากขาดความร่วมมือจากชุมชน การอนุรักษ์ป่าก็ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น

วิเชียร บัวอุไร คณะกรรมการป่าชุมชนเขาหินเหล็กไฟ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี

“คือจริงๆแล้วเราใช้กฎตรงนั้นเพราะอยากให้เข้มแข็ง และอยากให้ชุมชนรู้สึกว่า กฎกติกา ศักดิ์สิทธิ์และก็กลัว แต่ตรงข้าม คือกฎตัวนี้ ถ้าเราใช้มากหรือเข้มแข็งมากเกินไป มันเหมือนกับหักกลางคันครับ คือเราไม่ได้ใจเขามา ว่าป่านี่ทำเพื่อใคร ทำทำไม”

บรรยาย การปลูกฝังให้ชุมชนเห็นความสำคัญของป่า ด้วยการจัดการความรู้ โดยรวบรวมข้อมูลสิ่งที่ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ออกมาเป็นมูลค่า เพื่อสร้างคุณค่า จึงเป็นวิถีทางใหม่ของการอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาหินเหล็กไฟ

มาก จันทร์ดี คณะกรรมการป่าชุมชนเขาหินเหล็กไฟ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี

“รวบรวมทั้งเครือข่ายทั้งสี่หมู่ เฉพาะห้าหกตัวอย่างครับ เช่น หน่อไม้ ผักหวาน เห็ดโคน กีนูน กระเจียว อีซึก(พืชผักพื้นบ้านชนิดหนึ่ง)-โทรไปถามทางอุทัยตรวจสอบความถูกต้อง และ วงเล็บอธิบายเพิ่มสั้น ๆ) ทั้งหมดล้านกว่า เป็นล้านนะครับ แค่ 5-6 ตัวที่เราใช้ประโยชน์ ก็เลยมาว่าจะทำอย่างไรกันดี กำลังศึกษาว่าถ้าเมื่อรายได้เยอะขนาดนี้ เราจะทำอย่างไรกับป่าดี เพื่อให้มันยั่งยืน”

วิเชียร บัวอุไร คณะกรรมการป่าชุมชนเขาหินเหล็กไฟ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี

“เราเกิดมาทำเพื่อแผ่นดิน เพื่อพระเจ้าแผ่นดิน เพื่อในหลวงของเรา สร้างจิตสำนึกของเรา สร้างให้มีป่าชุมชนของตัวเองในแผ่นดิน ถือว่ามันเป็นกุศลที่หาที่เปรียบไม่ได้ เราคิดตั้งใจทำ แม้จะเจ็บยังไง ลำบากยังไงก็ทำได้ คือเรามีใจรักป่าชุมชนมาก”

บรรยาย ความรักในบ้านเกิดและชุมชน เป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานเพื่อท้องถิ่น เช่นเดียวกับ “กลุ่มเกษตรยั่งยืนบ้านหนองจิก” อำเภอหนองฉาง ผู้เลือกเดินกลับไปสู่วิถีเกษตรกรรมแบบยั่งยืน

วรชาติ ลิลา แกนนำกลุ่มเกษตรยั่งยืนบ้านหนองจิก อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี

“ก็สมัยรุ่นพ่อรุ่นแม่มา ใช้ควายใช่ไหมครับ ปุ๋ยเคมีไม่รู้จักเลย มาถึงปี 21 เราถึงค่อยลด จากควายมาเป็นรถไถ พอปี 22 เราหมดควายเลย คือเราใช้รถแท็กเตอร์อย่างเดียว รถไถแบบเดินตาม เสร็จแล้วตอนนี้ปุ๋ยเคมีก็เริ่มเข้ามา เพราะขี้วัวขี้ควายไม่มีแล้ว เสร็จแล้วเรามานึกถึงสมัยโบราณว่า คนทำไมถึงอยู่กันอายุ 70-80 เดี๋ยวนี้ 50-60 แทบไปไม่ไหว ก็มีผู้ช่วยผู้นำของในหมู่บ้าน ก็ผมก็ร่วมคิดว่าเรามาทำเกษตรปลอดภัยกันดีกว่า ก็เลยชวนกันทำในกลุ่ม”

บรรยาย มาตรฐานข้าวปลอดภัย เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะนำไปสู่สุขภาวะที่ดีของทั้งผู้ปลูกและผู้บริโภค ทั้งยังนำไปสู่การรวมกลุ่มแปรรูปเป็นข้าวสารขายในชุมชน เกิดการออม จนมีเงินทุนหมุนเวียนในกลุ่ม เกิดการเรียนรู้มุ่งสู่การพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน

ชนภัทร วงศ์วิทยา ู้ช่วยกำนัน ต.หนองยาง อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี

“เดี๋ยวนี้สบายขึ้นเลย เพราะมีทุนการเงินใช่ไหม มีทุนให้ลงทุน แล้วก็ได้ผลกำไรนะ กลุ่มมีกลุ่มต่างๆ โรงสีก็มีทุนให้ ร้านค้าชุมชนก็มีเงินปันผลให้ ตอนนี้เงินมันสะพัดอยู่ในนี้ทั้งหมด ก็เหมือนว่าหมู่บ้านเราไม่เสียดุล สิ่งต่างๆมันหมุนเวียนอยู่ในนี้หมด เพราะฉะนั้นเงินตรามันก็ไม่ออกไปข้างนอก ประชาชนก็สบาย หนี้สินก็ลดลง หนี้สินลดลงก็คือว่าเป็นหนี้ก็ใช้หนี้มาเรื่อยๆ มันทำให้เราสบายขึ้น”

ชนนคร ระจิตร์ คณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.อุทัยธานี

“สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนของกลุ่มที่นี่คือความคิดเขา เขาเปลี่ยนความคิดว่าทำอย่างไรให้ชุมชนเขาอยู่ได้ก่อน คิดจากเล็กไปหาใหญ่นะครับ เขาเลยปรับเปลี่ยนได้ก่อนกลุ่มอื่น”

บรรยาย การปรับเปลี่ยนแนวคิด คือความจำเป็นของเกษตรกรที่ต้องเผชิญภัยแล้งเกือบทุกปี เช่นเดียวกับชาวนาอำเภอทัพทัน ที่นำภูมิปัญญาและความรู้จากการศึกษาพื้นที่มาใช้ประโยชน์ แม้จะอยู่ใกล้แหล่งต้นน้ำห้วยตากแดด แต่พื้นที่อยู่ในลักษณะลาดเอียง จึงไม่สามารถเก็บกักน้ำเอาไว้ได้ ผนวกกับภัยแล้ง จึงทำให้ พรมมา ทักขิณา เปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตร จากทำนามาเป็นการทำเกษตรผสมผสาน โดยเลือกปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย และใช้น้ำแบบหมุนเวียน ด้วยการสูบน้ำจากบ่อขึ้นไปด้านพื้นที่สูง แล้วปล่อยให้ไหลหล่อเลี้ยงแปลงปลูก และไหลกลับสู่บ่อที่อยู่ด้านพื้นที่ต่ำ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ต่อไป

พรมมา ทักขิณา เกษตรกรไร่นาสวนผสม อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี

“ก็ดึงขึ้นไปใส่สระลูกโน้น แล้วก็เอาน้ำไปรดสวน ราด???สวน พอรดเต็มแล้ว มันก็ไหลลงมาอย่างเก่า ไม่ได้กักครับ มันเป็นที่ชันๆเมื่อรดน้ำไปแล้ว น้ำก็ไหลลงมาอยู่ที่เดิม หมุนเวียนอยู่อย่างนี้ ตอนแรกคิดกับที่บ้าน เอาไว้กินตอนแก่ รายได้คนละ100ต่อ???วันก็อยู่ได้ ตอนนี้เกินเขา เราก็สบายใจได้ทุกวัน ไม่เดือดร้อน ไม่ต้องไปกู้เงินล้าน ไม่ต้องกู้ธกส.”

วิไลวรรณ จันทร์พ่วง คณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.อุทัยธานี

“ถ้าเขาได้เรียนรู้ เรามองว่ามันจะปรับเรื่องของวิธีคิดแล้วก็มาปรับพฤติกรรม ที่ผ่านมาการทำงานพัฒนาส่วนใหญ่จะเป็นการทำกิจกรรมแต่ไม่เกิดการเรียนรู้ คือมองว่าชุมชนต้องรู้เท่าทัน กับสิ่งที่มันเปลี่ยนแปลงไม่ใช่การปฏิเสธ คือทำยังไงเขาจะอยู่ร่วมกับสิ่งที่มันเกิดขึ้นได้ เราไม่สามารถควบคุมสิ่งที่มันเปลี่ยนแปลงได้ อันนี้คือความจริง เราต้องยอมรับความจริงว่ากระแสโลกกระแสโลกาภิวัฒน์เข้ามามันกระทบชุมชนแน่นอน แต่เขาจะอยู่อย่างไร โดยใช้ภูมิปัญญา โดยใช้ความรู้ที่มีอยู่ในชุมชน ผสมผสานกับความรู้ภายนอก ทำให้เกิดความรู้ใหม่นะคะ ความรู้ใหม่ที่เขาจะอยู่กับโลกปัจจุบัน”

ไม่มีพื้นที่ใด หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงได้พ้น แต่หากชุมชนใดสามารถตระหนักรู้และตั้งรับได้อย่างเท่าทัน เชื่อได้ว่าจะสามารถดำรงชีวิตในวิถีที่ต้องการ ทั้งยังสามารถรักษาและสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้ได้ อันเป็นเป้าหมายและความมุ่งมั่นตั้งใจของคนอุทัยธานี ที่จะร่วมสร้างชุมชนให้น่าอยู่ต่อไป

สารคดี : บ้านเมืองเรื่องของเรา ชุดชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่
ผลิตโดย : งานพัฒนาการสื่อสารฯ โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ
– ท้องถิ่นน่าอยู่ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

Be the first to comment on "ร่วมสร้างชุมชนคนรักอุทัยธานี"

Leave a comment

Your email address will not be published.