ร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษถือเป็นนโยบายสาธารณะหรือเครื่องมือกฎหมายแนวใหม่ของรัฐบาลที่จะนำมาใช้เพื่อการบริหารประเทศตามแนวทางที่รัฐบาลเคยประกาศไว้ แต่ข้อบัญญัติหลายประการในร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน…
|
ร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษถือเป็นนโยบายสาธารณะหรือเครื่องมือกฎหมายแนวใหม่ของรัฐบาลที่จะนำมาใช้เพื่อการบริหารประเทศตามแนวทางที่รัฐบาลเคยประกาศไว้ แต่ข้อบัญญัติหลายประการในร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ต่อการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ต่อการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น และต่อระบบธรรมาภิบาลในสังคมประชาธิปไตย ร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษจึงเป็นว่าที่กฎหมายฉบับใหม่ที่น่าจับตามองมากเป็นพิเศษ ทั้งในประเด็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากกฎหมายฉบับนี้ และประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพิจารณาหรือกำหนดที่เกี่ยวข้องกับความอยู่ดีมีสุขของประชาชนในทุกระดับ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2548 ที่ ห้องประชุมอาคารขวัญมอ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แผนงานวิจัยและพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) คณะกรรมการประสานงานองค์กรเอกชนพัฒนาชนบท(กป.อพช.) ภาคอีสาน สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ–ท้องถิ่นน่าอยู่ 8 จังหวัด กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมจังหวัดอุดรธานี คณะทำงานศึกษาและติดตามโครงการเหมืองแร่โพแทช จ.อุดรธานี ฝ่ายสิทธิมนุษยชน สภาทนายความแห่งประเทศไทย และสำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพ(สปรส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกันจัดเวทีประชาชนเรียนรู้นโยบายสาธารณะเรื่อง “ร่างกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษกับการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประมาณ 70 คน จากกลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มอนุรักษ์ นักธุรกิจในพื้นที่ สื่อมวลชน นักวิชาการ นักศึกษา และผู้สนใจอื่นๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การจัดเวทีครั้งนี้เป็นการให้ข้อมูลและมุ่งเน้นการวิเคราะห์ร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อช่วยให้ให้ภาคประชาชนได้เข้าใจถึงแนวคิดของร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ กลไกและอำนาจในการดำเนินงานของเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและการอยู่ร่วมกันด้วยดีในสังคม
ภาพรวมร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ
สว.สัก กอแสงเรือง สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษฉบับนี้ โดยภาพรวมไม่ได้เป็นการส่งเสริมแต่เป็นการทำลาย ผู้ที่อยู่นอกเหนือเขตเศรษฐกิจพิเศษจะมีคุณภาพชีวิตต่ำกว่าคนที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะถ้ามองในแง่ของการประกอบการคนที่อยู่นอกเขตเศรษฐกิจพิเศษสู้คนที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษไม่ได้ เพราะรัฐสนับสนุนน้อยกว่าและมีสิทธิน้อยกว่า
ที่สำคัญร่างพ.ร.บ. เขตเศรษฐกิจพิเศษฉบับนี้ไม่ได้ผ่านขั้นตอนการมีส่วนร่วมของประชาชน และลดทอนอำนาจหน่วยงานรัฐองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่าง ม.57 (1) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่ภายใต้การตัดสินใจของคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษ
สว.สัก กอแสงเรือง กล่าวอีกว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ควรมี ควรยกเลิก ถ้ามีความจำเป็นก็เสนอกฎหมายที่ละฉบับๆ ให้พิจารณาเป็นรายๆ ไป เพราะแต่ละพื้นที่มีความต่างและควรให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเพราะประชาชนท้องถิ่นมีสิทธิตามรัฐธรรมณูนในการที่จะใช้และดูแลทรัพยากรท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
ร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษกับผลกระทบทางสังคม สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
คุณศุภกิจ นันทวรการ แผนงานวิจัยและพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) กล่าวถึงผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมว่า หากร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษฉบับนี้ผ่านและประกาศใช้สิ่งที่จะตามมาคือ การขยายตัวของอุตสาหกรรมสกปรก, การหลั่งไหลของแรงงานต่างด้าวซึ่งอาจก่อปัญหาโรคระบาด โสเภณี ชุมชนแออัด, การแย่งชิงทรัพยากรเช่น ที่ดิน น้ำ ป่า ทะเล และแร่ หิน ต่างๆ, ผลกระทบต่อเกษตรกรรมขนาดใหญ่, บั่นทอนกลไกการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และความไม่เท่าเทียมกันจะเกิดมากขึ้น เพราะร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษฉบับนี้ได้ผ่อนผันการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายสิ่งแวดล้อม การใช้แรงงานต่างด้าว กฎหมายทางด้านภาษี และการเช่าซื้อที่ดินของต่างชาติ ซึ้งมีนัยยะเพื่อให้การลงทุนเป็นไปได้โดยง่าย และในขณะเดียวกันก็เพิ่มพูนอำนาจให้แก่ผู้บริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษสามารถเวนคืนที่ดิน ถมทะเล และจัดซื้อแลกเปลี่ยนที่ดิน คุณศุภกิจ ย้ำ การมีส่วนร่วมของประชาชนและการกระจายอำนาจถือเป็นองค์ประกอบและกลไกสำคัญในการคุ้มครองและส่งเสริมสุขภาพ
ร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษกับการพัฒนาภาคอีสาน
ผศ.ดร.ยรรยงค์ อินทรม่วง คณะเภสัชศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าว ชาวอีสานจะได้ประโยชน์น้อยมากเมื่อเทียบกับผลเสียที่จะเกิดขึ้น พ.ร.บ.ฉบับนี้เอื้อต่อกลุ่มทุนมากกว่าเกษตรกร ซึ่งนำไปสู่การลดความเข้มแข็งของครัวเรือนเกษตรกรอีสาน ถ้าจะเอาพ.ร.บ. ฉบับนี้เสนอให้ปรับ พ.ร.บ.กลุ่มอุตสาหกรรมเก่าอย่ายกเลิก, ให้นักลงทุนในประเทศอย่าพึ่งทุนต่างชาติ, โครงสร้างต้องให้มีกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชน ผศ.ดร.ยรรยงค์ ตั้งข้อสังเกตว่าพ.ร.บ.ฉบับนี้ มิติท้องถิ่นหายไปเลย
อ.สัมพันธ์ เตชะอธิก คณะมนุษศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าว อ่านร่างพ.ร.บ. แล้วเกิดวิตกจริต แนวคิดของร่างพ.ร.บ.นี้เชื่อตามระบอบเลย คือถ้าชาวต่างชาติลงทุนสร้างงานให้คนอีสานจะทำได้ต้องรวมศูนย์ฺอำนาจให้คนกลุ่มหนึ่ง คนที่ได้ประโยชน์คือนายทุนต่างชาติเพราะไทยไม่มีเงินลงทุนมากพอและเทคโนโลยีด้อยกว่า อ.สัมพันธ์ ได้เสนอทางเลือกไว้ดังนี้ 1.ปรับส่วนที่เลวออกเอาส่วนที่ดีไว้ และให้ร่างเป็นพ.ร.บ.เฉพาะพื้นที่ได้ไหม? 2.เรายกร่างกฎหมาย เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ของประชาชน หาคนมายกร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจของเรา เช่น ร่างเป็นข้อบัญญัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประกาศให้พื้นที่ท้องถิ่นเป็นเขตเศรษฐกิพอเพียง 3.ประชาชนควรเคลื่อนไหวตามสไตส์ เพื่อให้มีภาพการเคลื่อนไหวจากทุกภาคส่วน เช่น นักวิชาการ ช่วยย่อยข้อมูลส่งแถลงการให้ข่าว เอ็นจีโอ ทำงานรณรงค์ จัดตั้งเครือข่าย ชาวบ้านช่วยรวมตัวกันคัดค้าน และสุดท้ายร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ให้ออกไม่ได้เพราะเป็นกฎหมายที่เผด็จการให้ประโยชน์แก่ผู้ว่าจ้าง นายทุน ไม่ได้คิดถึงประชาชน ประเทศ
หลังการให้ข้อมูลร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษและเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยน ซักถามและเสนอความคิดเห็น บทสรุปของเวทีครั้งนี้คือ คัดค้านร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษฉบับนี้ เนื่องจากเป็นพ.ร.บ.ที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุน ละเมิดอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น ลดความเข้มแข็งของรากหญ้าทำให้พึ่งตนเองน้อยลง พึ่งพาคนนอกมากขึ้น และปฏิเสธกระบวนการได้มาของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ เพราะไม่ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน |
||||||||||||||||||||||
นพรัตน์ จิตรครบุรี : ทีมสื่อสารสาธารณะ |
Be the first to comment on "ร่างกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษกับการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ"