(ร่าง) พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้

(ร่าง) พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (องค์การมหาชน) พ.ศ. …

(ร่างโดยสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา/๑๖ มกราคม ๒๕๕๖)

บันทึกหลักการและเหตุผล
ประกอบร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (องค์การมหาชน) พ.ศ. …

หลักการ

     เห็นสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (องค์การมหาชน)

เหตุผล

     ด้วยเหตุที่การดำรงอยู่ของลักษณะทางสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีลักษณะเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ที่มีมิติทางด้านประวัติศาสตร์ ศาสนา และชาติพันธุ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ต้องการแนวคิดและแนวทางปฏิบัติเพื่อการบริหารจัดการที่สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะทางสังคมดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อให้สังคมเกิดความสงบสุข และสามารถขยายบทบาทของประชาชนและชุมชนท้องถิ่นที่อยู่ร่วมกันด้วยความแตกต่างหลากหลาย โดยเกิดศักยภาพสูงสุดต่อการพัฒนาพื้นที่
ในการนี้จำเป็นต้องส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชน ชุมชนท้องถิ่น และสมาชิกของสังคมระดับต่างๆได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม และการกำหนดตนเองให้มากที่สุด ซึ่งหน่วยงานราชการตามปกติมีข้อจำกัดในการดำเนินการในบทบาทดังกล่าว
นอกจากนั้นด้วยลักษณะทางสังคม วัฒนธรรม และสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ ทำให้การรวมตัวจัดตั้งตนเองของประชาชนขึ้นเป็นองค์กรชุมชนแบบเดียวกับพื้นที่อื่นของประเทศเป็นไปได้ยาก
ปัจจุบันยังไม่มีองค์กรมหาชนที่มีวัตถุประสงค์ดังกล่าวและมีขอบเขตการปฏิบัติงานเป็นการเฉพาะสำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนั้น จึงสมควรจัดตั้งองค์การมหาชนเพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรวมตัวกันเป็นลักษณะองค์ชุมชน เพื่อเปิดให้ประชาชนและชุมชนท้องถิ่นเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมในการฟื้นฟูและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ อย่างเต็มศักยภาพ อันจะส่งผลดีต่อชุมชนที่มีลักษณะเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมได้อยู่ร่วมกันโดยสันติสุข เข้มแข็ง และยั่งยืน จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

ร่าง
พระราชกฤษฎีกา
จัดตั้งสถาบันส่งเสริมการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (องค์การมหาชน)
พ.ศ. …

…………………………………………………..
…………………………………………………..
…………………………………………………..

……………………………………………………………………………………………………………………………………………………………

………………………………………..
โดยที่เป็นการสมควรจัดตั้งสถาบันส่งเสริมการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขึ้นเป็นองค์การมหาชนตามกฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชน
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา๑๘๗ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง สถาบันส่งเสริมการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๕…”
มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ในพระราชกฤษฎีกานี้
“การฟื้นฟู” หมายความว่า การฟื้นฟูความมั่นคงของมนุษย์ ความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น และสังคมวัฒนธรรมให้กลับขึ้นมางอกงาม
“พัฒนา” หมายความว่า การทำให้ประชากร ชุมชนท้องถิ่น และพื้นที่มีความเจริญยั่งยืน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมืองการปกครอง
“จังหวัดชายแดนภาคใต้” หมายความว่า จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดสตูล และจังหวัดสงขลา เฉพาะพื้นที่ อำเภอเทพา อำเภอสะบ้าย้อย อำเภอนาทวี และอำเภอจะนะ
“สถาบัน” หมายความว่า สถาบันส่งเสริมการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการสถาบันส่งเสริมการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
“กรรมการ” หมายความว่า กรรมการสถาบัน
“ผู้อำนวยการ” หมายความว่า ผู้อำนวยการสถาบัน
“เจ้าหน้าที่” หมายความว่า เจ้าหน้าที่สถาบัน
“ลูกจ้าง” หมายความว่า ลูกจ้างสถาบัน
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

หมวด ๑
การจัดตั้ง วัตถุประสงค์ และอำนาจหน้าที่

     มาตรา ๕ ให้จัดตั้งองค์การมหาชนขึ้น เรียกว่า “สถาบันส่งเสริมการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (องค์การมหาชน)” เรียกโดยย่อว่า “สช.พต.” และให้ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า ” Institute for Promoting Rehabilitation and Development of Southern – Border Provinces (Public Organization) ” เรียกโดยย่อว่า “IRDS”
มาตรา ๖ ให้สถาบันมีที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และอาจตั้งสำนักงานสาขาได้ตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร
มาตรา ๗ ให้สถาบันมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
(๑) ส่งเสริมการฟื้นฟูความมั่นคงของมนุษย์และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เพื่อคืนความเข้มแข็งสู่ชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้
(๒) ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมืองการปกครองในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน
(๓) ส่งเสริมและสนับสนุนการดำรงอยู่และพัฒนาการของวัฒนธรรม ศาสนา สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้ความหลากหลาย
(๔) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้รวมตัวกันเป็นองค์กรชุมชนที่หลากหลาย เพื่อการมีส่วนร่วมกับภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับในการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่
มาตรา ๘ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๗ ให้สถาบันมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้ามีส่วนร่วมในการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรูปแบบที่หลากหลาย
(๒) ส่งเสริมและสนับสนุนกระบวนการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สามารถเข้าถึงความต้องการของกลุ่มประชากรเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(๓) ให้บริการฝึกอบรม หรือสัมมนา ในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจในสถานการณ์ และวิถีชีวิต วัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่น อันจะนำไปสู่การปรับตัวอย่างเหมาะสมขององค์กรหรือบุคคลที่จะเข้าไปปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้
(๔) ศึกษาวิจัยสถานการณ์ปัญหา และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายทั้งในด้านการป้องกัน การเฝ้าระวัง การบำบัดแก้ไขและการควบคุมสถานการณ์ ตลอดจนการเสริมสร้างสันติภาพ การฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่และประชากรในจังหวัดชายแดนภาคใต้
(๕) จัดหาเงินทุนเพื่อใช้ในการดำเนินงานของสถาบัน
(๖) จัดให้ได้มา จำหน่ายไป ทำนิติกรรม หรือดำเนินการอื่นใดเกี่ยวกับบรรดาสิทธิในทรัพย์สินทั้งในและนอกราชอาณาจักร
(๗) กระทำการอื่นใดเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของสถาบัน และตามที่รัฐบาลมอบหมาย

หมวด ๒
ทุน รายได้ และทรัพย์สิน

      มาตรา ๙ ทุนและทรัพย์สินในการดำเนินกิจการของสถาบัน ประกอบด้วย
(๑) เงินและทรัพย์สินที่ได้รับโอนมา
(๒) เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้ตามความเหมาะสมเป็นรายปี
(๓) เงินบริจาคของประชาชนทั่วไป เงินอุดหนุนจากภาคเอกชน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งจากต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ และเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้
(๔) ค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือรายได้จากการดำเนินการ
(๕) ดอกผลของเงินหรือรายได้จากทรัพย์สินของสถาบัน
มาตรา ๑๐ บรรดารายได้ของสถาบันไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลัง ตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง และกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
มาตรา ๑๑ ให้อสังหาริมทรัพย์ที่สถาบันได้มาจากการให้หรือจากการซื้อด้วยเงิน รายได้ของสถาบันเป็นกรรมสิทธิ์ของสถาบัน
ให้สถาบันมีอำนาจในการปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ใช้ จำหน่ายและจัดหาประโยชน์จากทรัพย์สินของสถาบัน
มาตรา ๑๒ การใช้จ่ายของสถาบันให้ใช้จ่ายไปเพื่อกิจการของสถาบันโดยเฉพาะ
การเก็บรักษาและเบิกจ่ายเงินของสถาบัน ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๑๓ เงินสำรองของสถาบัน ให้ประกอบด้วยเงินสำรองธรรมดาซึ่งตั้งไว้เผื่อขาด เงินสำรองเพื่อไถ่ถอนหนี้ เงินสำรองเพื่อขยายกิจการ และเงินสำรองอื่นๆ เพื่อความประสงค์แต่ละอย่างโดยเฉพาะตามแต่คณะกรรมการจะเห็นสมควร
เงินสำรองนี้จะนำออกใช้ได้ก็แต่โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

หมวด ๓
การบริหารและการดำเนินกิจการ

      มาตรา ๑๔ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการสถาบันส่งเสริมการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ” ประกอบด้วย
(๑) ประธานกรรมการ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากบุคคลที่ได้รับการสรรหาซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์สูงเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหา สภาพเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษาและชุมชนท้องถิ่น ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
(๒) กรรมการส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวนสองคน ได้แก่ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ……….
(๓) กรรมการผู้นำชุมชน จำนวนสองคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากบุคคลที่ได้รับการสรรหาจากผู้นำองค์กรชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
(๔) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนสองคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากบุคคลที่ได้รับการสรรหาซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านศาสนา ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม การศึกษา หรือด้านอื่นอันเป็นประโยชน์แก่กิจการของสถาบัน และเป็นบุคคลซึ่งมิใช่ข้าราชการหรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานอื่นของรัฐ
ให้ผู้อำนวยการเป็นกรรมการและเลขานุการโดยตำแหน่ง และให้ผู้อำนวยการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ หนึ่ง คนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาประธานกรรมการและกรรมการตาม (๑) (๓) และ (๔) ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนดโดยการเสนอแนะของคณะกรรมการ
มาตรา ๑๕ ประธานกรรมการและกรรมการตามมาตรา ๑๔ (๓) และ (๔) ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(๑) มีสัญชาติไทย
(๒) มีอายุไม่ต่ำว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์ และไม่เกินเจ็ดสิบปีบริบูรณ์
(๓) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๔) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๕) ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น กรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งซึ่งรับผิดชอบการบริหารพรรคการเมือง ที่ปรึกษาพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่พรรคการเมือง
(๖) ไม่เป็นเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างของสถาบันหรือที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญที่มีสัญญาจ้างกับสถาบัน
มาตรา ๑๖ ประธานกรรมการและกรรมการของสถาบันจะต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกิจการที่กระทำกับสถาบันหรือในกิจการที่ขัดหรือแย้งกับวัตถุประสงค์ของสถาบัน ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
มาตรา ๑๗ ให้ประธานกรรมการและกรรมการตามมาตรา ๑๔ (๓) และ (๔) มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี
เมื่อครบกำหนดตามวาระในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งประธานกรรมการหรือกรรมการขึ้นใหม่ ให้ประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่าประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
ประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ อาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้
มาตรา ๑๘ นอกจากการพ้นจากราชการตามวาระ ประธานกรรมการและกรรมการตามมาตรา ๑๔ (๓) และ (๔) พ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) คณะรัฐมนตรีให้ออก เพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือหย่อนความสามารถ
(๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา ๑๕ หรือกระทำการอันมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๖
มาตรา ๑๙ ในกรณีที่ประธานกรรมการหรือกรรมการตามมาตรา ๑๔ (๓) และ (๔) พ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้ทำการสรรหาและเสนอคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งผู้อื่นดำรงตำแหน่งแทน เว้นแต่วาระที่เหลืออยู่ไม่ถึงเก้าสิบวัน จะไม่แต่งตั้งกรรมการแทนก็ได้ และให้ผู้ได้รับแต่งตั้งแทนนั้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนเข้าไปแทนที่
ในกรณีที่ประธานกรรมการหรือกรรมการตามมาตรา ๑๔ (๓) และ (๔) พ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการทั้งหมดที่มีอยู่จนกว่าจะมีการแต่งตั้งประธานกรรมการหรือกรรมการตามความในวรรคหนึ่ง และในกรณีที่ประธานกรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระให้กรรมการที่เหลือเลือกกรรมการคนหนึ่งทำหน้าที่ประธานกรรมการเป็นการชั่วคราว
มาตรา ๒๐ คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) กำกับดูแลการดำเนินงานของสถาบันให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์
(๒) กำหนดนโยบายการบริหารงาน และให้ความเห็นชอบแผนการดำเนินงานของสถาบัน
(๓) อนุมัติแผนการลงทุนและแผนการเงินของสถาบัน
(๔) ควบคุมดูแลการดำเนินงานและการบริหารงานทั่วไป ตลอดจนออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือข้อกำหนดเกี่ยวกับสถาบันในเรื่องดังต่อไปนี้
(ก) การบริหารงานทั่วไปของสถาบัน การจัดแบ่งส่วนงานของสถาบัน และขอบเขตหน้าที่ของส่วนงานดังกล่าว
(ข) การกำหนดตำแหน่ง คุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง อัตราเงินเดือน ค่าจ้าง และเงินอื่นของเจ้าหน้าที่และลูกจ้าง
(ค) การคัดเลือก การบรรจุ การแต่งตั้ง การถอดถอน วินัยและการลงโทษทาง วินัย การออกจากตำแหน่ง การร้องทุกข์และการอุทธรณ์การลงโทษของเจ้าหน้าที่และลูกจ้าง รวมทั้งหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขในการจ้างลูกจ้าง
(ง) การบริหารและจัดการการเงิน การพัสดุ และทรัพย์สินของสถาบัน รวมทั้งการบัญชีและการจำหน่ายทรัพย์สินจากบัญชีเป็นสูญ
(จ) การจัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นแก่เจ้าหน้าที่และลูกจ้าง
(ช) ขอบเขตอำนาจหน้าที่และระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจสอบภายใน
(๕) กระทำการอื่นใดที่จำเป็นหรือต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของสถาบัน
ระเบียบเกี่ยวกับการจำหน่ายทรัพย์สินจากบัญชีเป็นสูญตาม (๔) (ง) ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
มาตรา ๒๑ การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
มาตรา ๒๒ คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความเชี่ยวชาญให้เป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการ และมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่คณะกรรมการมอบหมายให้
ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๑ มาใช้บังคับกับการประชุมของคณะกรรมการด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๒๓ ให้ประธานกรรมการ กรรมการ ที่ปรึกษา อนุกรรมการได้รับเบี้ยประชุมและประโยชน์ตอบแทนอื่นตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
มาตรา ๒๔ ให้สถาบันมีผู้อำนวยการคนหนึ่ง
คณะกรรมการเป็นผู้มีอำนาจสรรหา แต่งตั้ง และถอดถอนผู้อำนวยการ
หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาผู้อำนวยการ ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของคณะกรรมการ
มาตรา ๒๕ ผู้อำนวยการต้องเป็นผู้สามารถทำงานให้แก่สถาบันได้เต็มเวลาและต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(๑) มีสัญชาติไทย
(๒) มีอายุไม่เกินหกสิบห้าปีบริบูรณ์ในวันที่ได้รับการแต่งตั้ง
(๓) มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์เหมาะสมในการบริหารกิจการของสถาบันตามวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๗ และมาตรา ๘
(๔) ไม่มีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา ๑๕ (๓) (๔) (๕) หรือ (๖)
(๕) ไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกิจการที่กระทำกับสถาบัน
มาตรา ๒๖ ผู้อำนวยการมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน
มาตรา ๒๗ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ผู้อำนวยการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ออกตามกรณีที่กำหนดไว้ในข้อตกลงระหว่างคณะกรรมการกับผู้อำนวยการ
(๔) คณะกรรมการให้ออก เพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือหย่อนความสามารถ
(๕) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา ๒๕
มติของคณะกรรมการให้ผู้อำนวยการพ้นจากตำแหน่งตาม (๔) ต้องประกอบด้วยเสียงคะแนนไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ โดยไม่นับรวมผู้อำนวยการ
มาตรา ๒๘ ผู้อำนวยการมีหน้าที่บริหารกิจการของสถาบันให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ และอำนาจหน้าที่ของสถาบัน ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด นโยบาย ประกาศ และมติของคณะกรรมการ และเป็นผู้บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่และลูกจ้างทุกตำแหน่ง เว้นแต่ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจสอบภายในตามมาตรา ๓๖ วรรคสอง รวมทั้งให้มีหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) เสนอเป้าหมาย แผนงาน และโครงการต่อคณะกรรมการเพื่อให้การดำเนินงานของสถาบันบรรลุวัตถุประสงค์
(๒) เสนอรายงานประจำปีเกี่ยวกับผลการดำเนินงานด้านต่างๆ ของสถาบัน รวมทั้งรายงานการเงินและบัญชี ตลอดจนเสนอแผนการเงินและงบประมาณของปีต่อไปต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา
(๓) เสนอความเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงกิจการและการดำเนินงานของสถาบันให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ต่อคณะกรรมการ
ผู้อำนวยการต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการในการบริหารกิจการของสถาบัน
มาตรา ๒๙ ผู้อำนวยการมีอำนาจ
(๑) บรรจุ แต่งตั้ง เลื่อน ลด ตัดเงินเดือนหรือค่าจ้าง ลงโทษทางวินัยเจ้าหน้าที่และลูกจ้างตลอดจนให้เจ้าหน้าที่และลูกจ้างออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ ตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด แต่ถ้าเป็นพนักงานหรือลูกจ้างตั้งแต่ตำแหน่งที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการฝ่าย หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าขึ้นไป จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อน
(๒) วางระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินงานของสถาบันโดยไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด นโยบาย ประกาศหรือมติที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๓๐ ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ผู้อำนวยการเป็นผู้แทนของสถาบัน เพื่อการนี้ ผู้อำนวยการจะมอบอำนาจให้บุคคลใดปฏิบัติงานเฉพาะอย่างแทนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๓๑ ให้คณะกรรมการเป็นผู้กำหนดอัตราเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้อำนวยการ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

หมวด ๔
ผู้ปฏิบัติงานของสถาบัน

      มาตรา ๓๒ ผู้ปฏิบัติงานของสถาบันมีสามประเภท คือ
(๑) เจ้าหน้าที่หรือลูกจ้าง ได้แก่ ผู้ซึ่งปฏิบัติงานโดยได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างจากงบประมาณของสถาบัน
(๒) ที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ ผู้ซึ่งสถาบันจ้างให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญโดยมีสัญญาจ้าง
(๓) เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมาปฏิบัติงานของสถาบันเป็นการชั่วคราวตามมาตรา ๓๕
มาตรา ๓๓ เจ้าหน้าที่ ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
(๑) มีสัญชาติไทย
(๒) มีอายุไม่ต่ำว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ และไม่เกินหกสิบปีบริบูรณ์
(๓) สามารถทำงานให้สถาบันได้เต็มเวลา
(๔) มีคุณวุฒิหรือประสบการณ์เหมาะสมกับวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของสถาบัน
(๕) ไม่เป็นข้าราชการหรือลูกจ้างของส่วนราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ หรือพนักงานหรือลูกจ้างของราชการส่วนท้องถิ่น
(๖) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๕ (๓) (๔) หรือ (๕)
(๗) ไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกิจการที่กระทำกับสถาบัน
มาตรา ๓๔ เจ้าหน้าที่พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา ๓๓
(๔) ถูกให้ออกหรือปลดออก เพราะไม่ผ่านการประเมินผลงาน หรือกระทำผิดวินัย ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนดไว้ในข้อบังคับ
(๕) ออกตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาจ้าง
มาตรา ๓๕ เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานของสถาบัน รัฐมนตรีอาจขอให้ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นในกระทรวง ทรวง กรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ มาปฏิบัติงานในสถาบันเป็นการชั่วคราวได้ ทั้งนี้ เมื่อได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างของผู้นั้น และมีข้อตกลงที่ทำไว้ในการอนุมัติ
ในกรณีที่ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นตามวรรคหนึ่ง ได้รับอนุมัติให้มาปฏิบัติงานเป็นเจ้าหน้าที่ของสถาบันให้ถือว่าเป็นการได้รับ อนุญาตให้ออกจากราชการหรือออกจากงานไปปฏิบัติงานใดๆ และให้นับเวลาระหว่างที่มาปฏิบัติงานในสถาบัน สำหรับการคำนวณบำเหน็จบำนาญหรือประโยชน์ตอบแทนอื่นทำนองเดียวกันเสมือนอยู่ปฏิบัติราชการหรือปฏิบัติงานเต็มเวลาดังกล่าว แล้วแต่กรณี
เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาที่มาปฏิบัติงานให้สถาบัน ให้บุคคลตามวรรคหนึ่งได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งและรับเงินเดือนในส่วนราชการหรือหน่วยงานเดิม ในระดับตำแหน่งที่ไม่ต่ำกว่าระดับตำแหน่งเดิมตามข้อตกลงที่ทำไว้

หมวด ๕
การบัญชี การตรวจสอบ และการประเมินผล

     มาตรา ๓๖ การบัญชีของสถาบัน ให้จัดทำตามสากลตามแบบและหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด และต้องจัดให้มีการตรวจสอบภายในเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี และการพัสดุของสถาบัน ตลอดจนรายงานผลการตรวจสอบให้คณะกรรมการทราบอย่างน้อยปีละครั้ง
ในการตรวจสอบภายใน ให้มีผู้ปฏิบัติงานของสถาบันทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบภายในโดยเฉพาะและให้รับผิดชอบขึ้นตรงต่อคณะกรรมการตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๓๗ ให้สถาบันจัดทำงบดุล งบการเงิน และบัญชีทำการ ส่งผู้สอบบัญชีภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชีทุกปี
ในทุกรอบปี ให้สถาบันการตรวจเงินแผ่นดินหรือบุคคลภายนอกตามที่คณะกรรมการแต่งตั้งด้วยความเห็นชอบของสถาบันการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชี และประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินของสถาบัน โดยให้แสดงความคิดเห็นเป็นข้อวิเคราะห์ว่า การใช้จ่ายดังกล่าวเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ประหยัด และได้ผลตามเป้าหมายเพียงใด แล้วทำบันทึกรายงานผลการสอบบัญชีต่อคณะกรรมการ
เพื่อการนี้ ให้ผู้สอบบัญชีมีอำนาจตรวจสอบสรรพสมุดบัญชีและเอกสารหลักฐานต่างๆ ของสถาบันสอบถามประธานกรรมการ กรรมการ ผู้อำนวยการ เจ้าหน้าที่ ลูกจ้าง หรือผู้อื่น ซึ่งเป็นตัวแทนของสถาบัน และเรียกให้ส่งสรรพสมุดบัญชีและเอกสารต่างๆ เป็นการเพิ่มเติมได้ตามความจำเป็น
มาตรา ๓๘ ให้สถาบันทำรายงานประจำปีเสนอรัฐมนตรี รายงานนี้ให้กล่าวถึงผลงานของสถาบันในปีที่ล่วงมาแล้ว บัญชีทำการพร้อมทั้งรายงานของผู้สอบบัญชี รวมทั้งคำชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายของคณะกรรมการ โครงการ และแผนงานที่จะจัดทำในภายหน้า
มาตรา ๓๙ เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมประสิทธิภาพและการตรวจสอบการดำเนินงานของสถาบัน ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ โครงการ และแผนงานที่ได้จัดทำไว้ ให้สถาบันจัดให้มีการประเมินผล การดำเนินงานของสถาบันตามระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด แต่ต้องไม่นานกว่าสามปี
การประเมินผลตามวรรคหนึ่ง ให้จัดทำโดยสถาบันหรือองค์กรที่เป็นกลางและมีความเชี่ยวชาญในด้านการประเมินผลกิจการ โดยมีการคัดเลือกตามวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
การประเมินผลการดำเนินการของสถาบันจะต้องแสดงข้อเท็จจริงให้ปรากฏในด้านประสิทธิผล ในด้านประสิทธิภาพ และในด้านการพัฒนาองค์กร หรือรายละเอียดอื่นตามที่คณะกรรมการจะได้กำหนดเพิ่มเติมขึ้น
ในกรณีที่มีเหตุผลจำเป็นเป็นการเฉพาะกาล จะจัดให้มีการประเมินเป็นครั้งคราวตามมาตรานี้ด้วยก็ได้

หมวด ๖
การกำกับดูแล

     มาตรา ๔๐ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินกิจการของสถาบันให้เป็นไปตามกฎหมายและให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสถาบัน นโยบายของรัฐบาล และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับสถาบัน เพื่อการนี้ให้รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้สถาบันชี้แจงแสดงความคิดเห็น ทำรายงานหรือยับยั้งการกระทำของสถาบันที่ขัดต่อวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสถาบัน นโยบายของรัฐบาล หรือมติของคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับสถาบัน ตลอดจนสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินงานของสถาบันได้

บทเฉพาะกาล

     มาตรา ๔๑ ในวาระเริ่มแรก ให้มีคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้คณะหนึ่งประกอบด้วยปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้แทนสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้แทนศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จำนวนสี่คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง เป็นกรรมการ
ให้กรรมการตามวรรคหนึ่ง เลือกกรรมการคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการ รองประธานกรรมการและเลขานุการ
มาตรา ๔๒ ให้คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำหน้าที่สรรหาประธานกรรมการและกรรมการตามมาตรา ๑๔ (๑) (๓) และ (๔) สำหรบวาระเริ่มแรก และปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ เท่าที่จำเป็นเกี่ยวกับการดำเนินงานของสถาบันจนกว่าจะมีคณะกรรมการตามพระราชกฤษฎีกานี้
มาตรา ๔๓ ข้าราชการหรือลูกจ้างของสังกัดหรือส่วนราชการใด ๆ สมัครใจเปลี่ยนไปเป็นเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างของสถาบันต้องใช้สิทธิแจ้งความจำนงเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชา ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมการฟื้นฟูชุมชนทัองถิ่นและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามมาตรา ๔๒ กำหนด
การเปลี่ยนไปเป็นเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างของสถาบันตามพระราชกฤษฎีกานี้ ไม่ถือว่าเป็นการออกจากงานเพราะสังกัดเดิมเลิกจ้างหรือทางราชการเลิกหรือยุบตำแหน่ง
การจะบรรจุและแต่งตั้งลูกจ้างตามวรรคหนึ่งให้ดำรงตำแหน่งใด ให้เป็นไปตามอัตรากำลัง คุณสมบัติ และอัตราเงินเดือนหรือค่าจ้างตามที่คณะกรรมการตาม  มาตรา ๔๒ กำหนดซึ่งจะต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับโครงสร้างและอัตรากำลังของสถาบันที่จะมีขึ้นด้วย และจะต้องได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน หรือสวัสดิการและประโยชน์อย่างอื่นไม่น้อยกว่าที่ลูกจ้างผู้นั้นเคยได้รับอยู่เดิม ทั้งนี้ โดยผู้นั้นจะต้องผ่านการคัดเลือกและประเมินผลตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการตามมาตรา ๔๒ กำหนดด้วย
การบรรจุและแต่งตั้งลูกจ้างที่ผ่านการคัดเลือกและประเมินผลเป็นเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างของสถาบันให้มีผลในวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้มีการดำเนินการ
มาตรา ๔๔ เพื่อประโยชน์ในการนับเวลาการทำงานสำหรับคำนวณสิทธิประโยชน์ตามข้อบังคับของสถาบัน ให้นับเวลาทำงานในขณะที่เป็นลูกจ้างในสังกัดเดิมหรือส่วนราชการเดิมต่อเนื่องกับเวลาทำงานของเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างสถาบันด้วย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการตามมาตรา ๔๒ กำหนด โดยคำนึงถึงความเป็นธรรม และกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับอื่นอันเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างด้วย
มาตรา ๔๕ ให้คณะกรรมการตามมาตรา ๔๒ แต่งตั้งผู้อำนวยการตามพระราชกฤษฎีกานี้เท่าที่จำเป็น จนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้อำนวยการตามพระราชกฤษฎีกานี้ ซึ่งต้องไม่เกินเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
———————–
นายกรัฐมนตรี

Be the first to comment on "(ร่าง) พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้"

Leave a comment

Your email address will not be published.