ด้วยการเพิ่มจำนวนของประชากร ประกอบกับการเคลื่อนย้าย และขยายถิ่นที่อยู่ ตามสภาพวิถีชีวิตที่มีเศรษฐกิจเป็นเงื่อนไขนำ ส่งผลให้เกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเมือง ในแทบทุกภูมิภาคของไทย
ออกอากาศทางเนชั่นแชนแนล ทีทีวี1 วันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม 2548
|
ด้วยการเพิ่มจำนวนของประชากร ประกอบกับการเคลื่อนย้าย และขยายถิ่นที่อยู่ ตามสภาพวิถีชีวิตที่มีเศรษฐกิจเป็นเงื่อนไขนำ ส่งผลให้เกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเมือง ในแทบทุกภูมิภาคของไทย แต่ส่วนใหญ่เป็นการเกิดและขยายตัวอย่างไร้ระบบ ทั้งขาดการ เตรียมการ และการจัดการที่ดี สภาพการจัดการพื้นที่ของเมือง จึงมุ่งเน้นประโยชน์ใช้สอยของ แต่ละภาคส่วน ขาดการออกแบบพื้นที่สาธารณะ เพื่อให้สมาชิกชุมชน ได้พบปะแลกเปลี่ยน ข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งสร้างสรรค์กิจกรรม อันเป็นส่วนสำคัญ ของการดำรงชีวิตในสภาพพื้นที่ เดียวกัน
ความพยายามในการดำเนินกระบวนการสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมจากชุมชน เพื่อสร้างและพัฒนาที่ว่างหรือพื้นที่สาธารณะ จึงเป็นหัวใจในการทำงานของโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ ใน 5 เมือง คือ สมุทรสงคราม นครสวรรค์ ลำปาง อุบลราชธานี และ ตรัง อ.ขวัญสรวง อติโพธิ ผู้จัดการโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ (5 จังหวัด) “ที่จริงถ้าเป็นสมัยอยุธยา สมัยสุโขทัย ต้นรัตนโกสินทร์ มันก็มีอยู่ มีแม่น้ำลำคลอง ศาลาวัด มีทุ่งพระสุเมรุ มีอะไรต่างๆขึ้นมารองรับหมู่เหล่าตามบริบทเดิม แต่พอมาปัจจุบัน วัดนี่ก็ด้อยถอยลงไปเยอะ ภูมิศาสตร์ชีวิต พฤติกรรมต่างๆ มันจากไปเยอะ ตลาดสดก็อ่อนแรงลง ขณะเดียวกันชีวิตใหม่ๆ ตัวตนใหม่ๆ มูลนิธิสถาบันต่างๆที่เขาเป็นกลุ่มทางสังคมและเขาอยากจะมีกิจกรรม ตัวนี้คือสิ่งที่ที่ว่างเก่าๆเดิมรองรับไม่ได้ ก็เลยเห็นความจำเป็นว่า ชีวิตหมู่เหล่าใหม่ๆในที่ว่างสาธารณะหน้าใหม่ๆเห็นท่าจะเป็นเรื่องจำเป็น เขาเรียกว่าเป็น โครงสร้างพื้นฐานของการคบหา ถ้าไม่มีโครงสร้างก็ไม่รู้จะไปคบกันยังไง มันมี 2 อย่างคือ หนึ่งตรงนี้มันเปลือก แต่กิจกรรมชีวิตที่มายึดใช้ เกิดขึ้นมา นี่มันเป็นชีวิต” บรรยาย ลานเมืองหรือที่ว่างอันเป็นพื้นที่สาธารณะ คือโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับการดำเนินกิจกรรมหลากหลาย ที่สอดคล้องกับชีวิตและความต้องการในชุมชน ที่ จังหวัดสมุทรสงคราม เมืองที่อุดมด้วยแหล่งน้ำ อำนวยต่อการทำการเกษตรและการประมง ทำให้วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ ไม่กระจุกตัวรวมเป็นชุมชนหนาแน่น ส่งผลให้เกิดภาวะต่างคนต่างอยู่และขาดการรวมตัว แม้จะมีความพยายามสร้างลานเมือง เพื่อให้ผู้คนมารวมตัวกัน ชื่นชมในภูมิปัญญา ของท้องถิ่น ด้วยการจัดงาน “บรรเลงเพลงศิลป์…วัฒนธรรมถิ่นแม่กลอง” แต่เมื่อไม่ใช่ความคุ้นชินและด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ตามแนวคิดการพัฒนาท้องถิ่น ทำให้ลานเมืองของสมุทรสงคราม ต้องปรับเปลี่ยนสถานที่จากลานริมน้ำมาเป็นสวนสาธารณะกลางเมือง สมพงษ์ กุลวโรตตมะ ผู้ประสานงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ จ.สมุทรสงคราม “เพราะว่าโดยวิถีชีวิตของเขา เขาทำสวน เป็นชาวประมง เขาก็ออกไปในพื้นที่ของเขา และเขาก็ใช้เวลาพักผ่อน อยู่ในที่ของตัวเอง เพราะฉะนั้นเขาจะไม่เคยชินที่จะออกมารวมกันบ่อยๆ แต่การมีพื้นที่สาธารณะริมแม่น้ำ มันต้องการการพัฒนาทางด้านซอฟแวร์ เพื่อให้เป็นวิถีชีวิต เป็นกิจวัตร แต่ว่าคนแม่กลองเขาไม่เคยชิน เพราะฉะนั้นเขาก็เหมือนรอให้คนมาจัดให้ แล้วเขาก็มาเยี่ยมเยียนบ้างเป็นบางครั้ง แต่โดยวิถีชีวิตเขาไม่ได้ผูกพัน หรือว่าใช้พื้นที่ว่าง เขาจึงกลับไปสู่พื้นที่ของเขา จริงๆ แล้วในส่วนของการจัดงาน เราพยายามดึงเทศบาล ดึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาร่วม แต่ว่าเขาเองก็นึกไม่ออกว่า ในอนาคตเขาจะสร้างตรงนี้เองได้ยังไง คือมันเป็นกระบวนการที่ยาว ใช้เวลาและก็หลากหลาย แต่เขามีเวลาจำกัด เพราะฉะนั้นเขาก็เร่งสร้างผลงาน ที่เป็นรูปธรรม ทางพวกเราพยายามพัฒนาด้านเนื้อหา กระบวนการ ที่จะนำคนเข้ามาใช้ แต่เขาจะมองเป็นเพียงเปลือก เพราะฉะนั้นจึงมีการพัฒนาในรูปแบบของการปรับภูมิทัศน์ ด้วยวิถีชีวิตของเขาที่ไม่เคยชิน ด้วยสภาพพื้นที่ที่เราเล็งไว้ แต่ว่ามีปัญหาในแง่ของการใช้ เราจึงปรับเป็น 2 เรื่อง หนึ่งคือเรามองว่า วิถีชีวิตของคนที่จะมาใช้ลานพื้นที่ว่าง มันน่าจะเหมาะกับวิถีของเมืองมากกว่า เพราะฉะนั้นจึงมีการเปลี่ยนพื้นที่ไปเล่นในเมือง ในสวนสุขภาพกลางเมือง” บรรยาย สวนสาธารณะกลางเมืองสมุทรสงครามแห่งนี้ เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกายของคนเมือง จึงเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสม ในการจัดกิจกรรมอันสร้างสรรค์ สำหรับคนในชุมชนด้วยทันตแพทย์มานะชัย ทองยัง เลขาธิการสมาคมกีฬาจังหวัดสมุทรสงคราม “ที่เราอยากเห็นคือความสัมพันธ์ของคนทุกเพศทุกวัย น่าจะอยู่ในที่สาธารณะแห่งนี้ได้ ถ้าเราไปขีดวงแค่ว่า การออกกำลังกาย ก็จะได้แค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ในลานถ้าเราสามารถหากิจกรรมเพื่อให้ทุกคนสามารถใช้พื้นที่ได้ ก็จะได้ความหลากหลายของผู้คนที่มา ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ถ้าจะให้ เขาเข้ามาทำกิจกรรม คือไม่ดนตรี ก็ศิลปะ หรือไม่ก็กีฬา สามอย่างนี่ก็จะเป็นเรื่องหลักๆของเด็ก” สมพงษ์ กุลวโรตตมะ ผู้ประสานงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ จ.สมุทรสงคราม “ส่วนของเนื้อหา ซอฟแวร์ต่างๆที่เราเล่น เรื่องความหลังที่เราทำงานมาตลอด เรื่องของดนตรีไทย น่าจะไปออกในอีกพื้นที่หนึ่ง ที่เราเรียกว่าพื้นที่สาธารณะในคลื่น คือกลายมาเป็นสถานีวิทยุ และเราคิดว่าการที่มีวิทยุสาธารณะ หรือพื้นที่สาธารณะในคลื่น จะสามารถส่งเสียงไปให้คนแม่กลองที่ไม่เคยชินที่จะออกมารวม แต่เขาสามารถอยู่ในพื้นที่เขาและเขาก็เปิดวิทยุฟังได้ ว่ามันเกิดการเคลื่อนไหวที่ไหนบ้าง” สมฤทธิ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ จ .สมุทรสงคราม “เราใช้ชื่อ “วิทยุสาธารณะท้องถิ่นเพื่อแม่กลอง” เป้าหมายวัตถุประสงค์คือเป็นเวทีสาธารณะในคลื่นเพื่อร่วมกันรองรับการกำหนดปัจจุบันและสร้างสรรค์อนาคต คือชื่อจะบอกทั้งเป้าหมายวัตถุประสงค์ คนอ่านจะเข้าใจเลย อย่างเราใช้คำว่าเพื่อแม่กลอง คำว่า เพื่อ คือให้มันพ้นจากตัวเองไป เพื่อคนโน้น เพื่อโน่นเพื่อนี่ ไม่ได้ยึดมาเป็นของตัวเอง เพราะฉะนั้น เรามองว่า คลื่นวิทยุ เวทีสาธารณะในคลื่น ก็มีส่วนสำคัญที่จะสามารถผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วม การเรียนรู้ หรือว่าการปฏิสัมพันธ์ของคนในท้องถิ่นอีกช่องทางหนึ่ง” บรรยาย เช่นเดียวกับที่จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งนอกจากการจัดเวทีสืบค้นประวัติศาสตร์เมืองปากน้ำโพ จากภาพเก่าและปากคำของผู้เฒ่าผู้แก่ ชาวปากน้ำโพ กำลังใช้จุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนปากน้ำโพ เป็นกลไกในการพัฒนาศักยภาพของคน สร้างจิตสำนึกสาธารณะ และความภูมิใจในรากเหง้าของตนเอง นายแพทย์สมพงษ์ ยูงทอง คณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ จ.นครสวรรค์ “สื่อมีอิทธิพลต่อค่านิยมและปัญญาของคนมาก ผมว่าสื่อเป็นหัวใจในเชิงเครื่องมือ ของการสื่อสารกับ สังคม เป็น Social Communication เป็นเครื่องมือหลัก ถ้าเราไม่มีเครื่องมือ ที่สื่อสารความเคลื่อนไหวซึ่งกันและกัน สื่อสารว่าทำไมต้องทำอย่างนี้ เราจะใช้เครื่องมืออะไร ถ้าถูกยึดไปหมด เราหวังว่า วิทยุชุมชนอาจช่วยหน่วงหรือดึงกลับมาบ้าง ให้มาสู่ปัญญาบ้าง ไม่ใช่ไปสู่วิถีบริโภคเกือบร้อยเปอร์เซนต์” บรรยาย นครลำปางเป็นเมืองเก่าแก่อีกจังหวัดหนึ่งของภาคเหนือ แต่ด้วยความเป็นเมืองคู่แฝดของเชียงใหม่ ทำให้ความเป็น “ลำปาง” ถูกบดบัง ทั้งด้านศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญา ความคิด ความเชื่อ การปลุกจิตสำนึกให้คนลำปางหันกลับมามองตนเองและภาคภูมิใจในรากเหง้า จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องสร้างไปพร้อมกับ “หอศิลปวัฒนธรรมนครลำปาง” ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ผู้ประสานงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ จ .ลำปาง “ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเข้าไปอย่างที่อาจารย์ขวัญพูดว่า ชิมใช้ เปิดพื้นที่สนามหญ้า พื้นที่ตรงนี้ ผมลองพลิกมาให้คนลำปาง ให้เยาวชนลงมาจัดการ มีกิจกรรม มีเวทีการแสดง ในอาคารเราก็มี ภาพศิลปะแสดง มีประวัติศาสตร์ลำปาง จากองค์กรในจังหวัดมาช่วยกันจัด ปรากฏว่าผมว่าคนมันหิว อยากรู้จักตัวเองด้วยว่าเป็นยังไง หรืออีกนัยหนึ่งคือมันไม่มีสิ่งเหล่านี้ในบ้านเขาเมืองเขาในลำปาง ผมคิดว่าอีกหลายๆเมือง เป็นเช่นกัน ก็คือว่า เราอยากรู้จักตัวเอง ที่สำคัญคือว่า ไม่ใช่ผมมาบอกว่าคนลำปางคืออะไร ที่ไปไกลกว่านั้น คือ อยากให้เขามาช่วยระบุด้วยว่า ฉันคือคนลำปาง ที่มีที่ยืนอยู่ตรงไหน คือ สุดท้ายไม่ได้จบที่หอศิลป์อย่างเดียว มันจะจบที่การรู้จักตัวเอง รู้จักศักยภาพตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นทางสังคม วัฒนธรรมหรือว่าทางเศรษฐกิจ นั่นคือสิ่งที่มุ่งหวังไปไกลๆ” บรรยาย ทุนทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่น คือ รากฐานการสร้างจิตสำนึกเพื่อให้เกิดความรัก และ ความภาคภูมิใจ ซึ่งจะนำไปสู่การร่วมสร้างท้องถิ่นให้น่าอยู่ แนวคิดนี้ คือ ที่มาของ“โครงการฮักแพงแปงอุบล ” ที่พยายามสร้างคุณค่าของคนและเมือง ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย ในพื้นที่สาธารณะ ทั้งละครหุ่น และ“เวทีโสเหล่สาธารณะ” นายแพทย์บวร แมลงภู่ทอง คณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ จ .อุบลราชธานี “เวทีโสเหล่สาธารณะจริงๆมันไม่มีรูปแบบที่ตายตัว แต่ในยุคนี้อยู่คนเดียวไม่รอด บางที มันต้องเกิดการรวมกลุ่ม ก็มาแลกเปลี่ยนกัน คือการสร้างให้วัฒนธรรมเดิมๆกลับมา แล้วมา แลกเปลี่ยนกัน คุยกัน ใครมีอะไรดีๆก็มาโชว์กัน มาเชื่อมกัน มาเจอกัน มีที่ที่จะมาเจอกัน เวทีนี้ถ้า มาวางใจด้วยกัน แล้วทำมาจากข้างใน เอาใจมาวาง แล้วอยากให้บ้านเมืองอุบลพัฒนาขึ้นไป อีกระดับหนึ่ง” บรรยาย ที่จังหวัดตรัง แม้จะเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่นที่หลากหลาย แต่ด้วยรูปแบบการใช้ที่ว่าง รวมทั้งการใช้เวลาและกิจกรรมของผู้คนเปลี่ยนไป ทำให้คนในท้องถิ่นมีโอกาสใช้ชีวิตร่วมกันน้อยลง ส่งผลต่อความอ่อนแอและความจืดจางของชุมชน “โครงการ มาลองแลลานใหม่เมืองตรัง” กระบวนการที่จะสร้างกิจกรรมเพื่อเรียกสำนึกของผู้คนบนพื้นที่ว่าง จึงเกิดขึ้น สุพรรณ วังกุลางกูร รองประธานสภาวัฒนธรรม จ .ตรัง “ตอนนี้บ้านเมืองของเรากำลังต้องการเรื่องราวในอดีต แต่ว่าเมืองตรังไม่มีจุดรวมสักแห่งเดียว อดีตจะบอกอนาคต เพราะว่าสิ่งใดก็ตาม ที่มันมีความเป็นมาในอดีต มันจะบอกอนาคตว่า ถ้าเรารู้อดีต ปัจจุบันเราดีที่สุด อนาคตของเราก็สามารถรู้ได้เลย แต่ถ้าเราไม่รู้อดีตเลย เหมือนเราอยู่กลางทะเล ไม่รู้ว่ามาจากไหน และไม่รู้จะไปไหน จุดหมายก็ไม่มี เพราะฉะนั้นการที่เรารู้อดีตก็เพื่อสร้างอนาคตของเราว่า ควรไปทางทิศทางไหน” บรรยาย กระบวนการสร้างสรรค์พลังและความหมายของชีวิตหมู่เหล่าในท้องถิ่น จำเป็นต้องมีพื้นที่ว่าง ที่มีที่ตั้งใกล้ชุมชน และ เป็นพื้นที่ที่เปิดกว้าง ง่ายต่อการเข้ามาใช้ อาคารสโมสรเสือป่าแห่งนี้ จึงเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมในการพัฒนาให้เป็นลานใหม่ของเมืองตรัง ทั้งทางกายภาพและประวัติศาสตร์ สุนทรี สังข์อยุทธ์ หัวหน้าหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ จ.ตรัง “เอกสารนี้มันจะมีอยู่ 2 ชิ้น ชิ้นหนึ่งเป็นแบบแปลน อีกชิ้นเป็นเอกสารที่เกี่ยวกับการก่อสร้างสโมสรเสือป่าตรัง ทำให้เราได้ทราบว่า พื้นที่ตรงนี้มีประวัติความเป็นมายาวนาน คำว่าสโมสรทำให้เรามองเห็นว่าที่นี่เป็นที่สาธารณะอยู่แล้ว หากเรามีความคิดที่จะหาสถานที่ที่จะทำกิจกรรมในเชิงสาธารณะ ตรงนี้น่าจะเหมาะ ไม่ใช่เพียงแต่ดิฉันจะคิดคนเดียว ท่านผู้อาวุโสของจังหวัดตรังหลายท่านที่รู้ประวัติศาสตร์ของสโมสรดี ท่านก็พูดเป็นแนวเดียวกันว่า น่าจะใช้ที่สโมสรเป็นที่สำหรับทำกิจกรรมสาธารณะของคนเมืองตรังได้” บรรยาย แม้ปัจจุบันพื้นที่แห่งนี้จะมีกลุ่มคนมาใช้ประโยชน์ แต่ยังไม่ได้เป็นพื้นที่เปิดเพื่อสาธารณะอย่างแท้จริง การคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของสังคม จึงน่าจะเป็นทางออก ที่จะนำไปสู่การร่วมสร้าง และร่วมใช้ เพื่อให้พื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งรวมผู้คน เพื่อร่วมสร้างความผูกพันต่อท้องถิ่น กำแหง อติโพธิ ผู้ประสานงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ จ .ตรัง “หัวใจสำคัญ คือ เรื่องของคน คือ เรื่องที่เราต้องการให้เกิด คือ การทำให้ทุกคนมีจิตที่เป็นสาธารณะ มองในภาพรวม มองในประโยชน์ร่วมของเมืองหรือของท้องถิ่น เรื่องของคน ผมว่าเป็นหัวใจสำคัญ เพราะเมืองเป็นอะไรที่ไม่มีชีวิต แต่สิ่งที่ทำให้มีชีวิต คือ คนที่อยู่ในเมืองนั้นๆ ถ้าคนในเมืองนั้นๆ ไม่ใส่ใจกับเมืองของตัวเองหรือไม่ใส่ใจ กับท้องถิ่นขอตัวเอง หรือมองให้ใหญ่กว่าบ้านของตัวเอง มันก็จะร่วมกันทำอะไรได้ยาก” บรรยาย หาก “ชีวิตสาธารณะ” คือ ชะตากรรมร่วมของผู้คนหลากหลายที่ต้องใช้ชีวิตร่วมกันในพื้นที่และวิถีเดียวกัน ที่ว่างหรือพื้นที่สาธารณะทั้งทางกายภาพ และทางคลื่นวิทยุโทรทัศน์ จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อการพบปะ สื่อสาร หล่อหลอมพลังสาธารณะให้เกิดขึ้น ทั้งยังสร้างพลังร่วมกันก้าวไปข้างหน้า ด้วยความตระหนักรู้ในรากเหง้า และผสมผสานความรู้ใหม่ เข้ากับการเป็นท้องถิ่นอย่างกลมกลืน อันเป็นหนทางสู่การมีท้องถิ่นที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน อ.ขวัญสรวง อติโพธิ ผู้จัดการโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ (5 จังหวัด) “แต่ผมเชื่อนะ เห็นจากความสุขหรือพลังที่เกิดขึ้น ถึงแม้จะพยายามปั้นแต่งอย่างลำบาก แต่มันมีพลัง” |
สารคดี : บ้านเมืองเรื่องของเรา ชุดชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่
ผลิตโดย : งานพัฒนาการสื่อสารฯ โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา |
Be the first to comment on "ลานเมือง เพื่อชีวิตสาธารณะและท้องถิ่นน่าอยู่"