ลูกโลกสีเขียว กับ ปตท.
พลเดช ปิ่นประทีป (เขียนให้โพสต์ทูเดย์ พุธที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๖)
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมมีโอกาสได้ลงเยี่ยมพื้นที่ในโครงการรางวัลลูกโลกสีเขียว เพื่อดูผลงานชุมชนที่รักษาทรัพยากรดิน-น้ำ-ป่าในหลายบรรยากาศ
ที่อำเภอสะเดา สงขลา พบกับเครือข่ายองค์กรรักษ์คลองอู่ตะเภา ที่นั่นเขาช่วยกันดูแลรักษาลำน้ำสายเลือดหลักที่หล่อเลี้ยงผู้คน ๗ อำเภอ ประชากรพื้นถิ่น ๑ ล้านคนกับนักเรียนนักศึกษา ๕ มหาวิทยาลัยรวมทั้งประชากรแฝงอีก ๕ แสนคน ในฐานที่เป็นแหล่งน้ำประปาของชุมชนและเมืองในละแวกนั้นทั้งหมด
คลองอู่ตะเภาเป็นแม่น้ำสายสั้นๆ ความยาวประมาณ ๑๓๐ กิโลเมตร ต้นน้ำมาจากผาเต่าดำ ไหลเลาะผ่านอำเภอต่างๆ ลงมาออกที่ทะเลสาบสงขลา
ที่น่าทึ่งก็คือ พลเมืองท้องถิ่นที่นั่นเขามีจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมแรงกล้าขึ้นทุกวัน จนสามารถร่วมกันถักทอเป็นเครือข่ายทางสังคมที่เข้มแข็งมาก ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ มีทั้งเครือข่ายเยาวชนต้นกล้ารักษ์คลองอู่ตะเภา เครือข่ายชุมชน เครือข่าย อปท. เครือข่ายภาคประชาสังคม เครือข่ายธรรมาภิบาลโรงงาน เครือข่ายโรงเรียน เครือข่ายครูดนตรีไทย ฯลฯ พวกเขาต้องใช้เวลาร่วม ๑๒ ปีจึงสามารถทำให้คุณภาพน้ำคลองอู่ตะเภากลับมาใสสะอาดได้ตลอดทั้งสาย ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับคลองแหที่ไหลผ่านชุมชนเมือง มีสีดำคล้ำส่งกลิ่นเหม็นเน่า ตรงจุดที่ไหลมาร่วมกันก่อนลงสู่ทะเลสาบสงขลา
อีกแห่งหนึ่งเป็นชุมชนมุสลิมในกรุงเทพฯ นี่เอง เขตคลองสามวา หนองจอกและมีนบุรีเป็นย่านที่มีชุมชนมุสลิมหนาแน่น ชุมชน กมาลุ้ลอิสลาม เป็นชุมชนที่ใหญ่มาก มีชุมชนแยกขยายออกไปอีกนับสิบแห่ง เชื่อมโยงผูกพันด้วยสายเครือญาติและความศรัทธา กมาลุ้ลแปลว่าอุดมสมบูรณ์ พวกเขาผูกพันกับธรรมชาติ วิถีเกษตรกรรมและแหล่งน้ำ
ย่านนั้นเป็นเขตชานกรุงเทพมหานคร เป็นต้นน้ำคลองแสนแสบ มีคลองซอยย่อยๆ หลายสาย เครือข่ายชุมชนกมาลุ้ลอิสลามและชุมชนมุสลิมที่นั่นเขารวมตัวกันฟื้นฟูลำคลองอย่างต่อเนื่องเกือบยี่สิบปี จนน้ำใสสะอาด มีเขตอภัยทานห้ามจับปลาเป็นช่วงๆ ผักตบชวาที่เคยแน่นทึบจนเดินข้ามได้และเคยมีเด็กตกลงไปตาย บัดนี้หายเกลี้ยง ชาวบ้านกลับมาใช้เส้นทางน้ำไปมาหาสู่กันได้อีก เด็กๆ สามารถกระโดดลงคลองเล่นน้ำได้เหมือนเดิม ถึงขั้นบางโรงเรียนมีหลักสูตรสอนว่ายน้ำในลำคลองกันเลยทีเดียว
ในทางกายภาพ กรุงเทพมหานครตั้งอยู่บนแผ่นดินที่แบนราบเหมือนโต๊ะ ซึ่งมีการทรุดตัวลงทั้งแผ่นปีละ ๓-๕ เซ็นติเมตร จึงต่ำลงเรื่อยๆ น้ำทะเลก็หนุนสูงขึ้นทุกปีเช่นกัน ธรรมชาติและคนโบราณจึงใช้โครงข่ายคลองเล็กคลองน้อยเป็นตัวแผ่น้ำให้แบนราบออกไปทางข้าง ไม่ไปขวางไม่ต่อสู้ตานทานพลังธรรมชาติ
บัดนี้พวกเราคนกรุงเทพฯยุคหลัง โดยเฉพาะผู้ที่บริหารอำนาจรัฐ ขาดความเข้าใจและจิตสำนึกบางอย่าง ประกอบกับค่านิยมและวิถีการเดินทางเปลี่ยนมาใช้ถนนเป็นใหญ่ หันหลังให้คลอง และกระทำต่อคลองเสมือนเป็นส้วม เป็นที่ทิ้งขยะ เป็นท่อน้ำเสียของบ้านใครบ้านมัน คลองที่เคยมี ๒,๕๐๐ ถูกถมไปทำเป็นถนนแล้ว ๙๐๐ เหลือเพียง ๑,๖๐๐ คลอง ส่วนที่เหลือก็เน่าเสียและอุดตันไปเกือบหมด ถึงเวลาที่เราต้องหันหน้ากลับหาคลอง ดูแลคุณภาพน้ำ ฟื้นฟูสุขภาพคลองให้กลับมาเป็นเส้นชีวิตเมืองดังเดิม
ในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีอุบัติเหตุท่อน้ำมันดิบของ ปตท.รั่วเป็นข่าวอื้อฉาว ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลและการท่องเที่ยว โดยเฉพาะที่เกาะเสม็ดบริเวณอ่าวพร้าว เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ตามมากระทบมาถึงรางวัลลูกโลกสีเขียว กล่าวคือผู้เคยได้รับรางวัล จำนวน ๑๔ รายนัดหมายรวมตัวกันไปส่งคืนรางวัลที่สำนักงานใหญ่ ปตท. โดยมีกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.และผู้อำนวยการสถาบันลูกโลกสีเขียวมาให้การต้อนรับ เหตุผลที่คืนรางวัลก็คือต้องการประท้วงต่อ ปตท.ในท่าทีความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ท่อน้ำมันรั่วและไม่ต้องการให้รางวัลลูกโลกสีเขียวถูกใช้เป็นเครื่องมือฟอกเขียวให้กับธุรกิจที่กระทบสิ่งแวดล้อมของ ปตท.
โครงการรางวัลลูกโลกสีเขียวเริ่มครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๔๒ โดยเป็นภารกิจที่สืบสานมาจากโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ ๑ ล้านไร่ของ ปตท. มีจุดมุ่งหมายในการค้นหาชุมชนคนรักป่าทั่วประเทศเพื่อให้รางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติ มีคณะกรรมการสามระดับเป็นกลไกการขับเคลื่อน ซึ่ง ปตท.ให้การสนับสนุนงบประมาณ ทีมบุคลากรและสิ่งอำนวยความสะดวกทุกประการอย่างเพียงพอ ส่วนการดำเนินงานของกรรมการทุกคณะมีความเป็นอิสระแบบเต็มร้อย
ที่ผ่านมาผู้บริหาร ปตท.ต่างให้ความเกรงใจอย่างมากต่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ไปช่วยกันทำงานนี้ รวมทั้งพยายามหลีกเลี่ยงที่จะโฆษณาประชาสัมพันธ์ว่า ปตท.เป็นเจ้าของโครงการ เพราะตระหนักดีว่าสังคมยังมีความหวาดระแวงอยู่มาก แต่ด้วยความเป็นธรรม สังคมควรต้องให้เครดิตว่ารางวัลลูกโลกสีเขียวเป็นความริเริ่มและสนับสนุนโดย ปตท. ซึ่งการที่ภาคธุรกิจน้อยใหญ่สักแห่งหนึ่งจะทำเรื่องดีๆ เช่นนี้ ควรช่วยกันสนับสนุนและต้องส่งเสริมให้สังคมสามารถแยกแยะได้ ไม่เหมารวม
อย่างไรก็ตาม น่าจะถึงเวลาที่ ปตท.ต้องสร้างกลไกการสนับสนุนที่หลุดออกมาจากระบบงบประมาณปกติของ ปตท.เสียที ซึ่งอาจทำในรูปของ กองทุนเพื่อลูกโลกสีเขียว โดยให้เป็นกองทุนเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นการทั่วไปและดูแลปัญหามลภาวะโดยมีชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง (ทั้งในเมืองและชนบท) ซึ่งหมายรวมถึงการสนับสนุนโครงการลูกโลกสีเขียวของสถาบันลูกโลกสีเขียวและโครงการสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ของมูลนิธิพลังที่ยั่งยืนของ ปตท.และของกลุ่ม องค์กรทางสังคมและเครือข่ายภาคประชาชนต่างๆ ไปด้วยกัน
คือ เป็นกองทุนที่ ปตท.จัดตั้งขึ้นมาเพื่อมอบให้เป็นเครื่องมือของสังคมไทยในการดูแลสิ่งแวดล้อมและร่วมกันสร้างลูกโลกสีเขียวครับ
Be the first to comment on "ลูกโลกสีเขียว กับ ปตท."