วัฒนธรรมชุมชน สมานรอยร้าวแผ่นดิน

วัฒนธรรมชุมชน สมานรอยร้าวแผ่นดิน

พลเดช  ปิ่นประทีป  /  เขียนให้โพสต์ทูเดย์  พุธที่ 4 มิถุนายน 2557 

ก่อนหน้านี้ไม่ว่าใครสนับสนุนทางออกทางเลือกให้กับบ้านเมืองในทางไหน รวมทั้งคงไม่มีใครรู้ว่าปฏิบัติการของกองทัพบกเมื่อบ่ายวันที่ 22 พฤษภาคม 2557นั้นเอาเข้าจริง เป็นแผนเอหรือแผนบีกันแน่  แต่สุดท้ายก็มีรัฐประหารเกิดขึ้นอีกจนได้

การยึดอำนาจของฝ่ายความมั่นคง แม้เหตุผล 10 ประการจะเป็นไปเพื่อแก้ปัญหาบ้านเมืองอย่างบริสุทธิ์ใจหรือไม่ ก็นับเป็นการตัดสินใจที่มีต้นทุนและความเสี่ยงที่สูงมาก เช่นเดียวกับการผ่าตัดหัวใจหรือผ่าตัดสมองในวิชาชีพแพทย์ ในเมื่อมีข้อบ่งชี้ (indications) จะไม่ทำก็ไม่ได้ หรือ เมื่อตัดสินใจลงมือกระทำไปแล้วจะด้วยเหตุจำเป็นใดก็ตาม ก็ต้องดูแลให้ได้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุด คือคุ้มค่าการลงทุนที่สุด ให้คนทั่วไปสามารถรู้สึกได้ว่าเป็นของขวัญตอบแทนที่ล้ำค่าซึ่งหาไม่ได้ในยามปกติ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาบ้านเมืองที่หมักหมมมาเป็นสิบปีจนถึงขั้นวิกฤตไปเกือบทุกด้าน ต้องเข็นเข้าห้องผ่าตัดด่วนในวันนี้นั้น ยังคงต้องการทีมวิชาชีพและมืออาชีพในหลายแขนงที่ถึงพร้อมทั้งด้านคุณธรรม ความถูกต้องดีงาม ทั้งด้านความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะและด้านการตัดสินใจที่เฉียบขาดแม่นยำเข้ามาประกอบเครื่องกัน จะมีเพียงด้านใดด้านหนึ่งนั้นไม่เพียงพอ กล่าวคือจะใช้อำนาจเด็ดขาดไปบังคับลูกเดียวก็จะมีแต่พังกับพัง จะใช้เหล่าบรรดาบุคคลผู้ทรงคุณธรรมที่มีภาพลักษณ์ดีงามมาสร้างความเชื่อมั่นเท่านั้นก็ไม่ไหว หรือจะเฟ้นแต่ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญแต่ไม่เข้าใจความเป็นจริงของสังคมก็ไม่ได้  ผมจึงคิดว่าการแก้ปัญหาของประชาชนและการนำพาประเทศให้หลุดพ้นจากภาวะวิกฤติในครั้งนี้ ควรต้องอาศัยทั้งพลังภาคประชาชน พลังนักวิชาชีพ และพลังของกองทัพผนึกเข้าด้วยกันภายใต้พระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครับ

มีปัญหาเร่งด่วนที่ คสช. และรัฐบาลปฏิรูป จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จเพื่อเป็นของขวัญให้กับประชาชนก่อนที่จะกลับสู่การเมืองปกติ อย่างน้อย 10 เรื่องได้แก่  1) แก้ความเดือดร้อนของชาวนาและดูแลผู้ด้อยโอกาส  2) จัดการปัญหาความไม่สงบจากกลุ่มการเมืองอันธพาล  3) ดำเนินการปฏิรูปตำรวจและระบบยุติธรรมขั้นต้นจริงจัง  4) ปฏิรูปการเมือง ระบบเลือกตั้งและ ก.ก.ต.  5) ปฏิรูป ป.ป.ช.และเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชนจัดการทุจริตคอร์รัปชั่น  6)ปฏิรูปการปกครองและกระจายอำนาจ  7) สร้างหลักประกันให้กับระบบคุณธรรมความสามารถในระบบราชการ  8) ฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจ  9) เร่งสร้างความเชื่อมั่นต่างประเทศ  10) ร่วมกับ กสทช.จัดระเบียบวิทยุชุมชนและทีวีดาวเทียม

การประกาศโรดแม็พสามขั้นตอนของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันครบรอบหนึ่งสัปดาห์ของการยึดอำนาจ คงช่วยทำให้สังคมมองเห็นแนวทางไปข้างหน้าได้ดีพอสมควร  และใน 2-3 เดือนที่ กอ.รมน.จะเดินหน้าตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อดำเนินการปรับทัศนคติและความเข้าใจแกนนำมวลชนตามสไตล์ของทหารและฝ่ายความมั่นคงนั้นก็ทำไปเถอะครับ ส่วนจะสามารถปรับเปลี่ยนความคิดความเชื่อกันได้แค่ไหนนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่สำหรับกลุ่มฮาร์ดคอร์ที่ทางการต้องดูแลพฤติกรรมกันไปอย่างต่อเนื่องสักระยะเวลาหนึ่งนั้น ผมก็คิดว่างานแบบนี้ยังเป็นประโยชน์

                แต่สิ่งที่อยากจะติงไว้ในที่นี้ คือว่ากรุณาอย่านำวิธีการแบบเดียวกันนี้ไปใช้กับมวลชนรากหญ้าอย่างเหมารวมนะครับ เพราะคนเหล่านี้เป็นเพียงผู้แหนแห่กันมาร่วมชุมนุมตามแรงผู้จัดการมวลชนและหัวคะแนน จะสูญเปล่าและเป็นผลเสีย  เป้าหมายในการดูแลกลุ่มคนรากหญ้าทั้งสองฝ่ายไม่ใช่การสร้างความเข้าใจในข้อตกลงและติดตามความเคลื่อนไหวในลักษณะงานความมั่นคงทางการเมืองการทหาร แต่คือการฟื้นคืนความเชื่อถือไว้วางใจกัน ระหว่างประชาชนกับประชาชน ชุมชนกับชุมชน และชุมชนท้องถิ่นกับเจ้าหน้าที่รัฐ

ความไว้วางใจเหล่านี้จะค่อยๆ ฟื้นคืนมาได้ด้วยกระบวนการเรียนรู้ในการปฏิบัติ (learning through action) ในลักษณะของงานพัฒนาชุมชนแนวใหม่ที่ประชาชนเป็นผู้ขับเคลื่อน (community-driven development) เป็นมิติงานความมั่นคงของมนุษย์ (human security)  เป็นการเยียวยาโดยไม่ต้องใช้คำว่าเยียวยาให้แสลงใจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เป็นการสมานสังคมโดยมิต้องพูดเรื่องความรักสามัคคีกันตรงๆ ให้เป็นที่สะกิดใจใครทั้งสิ้น

ในทางรูปธรรม  คสช.และรัฐบาลควรจัดทำโครงการฟื้นฟูวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่น เพื่อเปิดโอกาสให้ชุมชนในพื้นที่เป้าหมายได้จัดทำโครงการมาเสนอในกรอบประเด็นเชิงบวกที่ชัดเจน อาทิ การสืบค้นและสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ความภูมิใจร่วมกันของชุมชนท้องถิ่น อาจเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้าน งานประเพณี กีฬาพื้นเมืองยอดนิยม โบราณสถานสิ่งศักดิ์สิทธิ์  หรือการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ผืนป่า แหล่งน้ำ ภูเขา ทะเล ที่เป็นสมบัติสาธารณะที่ชุมชนจะช่วยกันดูแลรักษา หรืออาจจะเป็นงานแก้ปัญหาวิกฤตสังคมบางอย่างที่กระทบต่อเด็กเยาวชนและชุมชนที่พวกเขาจะใช้พลังทางวัฒนธรรมของตนไปแก้ไขร่วมกันก็ได้

ที่สำคัญโครงการเหล่านี้ต้องเป็นความริเริ่มของชุมชนเอง เราเพียงจัดให้มีงบประมาณอุดหนุนการขับเคลื่อนของชุมชนเหล่านี้อย่างต่อเนื่องแบบที่เรียกว่า block grants และจัดให้มีวิทยากรกระบวนการที่มีทักษะ (facilitators) คอยช่วยเป็นพี่เลี้ยงสักสามสี่ปีจักเห็นผลในเชิงคุณภาพและมีความยั่งยืน รูปแบบนี้ธนาคารโลกประสบความสำเร็จมาแล้วในหลายประเทศที่มีความขัดแย้งทั่วโลก   เราอาจทดลองในพื้นที่เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ก่อนสักจำนวนหนึ่งแล้วจึงค่อยขยายไปสู่พื้นที่อื่นก็ได้

อย่างไรก็ตาม พึงตระหนักว่างานในลักษณะเช่นนี้ หากดำเนินการโดยหน่วยราชการแบบเดิมๆมักไม่ได้ผล เพราะข้อจำกัดด้านกฎระเบียบและบุคลากร โดยเฉพาะนักพัฒนาภาครัฐที่ถูกสร้างมาในยุคเก่า  ในเวลานี้ควรอาศัยหน่วยงานกึ่งราชการหรือองค์การมหาชนเป็นหัวหอก ซึ่งผมนึกถึงอย่างน้อยสองหน่วยงาน ได้แก่ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กับ ศูนย์คุณธรรม (ศคธ.) หน่วยแรกสังกัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หน่วยหลังอยู่กระทรวงวัฒนธรรม

นอกจากนั้นในระดับพื้นที่ยังมีทุนทางสังคมอีกมากมายที่สามารถดึงเข้ามาร่วมมือทำงาน เช่น ชมรมอาสาสมัครสาธารณสุข สภาองค์กรชุมชน สภาวัฒนธรรม กองทุนหลักประกันสุขภาพชุมชน องค์กรปกครองท้องถิ่น หรือแม้แต่สถานีอนามัยและโรงพยาบาลชุมชนครับ.

Be the first to comment on "วัฒนธรรมชุมชน สมานรอยร้าวแผ่นดิน"

Leave a comment

Your email address will not be published.