วิจัยแบบชาวบ้าน วิชาการแบบชุมชน

ยิ่งโลกแห่งการเรียนรู้ถูกพัฒนาความจริงที่ซับซ้อนมากขึ้นเท่าไร กลุ่มยากจนและคนชนบทก็ยิ่งถูกกีดกันออกไปจากเข้าถึงความรู้มากขึ้น ขณะเดียวกันความรู้ในการดำรงชีวิตของผู้คนเหล่านั้นก็ยังเป็นความรู้ที่เกี่ยวโยงกับการดำรงชีวิตและการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือที่เรียกกันว่า “องค์ความรู้ท้องถิ่น” …

เรื่อง : วราลักษณ์ ไชยทัพ

 

ความเข้าใจของสังคมในเรื่อง ความรู้

ทุกวันนี้โลกของการเรียนรู้กว้างไกลไปมาก ไม่ว่าจะเป็นระบบการศึกษายุคปัจจุบันที่มีความซับซ้อนมากขึ้นด้วยเทคโนโลยีทางการศึกษาเรายังมีหนทางในการแสวงหาความรู้ที่ก้าวไกลถึงกันอย่างไร้พรหมแดนผ่านสื่อต่างๆ ทั้งสื่อสารมวลชน สื่ออินเตอร์เน็ต และสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งหลาย ความรู้เหล่านี้อาจเรียกได้ว่าเป็นความรู้สากลที่ทั่วทั้งโลกต่างได้รับการ สื่อสาร-ถ่ายทอด ในสิ่งที่คล้ายกัน จนราวกับว่ามนุษย์เรากำลังถูกทำให้ใช้ชีวิตในแบบเดียวกันมากขึ้นทุกขณะ

ยิ่งโลกแห่งการเรียนรู้ถูกพัฒนาความจริงที่ซับซ้อนมากขึ้นเท่าไร กลุ่มยากจนและคนชนบทก็ยิ่งถูกกีดกันออกไปจากเข้าถึงความรู้มากขึ้น ขณะเดียวกันความรู้ในการดำรงชีวิตของผู้คนเหล่านั้นก็ยังเป็นความรู้ที่เกี่ยวโยงกับการดำรงชีวิตและการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือที่เรียกกันว่า องค์ความรู้ท้องถิ่น เหมือนกับที่นายพฤ โอ่โดเชา ชาวบ้านชนเผ่าปกาเกอญอเคยพูดว่า ถ้าจับให้คนในเมืองไปอยู่ในป่า พวกเขาก็ไม่สามารถอยู่รอดด้วยตัวเองได้ เพราะในตำราไม่เคยสอนเรื่องการเก็บเห็ด ขุหน่อ จับปลาหรือแม้แต่เก็บหาพืชสมุนไพรที่รักษาอาการเจ็บผ่วย

ทิศทางการพัฒนาที่ผ่านมาละเลยคุณค่าของชุมชนท้องถิ่นในการเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดแนวทางการพัฒนาและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ชุมชนท้องถิ่นมักถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีความรู้ไม่มีความสามารถ และขากเทคโนโลยีในการจัดการทรัพยากร ดังนั้นการกำหนดนโยบาย และแผนการพัฒนาสังคม จึงไม่ได้ผ่านกระบวนการรับรู้และร่วมตัดสินใจของชุมชนท้องถิ่นที่เคยอาศัยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติมายาวนานเลย รวมทั้ง ความรู้ ของคนในท้องถิ่นเอง ก็ถูกมองว่าเป็นเพียง ความเชื่องงมงาย ที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ หรือขาดความเป็นวิชาการรองรับ

 

ในขณะทีสังคมเจริญและพัฒนาไปตามกระแสบริโภคนิยม ที่มุ่งใช้ทรัพยากรธรรมชาติสนองประโยชน์ทางพาณิชย์จนเกินขอบเขต เราต้องตัดไม้เพื่อสร้างถนน เราต้องสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำเพื่อผลิตไฟฟ้า เราต้องทำเหมืองเพื่อขุดแร่ธรรมชาติขึ้นมา…ฯลฯ แต่เมื่อธรรมชาติถูกใช้ไปอย่างฟุ่มเฟื่อยจนเกิดวิกฤติ ก็เกิดกระแสนิยมสีเขียวและเกิดแนวทางแก้ปัญหาด้วย การอนุรักษ์แบบเด็ดขาดที่ไม่ให้มีการใช้ประโยชน์ใดๆ

ปัญหาความขัดแย้งในการใช้สิทธิเด็ดขาดทางกฎหมายโดยรัฐในการประกาศเขตพื้นที่ป่าให้เป็นป่าของรัฐ กับชุมชนจำนวนมากที่ยังยึดถือในสิทธิการครอบครองตามธรรมชาติที่บรรพบุรุษบุกเบิกจับจองดูแลรักษามาแต่อดีตจึงเกิดขึ้น และนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น มีชุมชนจำนวนไม่น้อยที่ดำรงรักษาวิถีการใช้ประโยชน์ การทำมาหากิน และการดำรงชีพอยู่กับธรรมชาติต้องกลับกลายเป็นผู้กระทำผิดต่อกฎหมายทั้งๆ ที่เป็นการหาเลี้ยงชีพที่สืบทอดกันมานาน

จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดไม่น้อยว่า ความเข้าใจของสังคมต่อเรื่องสิทธิความรู้ของสังคมในเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติยังมีความไม่ชัดเจนหรือไม่ หรือเป็นเพราะว่าความรู้ที่มีอยู่ในสังคมยังไม่เพียงพอต่อการหาคำตอบในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ หรืออีกนัยหนึ่งเป็นเพราะสังคมกำลังละเลยองค์ความรู้บางประการต่อการสร้างกระบวนการเรียนรู้ในการแก้ไขปัญหาด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

 

กระบวนการเรียนรู้ที่ให้คุณค่ากับชุมชนท้องถิ่น

แนวทางการพัฒนาสังคมที่ผ่านมาถูกกำหนดจากความรู้ภายนอกที่เป็นความรู้ตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายป่าไม้แห่งชาติและนโยบายอีกมากมายที่ว่าจ้าง ทีมผู้เชี่ยวชาญ จากประเทศตะวันตกมาเป็นที่ปรึกษาและร่างแผนโครงการพัฒนา กระบวนการเพื่อให้ได้ข้อมูลในการวางแผนดังกล่าวจึงผูกติดกับ ความเชี่ยวชาญ ของทีมงาน ซึ่งไม่มีองค์ประกอบของคนในท้องถิ่นที่จะได้รับผลจากการพัฒนามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมงาน ปรากฏการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นเสมอก็คือ หลังจากที่โครงการพัฒนาดำเนินไปแล้ว ก็มี กลุ่มผู้เสียโอกาสและผู้ได้รับผลกระทบ เกิดขึ้น โดยที่กลุ่มคนเหล่านั้นไม่เคยได้รับรู้ข้อมูลต่างๆ ที่ผู้เชี่ยวชาญได้จัดทำขึ้น

แม้ต่อมาได้มีความพยายามที่จะใช้ การศึนกษาวิจัยทางสังคมศาสตร์ มาเป็นเครื่องมือประเมินชุมชนเพื่อการพัฒนาชนบท แต่กระบวนการดังกล่าวก็ยังคงมีนักวิจัยหรือนักพัฒนาเป็นผู้ศึกษาและคนในชุมชนเป็นเพียงผู้ตอบคำถามจากการสัมภาษณ์ โดยทีมนักวิจัยและผลจากการศึกษาก็ยังคงถูกนำมาวิเคราะห์ โดยคนภายนอกที่สังคมยอมรับในความเป็นนักวิชาการ

คำถามที่ว่าเราจะทำอย่างไรให้เกิดมิติใหม่ทางการศึกษาวิจัยหรือสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ให้คุณค่าแก่ชุมชน และเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยว่าจะทำให้กระบวนการดังกล่าวเข้าถึงหัวใจของการมีส่วนร่วมที่เป็นการร่วมเรียนรู้ ค้นหาคำตอบร่วมกันของ คณะ(ทีม)วิจัย อันมีคนในชุมชนเป็นหุ้นส่วนหรือเป็นผู้ร่วมปฏิบัติการวิจัยด้วยตนเองได้อย่างไร

ความเชื่อและความเข้าใจต่อเรื่อง ความรู้และผู้รู้

ระเบียบวิธีวิจัยทางสังคมศาสตร์ มักกำหนดหัวข้อวิจัยจากภายนอก และให้ผู้วิจัยทำการศึกษาข้อมูลมือสอง เพื่อกำหนดประเด็นศึกษาและแยกแยะเป็นหมวดหมู่ เช่น ข้อมูลทางเศรษฐกิจ/สังคม/วัฒนธรรม/การปกครอง ฯลฯ จากนั้นให้ค้นหา ผู้รู้(key man / key person) เพื่อให้ตอบในประเด็นนั้นๆ ระเบียบวีเช่นนี้จึงไม่สอดคล้องกับหลักการของกระบวนการศึกษาวิจัยแบบมีส่วนร่วม หลักการสำคัญในการสร้าง การเข้ามามีส่วน ในกระบวนการศึกษาคือ ความเชื่อที่ว่าคนในชุมชนต่างเป็น ผู้รู้ ที่มีองค์ความรู้ในดำรงชีวิตที่แตกต่างกันตามสถานะ ยกตัวอย่าง เช่น เราจะได้เรียนรู้ในเรื่องของพืชที่ใช้สร้างบ้าน-ทำฟืน ทำเครื่องมือจับสัตว์จากกลุ่มพ่อบ้าน และจะได้เรียนรู้พรรณพืชที่ใช้เป็นอาหาร ใช้ย้อมสีผ้าจากแม่บ้าน และที่น่าสนใจก็คือเราจะสามารถได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับสัตว์เล็กๆ เช่น แมลง นก หนูป่า หรืออาหารของวัว-ควาย ได้จากกลุ่มเด็กและเยาวชน ฯลฯ องค์ความรู้และผู้รู้จึงมิได้ติดอยู่เพียงผู้อาวุโสหรือผู้นำท้องถิ่นเท่านั้น แต่ความรู้เหล่านั้น ได้กระจัดกระจายไปในกลุ่มคนต่างๆ ในชุมชน ทุกชนชั้น ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานภาพ

กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมจึงเป็นกระบวนการที่ดึงเอาผู้คนเหล่านั้นมาร่วมเรียนรู้ ร่วมค้นหา เพื่อเป็นการตอกย้ำถึงคุณค่าและศักยภาพของชุมชน เป็นการกระตุ้นให้ชุมชนได้ตระหนักถึง ศักดิ์ศรีและสิทธิ ของตนในการร่วมมีส่วนในทรัพยากรธรรมชาติและการพัฒนาที่จะเกิดแก่ชุมชนอันจะนำไปสู่การวิเคราะห์และตัดสินใจในการกำหนดแผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการพัฒนาโดยชุมชน

ปฎิรูปกระบวนการและวิธีการศึกษาเรียนรู้

กระบวนการศึกษาในสถาบันการศึกษาทำให้คนในสังคมคุ้นชินกับวิธีการศึกษาแบบการเรียนการสอนตามตำรา มีผู้บรรยายถ่ายทอดความรู้ให้เรียน ท่องจำ และนำไปปฏิบัติการด้วยการทดสอบ ตอบคำถามได้ตรงตามตำรา

กระบวนการเรียนรู้ของชุมชนท้องถิ่นกลับเป็นกระบวนการเรียนรู้จากการปฏิบัติในวิถีประจำวัน ผ่านการลองผิดลองถูก ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกลายเป็นวิถีการใช้ชีวิตที่อาจไม่ได้มีการบันทึกเป็นตำรา หากถ่ายทอดด้วยการสืบทอด และบางอย่างถูกยกให้เป็นความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม อันเป็นกุศโลบายให้จำและทำต่อๆ กันมา แต่คนทั่วไปรวมทั้งคนในชุมชนเองกลับกลับถูกครอบงำจากกรอบความรู้ทางวิชาการให้เข้าใจว่าความรู้ดังกล่าวไม่ใช่ความรู้

กระบวนการศึกษาวิจัยแบบมีส่วนร่วมจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำให้ชุมชนหลุดพ้นจากกรอบความเชื่อเดิมๆ ในเรื่อง ความเป็นวิชาการ กระบวนการศึกษาจึงควรได้ทำให้คนในชุมชนได้ร่วมคิด วิเคราะห์ และตระหนักต่อการร่วมค้นหาความรู้และคำตอบ ด้วยการถอดรหัสคำว่า วิชาการแบบชุมชน ให้ได้ กระบวนการศึกษาวิจัยแบบมีส่วนร่วมจึงเท่ากับเป็นการค้นหากระบวนวิธีการวิจัยแบบชาวบ้านไปด้วยท่ามกลางการปฏิบัติการวิจัย

ที่มา : จดหมายข่าว สิทธิชุมชน ฉบับที่ 3 เดือนธันวาคม 2546-มีนาคม 2547 (หน้า 12-15)

Be the first to comment on "วิจัยแบบชาวบ้าน วิชาการแบบชุมชน"

Leave a comment

Your email address will not be published.