Home บทความ
Posted By: Admin
28/08/2016
“กฎหมายที่มีอยู่เดิม กรมประชาสัมพันธ์ไม่สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ หรือออกใบอนุญาตใหม่ให้กับใครได้…”
สันสกฤต มุนีโมไนย : เรียบเรียง
กองบรรณาธิการ : ทีมสือสารสาธารณะ
วันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่อาคารรัฐสภา 2 ชั้น 3 มีการสัมมนาระดับประเทศ เรื่อง “วิทยุชุมชนเพื่อสิทธิเสรีภาพการมีส่วนร่วมและประชาธิปไตย ” จัดโดย คณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา สถาบันพระปกเกล้า สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ( LDI) สถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน และมูลนิธิการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม ( CIVICNET) มีผู้แทนจุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนจากทั่วประเทศทั้งหมด 280 คน มาร่วมงาน ประเด็นหลักในการหารือ เพื่อหาข้อสรุปแนวทางการทำงานของวิทยุชุมชนสืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ กรมประชาสัมพันธ์ โดยกองงานกกช. ได้ออกมาตรการเพื่อจัดระเบียบวิทยุชุมชน โดยประกาศขึ้นทะเบียนวิทยุชุมชน กำหนดหมดเขตรับสมัครภายในสิ้นปีนี้ และอนุญาตให้วิทยุชุมชนโฆษณาได้ชั่วโมงละไม่เกิน 6 นาที ผู้แทนวิทยุชุมชนทั้งหมดได้แลกเปลี่ยนความเห็นกันอย่างกว้างขวางและสรุปว่า จะไม่เข้าร่วมกระบวนการขึ้นทะเบียนกับกรมประชาสัมพันธ์ เนื่องจากเห็นว่าหลักเกณฑ์ต่างๆที่ถูกกำหนดขึ้นมานั้น ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิประชาชนในการสื่อสารได้อย่างเสรี แต่วิธีของกรมประชาสัมพันธ์คือการควบคุมการเรียนรู้ของภาคประชาชน นอกจากนี้เงื่อนไขหลายประการก็เป็นข้อจำกัดที่ภาคประชาชนรับไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น ข้อกำหนดให้นักจัดรายการต้องสอบใบผู้ประกาศ วิทยุชุมชนต้องให้ความร่วมมือถ่ายทอดรายการจากสถานีหลักในส่วนกลาง การกำหนดค่าธรรมเนียม 1,000 บาทและเงินมัดจำ 5,000 บาท การให้เก็บเทปเพื่อเป็นหลักฐานหลังออกอากาศเป็นเวลา 15 วันโดยเฉพาะการให้มีโฆษณาซึ่งจะเป็นช่องทางให้ภาคธุรกิจเข้ามเบียดเบียนพื้นที่ของภาคประชาชน
มติของที่ประชุม ยังเรียกร้องให้กรมประชาสัมพันธ์ ยกเลิกมาตรการดังกล่าวในทันที และจัดให้มีการหารือกับภาคประชาชน เพื่อกำหนดกติกาในการกำกับดูแลร่วมกัน เนื่องจากที่ผ่านมา กติกาดังกล่าว ชาวบ้านที่ผ่านกระบวนการทดลองเรียนรู้วิทยุชุมชนตัวจริง ไม่เคยมีส่วนร่วมรับรู้ อีกทั้งให้กรมประชาสัมพันธ์ นำร่างมาตรการหลักเกณฑ์ชั่วคราวการเรียนรู้วิทยุชุมชนที่ผ่านความเห็นชอบจากการประชุม 3 ฝ่ายคือ ภาครัฐ นักวิชาการและประชาชน เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2545 ซึ่งเป็นฉบับดั้งเดิมที่ยังไม่ผ่านการแก้ไขจากภาครัฐและกรมประชาสัมพันธ์มาเป็นแนวทางประกอบการพิจารณา ร่วมกับการผลักดัน มติครม.วันที่ 24 มิ.ย. 2546 และยืนยันอย่างชัดเจนว่า วิทยุชุมชนที่ปฏิบัติตามเจตนารมณ์เดิมนั้น สามารถอยู่ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีโฆษณา
สำหรับเวทีในการอภิปรายและแสดงความเห็นจากวิทยากรโดย ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักกฎหมาย อนุกรรมาธิการปฏิรูปสื่อ คณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า เงื่อนไขหลายประการที่ถูกกำหนดขึ้น ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และไม่เอื้อต่อภาคประชาชนที่จะได้เรียนรู้และใช้สิทธิในการสื่อสารได้อย่างเสรี
“กฎหมายที่มีอยู่เดิม กรมประชาสัมพันธ์ไม่สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ หรือออกใบอนุญาตใหม่ให้กับใครได้ ดังนั้น แนวทางที่เกิดขึ้นเป็นความพยายามในการเลี่ยงไม่ให้ผิดกฎหมาย โดยเป็นเสมือนกรมประชาสัมพันธ์ ดำเนินการภายใต้อำนาจของตนเองโดยให้ชาวบ้านเป็นคนทำงานแทนอ้างว่า เลี่ยงกฎหมายเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ภาคประชาชน แต่ปรากฏว่า
กฎเกณฑ์บางข้อเช่น การสอบใบผู้ประกาศ กลับเป็นการลิดรอนสิทธิของชาวบ้าน เพราะไม่คำนึงถึงความแตกต่างและความหลายหลายของคนในพื้นที่ เป็นต้น ผมคิดว่าไม่ควรจดทะเบียน รับไม่ได้หากยังเป็นเงื่อนไขเดิม การให้โฆษณาในวิทยุชุมชน จะเป็นช่องทางให้กลุ่มทุนเข้ามาครอบงำชาวบ้าน ดังนั้น หากรัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ปัญหานี้ ก็ต้องแก้ไขกฎระเบียบเสียใหม่ โดยเป็นข้อตกลงระหว่างภาครัฐซึ่งประชาชนต้องมีส่วนร่วมแสดงความเห็น ”
ด้าน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานกรรมาธิการพัฒนาสังคมฯ วุฒิสภา กล่าวว่า วิทยุชุมชนคือเรื่องของการแสดงสิทธิเสรีภาพของประชาชนในสองประเด็น ได้แก่
1.สิทธิ ที่หมายถึง ธรรมะ คุณธรรมและศีลธรรม ความดีงามของวิถีชาวบ้านและชุมชน ดังนั้น ชาวบ้านกำลังใช้สิทธิของตนเพื่อสะท้อนตัวตน ให้เห็นศักยภาพและวิถีที่ดีงามของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งรัฐ และกลุ่มทุนก็ต้องมีศีลคือ ไม่มาเบียดเบียน ไม่ทำลาย
2.สิทธิ ที่หมายถึง กฎหมาย รัฐธรรมนูญกำหนดว่าสิทธิคืออำนาจอันชอบธรรมตามมาตรา 40 ที่ให้ประชาชนได้ใช้คลื่นความถี่ซึ่งเป็นสมบัติของชาติในการสื่อสาร ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ดังนั้นเมื่อเป็นอำนาจตามกฎหมายรัฐต้องไม่ฝ่าฝืนหรือละเมิด
“การเรียนรู้วิทยุชุมชน ต้องต่อยอดความคิด ภาคประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและตัดสินใจ ต้อง
เตรียมวางแผนตั้งแต่ตอนนี้ ที่สำคัญ ต้องมีส่วนร่วมกำหนดกฎหมาย ระเบียบต่างๆ เพื่อเป็นกลไกในการกำกับดูแลด้วย ส่วนรัฐบาลก็ต้องนำแนวทางนี้ไปใช้ เพื่อให้เป็นการปกครองโดยใช้หลักธรรมาภิบาล จึงจะได้ชื่อว่า เป็นการทำงานที่โปร่งใสและน่าเชื่อถือ ” น.พ.นิรันดร์ ยังกล่าวด้วยว่า คณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมฯ จะเชิญดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลเรื่องนี้ และอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์มาชี้แจงและรับทราบมติจากที่ประชุมดังกล่าวต่อไป
ด้านนายอัมพร แก้วหนู ผู้จัดการสำนักงานปฏิบัติการภาคใต้ พอช. ตั้งคำถามสำคัญให้กับเวที ว่า จุดประสงค์หลักของการก่อเกิดวิทยุชุมชนคือ การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เพื่อสร้างความพร้อมในการเรียนรู้จะใช้สิทธิของตนเอง เปรียบเหมือนป่าชุมชน ที่มีขึ้นเพื่อให้ชุมชนยั่งยืน ดังนั้น การให้มีโฆษณาทำให้ชุมชนเข้มแข็งหรืออ่อนแอ ทางด้าน คุณสุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการ คปส. ได้ให้ภาพลำดับเหตุการณ์ของการเกิดวิทยุชุมชน พร้อมกับแสดงความเป็นห่วงว่าหากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป และภาครัฐไม่เข้าใจกระบวนการเรียนรู้
ของภาคประชาชน ก็เท่ากับว่า การปฏิรูปสื่อยังไม่เป็นความจริง พร้อมยืนยันว่า หัวใจของวิทยุชุมชน คือกระบอกเสียงของชาวบ้านในชุมชน ( voice of the voiceless)
ข้อเสนอแนะ ต่อรัฐ
1.1 ผลักดันกระบวนการสรรหา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ
(กสช .) ให้มีความโปร่งใส เป็นอิสระและได้มาซึ่งองค์กรอิสระที่มีวิสัยทัศน์และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนทางธุรกิจ
1.2 ผลักดันการร่างกฎหมาย พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ พ .ศ … โดยกระบวนการมีส่วนร่วมจากสังคม คือให้สัดส่วนตัวแทนจากภาควิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน สื่อมวลชนและชุมชนเข้าไปเป็นคณะกรรมาธิการร่างกฎหมายของรัฐสภาอย่างเสมอภาค
1.3 รัฐควรส่งเสริมความเข้าใจ และ ให้ความรู้ร่วมกับประชาชนในเรื่องสิทธิ์ตามมาตรา 40 และเปิดเวทีร่วมกับ กสช . ในอนาคตเพื่อรับฟังความคิดเห็น และระดมการมีส่วนร่วมในการร่างแผนแม่บทการสื่อสารด้านวิทยุ และ โทรทัศน์
1.4 รัฐควรทบทวนแนวคิดและนโยบายในการแปรรูปกิจการสื่อสารมวลชนให้ตกเป็นของเอกชน (privatisation) จนกว่าจะมีการวางแผนแม่บทการปฏิรูปสื่อที่รอบคอบ สอดคล้องกับการพัฒนาสังคม
1.5 รัฐ (กรมประชาสัมพันธ์ ) ควรยุติการแทรกแซงเพื่อจัดระเบียบการเกิดขึ้นของ “วิทยุชุมชน ” แต่ควรเป็นแสดงบทบาทเป็นหน่วยงานสนับสนุนไปจนกว่าจะมี กสช .
1.6 รัฐควรเคารพต่อสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและอิสรภาพในการสื่อสารของภาคประชาชนที่เป็นอิสระและปราศจากการแทรกแซง
1.7 รัฐควรส่งเสริมแนวคิดเรื่องสื่อบริการสาธารณะ เช่น โทรทัศน์เพื่อบริการในระดับชาติ และ ระดับท้องถิ่น
1.8 รัฐควรส่งเสริมให้มีรายการ หรือ สถานีวิทยุ – โทรทัศน์ เพื่อการพัฒนาเด็ก เยาวชน และการศึกษา เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างบูรณาการ
ต่อมา ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน กล่าวว่า วันนี้ตอบโจทย์อย่างเดียวว่าวันที่ 31ธันวาคมนี้ จะจดทะเบียนอย่างไร 1. จดอย่างจำใจแต่กลัวตกกระแส หรือ 2.จะรวมตัวกันตั้งกลุ่มจดทะเบียนขึ้นมา แล้วจดภายใต้กฎิกาที่รองฯ วิษณุพูดในวันที่ 8 ที่ผ่านมาว่า วิทยุชุมชนต้องยึดหลัก SAP ของ Unesco S (self manage) คือสิทธิอำนาจในการบริหารจัดการตัวเอง A (accessibility) คือ การเข้าถึงได้อย่างทั่วถึงของคนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสทางการสื่อสาร P (participation) คือการมีส่วนร่วม ร่วมใช้ ร่วมรับผิดชอบ ร่วมรับประโยชน์
เมื่อพูดถึงวิทยุชุมชนกับการโฆษณา กระบวนการวิทยุชุมชนต้องไม่ให้วิทยุฉวยโอกาสเข้ามาทำมาหากินเจตนารมณ์ของวิทยุชุมชนกำลังบิดเบนไป ตอนนี้กระทั่งในภาคประชาชนเองก็มี
บางส่วนที่แปรความหมายผิดไป ดังนั้นต้องตั้งหลักให้มั่นว่า วิทยุชุมชน ต้องรับใช้ชุมชน และต้องทำให้แตกต่างจากสื่อกระแสหลัก ไม่ได้ใช้สื่อวิทยุเพื่อสร้างรายได้ แต่ใช้เป็นต้นทุนทางสังคมเพื่อบริการสาธารณะ ด้วยหัวใจที่อิสระเป็นตัวของตัวเองเพื่อตอบสนองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
จากเอกสารของ Unesco กล่าวว่า “สำหรับวิทยุชุมชนที่ไม่ใช่เพื่อการค้า ต้องไม่มีการรับโฆษณาทางธุรกิจ ที่แม้จะมีผลต่อการหารายได้ แต่ด้วยคำนึงถึงภาพลักษณ์ และความน่าเชื่อถือของวิทยุชุมชนซึ่งเป็นสื่อเพื่อบริการสาธารณะ ที่จำเป็นต้องมีความเป็นเสรีจากประโยชน์และอิทธิพลทางการค้า ”
ด้าน อ.ขวัญสรวง อติโพธิ กล่าวว่า วิทยุชุมชน ในขณะนี้เป็นโอกาสของการเป็นเจ้าของ เป็นการยึดครองการสื่อสารเป็นหย่อมเล็กๆทั่วไปในแผ่นดิน คือโครงสร้างพื้นฐานของการพบปะของสังคมท้องถิ่น ในแง่วิญญาณ วิทยุชุมชนคือเวทีสาธารณะของสังคมท้องถิ่น
จากนั้นยังได้นำเสนอ PowerPoint ประกอบการบรรยายเรื่อง วิทยุชุมชนกับการเข้ามาแทรกแซง ครอบงำของภาครัฐและภาคธุรกิจ
เครือข่ายวิทยุชุมชนภาคใต้ ไม่จดทะเบียนกับกรมฯ เพราะ
1. การจดทะเบียนผิดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ที่ให้สิทธิของประชาชนในการสื่อสารและจะทำให้วิทยุชุมชนกลายเป็นเครื่องมือของรัฐ แทนที่จะเป็นเครื่องมือของชุมชน
2. เป็นกระบวนการเรียนรู้ของภาคประชาชนตามรัฐธรรมนูญ
3. วิทยุชุมชน ไม่แสวงหาผลกำไรทางธุรกิจ
4. เป็นการเตรียมความพร้อมของภาคประชาชน ซึ่งไม่เคยทำวิทยุมาก่อน
5. ต้องให้ภาคประชาชนเป็นแกนหลัก ภาครัฐเป็นผู้สนับสนุน
ข้อเสนอ
1. ยกเลิกเงื่อนไขเดิมทั้งหมดในการรับจดทะเบียนของกรมฯ
2. การกำกับดูแลเป็นหน้าที่ของกสช.หรือองค์กรอิสระโดยหารือร่วมกับภาคประชาชน
3. จัดให้มีการหารือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะภาคประชาชนโดยเร็วที่สุด เพื่อกำหนดกติการ่วมกัน
4. แยกแยะนิยามความแตกต่างระหว่างวิทยุชุมชนกับวิทยุธุรกิจให้ชัดเจน
5. ยึดมาตรการผ่อนปรนในการดำเนินงานวิทยุชุมชนฉบับเดิมที่ยังไม่แก้ไข ( 8 พ.ย. 45)
6. ไม่ปิดกั้นจุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนใหม่ แต่ต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้ตามขั้นตอนของมาตรฐานวิทยุชุมชน
ภาคกลางและปริมณฑล ไม่จดทะเบียน เพราะ
1. ไม่เห็นด้วยกับการสอบใบผู้ประกาศ หลักเกณฑ์นี้ ไม่สอดคล้องกับกระบวนการของวิทยุชุมชน.
2. ไม่เห็นด้วยกับการเก็บค่าธรรมเนียม เพราะจะนำไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์มากกว่า
3. โฆษณาจะทำให้อุดมการณ์วิทยุชุมชนเปลี่ยนไป
4. กรมปชส.ไม่เข้าใจหลักการของวิทยุชุมชน ต้องกลับไปทบทวนบทบาทตัวเอง เพราะกรมฯไม่มีสิทธิจะมาสร้างเงื่อนไขให้ภาคประชาชน
5. ไม่เห็นด้วยกับการเก็บเทปหลังออกอากาศเพราะสิ้นเปลือง
6. กรมประชาสัมพันธ์เป็นตัวปัญหา ไม่เข้าใจเจตนารมณ์และมีวาระซ่อนเร้นเรื่องผลประโยชน์
7. วิทยุชุมชนอยู่ระหว่างกระบวนการเรียนรู้ กรมประชาสัมพันธ์ไม่สนใจการมีส่วนร่วมของชุมชน
ข้อเสนอ
1. ยุติเงื่อนไขของกรมฯและจัดการประชาพิจารณ์เพื่อฟังเสียงประชาชน
2. ต้องให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น
3. ควรมีการลงชื่อแสดงพลัง และสนับสนุนข้อเสนอภาคประชาชน อีกทั้งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
4. รัฐต้องเร่งรัดกระบวนการปฏิรูปสื่อ และยุติการครอบงำด้วยอำนาจกรมฯในช่วงสูญญากาศ
5. เสนอต่อนักการเมืองให้ผลักดันวิทยุชุมชนเป็นวาระแห่งชาติ
6. หากรัฐไม่ถอย และต้องการจับกุมผู้ไม่อยู่ภายใต้ระเบียบนี้ วชช. พร้อมจะต่อสู้กับภาครัฐ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่จดทะเบียน เพราะ
1. รับเงื่อนไขกรมประชาสัมพันธ์ไม่ได้ เช่น การสอบใบผู้ประกาศฯลฯ
2. หลักเกณฑ์นี้ทำลายหลักคิดกระบวนการเรียนรู้ของภาคประชาชนอย่างสิ้นเชิง
3. ประชาชนขาดการมีส่วนร่วมในการกำหนดกติกา
4. วิทยุชุมชนต้องไม่มีโฆษณา ธุรกิจจะทำให้เกิดความแตกแยกในชุมชน
5. เงื่อนไขนี้ผิดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ
6. รอให้กสช.เกิดก่อนเพื่อมากำกับดูแล
7. ต้องการรักษาเอกลักษณ์ของวิทยุชุมชนให้ยั่งยืนและต่อเนื่อง
8. เลือกปฏิบัติต่อชุมชนและทำลายวัฒนธรรมท้องถิ่น
9. วิทยุชุมชนทำเพื่อการเรียนรู้ ไม่มีเงินลงทะเบียน
10. เงื่อนไขหลังจากเกิดกสช.ยังไม่ชัดเจน
ข้อเสนอ
1. ยกเลิกประกาศรับจดทะเบียนจนกว่าจะมีการหารือร่วมกัน
2. ยุติการคุกคามจปร.วชช. จนกว่าจะมีข้อยุติ
3. มีคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่าย
4. มีองค์กรภาคประชาชนเพื่อเรียนรู้กันเอง
5. แยกความแตกต่างวิทยุชุมชนกับภาคธุรกิจให้ชัดเจน
6. เร่งรัดการออกพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ
7. การสรรหา กสช.ต้องโปร่งใสและยุติธรรมและภาคประชาชนมีส่วนร่วม
8. รัฐต้องส่งเสริมการเรียนรู้ ภาคประชาชน
9. จัดตั้งกองทุนวิทยุชุมชนโดยเร็ว
10. สรุปบทเรียนการเรียนรู้ภาคประชาชน นำเสนอเป็นแผนแม่บทวิทยุชุมชนและให้เป็นวาระแห่งชาติต่อไป
ภาคเหนือ ไม่จดทะเบียนเพราะ
1. หลักเกณฑ์ของกรมปชส.ไม่ชอบธรรม
2. กรมปชส.เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ผ่านการหารือคณะทำงานเดิมที่ประชาชนมีส่วนร่วม และควรนำมติดังกล่าวมาใช้ (หลักเกณฑ์)
3. จปร.วชช. ลงทะเบียนไว้แล้วที่กรรมการสิทธิฯ แต่ไม่มีการนำมติมาใช้
4. วิทยุชุมชนยืนยันหลักการไม่มีโฆษณา
5. ขอให้กรมฯ ทำตามหลักเกณฑ์มาตรการชั่วคราวของสรน.และตรวจสอบจุดที่ไม่ทำตามมตินี้
6. ขอให้กรมปชส.ทบทวนบทบาทของตนเอง
ข้อเสนอ
1. ขอให้ใช้มติ 8 พ.ย. 45 เป็นหลักเกณฑ์การกำกับดูแลและตรวจสอบผู้ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว
2. วิทยุชุมชนต้องไม่มีโฆษณา
3. เร่งรัดการเกิดของกสช.และแผนแม่บทวิทยุชุมชน
ภาคตะวันตกและภาคตะวันออก ไม่จดทะเบียนเพราะ
1. ไม่มีเงินเพราะวิทยุชุมชนไม่มีโฆษณาและไม่หารายได้ทางธุรกิจ จึงไม่จำเป็นต้องจ่ายเงิน
2. ภาคประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการร่างและกำหนดกติกานี้ กรมปชส.ไม่ทำตามมติครม. 24 มิ.ย 46
3. อุปกรณ์เป็นของชุมชนให้อยู่ในชุมชน
4. การจดทะเบียนดังกล่าว กรมปชส.ใช้อำนาจใดในการกำหนดกติกา และทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่
ข้อเสนอ
1. ให้รัฐจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือวิทยุชุมชนอย่างแท้จริง
2. รีบออกกติกา กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเร่งรัดการเกิดของ กสช.
3. กรมปชส.ต้องปฏิบัติตามมติ ครม. 24 มิ.ย 46 และยุติมาตรการรับจดทะเบียนนี้ทันที
4. วิทยุชุมชนกำลังต่อสู้กับตัวเอง เพื่อยืนยันในหลักการวิทยุชุมชนและสร้างความ เข้มแข็งอย่างอย่างแท้จริง
จากนั้น นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาประชาสังคม และเลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) กล่าวว่า “เราต้องยึดหลักการไว้ให้มั่น ”
หลักการแรก คือ วิทยุชุมชนไม่ใช่วิทยุธุรกิจ ต้องพยายามทำให้เห็นความแตกต่างให้ชัดคำจำกัดความของวิทยุชุมชน ต้องช่วงชิงกำหนดให้ชัด
หลักการที่สอง คือ สิ่งที่เราทำอยู่เป็นเรื่องของคุณค่า สิทธิตามรัฐธรรมนูญ สิทธิในการสื่อสาร
หลักการที่สาม ภาครัฐมีความคิดว่าการแก้ปัญหาความยากจนหรือการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน คือการใช้เงิน การให้เงิน แต่ความจริงแล้วการแก้จนคือการให้สิทธิ รับรองสิทธิตามรัฐธรรมนูญ
หลักการที่สี่ คือเรื่องอัตตลักษณ์ของวิทยุชุมชน คือความเป็นอิสระ วิทยุชุมชนเป็นของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน วิทยุชุมชนต้องมีความหลากหลาย ไม่หลุดไปสู่ความเป็นทางการ การจดทะเบียนจะทำให้เปลี่ยนไปสู่ทางการ เช่น sml ทำให้ชุมชนกลายเป็นองค์กรทางการ เพราะ รับงบประมาณจากรัฐบาลแต่ ควรเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่น
หลักการที่ห้า คือ วิทยุชุมชนต้องพึ่งตนเอง และจะควบคุมกำกับดูแลกันเอง ต้องสร้างมาตรฐานของตัวเองไม่ให้ใครเข้ามา และหากมีมาตรการใดออกมาที่กระทบกับเรา ต้องสื่อสารกันเร็วๆแล้วรวมตัวกันช่วยกันคิดถึงจะอยู่รอด
ต่อมา นพ.นิรันดริ์ พิทักษ์วัชระ กล่าวปิดท้ายว่า “การประชุมวันนี้ไม่ใช่เป็นการประชุมเพื่อระบายอารมณ์ ไม่ใช่เป็นเรื่องของการต่อต้าน แต่การประชุมนี้คือการทำงานตามเจตนารมณ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญในเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ต่อเชื่อมเชิงนโยบายหรือโครงสร้าง ที่เป็นปัญหาหลักในขณะนี้ คือเรื่องของวิทยุชุมชน นี่คือสิ่งที่มีคุณค่าของสังคมไทยที่เราร่วมกันสร้างขึ้นมา ”
“การประชุมวันนี้เห็นผลสองอย่าง ประการแรกคือ เรื่องของระบบนโยบายโครงสร้างเรื่องวิทยุชุมชน เราเห็นตรงกันว่า เราเห็นตัวจริงที่เป็นตัวตนของจุดปฏิบัติการวิทยุชุมชน เราพร้อมที่จะให้ไปดูตลอด พร้อมที่จะให้หยุดก็ได้ เพราะเราไม่ใช่นายทุน นักธุรกิจ เราต้องรวมตัวกันถ้าเรากระจายตัว จะไม่ถูกหล่อหลอม เราจะถูกบิดเบือนทันที นี่คือความสำเร็จว่า เรามาตอกย้ำว่า เราคือตัวจริง ที่ทำให้เกิดประโยชน์กับชุมชนจริงๆ ประการที่สองคือสิ่งที่ทำอยู่นี้ไม่ใช่การเลื่อนลอย ไม่ได้คิดขึ้นเอง อย่างที่กล่าวไว้ว่านี่คือการทำตามสิทธิ ตามรัฐธรรมนูญ เป็นการเมืองของภาคพลเมือง ”
“รัฐบาลมีหน้าที่มอบสิทธิ ไม่ใช่การให้เงิน เงินจะทำลายคุณธรรมและศีลธรรม ทำให้มีระบบผลประโยชน์เข้ามา รัฐบาลต้องดำเนินการตามกฎหมาย นี่คือประเด็นหลักที่ให้พวกเราได้สื่อถึงกัน
องค์ประกอบในการประชุมวันนี้มี 6 ส่วน
1. พระสงฆ์
2.คือเครือข่ายพี่น้องวิทยุชุมชนต่างๆ
3.นักวิชาการ
4.องค์กรวิชาชีพต่างๆ สมาคมผู้สื่อข่าว สมาคมนักวิชาชีพ
5. องค์กรพัฒนาเอกชน
6. วุฒิสภา กรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทั้งหมดต้องรับภารกิจในการสัมมนาในวันนี้เท่าเทียมกัน สิ่งที่จะดำเนินการต่อไปคือ จะเรียนเชิญท่านรองนายกฯ วิษณุ ท่านอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และที่รับผิดชอบ มาพบในกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และทำหนังสือสรุปการสัมมนาครั้งนี้ ให้ท่านได้รับรู้ว่า นี่คือสัญญาของทั้ง 6 เครือข่าย ในขณะเดียวกัน เราต้องการทราบว่าท่านมีความคิดเห็นอย่างไร รวมถึงการทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป ”
Related Articles
Be the first to comment on "วิทยุชุมชน เพื่อสิทธิ เสรีภาพ การมีส่วนร่วม และประชาธิปไตย"