วิทยุชุมชน ไม่ยอมขึ้นทะเบียนกับกรมประชาสัมพันธ์ และยืนยันว่าต้องไม่มีโฆษณา

วิทยุชุมชนทั่วประเทศกว่า 200 คน ปฏิเสธการอยู่ภายใต้ร่มธงของกรมประชาสัมพันธ์ คัดค้านการขึ้นทะเบียน ไม่สนเส้นตายสิ้นเดือนนี้ ขอยืนด้วยตัวเองโดยไม่มีโฆษณา ขณะที่นักกฎหมาย สมาชิกวุฒิสภา นักวิชาการ และองค์กรเอกชน หนุนแนวคิดดังกล่าว ไม่เห็นด้วยและรับไม่ได้กับเงื่อนไขที่กรมประชาสัมพันธ์กำหนด…

วิทยุชุมชนทั่วประเทศกว่า 200 คน ปฏิเสธการอยู่ภายใต้ร่มธงของกรมประชาสัมพันธ์ คัดค้านการขึ้นทะเบียน ไม่สนเส้นตายสิ้นเดือนนี้ ขอยืนด้วยตัวเองโดยไม่มีโฆษณา ขณะที่นักกฎหมาย สมาชิกวุฒิสภา นักวิชาการ นักกฎหมาย และองค์กรเอกชน หนุนแนวคิดดังกล่าว ไม่เห็นด้วยและรับไม่ได้กับเงื่อนไขที่กรมประชาสัมพันธ์กำหนด ประธานกรรมาธิการพัฒนาสังคมฯจะเชิญรองนายกวิษณุและอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์มารับฟังข้อมูล

วันนิ้ (14 ธันวาคม2547)ที่อาคารรัฐสภา 2 มีการสัมมนาระดับประเทศ เรื่องวิทยุชุมชนเพื่อสิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมและประชาธิปไตยจัดโดย คณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา สถาบันพระปกเกล้า สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) สถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน และมูลนิธิการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม (CIVICNET) มีผู้แทนจุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนจากทั่วประเทศ กว่า 200 คน มาร่วมงาน ประเด็นหลักในการหารือเพื่อหาข้อสรุปแนวทางการทำงานของวิทยุชุมชนสืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ กรมประชาสัมพันธ์ โดยกองงานกกช. ได้ออกมาตรการเพื่อจัดระเบียบวิทยุชุมชน โดยประกาศขึ้นทะเบียนวิทยุชุมชน กำหนดหมดเขตรับสมัครภายในสิ้นปีนี้ และอนุญาตให้วิทยุชุมชนโฆษณาได้ชั่วโมงละไม่เกิน 6 นาที

ผู้แทนวิทยุชุมชนทั้งหมดได้แลกเปลี่ยนความเห็นกันอย่างกว้างขวางและสรุปว่า จะไม่เข้าร่วมกระบวนการขึ้นทะเบียนกับกรมประชาสัมพันธ์ เนื่องจากเห็นว่าหลักเกณฑ์ต่างๆที่ถูกกำหนดขึ้นมานั้น ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิประชาชนในการสื่อสารได้อย่างเสรี แต่วิธีของกรมประชาสัมพันธ์คือการควบคุมการเรียนรู้ของภาคประชาชน นอกจากนี้เงื่อนไขหลายประการก็เป็นข้อจำกัดที่ภาคประชาชนรับไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น ข้อกำหนดให้นักจัดรายการต้องสอบใบผู้ประกาศ วิทยุชุมชนต้องให้ความร่วมมือถ่ายทอดรายการจากสถานีหลักในส่วนกลาง การกำหนดค่าธรรมเนียม 1,000 บาทและเงินมัดจำ5,000 บาท การให้เก็บเทปเพื่อเป็นหลักฐานหลังออกอากาศเป็น

 

 

เวลา 15 วันโดยเฉพาะการให้มีโฆษณาซึ่งจะเป็นช่องทางให้ภาคธุรกิจเข้ามาเบียนเบียนพื้นที่ของภาคประชาชน

มติของที่ประชุม ยังเรียกร้องให้กรมประชาสัมพันธ์ ยกเลิกมาตรการดังกล่าวในทันที และจัดให้มีการหารือกับภาคประชาชน เพื่อกำหนดกติกาในการกำกับดูแลร่วมกัน เนื่องจากที่ผ่านมา กติกาดังกล่าว ชาวบ้านที่ผ่านกระบวนการทดลองเรียนรู้วิทยุชุมชนตัวจริง ไม่เคยมีส่วนร่วมรับรู้ อีกทั้งให้กรมประชาสัมพันธ์ นำร่างมาตรการหลักเกณฑ์ชั่วคราวการเรียนรู้วิทยุชุมชนที่ผ่านความเห็นชอบจากการประชุม 3 ฝ่ายคือ ภาครัฐ นักวิชาการและประชาชน เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2545 ซึ่งเป็นฉบับดั้งเดิมที่ยังไม่ผ่านการแก้ไขจากภาครัฐและกรมประชาสัมพันธ์มาเป็นแนวทางประกอบการพิจารณา ร่วมกับการผลักดัน มติครม.วันที่ 24 มิ.ย. 2546 และยืนยันอย่างชัดเจนว่า วิทยุชุมชนที่ปฏิบัติตามเจตนารมณ์เดิมนั้น สามารถอยู่ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีโฆษณา
แนวคิดไม่ควรจดทะเบียนกับกรมประชาสัมพันธ์นี้ ยังได้รับแรงสนับสนุนจากนักกฎหมายชื่อดัง ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก เนื่องจากเห็นว่า เงื่อนไขหลายประการที่ถูกกำหนดขึ้น ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และไม่เอื้อต่อภาคประชาชนที่จะได้เรียนรู้และใช้สิทธิในการสื่อสารได้อย่างเสรี

กฎหมายที่มีอยู่เดิม กรมประชาสัมพันธ์ไม่สามารถจัดสรรคลื่นความถี่หรือออกใบอนุญาตใหม่ให้กับใครได้ ดังนั้น แนวทางที่เกิดขึ้นเป็นความพยายามในการเลี่ยงไม่ให้ผิดกฎหมาย โดยเป็นเสมือนกรมประชาสัมพันธ์ ดำเนินการภายใต้อำนาจของตนเองโดยให้ชาวบ้านเป็นคนทำงานแทนอ้างว่า เลี่ยงกฎหมายเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ภาคประชาชน แต่ปรากฏว่ากฎเกณฑ์บางข้อเช่น การสอบใบผู้ประกาศ กลับเป็นการลิดรอนสิทธิของชาวบ้าน เพราะไม่คำนึงถึงความแตกต่างและความหลายหลายของคนในพื้นที่ เป็นต้น

ผมคิดว่าไม่ควรจดทะเบียน รับไม่ได้หากยังเป็นเงื่อนไขเดิม ดังนั้น หากรัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ปัญหานี้ ก็ต้องแก้ไขกฎระเบียบเสียใหม่ โดยเป็นข้อตกลงระหว่างภาครัฐซึ่งประชาชนต้องมีส่วนร่วมแสดงความเห็น

ดร.เจษฎ์ ยังมองว่า การให้โฆษณาในวิทยุชุมชน จะเป็นช่องทางให้กลุ่มทุนเข้ามาครอบงำชาวบ้านอีกด้วย

สำหรับเวทีในการอภิปรายและแสดงความเห็นจากวิทยากรฝ่ายต่างๆ น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานกรรมาธิการพัฒนาสังคมฯ วุฒิสภา กล่าวว่า วิทยุชุมชนคือเรื่องของการแสดงสิทธิเสรีภาพของประชาชนในสองประเด็น ได้แก่

1.สิทธิ ที่หมายถึง ธรรมะ คุณธรรมและศีลธรรม ความดีงามของวิถีชาวบ้านและชุมชน ดังนั้น ชาวบ้านกำลังใช้สิทธิของตนเพื่อสะท้อนตัวตน ให้เห็นศักยภาพและวิถีที่ดีงามของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งรัฐ และกลุ่มทุน ก็ต้องมีศีล คือไม่มาเบียดเบียน ไม่ทำลาย

2.สิทธิ ที่หมายถึง กฎหมาย รัฐธรรมนูญกำหนดว่าสิทธิคืออำนาจอันชอบธรรมตามมาตรา 40 ที่ให้ประชาชนได้ใช้คลื่นความถี่ซึ่งเป็นสมบัติของชาติในการสื่อสาร ทั้งในระดับชาตและระดับท้องถิ่น ดังนั้น เมื่อเป็นอำนาจตามกฎหมาย รัฐต้องไม่ฝ่าฝืน หรือละเมิด

การเรียนรู้วิทยุชุมชน ต้องต่อยอดความคิด ภาคประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและตัดสินใจ ต้องเตรียมวางแผนตั้งแต่ตอนนี้ ที่สำคัญ ต้องมีส่วนร่วมกำหนดกฎหมาย ระเบียบต่างๆ เพื่อเป็นกลไกในการกำกับดูแลด้วย ส่วนรัฐบาลก็ต้องนำแนวทางนี้ไปใช้ เพื่อให้เป็นการปกครองโดยใช้หลักธรรมาภิบาล จึงจะได้ชื่อว่า เป็นการทำงานที่โปร่งใสและน่าเชื่อถือน.พ.นิรันดร์ ยังกล่าวด้วยว่า คณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมฯ จะเชิญดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลเรื่องนี้ และอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ มาชี้แจงและรับทราบมติจากที่ประชุมดังกล่าวต่อไป

ด้านนายอัมพร แก้วหนู ผู้จัดการสำนักงานปฏิบัติการภาคใต้ พอช. ตั้งคำถามสำคัญให้กับเวที ว่า จุดประสงค์หลักของการก่อเกิดวิทยุชุมชนคือ การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เพื่อสร้างความพร้อมในการเรียนรู้จะใช้สิทธิของตนเอง เปรียบเหมือนป่าชุมชน ที่มีขึ้นเพื่อให้ชุมชนยั่งยืน ดังนั้น การให้มีโฆษณา ทำให้ชุมชนเข้มแข็งหรืออ่อนแอ

ส่วนสุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการ คปส. ได้ให้ภาพลำดับเหตุการณ์ของการเกิดวิทยุชุมชน พร้อมกับแสดงความเป็นห่วงว่าหากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป และภาครัฐไม่เข้าใจกระบวนการเรียนรู้ของภาคประชาชน ก็เท่ากับว่า การปฏิรูปสื่อยังไม่เป็นความจริง พร้อมยืนยันว่า หัวใจของวิทยุชุมชน คือกระบอกเสียงของชาวบ้านในชุมชน (voice of the voiceless)

ส่วน ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน กล่าวว่า เจตนารมณ์ของวิทยุชุมชนกำลังบิดเบนไป ตอนนี้กระทั่งในภาคประชาชนเองก็มีบางส่วนที่แปรความหมายผิดไป ดังนั้นต้องตั้งหลักให้มั่นว่า วิทยุชุมชน ต้องรับใช้ชุมชน และต้องทำให้แตกต่างจากสื่อกระแสหลัก ไม่ได้ใช้สื่อวิทยุเพื่อสร้างรายได้ แต่ใช้เป็นต้นทุนทางสังคมเพื่อบริการสาธารณะ ด้วยหัวใจที่อิสระ เป็นตัวของตัวเอง ตอบสนองสิทธิเสรีภาพของประชาชน


ข้อเสนอจากจุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนทั่วประเทศ
ต่อกรณีกรมประชาสัมพันธ์ประกาศจดทะเบียนวิทยุชุมชน (บนเงื่อนไขว่า วิทยุชุมชนต้องไม่มีโฆษณา)

14 ธันวาคม 2547

เครือข่ายวิทยุชุมชนภาคใต้ ไม่จดทะเบียนกับกรมฯ เพราะ

1. การจดทะเบียนผิดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ที่ให้สิทธิของประชาชนในการสื่อสารและจะทำให้วิทยุชุมชนกลายเป็นเครื่องมือของรัฐ แทนที่จะเป็นเครื่องมือของชุมชน
2. เป็นกระบวนการเรียนรู้ของภาคประชาชนตามรัฐธรรมนูญ
3. วิทยุชุมชน ไม่แสวงหาผลกำไรทางธุรกิจ
4. เป็นการเตรียมความพร้อมของภาคประชาชน ซึ่งไม่เคยทำวิทยุมาก่อน
5. ต้องให้ภาคประชาชนเป็นแกนหลัก ภาครัฐเป็นผู้สนับสนุน
ข้อเสนอ
1. ยกเลิกเงื่อนไขเดิมทั้งหมดในการรับจดทะเบียนของกรมฯ
2. การกำกับดูแลเป็นหน้าที่ของกสช.หรือองค์กรอิสระโดยหารือร่วมกับภาคประชาชน
3. จัดให้มีการหารือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะภาคประชาชนโดยเร็วที่สุด เพื่อกำหนดกติการ่วมกัน
4. แยกแยะนิยามความแตกต่างระหว่างวิทยุชุมชนกับวิทยุธุรกิจให้ชัดเจน
5. ยึดมาตรการผ่อนปรนในการดำเนินงานวิทยุชุมชนฉบับเดิมที่ยังไม่แก้ไข(8 พ.ย. 45)
6. ไม่ปิดกั้นจุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนใหม่ แต่ต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้ตามขั้นตอนของมาตรฐานวิทยุชุมชน


ภาคกลางและปริมณฑล
ไม่จดทะเบียน เพราะ
1. ไม่เห็นด้วยกับการสอบใบผู้ประกาศ หลักเกณฑ์นี้ ไม่สอดคล้องกับกระบวนการ วชช.
2. ไม่เห็นด้วยกับการเก็บค่าธรรมเนียม เพราะจะนำไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์มากกว่า
3. โฆษณาจะทำให้อุดมการณ์วิทยุชุมชนเปลี่ยนไป
4. กรมปชส.ไม่เข้าใจหลักการของวชช. ต้องกลับไปทบทวนบทบาทตัวเอง เพราะกรมฯไม่มีสิทธิจะมาสร้างเงื่อนไขให้ภาคประชาชน
5. ไม่เห็นด้วยกับการเก็บเทปหลังออกอากาศเพราะสิ้นเปลือง
6. กรมปชส.เป็นตัวปัญหา ไม่เข้าใจเจตนารมณ์และมีวาระซ่อนเร้นเรื่องผลประโยชน์
7. วิทยุชุมชนอยู่ระหว่างกระบวนการเรียนรู้ กรมฯไม่สนใจการมีส่วนร่วมของชุมชน ข้อเสนอ
1. ยุติเงื่อนไขของกรมฯและจัดการประชาพิจารณ์เพื่อฟังเสียงประชาชน
2. ต้องให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น
3. ควรมีการลงชื่อแสดงพลัง และสนับสนุนข้อเสนอภาคประชาชน อีกทั้งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
4. รัฐต้องเร่งรัดกระบวนการปฏิรูปสื่อ และยุติการครอบงำด้วยอำนาจกรมฯในช่วงสุญญากาศ
5. เสนอต่อนักการเมืองให้ผลักดันวิทยุชุมชนเป็นวาระแห่งชาติ
6. หากรัฐไม่ถอย และต้องการจับกุมผู้ไม่อยู่ภายใต้ระเบียบนี้ วชช. พร้อมจะต่อสู้กับภาครัฐ


ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ไม่จดทะเบียน เพราะ
1. รับเงื่อนไขกรมประชาสัมพันธ์ไม่ได้ เช่น การสอบใบผู้ประกาศฯลฯ
2. หลักเกณฑ์นี้ทำลายหลักคิดกระบวนการเรียนรู้ของภาคประชาชนอย่างสิ้นเชิง
3. ประชาชนขาดการมีส่วนร่วมในการกำหนดกติกา
4. วิทยุชุมชนต้องไม่มีโฆษณา ธุรกิจจะทำให้เกิดความแตกแยกในชุมชน
5. เงื่อนไขนี้ผิดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ
6. รอให้กสช.เกิดก่อนเพื่อมากำกับดูแล
7. ต้องการรักษาเอกลักษณ์ของวิทยุชุมชนให้ยั่งยืนและต่อเนื่อง
8. เลือกปฏิบัติต่อชุมชนและทำลายวัฒนธรรมท้องถิ่น
9. วิทยุชุมชนทำเพื่อการเรียนรู้ ไม่มีเงินลงทะเบียน
10. เงื่อนไขหลังจากเกิดกสช.ยังไม่ชัดเจน
ข้อเสนอ
1. ยกเลิกประกาศรับจดทะเบียนจนกว่าจะมีการหารือร่วมกัน
2. ยุติการคุกคามจปร.วชช. จนกว่าจะมีข้อยุติ
3. มีคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่าย
4. มีองค์กรภาคประชาชนเพื่อเรียนรู้กันเอง
5. แยกความแตกต่างวิทยุชุมชนกับภาคธุรกิจให้ชัดเจน
6. เร่งรัดการออกพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ
7. การสรรหา กสช.ต้องโปร่งใสและยุติธรรมและภาคประชาชนมีส่วนร่วม
8. รัฐต้องส่งเสริมการเรียนรู้ ภาคประชาชน
9. จัดตั้งกองทุนวิทยุชุมชนโดยเร็ว
10. สรุปบทเรียนการเรียนรู้ภาคประชาชน นำเสนอเป็นแผนแม่บทวิทยุชุมชนและให้เป็นวาระแห่งชาติต่อไป

ภาคเหนือ
ไม่จดทะเบียนเพราะ
1. หลักเกณฑ์ของกรมปชส.ไม่ชอบธรรม
2. กรมปชส.เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ผ่านการหารือคณะทำงานเดิมที่ประชาชนมีส่วนร่วม และควรนำมติดังกล่าวมาใช้ (หลักเกณฑ์)
3. จปร.วชช. ลงทะเบียนไว้แล้วที่กรรมการสิทธิฯ แต่ไม่มีการนำมติมาใช้
4. วิทยุชุมชนยืนยันหลักการไม่มีโฆษณา
5. ขอให้กรมฯ ทำตามหลักเกณฑ์มาตรการชั่วคราวของสรน.และตรวจสอบจุดที่ไม่ทำตามมตินี้
6. ขอให้กรมปชส.ทบทวนบทบาทของตนเอง
ข้อเสนอ
1. ขอให้ใช้มติ 8 พ.ย.45 เป็นหลักเกณฑ์การกำกับดูแลและตรวจสอบผู้ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว
2. วิทยุชุมชนต้องไม่มีโฆษณา
3. เร่งรัดการเกิดของกสช.และแผนแม่บทวิทยุชุมชน

ภาคตะวันตกและภาคตะวันออก
ไม่จดทะเบียนเพราะ

1. ไม่มีเงินเพราะวิทยุชุมชนไม่มีโฆษณาและไม่หารายได้ทางธุรกิจ จึงไม่จำเป็นต้องจ่ายเงิน
2. ภาคประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการร่างและกำหนดกติกานี้ กรมปชส.ไม่ทำตามมติครม.24 มิ.ย 46
3. อุปกรณ์เป็นของชุมชนให้อยู่ในชุมชน
4. การจดทะเบียนดังกล่าว กรมปชส.ใช้อำนาจใดในการกำหนดกติกา และทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่
ข้อเสนอ
1. ให้รัฐจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือวิทยุชุมชนอย่างแท้จริง
2. รีบออกกติกา กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเร่งรัดการเกิดของ กสช.
3. กรมปชส.ต้องปฏิบัติตามมติ ครม.24 มิ.ย 46 และยุติมาตรการรับจดทะเบียนนี้ทันที
4. วิทยุชุมชนกำลังต่อสู้กับตัวเอง เพื่อยืนยันในหลักการวิทยุชุมชนและสร้างความ เข้มแข็งอย่างอย่างแท้จริง

www.thaibja.org

 

 

Be the first to comment on "วิทยุชุมชน ไม่ยอมขึ้นทะเบียนกับกรมประชาสัมพันธ์ และยืนยันว่าต้องไม่มีโฆษณา"

Leave a comment

Your email address will not be published.