“วิทยุชุมชน(1): อย่านั่งรอเป็นฝ่ายถูกกระทำ” นพ.พลเดช ปิ่นประทีป

เมื่อกระแสประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมและการเมืองภาคพลเมืองในประเทศไทยพัดแรงขึ้น ภายหลังเหตุการณ์ พฤษภาคม 2535 เรื่องสิทธิชุมชนจึงถูกกำหนดขึ้นไว้อย่างเป็นรูปธรรมในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ทั้งในด้านฐานทรัพยากร การทำมาหากิน และการรับรู้ข่าวสาร

มาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้ระบุชัดเจนว่าคลื่นความถี่เป็นสมบัติสาธารณะและต้องมีการจัดสรรให้ภาคส่วนต่างๆ ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างเหมาะสม ทั้งในส่วนของภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคสังคม โดยมีองค์กรอิสระขึ้นมาดำเนินการ

ต่อมาพรบ.จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการฯ พ.ศ.2543 ซึ่งเป็นกฎหมายลูก ได้กำหนดรายละเอียดให้จัดสรรคลื่นความถี่ที่มีอยู่ในปัจจุบันร้อยละ 20 ให้กับภาคประชาชน และให้มีกองทุนพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะเป็นกลไกสนับสนุนทุนดำเนินการ

สิทธิชุมชนในการสื่อสารและการรับรู้ข่าวสารที่ถูกต้องรับรองโดยรัฐธรรมนูญ ได้ส่งผลให้เกิดวิทยุชุมชน ประมาณ 300 แห่ง โดยการสนับสนุนของกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม (SIF) ที่มีอาจาร์ยไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม และพี่อเนก นาคะบุตร ของพวกเราบริหารงาน

ต่อมาสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เข้ามาสานต่อจาก SIF แต่เนื่องจากยังมียุทธศาสตร์ด้านนี้ไม่เด่นชัดนัก เครือข่ายวิทยุชุมชนกลุ่มดั้งเดิมจึงขาดการสนับสนุนที่ต่อเนื่องและโรยราไปบ้าง ในเวลาเดียวกันกับภาคธุรกิจกลับเห็นช่องทางในช่วงสุญญากาศของ กสช. และการให้ท้ายของรัฐบาลไทยรักไทย ที่ให้มีโฆษณาได้ 6 นาที จึงพากันตั้งสถานีวิทยุธุรกิจขนาด SME เต็มไปหมด โดยเรียกตัวเองว่าเป็นวิทยุชุมชนเช่นกัน มีผู้คาดว่าสถานีวิทยุธุรกิจ SME แบบนี้มีประมาณ 4,000 แห่งทีเดียว นักการเมืองและกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองก็เข้ามาใช้ประโยชน์จากช่องโหว่นี้เพื่อเป็นประโยชน์ของกลุ่มตนด้วย สภาวะโกลาหล หรือไร้ระเบียบจึงเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม สภาวะสับสนวุ่นวายนี้ คงจะได้รับการจัดการในอีกไม่นาน เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 ได้หาแนวทางแก้ไขเอาไว้ส่วนหนึ่งแล้ว องค์กรอิสระ กสทช. และกรมประชาสัมพันธ์ควรจะเข้ามาช่วยกันจัดระเบียบเสียที
ประเด็นสำคัญสำหรับเครือข่ายวิทยุชุมชนกลุ่มดั้งเดิมทั้งหลาย คือต้องตื่นตัว รวมกลุ่มกัน และช่วงชิงเข้าไปมีส่วนร่วมจัดระเบียบในลักษณะเชิงรุก จะมัวนั่งรอให้เขามากระทำไม่ได้
คลื่นความถี่สำหรับสถานีวิทยุของประเทศเรา ถ้าแบ่งซอยย่อยโดยเทคโนโลยีอนาล็อคในปัจจุบัน คาดว่าจะมีเลขคลื่นความถี่ได้ประมาณ 1,500 เลขคลื่นเท่านั้น แต่ถ้าต่อไปประเทศเข้าสู่ยุคดิจิตอลอย่างสมบูรณ์ ก็จะซอยคลื่นความถี่ได้มากกว่านี้อีกหลายเท่าตัว และควรเข้าใจด้วยว่าแต่ละเลขคลื่นความถี่นั้นอาจมีกี่สถานีร่วมกันใช้ก็ได้หากพื้นที่ไม่ทับซ้อนกัน
ตามพรบ. จัดสรรคลื่นความถี่ 2543 กำหนดสัดส่วนว่าให้ภาครัฐ 40% ภาคธุรกิจ 40% และภาคสังคม 20% ซึ่งก็หมายถึง 600, 600 และ 300 เลขคลื่นความถี่ตามลำดับ
ในช่วงที่คลุกวงในตะลุมบอนกันนี้ ให้ระวังภาคธุรกิจที่ละโมบ และอย่าประมาทภาครัฐที่หวงก้าง เราเครือข่ายทางสังคมต้องรักษาสัดส่วนคลื่นสำหรับภาคประชาชนเอาไว้ให้ดี

อย่าลืมนะครับ “20% 300 เลขคลื่นความถี่”

Be the first to comment on "“วิทยุชุมชน(1): อย่านั่งรอเป็นฝ่ายถูกกระทำ” นพ.พลเดช ปิ่นประทีป"

Leave a comment

Your email address will not be published.