วิทยุไทยพีบีเอส …ในจินตนาการ
บล็อก TPBS/LDI ประจำวันจันทร์ที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๕
หลังจากได้ฟังข้อมูลเปรียบเทียบรูปแบบวิทยุสาธารณะของ ๔ ประเทศจากดร.พิรงรอง รามสูตร แบบซ้ำๆกันถึง ๔ รอบจนเข้าใจข้อดีข้อจำกัดที่จะนำมาประยุกต์ใช้ คือของ NPR (สหรัฐอเมริกา) BBC (อังกฤษ) CBC (แคนาดา) และ DW (เยอรมนี) และได้ร่วมฟังความคิดเห็นของเครือข่ายภูมิภาคของไทยพีบีเอสที่มีต่อประเด็น ”ถ้าไทยพีบีเอสจะทำวิทยุสาธารณะในกระแสอาเซียน คิดอย่างไร?”
รวม ๓ เวทีจนรู้ความต้องการและความคาดหวังของประชาชนแล้ว ในใจผมคิดว่าเราควรเริ่มลงมือทำวิทยุกันเลย โดยไม่ต้องรอให้ได้คลื่นความถี่จาก กสทช. เสียก่อน
ต่อไปนี้คือความคิดส่วนตัวในเบื้องต้นของผม ที่จะขอเปิดประเด็นให้พวกเราถกเถียง แลกเปลี่ยนกันในเชิงยุทธศาสตร์และในเชิงการออกแบบให้เกิดความรอบคอบรอบด้าน ก่อนที่จะตัดสินใจเดินเครื่อง
๑. เป็นวิทยุแบบไหน -ในทางหลักการควรเป็น”วิทยุระดับชาติของคนภูมิภาค “กล่าวคือมีฐานที่ตั้งสถานีอยู่ในภูมิภาค ๔ แห่ง(Regional based) ได้แก่ สงขลา เชียงใหม่ ขอนแก่นและกทม. แต่กระจายเสียงไปให้คนไทยได้ฟังทั่วประเทศ (Nationwide). ควรเป็นเครือข่ายสถานีวิทยุไทยพีบีเอส ๑,๒,๓ และ ๔ ที่ต่างคนต่างผลิตและเผยแพร่รายการแบบสมบูรณ์แบบของตัว แต่เชื่อมโยง หนุนเสริมและแลกเปลี่ยนรายการกันอย่างมีดีไซน์ มีคอมมิตเมนต์ มีการแบ่งหน้าที่ (๔ สถานี ๔ โปรแกรม ๑ เครือข่าย). ควรเป็นคลื่นวิทยุแบบ เอฟ.เอ็ม.ขนาดไม่ต่ำกว่า ๒๐๐๐MHz. ขยายการออกอากาศไปทั่วประเทศโดยผ่านสถานีทวนสัญญาณ ๕๒ จุดของไทยพีบีเอสที่มีอยู่แล้ว. ควรเจรจาขอหมายเลขคลื่นความถี่ที่ใกล้เคียงกันทั้ง ๔ สถานีจาก กสทช. โดยขอเป็นเลขชุดที่ประชาชนสามารถจดจำได้ง่าย แต่ละสถานีควรมีบริการข้อมูลข่าวสารและรายการผ่านเว็บ ๒.๐ มัลติมีเดียและวิทยุออนไลน์ควบคู่ไปด้วย (Multiplatform) แบบเดียวกับวิทยุสาธารณะหลักทั่วโลก.
๒. ผลิตและเผยแพร่รายการแบบใด -ใช้แนวทางเดียวกับทีวีนี่แหละ คือโดดเด่น แตกต่าง มีอัตลักษณ์ แต่คราวนี้มีข้อได้เปรียบกว่าและแตกต่างไปจากทีวีเพราะทำได้ง่ายกว่า ค่าใช้จ่ายน้อยกว่า เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น ธรรมชาติคนฟังวิทยุจะต้องจินตนาการเพราะไม่เห็นภาพ ไม่ต้องนั่งจ้องที่หน้าจอ เปิดทิ้งไว้ได้ตลอดเวลา ไม่เปลี่ยนช่องบ่อยเพราะไม่มีรีโหมต. สื่อเพื่อใครและใครเป็นคนสื่อต้องชัด คนฟังวิทยุมักชอบฟังเรื่องใกล้บ้าน ใกล้ตัวจึงควรเสนอเรื่องราวของภูมิภาคและท้องถิ่น เพื่อท้องถิ่นและโดยคนท้องถิ่น ด้วยภาษาสื่อสารหลักในท้องถิ่นนั้นๆแบบเดียวกับ CBC แต่ก็เผยแพร่รายการไปให้คนทั่วประเทศได้รับฟังด้วยพร้อมกัน เพราะนี่คือวิทยุสาธารณะที่เป็นสมบัติของคนทั่วประเทศเช่นเดียวกับทีวี อันนี้เป็นแบบเดียวกับBBC ต้องแตกต่างจากวิทยุหรือทีวีชุมชนเพราะอันนั้นเป้าหมายจะแคบและเฉพาะมากกว่ามาก แต่ละสถานีควรกำหนดกลุ่มเป้าหมายหลักให้แตกต่างกันและต้องจับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะของตนไว้ให้มั่น เช่น เกษตรกร หรือเยาวชน หรือคนโดยสารรถยนตร์ หรือพนักงานออฟฟิศ ซึ่งจะทำให้แต่ละช่องโดดเด่นและแตกต่างชัดเจนยิ่งขึ้นในเชิงเนื้อหาสาระ จนผู้ฟังสามารถเลือกได้โดยสะดวก กล่าวคือบ้างเป็นสถานีเพลง บ้างเป็นสถานีเล่านิทาน อ่านหนังสือและละคร บ้างเป็นสถานีกีฬาและท่องเที่ยว บ้างเป็นสถานีการเกษตรและการทำมาหากิน บ้างเป็นวิทยุโรงเรียน ฯลฯ แต่ทุกสถานีต้องมีข่าว ทั้งข่าวภูมิภาคและท้องถิ่น และข่าวส่วนกลางโดยมีสัดส่วนที่เหมาะสม และทุกสถานีต้องพร้อมที่จะปรับแปลงตัวเองให้กลายเป็นสถานีเครือข่ายรายงานข่าวภัยพิบัติได้ทันทีเมื่อมีสถานการณ์วิกฤต.
๓. สัมพันธ์กับวิทยุชุมชน ราชการและธุรกิจอย่างไร -วิทยุสาธารณะต้องเป็นเพื่อนที่ใกล้ชิดที่สุดกับวิทยุชุมชน โดยเฉพาะสายพันธุ์แท้ที่ไม่มีโฆษณา แต่ก็ควรต้องเป็นพันธมิตรกับวิทยุราชการและธุรกิจในภูมิภาคและท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย เป็นแบบอย่างและผู้นำในเรื่องความไม่แบ่งแยกกีดกัน อาจเป็นพันธมิตรในระดับทั้งสถานี ระดับบางรายการหรือระดับบุคลากรผู้รับผิดชอบหนึ่งใดก็ได้ก็ได้ หลักการคือต่างคนต่างเป็นอิสระในทางกองบรรณาธิการ แต่เชื่อมโยงเกื้อกูล เป็นเพื่อนร่วมทาง แบ่งปันแลกเปลี่ยนกัน เป็นแหล่งข่าวเป็นคลังรายการเป็นช่องทางสื่อเสริมให้แก่กันและกัน. นอกจากสถานีวิทยุสาธารณะจะมีช่องออกอากาศของตนแล้ว เรายังควรทำหน้าที่ผู้สร้างสรรค์และผลิตรายการวิทยุที่หลากหลายเพื่อให้บริการแก่เพื่อนและพันธมิตรมาเลือกเอาไปใช้ได้อย่างจุใจด้วย ตรงนี้ต้องดูรูปแบบของ NPR ให้ดี อาจพัฒนาระบบสหกรณ์เข้ามาเกื้อหนุนในเชิงการบริหารจัดการและสร้างความเป็นเจ้าของร่วมกันภายในภูมิภาคและท้องถิ่นให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น. เครือข่ายเพื่อนไทยพีบีเอส นักข่าวพลเมือง สภาผู้ชมผู้ฟัง เครือข่ายวิทยุชุมชน สตริงเกอร์และผู้ผลิตอิสระรายย่อยในภูมิภาคและท้องถิ่นคือฐานทุนสำคัญในการต่อยอด.
๔. จะเริ่มจากจุดไหน – คณะทำงานพัฒนาสถานีภูมิภาคฯควรต้องเร่งออกแบบและวางแผน ภายใน ๓ เดือนควรได้พิมพ์เขียวและโรดแม็ปแล้วว่า สถานีภูมิภาคจะมี Mission และ Function หลัก-รองอะไรบ้าง โครงสร้าง กรอบอัตรากำลัง ระบบบริหารจัดการและ Spec บุคลากรเป็นอย่างไร อาคารสถานที่จะออกแบบอย่างไรให้เอื้อต่อภารกิจใหม่ เริ่มก่อสร้าง-ปรับปรุงและแล้วเสร็จเมื่อไร กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานในแต่ละจังหวะก้าวได้ชัด มีแผนงานแผนเงินและแผนคนอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา๓ปีเพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถยืนได้อย่างมั่นคง.
พลเดช ปิ่นประทีป
Be the first to comment on "วิทยุไทยพีบีเอส…ในจินตนาการ"