ว่าด้วยคำถาม ข้อแนะนำ ความเป็นห่วงและความเข้าใจผิดต่อเบี้ยกุดชุม

จากประสบการณ์ที่ได้มีโอกาสไปเล่าและแบ่งปันเรื่องราวของเบี้ยกุดชุมให้แก่บุคคล กลุ่มและหน่วยงานต่างๆ มีคำถาม ข้อแนะนำ ความเป็นห่วงหรือแม้แต่ความเข้าใจผิด เกี่ยวกับเบี้ยกุดชุมที่น่าสนใจหลายประเด็น

ทำไมต้องมีเบี้ย มีทางเลือกอื่นบ้างไหมที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง?

เป็นคำถามจากข้อสงสัยว่ามีความจำเป็นแค่ไหน ที่ต้องมีการคิดเงินตราของชุมชนขึ้นมา เมื่อบวกกับการติดขัดในข้อกฎหมายและความเป็นห่วงว่าจะเกิดผลกระทบและความเสียหาย ทั้งในระดับบุคคลผู้เป็นสมาชิกและระบบเศรษฐกิจโดยรวมแล้ว (ซึ่งจะกล่าวถึงในลำดับต่อไป) ทำให้มีคำถามตามมา คือถ้าทำอย่างนี้มันยุ่งยากแล้วมีทางเลือกอื่นไหม ขอแบ่งเป็นสองประเด็นคือ ทำไมถึงมีการคิดใช้เบี้ยกุดชุม และมีทางเลือกอื่นนอกจากการใช้เบี้ยหรือไม่ ประเด็นแรก ต้องเข้าใจว่ามิใช่วันดีคืนดีชาวบ้านก็มารวมกลุ่มคุยกันว่า เราจะพิมพ์เงินใช้เอง

แต่เบี้ยกุดชุมเกิดจากการตกผลึกและสรุปบทเรียนของการพัฒนากว่า 20 ปีของชุมชน ในเดือนกันยายน 2542 งานสัมมนา เหลียวหลัง แลหน้างานพัฒนากุดชุม ถูกจัดขึ้นเพื่อสรุปบทเรียนงานพัฒนาของชาวบ้านที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เกิดกิจกรรมต่างๆ มากมาย เช่น กองทุนร้านค้าชุมชน ศูนย์สุขภาพและพัฒนาวัตถุดิบสมุนไพร การทำเกษตรอินทรีย์ โรงสีข้าวชมรมรักษ์ธรรมชาติ ศูนย์สาธิตเครือข่ายร้านค้าชุมชน กลุ่มเฮ็ดอยู่เฮ็ดกิน ฯลฯ ในที่สัมมนาตัวแทนของชุมชนเห็นว่าปัญหาที่ร้ายแรงที่สุด ที่ชาวบ้านเผชิญอยู่ขณะนี้และในอีก 10ปีข้างหน้าก็คือหนี้สิน และทางออกทางหนึ่งก็คือการแลกเปลี่ยนในชุมชน ซึ่งต่อมานำมาสู่การคิดสร้างระบบการแลกเปลี่ยนในชุมชน และคิดทำสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนขึ้นมา ซึ่งก็คือ เบี้ยกุดชุม

ประเด็นที่สอง การพัฒนาให้ชุมชนเข้มแข็งมีเครื่องมือหรือทางเลือก อยู่มากมายให้เลือกใช้ เช่น เกษตรทางเลือก ภูมิปัญญาท้องถิ่น ธุรกิจชุมชน กลุ่มออมทรัพย์ การแพทย์พื้นบ้าน ตลาดทางเลือก เป็นต้น การที่จะเลือกใช้เครื่องมือใดเครื่องมือหนึ่งต้องคำนึงถึงพื้นฐานและความพร้อมของชุมชน และความเหมาะสมในบริบทของชุมชนนั้นๆ และเครื่องมือเหล่านี้อาจจะต้องใช้ประกอบกัน เพื่อเสริมซึ่งกันและกัน และเบี้ยกุดชุมก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ชุมชนเลือกที่จะใช้ เพื่อนำมาเสริมกิจกรรมการพัฒนาที่มีอยู่เดิมในชุมชน ดังนั้นประเด็นที่เกี่ยวพันตามมาในเรื่องเบี้ยกุดชุมคือ เราต้องทำความเข้าใจและเคารพการตัดสินใจของชาวบ้าน เคารพสิทธิชุมชน และการมีอิสระในการจัดการปัญหาของชาวบ้านเอง

เปลี่ยนจากเบี้ยมาเป็นคูปองจะดีไหม ?

เพื่อให้ห่างไกลความผิดทางกฎหมาย และสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้ถือกฎหมายมากยิ่งขึ้น หลายคนได้เสนอให้เปลี่ยนชื่อเรียกเป็นคูปองกุดชุมบ้าง คูปองพึ่งตนเองบ้าง เพราะเมื่อแรกได้ยินคำว่า ”เบี้ย” ทำให้นึกถึงชื่อเรียกเงินสมัยโบราณ ซึ่งอาจสร้างความสับสนและทำให้บางคนอาจจะเข้าใจว่า ชาวบ้านพยายามจะสร้างเงินของตนเองขึ้นมาและคิดเลยเถิดไปว่า ชาวบ้านอาจจะคิดตั้งตนเป็นรัฐอิสระ นอกจากนี้มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่ารูปแบบเบี้ย เหมือนธนบัตรมากเกินไป ถ้าเปลี่ยนรูปแบบอาจจะถูกเพ่งเล็งน้อยลง

ในประเด็นชื่อ”เบี้ย” คนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่า ที่ชาวบ้านตั้งชื่อเรียกสื่อแลกเปลี่ยนของเขาว่า ”เบี้ย” เพราะในภาษาอีสาน เบี้ยหมายถึง ต้นกล้าของต้นไม้ ซึ่งสื่อถึงความเจริญงอกงามของชุมชน ดั่งต้นกล้าที่จะโตเป็นต้นไม้ใหญ่ (ซึ่งไปพ้องเสียงกับภาษากลางที่เป็นคำเรียกเงินสมัยโบราณ) แสดงให้เห็นว่า “เบี้ย” มีความหมายที่ลึกซึ้งซ่อนอยู่ ซึ่งถูกคิดขึ้นมาโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านและทุนทางสังคมที่มีอยู่ในชุมชน

กล่าวคือ นำภาษาท้องถิ่นมาใช้ให้มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ ที่สื่อถึงการพัฒนาและการงอกงามของชุมชน ถึงอย่างไรก็ตามชาวบ้านเคยบอกว่า ”ในเมื่อผิดกฎหมาย ก็อยากจะให้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยบอกมาว่าทำแบบไหนไม่ผิดกฎหมาย ก็พร้อมจะเปลี่ยน” แต่ตอนนี้ยังไม่เปลี่ยนเพราะไม่แน่ใจว่าถ้าเปลี่ยนชื่อเรียกหรือรูปแบบแล้วจะยังผิดกฎหมายอีกหรือไม่

มีหลายคนที่เสนอให้วิธีการนำเบี้ยมาใช้เหมือนคูปองคือ นำเงินบาทไปแลกเบี้ยออกมาใช้ เพราะห้างสรรพสินค้าทำได้ไม่มีใครว่าผิดกฎหมาย ดังนั้นเมื่อเบี้ยกุดชุมดำเนินการเหมือนคูปอง ถ้าบอกว่าผิดกฎหมาย คูปองที่ใช้ในห้างสรรพสินค้าก็ต้องผิดเหมือนกัน เบี้ยกุดชุมกับคูปองนั้นมีทั้งความเหมือนและความต่างอยู่หลายประการ แต่ในที่นี้จะขอกล่าวถึงความแตกต่างที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งคือ เบี้ยไม่ต้องเอาเงินบาทไปแลกเหมือนที่ทำกันในการแลกคูปอง มาใช้ ในทางตรงกันข้ามชุมชนได้ตั้งระเบียบไว้ว่าห้ามแลกเปลี่ยนกันระหว่างเบี้ยกับบาท เมื่อชาวบ้านต้องการเบี้ยออกมาใช้ก็สามารถสมัครเป็นสมาชิกระบบเบี้ยและถอนเบี้ยจากคณะทำงาน โดยต้องชำระคืนเมื่อครบปี

ถ้ากำหนดว่าต้องนำเงินบาทไปแลกเบี้ยมาใช้ จะไม่สามารถบรรเทาปัญหาหนึ่งที่ชุมชนกำลังประสบคือ ความขาดแคลนเงินและความยากในการหาเงิน แหล่งที่มาสำคัญของเงินบาทที่จะเข้ามาในชุมชนมีสองทางคือ การขายสินค้าและแรงงาน เพื่อแลกกับเงินบาทเข้ามา และเงินกู้ ด้วยราคาสินค้าเกษตรที่ไม่แน่นอนและตกต่ำ ทำให้ชาวบ้านขาดทุน ซึ่งแน่นอนว่า ชาวบ้านต้องกู้เงินจากแหล่งเงินกู้ข้างนอกเพื่อนำมาลงทุนในการทำการเกษตร และต้องใช้คืนพร้อมกับดอกเบี้ย เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ชาวบ้านต้องตกอยู่ในวงจรหนี้สินอย่างยากที่จะหลุดออกมาได้ นี่แสดงให้เห็นถึงความหายากของเงินสำหรับชาวบ้าน

ดังนั้นถ้าให้ชาวบ้านต้องนำเงินบาทมาแลกเบี้ยออกมาใช้ จะมิได้ช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าวของชาวบ้าน
ในแง่กฎหมาย ก็มีข้อสงสัยอยู่ว่าถ้าพิจารณามาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ.2501 ที่ว่าห้ามมิให้ผู้ใดทำ จำหน่าย ใช้หรือนำออกใช้ซึ่งวัตถุแทนเงินตรา เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คูปองน่าจะเข้าข่ายละเมิดกฎหมายเช่นกัน เพราะถือได้ว่าเป็นการออกวัตถุใช้แทนเงินตรา และในกฎหมายก็มิได้มีข้อยกเว้นที่ว่าถ้าใช้เงินบาท ไปแลกหรือกำหนดให้มีอายุเพียงวันเดียว จะไม่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้ยังมีการออกวัตถุซึ่งใช้แทนเงินตร าในรูปแบบต่างๆ เช่น บัตรเครดิต (ซึ่งออกโดยธนาคาร บริษัทเอกชน และห้างสรรพสินค้า) บัตรกำนัลต่างๆ หรือแม้แต่แสตมป์เซเว่น อีเลเว่น ที่โฆษณาออกโทรทัศน์และมีป้ายประกาศอยู่ทุกสาขา (รวมถึงสาขาที่อยู่ตรงข้ามธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย) ว่า “มีค่าแทนเงิน” ก็น่าจะเข้าข่ายละเมิดกฎหมายด้วยเช่นกัน

เบี้ยกุดชุมมีอะไรหนุนหลัง (Backing) ?

เมื่อนึกถึงว่าเบี้ยกุดชุมเป็นเงินที่ถูกสร้างขึ้นมาใช้ คำถามที่ตามมาก็คือ ”เบี้ยกุดชุมมีอะไรหนุนหลัง” ซึ่งเทียบกับการพิมพ์เงินบาทออกใช้ยังต้องมีเงินตราต่างประเทศมาหนุนหลัง สิ่งที่หนุนหลังเบี้ยกุดชุมก็คือ ความไว้เนื้อเชื่อใจของคนในชุมชนและทรัพยากรที่ชุมชนมีอยู่ เบี้ยกุดชุมถูกคิดขึ้นมา เพื่อที่จะใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (มิได้เป็นเครื่องสะสมมูลค่า ดังนั้นจะสะสมไว้มากๆ ก็จะไม่มีประโยชน์เพราะเบี้ยที่สะสมไว้ไม่งอกเงยเพิ่มขึ้นมา เพราะว่าไม่มีดอกเบี้ย) ซึ่งถ้ามองลึกลงไปแล้วการแลกเปลี่ยนกันเองในชุมชนสามารถเกิดขึ้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการใช้เงิน แต่ชุมชนนั้นๆ ต้องมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างสมาชิกในชุมชน ถ้าจะเทียบกับการที่ใช้ดอลล่าร์สหรัฐมาหนุนหลังเงินบาท และถามว่าแล้วอะไรที่หนุนหลังดอลล่าร์เหล่านั้น คำตอบคือไม่มี ประเทศสหรัฐอเมริกาสามารถพิมพ์ธนบัตรของตนเองออกมา ตามที่ตนเองต้องการโดยไม่มีอะไรหนุนหลัง แต่ทำไมทั่วโลกถึงให้การยอมรับกับเงินสกุลนี้ อาจจะเป็นเพราะว่ามีความเชื่อมั่นในประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยีหรือแม้แต่การทหาร

ถ้ามีระบบเบี้ยอย่างนี้กระจายไปในหลายๆ ชุมชน จะมีผลกระทบกับระบบการเงินและเศรษฐกิจในประเทศหรือไม่
หลายคนก็ได้แสดงความเป็นห่วงว่าถ้าระบบในลักษณะแบบเบี้ยกุดชุมได้รับความนิยมขึ้นมา และชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศพากัน “พิมพ์แบงค์ของตนเองขึ้นมาใช้” อาจจะทำให้ปัญหาต่างๆ ตามมาหรือไม่ เช่น ทำให้เกิดเงินเฟ้อ ผลกระทบต่อค่าเงินบาท สร้างความสับสนในระบบเศรษฐกิจ เท่าที่รับทราบจากประสบการณ์ในต่างประเทศ ที่ดำเนินการระบบเงินตราชุมชน ผลกระทบที่เป็นห่วงข้างต้นมิได้เกิดขึ้นแต่อย่างใด และปริมาณเงินตราชุมชนที่ใช้อยู่เป็นสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับปริมาณเงินประจำชาตินั้นๆ แต่ผลดีที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนนั้นมากมาย อันได้แก่กระตุ้นการผลิตและการแลกเปลี่ยนในชุมชน เกิดการหมุนเวียนทรัพยากรภายในชุมชน สร้างงานในชุมชน ฯลฯ
ในกรณีเบี้ยกุดชุมนั้นควรมีการพิสูจน์ โดยการทดลองใช้และมีการศึกษาถึงผลกระทบ ที่จะเกิดขึ้นในระดับชุมชนและประเทศ เพื่อขจัดข้อสงสัยต่างๆ
พูดให้ถึงที่สุดแล้ว ถ้าการใช้ระบบเงินตราชุมชนมีส่วนช่วยให้ชุมชนเข้มแข็ง และพึ่งตนเองได้ และช่วยเสริมให้ชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศเข้มแข็งขึ้น ประเทศโดยรวมก็จะเข้มแข็งขึ้นด้วย

ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการล้มของระบบและความรับผิดชอบ
เป็นความเป็นห่วงต่อเนื่องจากความกังวลที่ว่า เบี้ยกุดชุมไม่มีเงินบาทมาหนุนหลัง เท่ากับว่าไม่มีหลักประกันเป็นเงินบาท ทำให้คิดเลยไปว่า ถ้าเกิดการล้มของระบบจะทำให้เกิดความเสียหายและความสูญเปล่าแก่สมาชิก ตัวอย่างเช่นถ้านาย ก. มีเบี้ยจำนวน 200 เบี้ย และระบบเบี้ยกุดชุมเกิดล้มขึ้นมาจะทำให้นาย ก. ได้รับความเสียหาย เนื่องจาก 200 เบี้ยที่มีอยู่ในกระเป๋าไม่สามารถนำไปแลกเปลี่ยนได้อีกต่อไปและเบี้ยก็ไม่สามารถแลก กลับไปเป็นเงินบาทได้ และยิ่งมีความเป็นห่วงมากขึ้นถ้านาย ก. มีเบี้ยเป็นหมื่นเป็นแสนขึ้นมาจะยิ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่นาย ก. อย่างมหาศาล

ก่อนอื่นต้องขอชี้แจงว่าชาวบ้านคาดหวังว่าระบบเบี้ยกุดชุมจะเป็นระบบที่ยั่งยืน และสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนในอนาคตต่อๆไป แต่สมมติว่าเกิดเหตุสุดวิสัยทำให้ระบบเบี้ยกุดชุมเกิดล้มขึ้นมาจะเกิดผลเสียหายอย่างไร จะขอทำความเข้าใจต่อความเป็นห่วงข้อนี้เป็นสองประการ
ประการแรก เบี้ยเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเท่านั้น ไม่มีดอกเบี้ย ฉะนั้นจะไม่ถูกเก็บสะสมไว้มากๆ กรณีอย่างนาย ก.ที่จะมีเบี้ยเก็บไว้เป็นหมื่นเป็นแสนจะไม่เกิดขึ้น เพราะถ้าจะเก็บสะสม นาย ก.จะเก็บออมเงินบาท
ประการที่สอง ความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการล้มของระบบเบี้ยนั้น ชุมชนมีความสามารถที่จะดูแลได้ เพราะเบี้ยถูกใช้ในการแลกเปลี่ยนสินค้าที่ผลิตขึ้นในชุมชน ฉะนั้นเบี้ยที่มีเหลืออยู่ในมือของสมาชิก สามารถถูกทดแทนได้ด้วยสินค้าและบริการที่มีอยู่ในชุมชน

คำลงท้าย
ชายคนหนึ่งซึ่งร่วมรายการลานบ้านลานเมืองที่มาถ่ายทำ เรื่องเบี้ยกุดชุมในชุมชนได้กล่าวไว้อย่างน่าคิด เขาพูดว่าถ้ามีโอกาสได้บอกกับรัฐบาล เขาจะบอกว่า “รัฐบาลน่าจะขอบคุณชุมชนนี้ที่ไม่สร้างภาระให้ รัฐบาลน่าส่งเสริมให้มีชุมชนลักษณะนี้ เพราะรัฐบาลจะบริหารงานง่าย
ผมอยากจะเสริมว่า รัฐบาลรวมถึงสังคมโดยรวมน่าจะชื่นชมและให้กำลังใจกับชุมชนนี้ มิใช่เพียงแค่ชุมชนนี้ไม่สร้างภาระให้แก่รัฐบาล แต่เพราะไม่ยอมงอมืองอเท้า และร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหาของตนเอง”

 

——————————————————————————–

สนใจแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากประเด็นในบทความนี้ ติดต่อได้ที่ โครงการะบบเงินตราชุมชน
สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา 693 ถนนบำรุงเมือง เขตป้อมปราบ กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ 621 7810-2 โทรสาร 621 8042-3 email: tccs@loxinfo.co.th

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบเงินตราชุมชนและเบี้ยกุดชุม สามารถค้นหาได้ที่
http://members.tripod.com/asiaccs และ
http://ccdev.lets.net

 

Be the first to comment on "ว่าด้วยคำถาม ข้อแนะนำ ความเป็นห่วงและความเข้าใจผิดต่อเบี้ยกุดชุม"

Leave a comment

Your email address will not be published.