ว่าที่ กสช. เสนอไอเดียแก้ปัญหาความสับสนของวิทยุชุมชน แบบไม่หักหาญ ด้วยแนวทางสมัครใจ จูงใจ และบังคับด้วยกฎหมายตามลำดับ เรียกร้องกระบวนการสรรหา กสช. ควรจะเดินหน้าต่อให้เร็ว …
ประชุมใหญ่สามัญประจำปีสมาคมนักข่าววิทยุฯ นักวิชาการเรียกร้องเวทีสาธารณะไต่สวนความล่าช้าของการปฏิรูปสื่อ
ว่าที่ กสช. เสนอไอเดียแก้ปัญหาความสับสนของวิทยุชุมชน แบบไม่หักหาญ ด้วยแนวทางสมัครใจ จูงใจ และบังคับด้วยกฎหมายตามลำดับ เรียกร้องกระบวนการสรรหา กสช. ควรจะเดินหน้าต่อให้เร็ว แม้จะเลือกเพียงบางส่วนหรือไม่เลือกเลยก็ได้ เพื่อให้กระบวนการเดินหน้า และผู้สมัครเองจะได้ตัดสินใจว่าจะทำอะไรต่อ ขณะที่นักวิชาการเรียกร้องให้มีการเผยแพร่ประวัติ ที่มาของว่าที่ กสช. ทั้ง 14 คน ให้สังคมได้รับรู้ ชี้หลายคนมีผลประโยชน์มีรายได้จากผู้ได้รับสัมปทานสื่อ เสนอตั้งเวทีไต่สวนสาธารณะ ถามหาการปฏิรูปสื่อที่ล่าช้า ด้านผู้แทนฝ่ายทหารยันยืนยันทหารควรมีคลื่นด้วยเหตุผลความมั่นคง
นายพนา ทองมีอาคม อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬา ฯ และ 1 ใน 14 ผู้สมัคร กสช. ที่รอการคัดเลือกจากวุฒิสภาให้เลือก 7 คน กล่าวถึงแนวคิดในการแก้ปัญหาวิทยุชุมชนที่มีอยู่ว่า ในฐานะนักวิชาการ หรือหากมีโอกาสได้เป็น กสช. ตนไม่เห็นด้วยกับการแก้ปัญหาด้วยวิธีการหักหาญ ด้วยการสั่งปิดวิทยุชุมชนที่มีอยู่หลายพันสถานีทั่วประเทศ เพื่อจดทะเบียนกันใหม่ แต่ควรใช้วิธีดำเนินการเป็นระยะๆ มีลำดับขั้นตอนการดำเนินการ เช่นขั้นที่หนึ่ง ให้แต่ละสถานีเลือกด้วยความสมัครใจ ว่าจะเป็นวิทยุชุมชนตามเจตนารมณ์โดยไม่มีการโฆษณา หรือจะเป็นวิทยุธุรกิจขนาดเล็กที่มีโฆษณา ขั้นที่สอง ใช้วิธีการจูงใจ อาจด้วยการเสนอให้เงินอุดหนุนด้วยกองทุนสำหรับสถานีที่ดำเนินรายการตามเจตนาที่รัฐธรรมนูญต้องการ หรือทำประโยชน์แก่ชุมชน และลำดับสุดท้าย ผู้ที่ยังเพิกเฉยและละเมิด ก็จะดำเนินการด้วยอำนาจทางกฎหมาย
“ผมไม่เห็นด้วยว่าจะต้องหยุดกันหมดทันทีที่มี กสช. เพราะถือว่าทุกคนเป็นคนไทย เป็นเสรีภาพของการประกอบวิชาชีพ และเป็นสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ ส่วนรูปแบบการดำเนินการควรเป็นเฝส ๆ ไป ไม่ใช่อยู่ ๆ จะเวนคืนเครื่องส่งวิทยุทั้งหมดเหมือนเวนคืนที่ดิน” ว่าที่ กสช. กล่าว
ในการเสวนาหัวข้อ “วิทยุ โทรทัศน์ไทย หลังได้ กสช. – ร่าง พรบ.ประกอบกิจการ” ซึ่งจัดขึ้นเนื่องในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย มีวิทยากรประกอบด้วย ดร.พนา ทองมีอาคม ว่าที่ กสช. 1 ใน 14 คนที่รอวุฒิสภาคัดเลือก พล.ต.วีรศักดิ์ มณีอินทร์ รองเจ้ากรมกิจการพลเรือนทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด นางยุวดี บุญครอง กรรมการผู้จัดการ
บมจ. มีเดียออฟมีเดียส์ ดร. เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ประธานสถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน ซึ่งผู้ร่วมเสวนาได้อภิปรายถึงอนาคตของสื่อวิทยุโทรทัศน์ไทย ภายหลังจากมี กสช.
การเสวนาเริ่มต้นด้วยประเด็นที่ว่า การที่มี กสช. ล่าช้า เกิดข้อดีข้อเสียอย่างไร ซึ่งผู้ร่วมเสวนาเห็นตรงกันว่า ฝ่ายที่เสียประโยชน์คือประชาชน และผู้ประกอบการสื่อรายใหม่ ๆ ผู้ประกอบการวิทยุชุมชน และวิทยุธุรกิจท้องถิ่น รวมทั้งบริษัทผู้ผลิตรายการที่ต้องารมีคลื่นความถี่ มีสถานีของตนเอง ขณะที่ผู้ได้ประโยชน์คือผู้ได้รับสัมปทานเดิม และเจ้าของคลื่นความถี่เดิมที่ไม่ต้องการให้มีคู่แข่งขันรายใหม่ ๆ มาแย่งส่วนแบ่งของรายได้จากตลาดโฆษณา
นางเอื้อจิตกล่าวว่า ที่จริงภาคประชาชนเสียประโยชน์ตั้งแต่เริ่มมีกิจการวิทยุโทรทัศน์ในประเทศไทย เพราะได้แต่เป็นผู้ดูและผู้ฟัง ไม่เคยได้แม้แต่การรับรู้ว่าจะได้รับการแบ่งสรรคลื่นอย่างไร ส่วนกรณีการคัดเลือก กสช. นั้น อยากให้มีการเผยแพร่ประวัติความเป็นมาของผู้สมัครรอบสุดท้ายทั้ง 14 คนให้สังคมรับรู้ เพราะมีบางคนที่ปรากฏชัดเจนว่ากินเงินเดือนจากผู้ประกอบการธุรกิจ และสังคมต้องตัดสินใจว่าควรต้องเลือก กสช. ที่ดีที่สุดจากตัวเลือกที่เลว หรือดีที่สุดคืออย่าเพิ่งเลือก
นางยุวดีกล่าวว่าหาก กสช. เกิดช้าจะเป็นอันตราย เพราะใครนึกจะตั้งสถานีขึ้นมาก็ตั้งได้ มีการพูดกันว่าถ้าในสามจังหวัดภาคใต้มีการตั้งสถานีวิทยุเพื่อพูดเรื่องแบ่งแยกดินแดนจะทำอย่างไร ขณะที่นักลงทุนในประเทศก็หนีไปใช้ช่องทางสัมปทานของประเทศเพื่อบ้าน ยิงผ่านสัญญาณดาวเทียมส่งรายการโทรทัศน์กลับมายังประเทศไทย คนที่จะดีใจที่ กสช. เกิดช้าคงมีแต่เจ้าของสัมปทานที่ไม่ต้องมีคู่แข่งขันมากขึ้น แต่ประชาชนเป็นฝ่ายที่ไม่มีทางเลือก
นายพนากล่าวว่าการมี กสช. ช้าทำให้กลไกการพัฒนาด้านสื่อของประเทศไทยหยุดลง ขณะที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ แต่เรายังต้องใช้กฎหมายเก่าเพื่อบังคับซึ่งไม่สามารถจัดการอะไรได้มาก ทำให้อยู่ในสภาพของมือใครยาวสาวได้สาวเอา คนที่อยู่เก่าได้เปรียบ ขณะที่คนใหม่ไม่กล้าลงทุนเพราะไม่มั่นใจอนาคต
“ส่วนตัวผมอยากให้กระบวนการเลือก กสช. ดำเนินต่อให้เสร็จสิ้นโดย จะเลือกหรือไม่เลือก หรือจะเลือกแค่บางส่วนก็ขอให้ดำเนินไป เพราะกระบวนการจะได้เดินหน้า แม้ กสช.ที่จะได้อาจไม่
ครบ 7 คน ไม่สามารถดำเนินในส่วนที่เป็นกฎหมาย แต่อย่างน้อยก็สามารถเตรียมการทำร่างกฎหมายหรือแบบแผนไปก่อน และคนที่สมัครไว้เป็นเวลานานจะได้ตัดสินใจไปทำอย่างอื่นแทนถ้าไม่ได้รับเลือก” นายพนากล่าว
ด้าน พล.ต.วีรศักดิ์ กล่าวว่ากองทัพได้เตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ขอให้ กสช. คำนึงถึงเหตุผลด้านความมั่นคง โดยการสื่อสารทางวิทยุและโทรทัศน์ถือเป็นยุทธปัจจัยส่วนหนึ่งนอกเหนือจากอาวุธสงคราม ในภาวะฉุกเฉิน จึงควรคำนึงถึงพื้นที่การสื่อสารที่ครอบคลุมทุกตารางเมตรของประเทศไทย รวมทั้งส่วนของการสื่อถึงประเทศเพื่อนบ้าน แต่ทั้งนี้กองทัพก็พร้อมจะปฏิบัติตามการจัดสรรขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ
วงเสวนายังได้ถกเถียงถึงกรณีที่ พ.ร.บ. ประกอบกิจการวิทยุ โทรทัศน์มีความล่าช้า โดยบางส่วนเห็นว่าเป็นเพราะความไม่ใส่ใจของรัฐบาล บางส่วนเห็นว่ารัฐบาลไม่อยากก้าวก่าย อยากให้มี กสช. ก่อนแล้วให้ กสช. ได้ร่วมพิจารณาร่างกฎหมายด้วย ขณะที่ส่วนใหญ่เห็นว่าหากรัฐเพิกเฉย ภาคประชาชน ภาควิชาการและนักวิชาชีพก็ควรจะมีการผลักดันในเรื่องนี้ได้
นางเอื้อจิตกล่าวว่ารัฐบาลชุดที่แล้วซึ่งต่อเนื่องมาเป็นรัฐบาลชุดนี้ ไม่ทำอะไรกับร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ซึ่งจะเป็นการกำหนดผู้ประกอบกิจการเป็นสามกลุ่ม อีกเหตุผลหนึ่งที่กฎหมายนี้ยังไม่ออกมา เพราะวิสัยทัศน์ที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงของภาครัฐ โดยเฉพาะทหารที่ยังต้องการรับทั้งเงินเดือนและผลประโยชน์อื่น ภาครัฐที่อยากเป็นทั้งรัฐและธุรกิจ รวมทั้งภาคเอกชนที่ไม่เชื่อมั่นต่อการปฏิรูปสื่อ อิงอำนาจรัฐเพื่อรักษาประโยชน์เดิม
นางเอื้อจิตเสนอว่ารัฐหรือเอกชน ทั้งภาคประชาชน องค์กรวิชาการหรือวิชาการ ควรผลักดันให้มีเวทีไต่สวนสาธารณะ ถามหาความล่าช้าหรือไม่คืบหน้าของการปฏิรูปสื่อที่ไม่เกิดเสียที เพื่อให้สังคมได้เรียนรู้ร่วมกัน เพราะเรื่องนี้มีเบื้องหน้าเบื้องหลังของผลประโยชน์อยู่มหาศาล
ที่มา: มงคล บางประภา น.ส.พ.บางกอกโพสต์ วันที่ 20 สิงหาคม 2548
Be the first to comment on "ว่าที่ กสช. ขายไอเดียแก้ปัญหาวิทยุชุมชน"