ศิลปวัฒนธรรม นำคุณค่า สู่ท้องถิ่นเชียงราย

ออกอากาศ เสาร์ 3 กันยายน 2548 วัฒนธรรมท้องถิ่น คือ วิถีชีวิตของคนท้องถิ่น ที่ถ่ายทอดเรื่องราว คุณค่าผ่านกาลเวลา จวบจนทุกวันนี้ ที่คุณค่าในวัฒนธรรมท้องถิ่นกำลังจืดจางลงไป ความพยายามของคนท้องถิ่นเชียงราย ที่มุ่งสร้างความตระหนัก และปลุกจิตสำนึกของคนเชียงราย ให้กลับมาเห็นคุณค่า

 

วัฒนธรรมท้องถิ่น คือ วิถีชีวิตของคนท้องถิ่น ที่ถ่ายทอดเรื่องราว คุณค่าผ่านกาลเวลา จวบจนทุกวันนี้ ที่คุณค่าในวัฒนธรรมท้องถิ่นกำลังจืดจางลงไป ความพยายามของคนท้องถิ่นเชียงราย ที่มุ่งสร้างความตระหนัก และปลุกจิตสำนึกของคนเชียงราย ให้กลับมาเห็นคุณค่า วัฒนธรรมท้องถิ่นอีกครั้ง คือเรื่องราวที่กำลังจะได้รับการถ่ายทอด และสืบสานต่อไป การขับเคลื่อนงานทางวัฒนธรรมของโครงการชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ของจังหวัดเชียงราย มุ่งเน้นในเรื่องศิลปะฟ้อนรำ ศิลปหัตถกรรมเครื่องใช้และเครื่องเล่น รวมไปถึงศิลปะที่ใช้ในวิถีชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นตุง โคม อาหารพื้นบ้าน และสิ่งทอ ทั้งนี้เพื่อสืบสาน เผยแพร่ และถ่ายทอดความรู้ด้านวัฒนธรรม เพื่อสร้างรายได้ แก่ท้องถิ่น ทุกๆ วันหยุด เด็กๆ จากตำบลเวียงชัย อำเภอเวียงชัย จะมาเรียนศิลปะการฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิง และกลองสะบัดชัย กับครูมานิตย์ เจริญเกษมทรัพย์ ตลอดระยะเวลากว่า3 ปี ที่มานิตย์ได้สืบสาน และถ่ายทอดศิลปะการฟ้อนจากบรรพบุรุษ สู่เยาวชนรุ่นใหม่ เขาเห็นว่า คุณค่าในงานด้านนี้ กำลังน่าเป็นห่วง เพราะขาดคนรับช่วงต่อ
มานิตย์ เจริญเกษมทรัพย์ ประธานกลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมล้านนา ต.เวียงชัย อ.เวียงชัย จ.เชียงราย
“เป็นคนที่ชอบด้านนี้อยู่แล้วครับ และอยากจะอนุรักษ์ไว้ คิดว่าอยากถ่ายทอดให้เด็กรุ่นนี้เพื่อ เขาจะได้คงไว้เพื่อสิ่งอันดีงามเหล่านี้ ถือว่าเป็นมรดกที่มีคุณค่ามาก กว่าที่จะมาถ่ายทอดสู่รุ่นลูกรุ่นหลานก็เป็นเวลาหลายร้อยปีแล้วครับ แต่ว่าเดี๋ยวนี้ เด็กติดเกมส์กันเหลือเกิน ตอนนี้คิดอย่างเดียวว่า เราจะทำยังไงให้เด็กสามารถ รวมกลุ่มกันให้มีความยั่งยืนมากกว่านี้ครับ เราก็ไม่รู้ว่าจะหาอะไร มาให้เก็ดจับกลุ่มกันให้เป็นก้อน เพื่อที่จะได้เป็นต้นแบบของหมู่บ้านอื่นหมู่บ้านอื่นเขาเห็นว่าดี ก็จะได้ขยายผลต่อไปอีก บั้นปลายของชีวิตนี่เราจะทำยังไงให้คืนคุณให้แผ่นดินได้ครับ”
ไม่ต่างอะไรกับความคิดเห็นของพรทิพย์ สิทธิขันแก้ว ครูสอนฟ้อนรำ ที่กิ่งอำเภอเวียงเชียงรุ้ง ที่เห็นว่าการคงคุณค่าศิลปะการฟ้อนรำ ให้คงอยู่ต่อไป ต้องอาศัยความสนใจของคนรุ่นใหม่ และการสนับสนุนของท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง
พรทิพย์ สิทธิขันแก้ว ครูสอนฟ้อนรำ ต.ทุ่งก่อ กิ่ง อ.เวียงเชียงรุ้ง จ.เชียงราย
“คิดว่าตรงนี้ไม่มีใครสืบต่อ เราก็คิดว่าหนังสือเก่ามีอยู่ก็ลองไปสืบค้นมา เขาก็บอกว่า เพื่อช่วยวัฒนธรรมไทย เลยคิดว่า มีฟ้อนไทย ทางเหนือก็นิยมฟ้อนรำกัน มันจะหายไปเป็นระยะ แต่ก่อนมันจะหากินหาเงิน ไม่ค่อยมีเวลา ตอนนี้พยายามให้มีอยู่ ถ้าแม่ยังมีแรงก็จะสอนไปก่อน ก็ดีใจถ้าเด็กมองเห็นความสำคัญของดนตรีไทย มีการส่งเสริมก็ดี แม่ถึงยังไม่เลิกสอน ภูมิใจ เราก็มีความสุข ได้ถ่ายทอดให้ลูกหลาน”
กิริยาภรณ์ สิทธิขันแก้ว ลูกสาวแม่พรทิพย์
“พูดถึงความดึงดูดมันก็มีน้อยลงค่ะ เพราะว่าช้าก็ช้า ไม่เหมือนเพลงวัยรุ่นในปัจจุบัน เขาก็จะสนใจน้อยลง เราต้องหาจุดยืนของวัฒนธรรมเราให้ได้ก่อน สร้างให้เป็นรูปแบบขึ้นมา จากเมื่อก่อนไม่มีรูปแบบ ไม่มีวิธีการสอน ไม่มีผลงาน เราสร้างเป็นรูปธรรม อย่างเช่นผลงานต่างๆ เริ่มที่จะแสดง เริ่มรับงานต่างๆเข้ามา ให้เขาเห็นว่า การฟ้อนรำหรือว่า นาฏศิลป์ไทยเริ่มมีแบบแผนมากขึ้น สร้างความสัมพันธ์กับผู้เรียนให้มีความสัมพันธ์กันมากขึ้น ให้เขารู้จักความเป็นมาของวัฒนธรรมว่ามันเป็นยังไง เราก็อยากที่จะสืบทอดแล้วก็อยากให้มีคนรับวัฒนธรรมนี้บ้าง แล้วก็เห็นความงาม ไม่อยากให้มันหายไป อยากสร้างขึ้นมาใหม่ให้มันแกร่งขึ้นกว่าเดิมค่ะ”
นอกเหนือจากศิลปะการฟ้อนรำแล้ว ความรู้เรื่องผ้าทอมือ คือ อีกหนึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่นับวันจะหาคนสืบทอดงานแขนงนี้ได้น้อยลง เอี่ยมศรี ปริกเพชร ปราชญ์ชาวบ้านในงานผ้าทอมือเห็นว่า ความสนใจของเด็กรุ่นใหม่ ต่องานวัฒนธรรมดั้งเดิม แทบจะไม่มีแล้ว เพราะการศึกษาในระบบ ที่มุ่งให้เด็กรุ่นใหม่ละเลย และละทิ้งท้องถิ่น
เอี่ยมศรี ปริกเพชร ปราชญ์ชาวบ้านเรื่องการทอผ้า บ้านห้วยก้าวรัฐ ต.ไม้ยา อ.พญาเม็งราย จ.เชียงราย
“เราก็หัดตั้งแต่เด็กตัวเล็กๆ เขาก็สนใจมาเรียน บางคนพ่อแม่ไม่เข้าใจไม่อยากให้มาเรียน ถ้าพ่อแม่เข้าใจ เขาก็มา แล้วก็คุยให้เขาฟังว่า มันเป็นยังไง บอกเด็กว่า มาเรียนแล้วตัวเองก็จะมีวิชาติดตัวไป ทีหลังก็จะได้เป็นครูสอน อย่างน้อยเขาก็มีจิตสำนึกบ้าง อาจจะเป็นข้อสอบอะไรขึ้นมา เพื่อฟื้นฟูวัฒนธรรมท้องถิ่น เด็กจะสำนึกได้ว่า ตอนเราเด็กๆเราไปเรียนกับคุณยาย เด็กคงจะคิดได้”
ด้วยความเป็นกังวลว่า อาหารพื้นบ้านจะถูกแทนที่ด้วยอาหารจานด่วนสมัยใหม่ อินโพธิ์ หน่อแหวน คือหนึ่งในผู้ที่พยายามอนุรักษ์ความรู้ในการทำอาหารพื้นบ้านเอาไว้ ด้วยการเปิดร้านขายอาหารพื้นบ้าน และให้ความรู้แก่ผู้สนใจในศาสตร์ด้านนี้
อินโพธิ์ หน่อแหวน ผู้อนุรักษ์อาหารพื้นบ้าน บ้านเชียงเคี่ยน อ.พญาเม็งราย จ.เชียงราย
“ตั้งใจว่า หลังจากหมดหน้าที่ของราชการแล้ว ก็จะมาทำตรงนี้ ฟื้นฟูเรื่องเก่าที่อาจจะสูญหายไปให้กลับคืนมา ไม่หวังร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างน้อยก็เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค เป็นการสืบทอด กระตุ้นให้เขาได้เห็นตรงนี้ว่าเป็นประโยชน์จริงๆ เป็นภูมิปัญญา เป็นธรรมชาติจริงๆ มันไม่มีเวทีให้แสดง ตรงนี้ถ้ารัฐเขาต้องการภูมิปัญญา ผักพื้นบ้านจริงๆ ต้องเปลี่ยนวิธีให้เขา”
แม้ทุกวันนี้กลุ่มเครื่องปั้นดินเผา ที่บ้านร่องปลายนา อำเภอแม่ลาว จะยังคงมีการผลิตงานอย่างต่อเนื่อง แต่สมาชิกทั้งหมดของกลุ่ม คือ ผู้สูงอายุ บุญโยน สุภาชะนะ ประธานกลุ่มเครื่องปั้นดินเผา รู้ถึงปัญหานี้เป็นอย่างดี จึงได้พยายามที่จะถ่ายทอดความรู้งานด้านนี้ แก่เด็กๆที่สนใจ อย่างน้อยที่สุด ก็เพื่อไม่ให้ความรู้แขนงนี้ สูญหายไปพร้อมกับรุ่นของเธอเอง
บุญโยน สุภาชะนะ ประธานกลุ่มเครื่องปั้นดินเผา บ้านร่องปลายนา ต.บัวสลี อ.แม่ลาว จ.เชียงราย
“แม่คิดอยู่เสมอว่า จะถ่ายทอดให้เด็กรุ่นหลัง นักเรียนทุกที่ทุกสถาบันมาขอข้อมูล แม่ให้หมด คนที่ทำอยู่ตอนนี้ก็คนแก่ทั้งนั้น 50-60กว่าทั้งนั้น พูดกันว่าถ้าหมดรุ่นเรา ใครจะมาสืบทอด ใครจะมาแทน ใครจะมาปั้นต่อ ใครจะมาจริงใจที่จะมาอยู่แบบนี้ ถ้ามีใครเขารับอาสาว่าเขาจะมาแทน แม่ก็วางใจได้ แม่ก็แก่แล้ว ลูกแม่ก็บอกว่าให้วางได้แล้ว ก็วางไม่ได้เพราะไม่มีคนแทน แม่ยังมีความตั้งใจที่จะถ่ายทอดให้เด็กรุ่นหลัง”
ของเล่นพื้นบ้าน ที่พ่ออุ๊ย แม่อุ๊ย บ้านป่าแดด อำเภอแม่สรวย กำลังทำอยู่นี้ คือการรื้อฟื้นความทรงจำในวัยเด็ก เพื่อถ่ายทอดไปสู่กลุ่มเด็กและเยาวชน ให้รู้จักประวัติความเป็นมาของท้องถิ่น ผ่านทางของเล่นพื้นบ้านแต่ละชิ้น
ชื่น อุ่นเรือน ผู้เฒ่าบ้านป่าแดด ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย
“พ่อแม่ของอุ๊ยเขาก็ทำตัวอย่างของเล่นไว้ เราก็จำไว้ว่าทำอย่างไร ตอนแรกไม่ขาย สองปีไม่ขาย สลึงเดียวก็ไม่ขาย ทำแจกเด็กให้เล่น สมัยนี้เด็กก็ไม่ค่อยสนใจ เพราะเขาไม่รู้ ไม่เคยเล่น อุ๊ยก็คิดว่าจะถ่ายทอดให้ลูกหลาน เวลาอุ๊ยสิ้นบุญไปแล้ว ใครจะมาถ่ายทอดใครจะมาสืบทอด มันก็หายไปเลย ของเล่นนี้เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ของเก่าแก่ของโบราณ ก็มีคนมาบอกว่าให้อนุรักษ์ไว้ให้ดีๆนะ”
วีรวัฒน์ กังวานนวกุล คณะทำงาน กลุ่มคนเฒ่าคนแก่ บ้านป่าแดด ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย
“พ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยที่มีภูมิปัญญาในชุมชนมีหลายท่าน แต่ละท่านก็จะมีความสามารถในการทำของเล่นไม่เหมือนกัน เราจะเห็นภูมิหลังประวัติความเป็นมาของแต่ละท่านผ่านการทำของเล่นได้ อย่างท่านที่เคยเป็นนายพรานเก่าก็จะทำของเล่นพวกหน้าไม้ ที่จำลองวิถีชีวิต นอกจากตัวของเล่นที่เป็นรูปธรรม นามธรรมที่เห็นคือความสุขรอยยิ้มที่อยู่ในขณะที่ทำของเล่นให้เด็กเล่น เห็นถึงวิถีชีวิตวัฒนธรรมประเพณีที่แฝงอยู่ตรงนั้น และในขณะที่อุ๊ยทำของเล่นเอง ท่านก็ได้ออกกำลังกาย เพราะฉะนั้นนอกจากที่อุ๊ยจะเป็นผู้ให้แล้ว เราก็ได้รับกลับคืนมาด้วย เพราะว่าภูมิปัญญาไม่ใช่ของใคร สุดท้ายแล้วคือของทุกๆคนที่ปู่ย่าตายายให้มาครับ สิ่งพวกนี้มีทั้งความงดงามและสร้างเสิมกระบวนการเรียนรู้ต่างๆด้วย ของเล่นพวกนี้สร้างมิติความสัมพันธ์หลายอย่างไม่ว่าเด็กๆจะเล่นคนเดียว หรือว่าเล่นกันเป็นกลุ่ม”
งานข่วงสรีแก้ว ณ ศูนย์แสดงศิลปหัตถกรรมล้านนา บ้านน้ำลัด คือ ความพยายามในการขับเคลื่อนประเด็นทางวัฒนธรรม ของโครงการชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่จังหวัดเชียงราย ด้วยการรวบรวมศิลปะท้องถิ่นด้านต่างๆ มานำเสนอ ให้มีพื้นที่ในการเผยแพร่ และนำไปสู่งานอาชีพ เพื่อสร้างรายได้แก่ชุมชนต่อไป
ผศ.ดร.สมบูรณ์ อริยา ประธานโครงการวิจัยชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.เชียงราย

“ปู่ย่าตายายของเรา เขาอยู่กับธรรมชาติ เขาก็มองดูว่าจะเอาธรรมชาติมาสร้างความสุขในการดำเนินชีวิตได้อย่างไร เราก็จัดเวทีให้เขามา จัดกระบวนการเข้ามาเสริม ให้เขามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เป็นมิติใหม่ของการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม ทุกคนได้แสดงความคิดเห็น แสดงถึงภูมิปัญญามาแลกเปลี่ยนกัน แม้กระทั่งว่า ให้เกิดความตระหนักในเรื่องนี้แล้ว เขาก็เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เกิดการศึกษากัน เราก็เป็นคนจัดกระบวนการให้ แล้วเดี๋ยวนี้ ที่เรามาจัดตรงนี้ ข่วงจะกลายเป็นสถานที่ร่วมมือและ เสนอผลงานในโอกาสต่อไป ถ้าพูดถึงเรื่องวัฒนธรรมแต่ไม่เอาเรื่องของเศรษฐกิจ รายได้เข้ามา ในตอนนี้อยู่ไม่ได้แล้วเราก็เหมือนกับรักและชอบวัฒนธรรมแบบแห้งๆ เพราะไม่มีผลตอบแทนอะไรเลย ดังนั้นมันต้องควบคู่กัน วัฒนธรรมต้องควบคู่กับการมีรายได้”

สารคดี : บ้านเมืองเรื่องของเรา ชุดชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่
ผลิตโดย งานพัฒนาการสื่อสารฯ โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา :

Be the first to comment on "ศิลปวัฒนธรรม นำคุณค่า สู่ท้องถิ่นเชียงราย"

Leave a comment

Your email address will not be published.