เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน พื้นที่ขนาด 6 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยชุมชน 6 ชุมชน ประชากรจำนวน 6,000 กว่าคน ดินแดนแห่งเมืองสามหมอก ที่แวดล้อมด้วยขุนเขา ท่ามกลางธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ มีผู้คนหลากหลายชาติพันธ์ งามงดศิลปวัฒนธรรมประเพณี สมดั่งคำที่ว่า แม่ฮ่องสอนเป็นเมืองที่น่าอยู่ มีชุมชนที่น่าอยู่ มนต์เสน่ห์ของเมืองแม่ฮ่องสอน ได้ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างชาติ ต่างหลั่งไหลมาเยือนเมืองแม่ฮ่องสอน ก่อให้เกิดธุรกิจการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นรายได้หลักที่สำคัญ
สุเทพ นุชทรวง
นายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน
“เมืองแม่ฮ่องสอนถือเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยว เป็นเมืองรีสอร์ท”
เทพินท์ พงษ์วดี
ประธานเครือข่ายชุมชนเมืองแม่ฮ่องสอน
“การท่องเที่ยวทำให้ผู้คนเข้ามาที่แม่ฮ่องสอนจำนวนมาก”
ชาติชาย น้อยสกุล
เจ้าหน้าที่สันทนาการ 7 เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน
“แม่ฮ่องสอน การท่องเที่ยวคือหัวใจหลักของแม่ฮ่องสอน ความเป็นแม่ฮ่องสอนจะไม่เลือนหายไป เหมือนในหลายพื้นที่ ที่เค้ากำลังประสบปัญหาในปัจจุบัน”
ทว่า…สิ่งที่น่าสนใจ นั้นก็คือเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน และผู้คนในชุมชนท้องถิ่น เตรียมพร้อมรับมือแค่ไหน จะตั้งรับกันอย่างไร เพื่อมิให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ วิถีวัฒนธรรมของชุมชน รวมทั้งยังคงความน่าอยู่ไว้ได้อย่างไร จนกระทั้งพัฒนามาเป็น พื้นที่ต้นแบบ “ศูนย์การเรียนรู้ด้านเมืองน่าอยู่” ได้ในปัจจุบัน
สุเทพ นุชทรวง
นายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน
“เราเชื่อว่าแม่ฮ่องสอนเป็นแบบอย่างได้ในทุกมิติ ที่เด่นมากๆ ก็ในเรื่องของความสะอาด และด้านวัฒนธรรม เราน่าจะเป็นต้นแบบให้คนในชุมชนได้มาเรียนรู้ และคนอื่นๆ หน่วยงานอื่นๆ ท้องถิ่นอื่นๆ มาดูงานของเรา ก็จึงต้องมีศูนย์ เพื่อเป็นการรวบรวมองค์ความรู้ที่มีอยู่ ศูนย์ฯ จะเป็นการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพื่อที่จะให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของทุกคน”
ศูนย์กลางการเรียนรู้เมืองน่าอยู่ ของเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน ในเชิงกายภาพ หรือสถานที่นั้น ตั้งอยู่ในบริเวณลานวัฒนธรรม หลังอนุสาวรีย์พญาสิงหนาทราชา เจ้าเมืองแม่ฮ่องสอนคนแรก
เป็นอาคารอเนกประสงค์ชั้นเดียว ติดกับที่ทำการศูนย์เยาวชนของเทศบาล ในบริเวณใกล้เคียงกันก็มี บ้านเลขที่ 1 บ้านจำลองในแบบคนไต หรือไทยใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ที่สะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินวิถีชีวิต วัฒนธรรมของคนไต ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในเขตเมืองแม่ฮ่องสอน
“ผมอยากให้ตรงนี้เป็นแหล่งรวบรวมความรู้ ทั้งด้านทฤษฎี และด้านปฏิบัติ มีชีวิตจริงเกิดขึ้นตรงนี้ ตอนนี้ที่เริ่มทำได้คือข้อมูลต่างๆ แต่ละหน่วยงานก็ให้ความร่วมมือเอาข้อมูลมาให้ และสิ่งที่อยากเห็นก็คือทำอย่างไรให้คนที่มาเห็นความเป็นจริง เช่น ปานซอย การเจาะฉลุลายของชาวไทใหญ่ ขันดอก ตรงนี้ก็จะมีให้เห็นนอกจากข้อมูลสื่อทางด้านสิ่งพิมพ์ คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต อยากให้ตรงนี้เป็นศูนย์รวม อยากให้มีชีวิตจริงๆ”
ชาติชาย น้อยสกุล
เจ้าหน้าที่สันทนาการ 7 เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน
เมื่อศูนย์กลางการเรียนรู้เมืองน่าอยู่ได้เกิดขึ้น คูรโรงเรียนเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน จึงได้ใช้โอกาสนี้ พาเด็กนักเรียนมาทัศนะศึกษา หาข้อมูล ความรู้ ที่อยู่นอกเหลือจากตำราเรียน อีกด้วย
นอกจากแหล่งเรียนรู้ ที่บ้านเลขที่ 1 บริเวณศูนย์กลางการเรียนรู้เมืองน่าอยู่ ที่เปรียบเสมือนเป็นห้องรับแขกของผู้มาเยือนแล้ว ยังมีแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ตามวัดต่างๆ อาทิเช่น วัดจองคำ วัดจองกลาง ตั้งอยู่บริเวณสวนสาธารณะหนองจองคำ เป็นวัดเก่าแก่ สร้างโดยช่างฝีมือชาวไทยใหญ่ มีศิลปะแบบต่างๆ ซึ่งเป็นศิลปะแบบไทยใหญ่ที่แปลกตาและงดงามมาก
วัดพระนอน ตั้งอยู่เชิงดอยกองมู เป็นที่ประดิษฐานพระนอนองค์ใหญ่ สร้างด้วยศิลปะไทยใหญ่ ซึ่งมีพุทธลักษณะงดงามมาก ภายในบริเวณมีรูปปั้นสิงโตขนาดใหญ่ อยู่เคียงข้างระหว่างทางที่จะขึ้นไปนมัสการพระธาตุกองมู
วัดพระธาตุดอยกองมู เป็นปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองที่สำคัญที่สุด จากวัดพระธาตุดอยกองมูนี้สามารถมองเห็นภูมิประเทศและสภาพตัวเมืองแม่ฮ่องสอนได้โดยรอบ วัดนี้จะจัดงานเทศกาลประจำปีที่สำคัญของเมือง เช่นในวันออกพรรษาจะมีการตักบาตรดาวดึงส์ หรือตักบาตรเทโวด้วย
นอกจากนั้นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมในชุมชนก็มีความน่าสนใจเช่นกัน โดยเฉพาะที่โหย่งกาด หรือที่ทำการของชุมชนป็อกกาดเก่า สถานที่ทำการในกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน ทั้งงานเครือข่ายองค์กรชุมชน ที่ทำการ อสม. กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์ หรือแม้กระทั้งเป็นที่ซ้อมดนตรีของกลุ่มคนอนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านไทใหญ่ และยังเป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นสถานที่ถ่ายทอดศิลปแขนงต่างๆ ที่สำคัญของชุมชนอีกด้วย
นอกจากที่นี่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของชุมชนแล้ว ที่นี่ยังเป็นสถานที่พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนของผู้รู้ ปราญช์ชาวบ้าน เป็นเวทีของผู้เฒ่าผู้แก่ ที่มานั่งจิบน้ำชา พูดคุยกันถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของคนแม่ฮ่องสอน เป็นเวทีของชาวบ้านที่มาหารือร่วมกัน ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และตัดสินใจร่วมกัน หรือที่เรียกเป็นภาษาไตใหญ่ว่า สภาน้ำเมี่ยง
เทพินท์ พงษ์วดี
ประธานเครือข่ายชุมชนเมืองแม่ฮ่องสอน
“ครั้งแรกที่จัด ปรากฏว่าเป็นเวทีใหญ่เกินไป ไม่ใช่เป็นธรรมชาติอย่างดั้งเดิม ผู้เฒ่าผู้แก่ก็บอกว่ามันไม่ใช่ เราอยากจะนั่งคุยกัน เราก็เลยกำหนดประเด็นพูดคุยขึ้น ที่นี้ก็เชิญผู้รู้ทั้งหลายมากำหนดหัวข้อ วันนี้สภาน้ำเมี่ยงของเราจะคุยเรื่องนี้ เห็นด้วยไหม ไม่เห็นด้วยยังไง ก็เอาข้อสรุปตรงนี้ไปให้ทางจังหวัด การอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมต้องฟังชาวบ้าน แม้กระทั่งเรื่องทอดผ้าป่า การพัฒนาฝึกอาชีพ ก็เกิดจากสภาน้ำเมี่ยง”
คงจะปฏิเสธมิได้ว่าต้นทุนทางสังคมของเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน นอกจากสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์แล้ว มิติทางด้านวัฒนธรรม ก็เป็นฐานรากอันสำคัญของเมืองอีกมิติหนึ่ง ในการหลอมรวมคนท้องถิ่น เพื่อร่วมกันพัฒนาเมืองแม่ฮ่องสอนให้เป็นเมืองที่น่าอยู่
สุเทพ นุชทรวง
นายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน
“วัฒนธรรมถือเป็นแกนกลางในการประสาน คนในชุมชน ทำให้เกิดพลังร่วมของชุมชน สามารถพูดคุยกันได้ทุกเรื่องในเวที อย่างสภาน้ำเมี่ยง เป็นจุดเริ่มต้นว่า ประเพณีเรื่องนี้เราจะทำกันอย่างไร หรือวัฒนธรรมที่สูญหายไปแล้วจะนำกลับคืนมาอย่างไร คนเฒ่าคนแก่ก็ให้แง่คิด คนรุ่นหนุ่มก็เอามาปฏิบัติ”
อย่างไรก็ดี เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน ยังคงมีความเด่นในด้านมิติเมืองสะอาด อีกมิติหนึ่ง ซึ่งถือเป็นจุดแข็งอีกด้านหนึ่ง ที่เอื้อให้เมืองแม่ฮ่องสอนเป็นเมืองที่น่าอยู่อย่างยิ่ง หากใครได้ไปเยือน คงสัมผัสไม่ยากถึงความสะอาด ความสวยงาม และความเป็นระเบียบเรียบร้อย อันเกิดขึ้นจากความมุ่งมั่น ตั้งใจ ของเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนเช่นกัน
สุเทพ นุชทรวง
นายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน
“เมืองแม่ฮ่องสอนถือเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยว เป็นเมืองรีสอร์ท ความเป็นเมืองน่าอยู่ หัวใจของมันคือความสะอาด เช้าขึ้นมาบ้านเราต้องพร้อมที่จะรับแขกแล้ว เราต้องทำความสะอาดก่อนที่จะสว่าง เจ้าหน้าที่ก็จะกวาด ตอน ตี 4 ตี 5 ขณะถนนสายหลักก็จะไม่มีถังขยะแกะกะ ตัวถังขยะบางทีก็เป็นทัศนะอุจจา รถเก็บก็จะมาเก็บตอนช่วง 3 ทุ่ม 4 ทุ่ม ไม่ให้รบกวนนักท่องเที่ยว”
“อีกส่วนคือตกแต่งเมืองด้วยไม้ดอกไม้ประดับ นอกจากความสะอาดแล้ว ไม้ดอกไม้ประดับก็ถือเป็นเรื่องธรรมชาติ เทศบาลก็มีเรือนเพาะชำ โดยซื้อเมล็ด มาเพาะขยายพันธ์ ประหยัดงบประมาณ มีส่วนร่วม ช่วยคนในชุมชนมีงานทำ 6 ชุมชน 30 คน ยั่งยืน หมายความว่ามีดอกไม้ประดับเมืองทั้งปี ถ้าใช้ประมูลรับเหมาไม่ได้ทั้งปี หมดงบก่อน”
เรือนเพาะชำ นอกจากจะเป็นสถานที่เพาะกล้าขยายพันธ์ไม้ดอกไม้ประดับ เพื่อตกแต่งสร้างความสวยงามให้แก่เมืองแล้ว สถานที่แห่งนี้ ยังทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้อีกแห่งหนึ่ง ให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่สนใจ ทั้งในจังหวัด และท้องถิ่นอื่นๆ อีกด้วย
ชัยวัฒน์ เต็นพิพัฒน์
เจ้าหน้าที่สวนสาธารณะ
“ที่เราทำขึ้นเราผลิตขึ้นเองได้ ทีนี้หน่วยงานต่างๆ หน่วยราชการ เขาเห็นความสำคัญ จึงส่งเจ้าหน้าที่มาผึกอบบรม ศึกษาหาความรู้การเพาะเมล็ดการชำกล้าไม้เพื่อจะนำไปใช้ในหน่วยงานแต่ละหน่วย ทางเทศบาลเห็นความสำคัญตรงจุดนี้ เลยจัดตั้งให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการเพาะชำไม้ดอกไม้ประดับ”
ในมิติด้านความสะอาด การจัดการขยะเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ ที่จะบ่งบอกถึงว่าเมืองใดเป็นเมืองที่สะอาดหรือไม่ สะอาดได้อย่างไร ที่เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนนั้น การจัดการขยะ ไม่ได้รับผิดชอบลำพังเฉพาะเจ้าหน้าที่ของเทศบาล แต่ที่นี่ได้สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนให้เกิดขึ้น ด้วย
สุเทพ นุชทรวง
นายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน
“ในมิติด้านความสะอาดนั้นนอกจากคนเทศบาลแล้ว ชุมชนเป็นส่วนสำคัญยิ่ง ถือเป็นหัวใจ การพัฒนาในทุกด้าน ทุกมิติต้องมีชุมชนเข้ามาขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดความยั่งยืน”
นั้นเป็นจุดเริ่มต้น ของประพันธ์ สุธรรมมา รักษาการผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน ว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนมีส่วนร่วม จะทำอย่างไรให้บ้านเมืองสะอาด แนวคิด “คัดแยกขยะ แลกปุ๋ย แลกผักสวนครัว” จึงได้เกิดขึ้น
ประพันธ์ สุธรรมมา
รักษาการผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน
“โจทย์จากนายก จะสะอาดแบบมีส่วนร่วม เกิดแนวคิดปุ๋ยแลกขยะ ประชาชนคัดแยกให้เทศบาล ผลิตปุ๋ยคืนให้ประชาชน เกิดขยะแลกปุ๋ย เอาปุ๋ยไปแลกขยะ และก็เอาพืชผักสวนไปแลกขยะด้วย ช่วยชาวบ้านลดค่าใช้จ่ายด้วย”
จันทร์พร วรรณโสภา ชาวบ้านชุมชนหนองจองคำ จ.แม่ฮ่องสอน เป็นคนหนึ่ง ที่เห็นถึงความสำคัญ จึงได้ร่วมลงมือคัดแยกขยะในครัวเรือน ให้กับเจ้าหน้าที่เก็บขนขยะที่จะมาทุกวัน เพื่อแลกเปลี่ยนเป็นปุ๋ย หรือพืชผักสวนครัวในยามที่เธอต้องการ
จันทร์พร วรรณโสภา
ชุมชนหนองจองคำ ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน
“เทศบาลมีการอบรมการคัดแยกขยะ ก็ไปอบรมและก็เข้ามาในโครงการ เขาบอกให้คัดแยกขยะและจะเอาไปหมักแล้วเอาปุ๋ยกลับมาให้ประชาชน และเป็นการลดขยะด้วย มาทีหนึ่งหลายกระสอบเทศบาลเอาปุ๋ยมาให้ พอเราต้องการก็บอกเทศบาล เค้าก็เอามาให้เลย นอกจากปุ๋ยก็มีใบโหรพา และก็ต้นพริก”
ไม่ต่างอะไรกับ ทองพิณ ทองแดง ชาวชุมชนป็อกตะวันออก จ.แม่ฮ่องสอน ที่ก็ให้ความร่วมมือกับทางเทศบาล ในการคัดแยกขยะเป็นอย่างดี ด้วยเช่นกัน
จากขยะที่ไร้ค่า ไร้ความหมาย เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนได้เปลี่ยนขยะเป็นความร่วมมือ ร่วมใจจากชุมชน เปลี่ยนขยะให้กลายเป็นปุ๋ย เป็นพืชผักสวนครัว และกลับคืนประโยชน์แก่คนในท้องถิ่น เป็นน้ำหมักจุรินทรีย์ ไว้รักษาดูแลหนองจองคำ และนำความสะอาดให้กับตลาดสดสายหยุด อีกทั้งยังเป็นการลดปริมาณขยะของเมือง และเพิ่มระยะเวลาให้กับบ่อฝังกลบอีกด้วย กระทั่งก่อให้เกิดเป็นแหล่งเรียนรู้เมืองน่าอยู่ขึ้นอีกหนึ่งแห่ง นั้นก็คือ ศูนย์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ขยะเป็นปุ๋ย ซึ่ง กิติเดช วัฒนเดช หัวหน้างานปุ๋ยหมัก เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน และเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ ต่างมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งกับสิ่งที่ได้ทำ
กิติเดช วัฒนเดช
หัวหน้างานปุ๋ยหมัก เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน
“ถ้าชุมชนอยากได้ก็เอาไปให้ แลกเปลี่ยนขยะจากชุมชน หรือใช้ในงานของเทศบาลจัดสวน เอามาใช้เพาะปลูกผักสวนครัว และกลับคืนสู่ชุมชน เก็บจากที่ชุมชนเค้าทิ้งและก็เอาคืนสู่ชุมชนต่อ”
นาฎสุดา ตันวัฒนกุล นักวิชาการสาธารณสุข 6 งานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่เข้ามาช่วยดำเนินการเรื่องในเรื่องเมืองน่าอยู่ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทำหน้าที่ทั้งคอยเชื่อมประสาน ให้แนวคิด กระตุ้น ตลอดจนเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ได้ยืนยันให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
นาฎสุดา ตันวัฒนกุล
นักวิชาการสาธารณสุข 6 งานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลศรีสังวาลย์
“พอมีเรื่องนี้เข้ามา เค้าก็จะมารวมตัวกันมาทำกิจกรรมเพื่อให้เมืองของเขาน่าอยู่ ในด้านต่างๆ ทั้งสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต วัฒนธรรม เรื่องความสะอาด คนก็จะมารวมตัวกันมาก นี่คือความพร้อมของคนในพื้นที่ อีกส่วนหนึ่งก็คือ หน่วยงานที่อยู่ในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาคเอกชนหรือหน่วยงานรัฐ อย่างเช่นเทศบาล ก็จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ทั้งในระดับผู้บริหารผู้ปฏิบัติ ตรงนี้ทำให้การดำเนินงานเรื่องเมืองน่าอยู่ สามารถก้าวไปได้เรื่อยอย่างต่อเนื่อง และเกิดผลเป็นรูปธรรมออกมา”
สุเทพ นุชทรวง
นายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน
“เราคิดว่าเราคงพัฒนาต่อไป ผมมองว่าว่าการทำศูนย์การเรียนรู้ไม่มีวันจบ เพราะบ้านเมืองเป็นงานด้านสังคม หมดคนรุ่นผมไปแล้ว ศูนย์การเรียนรู้ตรงนี้ต้องอยู่ บ้านเมืองของเรานั้นถือว่าทุกคนต้องมีส่วนร่วม” “ถ้ามาจับเรื่องรายได้ เอา GDP มาจับเราอาจจะอยู่ท้ายๆ แต่ถ้าเอา GNH ความสุขมวลรวม ของเมืองนี้ น่าจะเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศได้ เรามีความสุขมากที่ได้อยู่เมืองแม่ฮ่องสอน”
จากแนวคิดการพัฒนาเพื่อให้เมืองแม่ฮ่องสอน เป็นเมืองที่น่าอยู่ มีชุมชนที่น่าอยู่ ได้ทำให้เกิดการประสานความร่วมมือจากผู้คนหลายฝ่าย ทั้งเจ้าหน้าที่ของเทศบาลที่สังกัดตามกองต่างๆ องค์กรภาคีจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ ตลอดจนประชาชนในท้องถิ่น จนกระทั่งก่อกำเนิดเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้เมืองน่าอยู่ขึ้น ที่ประกอบไปด้วยแหล่งเรียนรู้อันหลากหลาย ในการอนุรักษ์ฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชนให้คงคุณค่าแห่งวิถีวัฒนธรรมและภูมิปัญญา เพื่อให้เป็นพลังในการสร้างจิตสำนึกสาธารณะและความร่วมแรงร่วมใจ เก็บรักษาขุนเขา ป่าไม้ สายน้ำและความเป็นเมืองน่าอยู่ ให้คงอยู่กับแม่ฮ่องสอนตลอดไป
Be the first to comment on "ศูนย์การเรียนรู้เมืองน่าอยู่ที่เทศบาลบเมืองแม่ฮ่องสอน"