“สถานีประชาชนกับน้องพอมแพม”
ปลายเดือนที่ผ่านมาสื่อมวลชนพากันรายงานข่าวกรณีน้องพอมแพม เด็กผู้หญิงวัย 3 ขวบที่หายออกจากบ้านตั้งแต่ต้นเดือน ได้ถูกตามตัวพบและสามารถนำกลับมาสู่อ้อมอกพ่อแม่ได้แล้ว ยังความปลาบปลื้มใจเป็นที่สุดจากทุกฝ่าย ซึ่งครอบครัวพลเมืองดีที่ช่วยเหลือให้สัมภาษณ์ว่าได้ติดตามข่าวการหายตัวของน้องพอมแพมจากรายการสถานีประชาชน ทางไทยพีบีเอสและสื่อต่าง ๆ
ปัญหาการลักพาตัวเด็กและคนสูญหายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ ซึ่งยังความเศร้าโศกเสียใจอย่างสุดแสนมายังพ่อแม่และญาติพี่น้อง และโดยส่วนใหญ่มักจะตามหาไม่พบเหมือนๆ กับกรณีรถยนต์หรือสิ่งของถูกขโมยแล้วไปแจ้งความไว้ที่โรงพัก ตำรวจเองก็จนปัญญาไม่รู้จะช่วยอย่างไร
เมื่อปี 2550 ตอนที่ดูแลกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ผมใช้ความพยายามอย่างมากในการแก้ปัญหากรณี “รถตู้ลักเด็ก” ซึ่งเป็นข่าวที่สร้างความหวาดผวาของผู้ปกครองที่มีเด็กเล็กอยู่ในความดูแล เจ้าหน้าที่รายงานว่าช่วงปี 2546-2550 มีตัวเลขคนหาย 400 ราย ในจำนวนนี้คาดว่าเป็นการลักพาตัว 19 ราย และตามตัวได้เพียงแค่ 11 รายเท่านั้น
ผมตามลงไปเยี่ยมครอบครัวผู้สูญเสีย 2 ครอบครัวในจังหวัดสมุทรสาครได้เห็นความทุกข์ของคุณพ่อของเด็กแล้วน่าสลดใจมาก เขาดิ้นรนตามหาลูกชายวัย 9 ขวบ จนหมดเนื้อหมดตัว อาชีพช่างซ่อมมอเตอร์ไซค์ต้องหยุดทำไปเลย มีข่าวแว่วจากที่ใดก็ไปตระเวนหาจนล้มป่วยเป็นโรคกระเพาะทะลุถึงขั้นต้องเข้าผ่าตัดรักษาฉุกเฉินที่โรงพยาบาล ผมเองก็ทำได้แค่เพียงปลอบประโลม
เมื่อพบกับผู้ว่าราชการจังหวัดที่นั่น พร้อมกับฝ่ายตำรวจ ผู้บริหารท้องถิ่นและนายกสมาคมธุรกิจประมงจึงได้ข้อมูลชัดว่าไม่ใช่มีแต่เด็กที่ถูกลักพาตัว คนหนุ่มสาววัยแรงงานก็เยอะมากที่หายตัวลงทะเลไป เมื่อกลับมากรุงเทพฯ จึงจัดประชุมเชิงปฏิบัติการขึ้นโดยเชิญญาติและเหยื่อทั้ง 19 รายมาร่วมเพื่อถอดบทเรียนรู้ร่วมกับศูนย์สายด่วน องค์กรเอ็นจีโอและข้าราชการหน่วยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
จำได้ว่าที่ประชุมครั้งนั้นมีข้อสรุปว่า 1) คนหายมีทุกเพศทุกวัย เด็ก แรงงาน และคนชรา ล้วนมีแบบแผนที่แตกต่างกัน 2) ช่วงเวลาทองในการติดตามตัวกลับคือภายใน 2-3 ชั่วโมงแรกเท่านั้น 3) ปัญหาที่พบเวลาญาติไปแจ้งความคือ ตำรวจไม่ยอมรับแจ้งต้องให้รอครบ 24 ชั่วโมงก่อนตามระเบียบข้อบังคับ 4) การแจ้งข่าวและกระจายข้อมูลคนหาย และผู้ต้องสงสัยรูปพรรณสัณฐาน สถานที่เกิดเหตุ ฯลฯ ไปยังห้างสรรพสินค้า สถานีขนส่งและที่ชุมชนใหญ่ ๆ เป็นสิ่งที่ช่วยได้มากที่สุด 5) สื่อโทรทัศน์และวิทยุที่เกาะติดรายงานและรับแจ้งข่าวเป็นหัวใจความสำเร็จ 6) เมื่อหายตัวไปหลายวันแล้วการติดตามตัวโดยทางราชการไม่ค่อยได้ผล เอ็นจีโอก็ช่วยไม่ได้มากเพราะขาดเงินทุนสนับสนุน ส่วนนักสืบเอกชนมีประสิทธิภาพกว่าแต่มีค่าโส้หุ้ยเยอะ
น้องพอมแพมหายตัวไปจากบ้านย่านเคหะบางพลี สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ขณะกำลังเล่นอยู่กับเพื่อนวัยเดียวกันโดยมีหญิงเร่ร่อนมาลักพาตัวไป 2 สัปดาห์ต่อมาผู้เป็นแม่ได้มาออกรายการสถานีประชาชนทางไทยพีบีเอสเพื่อตามหาลูก ได้เผยแพร่ภาพสเก็ตซ์ผู้ต้องสงสัยผ่านจอทีวีออกไปเพื่อผู้ชมรายการช่วยแจ้งเบาะแสกลับมาทางสถานี พร้อมกับประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยติดตาม 2 วันต่อมามีผู้แจ้งเข้ามาที่ศูนย์คนหายว่าพบผู้ต้องสงสัย เจ้าหน้าที่ของไทยพีบีเอสและพ่อ-แม่เด็กรีบรุดลงพื้นที่ทันทีแต่ไม่พบตัว ทางรายการสถานีประชาชนยังคงเผยแพร่ภาพต่อเนื่องทุกวัน หลังจากนั้นอีก 5 วันจึงมีครอบครัวพลเมืองดีแจ้งเข้ามาว่าพบตัวเด็กแล้วขณะกำลังเดินขอทานกับชายหญิงเร่ร่อนคู่หนึ่งบริเวณตลาดใกล้ศาลากลางจังหวัดชลบุรี จำได้จากรูปภาพที่เห็นทางสื่อ คนร้ายหลบหนีไปก่อนจึงนำตัวเด็กมาส่ง สัปดาห์ต่อมาแม่ค้าขายกระเพาะปลาที่ตลาดอำเภอเมืองลำปางซึ่งก็ดูทีวีรายการเดียวกันได้แจ้งจับคนร้าย 2 คนผัวเมียดังกล่าวได้และตำรวจนำตัวไปดำเนินคดีแล้ว
กรณีน้องพอมแพมกับรายการสถานีประชาชนทางไทยพีบีเอส ทำให้ผมนึกย้อนถึงการสัมมนาของกระทรวง พม.ตามที่เล่าข้างต้น วันนั้นเรายังไม่มีสื่อสาธารณะแบบไทยพีบีเอส จึงแก้ปัญหาไม่ได้เพราะทีวีพาณิชย์เขาจะไม่ทำรายการแบบนี้เนื่องจากไม่มีเรตติ้ง ไม่มีสปอนเซอร์ ส่วนทีวีราชการก็ทำไม่ได้และมัวแต่สนใจประเด็นของนักการเมืองและกลุ่มผู้นำ คนตัวเล็กๆ ที่ไร้อำนาจต่อรองจึงถูกมองข้ามและปล่อยให้ดิ้นรนกันไปตามยะถากรรม
รายการสถานีประชาชนออกอากาศสด 1 ชั่วโมงเต็มทุกวันทางไทยพีบีเอสตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ ระหว่าง 14.00-15.00 น. แต่เขาตั้งศูนย์คนหายไทยพีบีเอสขึ้นมาทำงานตลอด 24 ชั่วโมง และไม่ต้องรอให้คนหายครบ 24 ชั่วโมงเสียก่อนจึงแจ้งแบบโรงพักตำรวจ การติดตามจึงรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมาก ตลอดปี 2553 มีรายงานแจ้งคนหาย 276 ราย เป็นชาย 113 หญิง 163 อายุส่วนใหญ่ระหว่าง 15-22 ปี ซึ่งสามารถตามกลับมาสู่ครอบครัวได้ถึง 205 ราย คิดเป็น 3 ใน 4 ซึ่งเป็นอัตราความสำเร็จที่สูงมาก ในจำนวนนี้พบว่าเสียชีวิตไปแล้ว 7 ราย ส่วนที่เหลือกำลังติดตามอยู่
ไทยพีบีเอสได้รับเงินสนับสนุนจากภาษีเหล้า-บุหรี่ปีละ 2,000 ล้านบาทจึงมีหน้าที่ต้องรับใช้ประโยชน์สาธารณะและประชาชนผู้ด้อยโอกาสอย่างเต็มกำลังความสามารถโดยไม่ต้องกังวลในการหาสปอนเซอร์ แต่ก็ต้องตอบสังคมให้ได้ว่ามีผลงานที่คุ้มค่าเงินดังกล่าวแค่ไหน
ถ้าชีวิตคน 1 คน มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ 10 ล้านบาทเท่ากับจำนวนเงินชดเชยแก่ญาติพี่น้อง 91 ศพ ในเหตุการณ์ราชประสงค์ตามที่กลุ่ม นปช.กำลังเรียกร้องจากรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ เฉพาะคุณค่าของผลงานเพียงภารกิจเดียวที่รายการสถานีประชาชนสามารถช่วย 205 ชีวิตมาได้ก็มีมูลค่า 2,050 ล้านบาทเข้าไปแล้ว
ถ้ารวมผลงานทั้ง 120 รายการที่ผลิตและเผยแพร่ตลอด 24 ชั่วโมงแบบไม่มีวันหยุด โดยเน้นเฉพาะด้านการปกป้องสมบัติของแผ่นดิน ด้านพิทักษ์ชีวิตทรัพย์สินประชาชน ด้านป้องปรามภัยสังคม และด้านสั่งสมทุนภูมิปัญญาของประเทศ ผมอยากเชิญชวนนักเศรษฐศาสตร์มาช่วยกันประเมินผลงานไทยพีบีเอสในเชิงคุณค่าและมูลค่าประกอบกัน เพื่อให้สังคมได้มีดุลยพินิจที่รอบคอบรอบด้านต่อสื่อสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย องค์กรนี้ครับ
Be the first to comment on "สถานีประชาชนกับน้องพอมแพม"