สถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน เรียกร้องรัฐเยียวยาความเสียหายวิทยุชุมชน

ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ประธานสถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน เดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้เร่งแก้ปัญหาวิทยุชุมชน โดยเรียกร้องให้รัฐเป็นเจ้าภาพจัดเวทีระดับประเทศเพื่อฟังความเห็นและร่วมกำหนดนิยามลักษณะประกอบการ ของวิทยุ…

สถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน เรียกร้องรัฐเยียวยาความเสียหายวิทยุชุมชน
เปิด
เวทีระดับประเทศนิยามประเภทให้ชัดเจน

ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ประธานสถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน เดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้เร่งแก้ปัญหาวิทยุชุมชน โดยเรียกร้องให้รัฐเป็นเจ้าภาพจัดเวทีระดับประเทศเพื่อฟังความเห็นและร่วมกำหนดนิยามลักษณะประกอบการ ของวิทยุในกลุ่มต่างๆ ทั้งภาคประชาชนและวิทยุธุรกิจ เพื่อความชัดเจน อีกทั้งเรียกร้องผู้รับผิดชอบ เยียวยาความเสียหายให้กับกลุ่มวิทยุชุมชนภาคประชาชนที่เสียโอกาสในการเรียนรู้สืบเนื่องจากข้อกำหนดให้มีโฆษณาทำให้เกิดความปั่นป่วนขึ้น
สาระสำคัญของจดหมาย มีรายละเอียดดังนี้

ตามที่ได้มอบหมายให้ สถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน และ พันธมิตร ไปกำหนด หรือ อธิบาย ลักษณะสำคัญของ การดำเนินการวิทยุชุมชน ของภาคประชาชนนั้น พร้อมนี้ขอเรียนเสนอข้อมูล พร้อมข้อเสนอแนะต่อการดำเนินการของรัฐบาล ด้วยวิธีการที่ตอบสนองต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ และ สอดคล้องกับนโยบายการทำงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ประกาศว่า จะบริหารประเทศอย่างคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน และ ธรรมาภิบาล หรือ ความถูกต้อง โปร่งใส เที่ยงธรรม เป็นสำคัญ

คำอธิบาย วิทยุชุมชน

คือ สิทธิการสื่อสารผ่านคลื่นของ ผู้ประกอบการภาคประชาชนซึ่งกฎหมายประกอบมาตรา ๔๐ ในรัฐธรรมนูญ หรือ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ กำหนดไว้ชัดเจนในมาตรา ๒๖ ว่า “…ลักษณะของภาคประชาชนที่พึงได้รับการจัดสรรและสนับสนุนให้ใช้คลื่นความถี่ รวมทั้งลักษณะการใช้คลื่นความถี่ที่ได้รับการจัดสรร โดยอย่างน้อยภาคประชาชนนั้นต้องดำเนินการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะและไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจ

วิทยุชุมชน จึงเป็นคำเฉพาะที่แสดงลักษณะเฉพาะ ของ ผู้ประกอบการภาคประชาชน ที่มีคุณสมบัติสำคัญคือ เป็นการรวมตัวอย่างตระหนักในสิทธิ และบทบาทหน้าที่ ของประชาชนในพื้นที่ร่วมดำเนินการวิทยุชุมชน เพื่อให้วิทยุชุมชนเป็นช่องทางการสื่อสารหรือ พื้นที่สาธารณะทางอากาศที่ถูกใช้เพื่อตอบสนองสิทธิในการสื่อสารอย่างรับผิดชอบ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย คือ ประโยชน์สาธารณะของผู้ใช้ชีวิตร่วมกันในพื้นที่นั้น ๆ ไม่ใช่ เป็นการประกอบการโดยกลุ่มนักวิชาชีพวิทยุกระจายเสียง แต่เป็น อาสาสมัครนักพัฒนาเพื่อสร้างชุมชนที่เข้มแข็ง และ ใช้ วิทยุกระจายเสียง เป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงานเพื่อส่วนรวม

คำอธิบาย กระบวนการเรียนรู้ วิทยุชุมชน ของภาคประชาชน

คือ การดำเนินการเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจต่อ สิทธิการสื่อสารผ่านคลื่นอย่างคำนึงถึงหลักการวิทยุชุมชน ที่ถือปฏิบัติในประเทศที่ให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยในการสื่อสาร เช่นเดียวกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญของ ประเทศไทย

กระบวนการเรียนรู้เรื่อง วิทยุชุมชน ของภาคประชาชนดำเนินการอย่างเป็นระบบและเปิด เผย ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ มีลักษณะสำคัญ คือ พัฒนาความรู้ ความเข้าใจ และ ทักษะในการสื่อสารผ่านคลื่นที่เป็นช่องทางการสื่อสารของภาคประชาชน หรือ วิทยุชุมชน โดยคำนึงถึงสิทธิ และ ความมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่กระจายเสียงทั้งด้าน การบริหาร การจัดการ การจัด การผลิต และ การออกอากาศรายการ ทั้งนี้ต้องสนองต่อหลักการวิทยุชุมชน ที่เป็นหลักการสากล คือ การเข้าถึงและการใช้ได้โดยง่าย (accessible) ความมีสิทธิเป็นเจ้าของ(ownership) และความสามารถที่จะยืนหยัดอย่างยั่งยืนด้วยสำนึกร่วม ความรับผิดชอบร่วม และ การมีส่วนร่วมของชุมชนนั้น ๆ (participation) หรือ ร่วมใช้ ร่วมรับผิดชอบ ร่วมได้ประโยชน์ เพื่อประโยชน์สุขร่วมกัน

อุปสรรค ปัญหา ของการเรียนรู้เพื่อพร้อมใช้ สิทธิการสื่อสารผ่านคลื่นของภาคประชาชน

๑. พัฒนาการด้านอื่นที่เกี่ยวข้องไม่ก้าวไปพร้อมกัน นั่นคือ ความล่าช้าของการมีองค์กรอิสระที่สมบูรณ์ครบตามกฎหมายกำหนด รวมทั้ง การมีพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

๒. การขาดความร่วมมือสนับสนุน และ การทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และ เที่ยงธรรม ของหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบ เห็นได้จาก การพยายามขัดขวางอย่างอ้างกฎหมายที่ใช้ปฏิบัติ มากกว่าการร่วมกันสร้างความรู้ ปรับเจตคติและพฤติกรรม ตามเงื่อนไขการปฏิรูปสื่อในรัฐธรรมนูญ การสร้างความสับสน ด้วยฐานคิดเชิงอำนาจ ด้วยการพยายามให้ อบต. มาดูแลการจัดตั้งวิทยุชุมชนสื่อของภาคประชาชน โดยให้อยู่ในบังคับของกรมประชาสัมพันธ์ และ ที่ร้ายแรงจนเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบัน ส่งผลต่อภาพลักษณ์ และ ธรรมาภิบาลของรัฐบาล คือ การพยายามสร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชนด้วยกัน โดยการสร้างกลุ่มผู้ประกอบการทางธุรกิจมาแทรกในสื่อของภาคประชาชนหรือ วิทยุชุมชน สร้างความสับสนต่อสาธารณะ ลดความเชื่อมั่นในสิทธิของกระบวนการเรียนรู้ วิทยุชุมชนสื่อภาคประชาชน

ทั้งที่ ในช่วง ๓ ปีที่ผ่านมา มีวิทยุชุมชนในหลายพื้นที่สามารถสร้างผลเชิงคุณค่าหลายประการต่อชุมชน ปัญหาการเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและไร้การควบคุมของวิทยุธุรกิจ ทำให้สาธารณะเข้าใจว่า วิทยุชุมชนเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทางรายได้ ฝ่าฝืนกฎหมาย สร้างความเสียหายให้ประเทศ ฯลฯ ทั้งที่ ในปัจจุบัน วิทยุชุมชน ของภาคประชาชน จำนวนมากไม่สามารถแทรกช่องว่างของคลื่นความถี่ที่สูงกว่าซึ่งถูกกระตุ้นให้ถูกใช้เพื่อผลกำไรด้วยการประกาศให้หารายได้ได้ของกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งเรื่องนี้ส่งผลต่อภาพลักษณ์ธรรมาภิบาลของรัฐบาล เพราะรูปธรรมที่เกิดชัดเจน คือ ธุรกิจนอกระบบ ที่ประโยชน์ตกกับคนเพียงบางกลุ่ม แต่ประชาชนซึ่งคือผู้ร่วมเป็นเจ้าของคลื่นที่ถูกนำมาหารายได้นั้น กลับได้รับความลำบากในการรับสื่อที่สื่อสารผ่านคลื่น ทั้งไม่มีกระบวนการนำสัดส่วนรายได้ที่เป็นกอบเป็นกำ ทำให้ตกเป็นภาษีของประเทศ

๓ . การไม่ให้โอกาส การไม่ยอมรับ และ รับฟังเสียงของประชาชนผู้ตื่นตัว(active citizen) ในการปฏิรูปสื่อและ ผลของวินิจฉัยในเรื่องนี้ของ คณะรัฐมนตรี ในรัฐบาลสองสมัยของนายกรัฐมนตรีท่านปัจจุบัน เห็นได้จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๕ ที่มีสาระสำคัญว่าครม.เห็นว่า การสรรหาและคัดเลือก กสช. กทช. ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง…. สมควรมีมาตรการและหลักเกณฑ์ชั่วคราว เพื่อให้กิจการต่างๆ ดำเนินการไปได้ เพราะขณะนี้ภาคประชาชนได้มีการขอใช้คลื่นความถี่ และมีการเปิดสถานีวิทยุชุมชนมากขึ้น หากมีการห้ามก็อาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้ ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงมอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีรับไปศึกษาและกำหนดมาตรการและหลักเกณฑ์ชั่วคราว เพื่อควบคุมดูแลการใช้คลื่นความถี่ของวิทยุชุมชน และให้กิจการต่าง ๆ สามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยไม่เกิดความเสียหายต่อประเทศ …” ต่อมาได้มีร่างมาตรการผ่อนผันซึ่งผ่านการรับรองของคณะทำงานระดับประเทศ สาระสำคัญของมาตรการผ่อนผันดังกล่าว คือ การออกระเบียบปฏิบัติ ที่ทำให้กระบวนการเรียนรู้ของประชาชนดำเนินการไปอย่างมีคุณภาพ มีระบบและต่อเนื่อง ไม่ต้องกังวลกับจดหมาย / ประกาศ แจ้งเตือน หรือการกระทำให้หวาดกลัวทั้งทางตรงและทางอ้อมจากบุคลากรภาครัฐ เพื่อนำผลที่ได้ สรุปเป็นข้อมูลเสนอต่อ กสช. พิจารณาประกอบการทำงานด้านนโยบายและการวางแผนที่เกี่ยวข้อง

นับเป็นความพยายามร่วมกันระหว่าง ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาชน ในการสร้างองค์ความรู้ระดับประเทศ แต่ในที่สุดร่างมาตรการฯดังกล่าว ก็ไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ด้วยเหตุผลว่าไม่มีกฎหมายรองรับ จากนั้น กรมประชาสัมพันธ์ ได้นำสาระบางส่วนจากร่างดังกล่าวมาจัดทำเป็นโครงการเตรียมความพร้อมวิทยุชุมชนกรมประชาสัมพันธ์ โดยอ้างถึงมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๖ ที่มอบหมายและให้อำนาจในการดำเนินการ และโดยระบุว่าผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ (กกช.) ซี่งกรรมการบางท่านให้ข้อมูลว่า ที่ระบุให้มีการโฆษณาได้เพราะ จากการไปเยี่ยมชมวิทยุชุมชน ตามที่ กองงาน กกช.แนะนำ แล้วเห็นว่ามีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งที่ กระบวนการเรียนรู้วิทยุชุมชนของประชาชนที่ดำเนินการมาก่อนเป็นเวลากว่า ๒ ปี ไม่เคยเรียกร้องขอมีโฆษณา และขณะเดียวกัน กกช. ก็ไม่ได้ไปเยี่ยมชมจุดปฏิบัติการเรียนรู้ของภาคประชาชนเลยสักแห่งเดียว

การแก้ปัญหาระดับประเทศของวิทยุชุมชน ซึ่งปัญหาสำคัญน่าจะเป็นเรื่อง ความไม่ชัดเจนในลักษณะการประกอบการ และการไม่ให้ความสำคัญของสิทธิในการสื่อสารของภาคประชาชน แต่ภาครัฐกลับเน้นความสนใจในเบื้องต้น ที่ข้อกำหนดทางเทคนิค คือ สูตร ๓๐ : ๓๐ : ๑๕ หรือ กำลังส่ง ๓๐ วัตต์ เสาสูง ๓๐ เมตร รัศมีกระจายเสียง ๑๕ กิโลเมตร แท้ที่จริงแล้ว เป็นข้อกำหนดในกระบวนการเรียนรู้ของชุมชน ที่ระบุในมาตรการผ่อนผันเพื่อการเรียนรู้ ในสถานการณ์ที่กรมประชาสัมพันธ์ ใช้ระเบียบระดับสถานีวิทยุกระจายเสียงมาจัดการกระบวนการเรียนรู้วิทยุชุมชน อันเป็นการทำงานอย่างไม่เข้าใจในเรื่องกระบวนการเรียนรู้ และไม่ยอมรับ ไม่รับฟังเสียงของประชาชนผู้ตื่นตัว(active citizen) ในการปฏิรูปสื่อเลย จึงเชื่อได้ว่า หากสูตรนี้จะส่งต่อ กสช. โดยขาดข้อมูลเรื่องเหตุผลที่มาแล้ว ในอนาคตอันใกล้ คงจะเป็นประเด็นถกเถียงอีก ทั้งในรายละเอียดที่เกี่ยวข้องใน พ.ร.บ. ประกอบกิจการ ฯ และใน ขั้นตอนการกำหนด ตารางกำหนดคลื่นความถี่ แผนความถี่วิทยุ แผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ที่ องค์กรอิสระทั้งสอง คือ กสช. และ กทช. ต้องดำเนินการ

ข้อเสนอเพื่อการพิจารณาของ รัฐมนตรีฯ สุรนันทน์ เวชชาชีวะ

๑. จัดกิจกรรมระดับประเทศ เพื่อให้ ผู้ประกอบการวิทยุชุมชนภาคประชาชนตามหลักการวิทยุชุมชน นักวิชาการ ผู้ทำการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ รวมทั้งแหล่งทุนที่สนับสนุนกระบวนการวิทยุชุมชน หรือ ที่ใช้ประโยชน์จากวิทยุชุมชน รวมทั้งบุคลากรรับผิดชอบเกี่ยวข้องจากหน่วยงานภาครัฐ เฃ่น กรมประชาสัมพันธ์ กทช. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ฯลฯ เพื่อการร่วมกำหนด คุณสมบัติ และ ลักษณะการประกอบการที่ชัดเจน สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ของผู้ประกอบการภาคประชาชน

๒. สนับสนุน หรือ สั่งการ ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบ เพื่อกำหนดคำอธิบายที่ถูกต้องชัดเจนของ ผู้ประกอบการ และ ลักษณะการประกอบการสื่อวิทยุกระจายเสียง และ วิทยุโทรทัศน์ภาคประชาชน และ ภาคเอกชน ที่ควรมีลักษณะการประกอบการทั้งขนาดใหญ่ กลาง เล็ก

๓. เปิดโอกาสให้ผู้เข้ามาประกอบการวิทยุภาคเอกชนเพื่อธุรกิจ ที่ได้ดำเนินการแล้ว ตามประกาศกรมประชาสัมพันธ์ รวมทั้งเครือข่ายวิทยุท้องถิ่นไทย ที่เปิดตัว และแสดงจุดยืนและความต้องการ ได้มีโอกาสพบกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็น และรับฟังแนวคิด นโยบาย จากท่านรัฐมนตรี ทั้งนี้ เพื่อสร้างคำอธิบายที่ถูกต้องชัดเจนของ ผู้ประกอบการ และ ลักษณะการประกอบการทางธุรกิจ ของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง และขนาดเล็ก ซึ่งสิทธิ ถูกรับรองตามรัฐธรรมนูญ

๔. ดำเนินการแก้ไขปัญหาความสับสนวุ่นวายของการใช้คลื่นเพื่อกิจการวิทยุ อย่างมีธรรมาภิบาล คือ เที่ยงธรรม โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ หากข้อเสนอ ๑ – ๓ ได้รับการพิจารณาดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงไปตรงมา และมีเหตุผลที่อธิบายได้ เชื่อได้ว่า ถ้าเริ่มโดยการสำรวจอย่างถ้วนทั่ว ว่ามีการดำเนินการวิทยุกระจายเสียง ในช่วงสุญญากาศนี้ ที่ใดบ้าง แล้วประกาศให้ หยุดดำเนินการอย่างเด็ดขาดทั่วกัน โดยให้ประชาชนร่วมตรวจสอบ จะได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ขณะเดียวกัน ก็ต้องมีการจัดกิจกรรมการสัมมนาระดับประเทศกับหน่วยงานภาครัฐ ที่ถือครองสื่อวิทยุ – โทรทัศน์ในปัจจุบัน เพื่อให้สาธารณะได้ทราบแนวนโยบายในการดำเนินการเพื่อตอบสนองเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญของหน่วยงานต่าง ๆ นั้น

การดำเนินการที่เรียนเสนอนี้ น่าจะเป็นแนวทางในการจัดระบบสื่อ เพื่อการปฏิรูปสื่ออย่าง แท้จริง น่าเชื่อถือ และเป็นมาตรฐาน สมดังที่หลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคอาเซียน กำลังเฝ้าจับตาดูการปฏิรูปสื่อวิทยุกระเสียง และ วิทยุโทรทัศน์ของประเทศไทย ที่ถือได้ว่ามีรัฐธรรมนูญ และ กฎหมายประกอบที่ก้าวหน้า

การดำเนินการอย่างที่เรียนเสนอในข้อ ๑ – ๔ นี้ ควรจัดทำอย่างเร่งด่วน และแทน การจัดระเบียบทางเทคนิค ที่อาจเสี่ยงต่อการยอมรับ และภาพลักษณ์ของรัฐบาลได้

๕. ควรมีกระบวนการทางยุติธรรม ที่หน่วยงานเช่น กระทรวงยุติธรรม มีงานรับผิดชอบในการแก้ไขเยียวยา ความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งในส่วนความรู้สึก ความเข้าใจของสังคม การเสียประโยชน์ของประชาชนผู้บริโภคสื่อ รวมทั้ง การสูญเสียทางรูปธรรมที่เกิดขึ้นต่อปัจเจก และ ประเทศชาติ และ ควรมีกระบวนการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน หรือ การทำงานของภาคราชการ ที่ต้องสนองต่อนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี ทั้งในแนวนโยบายการบริหารประเทศที่ยึดประโยชน์ประชาชนเป็นศูนย์กลาง และ แนวทางธรรมาภิบาล ที่ถือว่าไทยเป็นผู้นำ และเป็นตัวอย่างในเวทีระดับภูมิภาคที่ประเทศเกาหลีที่ผ่านมา โดยเฉพาะ การตรวจสอบกระบวนการได้มาของประกาศกรมประชาสัมพันธ์ ที่ให้วิทยุชุมชนมีโฆษณาได้ เพราะส่งผลกระทบมากมายดังระบุแล้ว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกำหนดมาตรฐานการทำงานที่ดี มีคุณภาพ ที่ฝ่ายบริหาร ภายใต้การกำกับดูแลของท่านรัฐมนตรี จะจัดทำเป็นต้นแบบให้องค์กรอิสระ ที่จะมาดูแลเรื่อง คลื่นวิทยุ และ สื่อ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีทั้งมูลค่า และ คุณค่า ทั้งยังจะเป็นโอกาสอันดีในการสร้างการเรียนรู้ และ เท่าทัน ในสาระสำคัญของการปฏิรูปสื่อ ในช่วงที่ประชาชนกำลังตื่นตัว และ สนใจ

สุดท้าย ขอกราบขอบพระคุณ ท่านรัฐมนตรี ที่ถือว่าเป็นรัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องนี้ ท่านแรก ที่มีความจริงจังในการแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งเชื่อแน่ว่า ความจริงจัง จริงใจ และ มีธรรมาภิบาล ทั้งเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้รับรู้ เรียนรู้ มีส่วนร่วม อันเป็นแนวทางการทำงานของท่านรัฐมนตรี จะทำให้การปฏิรูปสื่อ ซึ่งที่ผ่านมา หน่วยงานดูแลเรื่องสื่อของภาครัฐ ไม่ได้ให้ความสำคัญในการสื่อสาร เพื่อสร้างความเข้าใจให้ประชาชน การดำเนินการดังที่เรียนเสนอ รวมทั้ง การรายงานข้อมูล ความคิดเห็น หรือ แนวทางดำเนินการของภาครัฐ ในส่วนที่เกี่ยวกับ ผู้ประกอบการ ทั้งภาครัฐ และ เอกชน จะพัฒนาเป็นกระบวนการปฏิรูปสื่อที่ในที่สุด ทุกฝ่ายจะตระหนักว่า ผู้ได้ประโยชน์ คือ ทุกฝ่าย ซึ่งก็คือประเทศของเรา นั่นเอง

 

รายงานเสนอโดย ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ประธานสถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน

มูลนิธิการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม ๖๙๓ ถนนบำรุงเมือง เขตป้อมปราบ กทม.๑๐๑๐๐
โทรศัพท์ ๐๒-๖๒๑๗๘๑๔-๕ โทรสาร ๐๒ – ๖๒๑๗๘๑๖

 

Be the first to comment on "สถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน เรียกร้องรัฐเยียวยาความเสียหายวิทยุชุมชน"

Leave a comment

Your email address will not be published.