สภาประชาคมชายแดนใต้

“สภาประชาคมชายแดนใต้”

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมไปร่วมประชุมกับนักพัฒนาอาวุโสและนักกิจกรรมสังคมที่เป็นแกนประสานงานเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้กลุ่มหนึ่งประมาณ 40 คน ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์-ปัตตานี

พวกเขาทั้งหมดเป็นกลุ่มคนและองค์กรที่ทำงานพัฒนาสังคมอยู่นอกภาครัฐ ต่างคนต่างมีกิจกรรมงานพัฒนาไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน กล่าวคือการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น และภาคประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้

สถานการณ์ไฟใต้ในภาพรวมได้ส่งผลกระทบต่องานของพวกเขาอย่างแรงทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งจากการปฏิบัติการของฝ่ายขบวนการ ฝ่ายความมั่นคง และหน่วยงานพัฒนาของภาครัฐ การทำงานพัฒนาในเวลานี้ทั้งยากและเสี่ยงอันตราย ทัศนคติและพฤติกรรมของชาวบ้านต่องานพัฒนาเปลี่ยนไปมาก ความเชื่อถือไว้วางใจและความจริงใจต่อกันทรุดต่ำลงทุกวัน สถานการณ์สู้รบยิ่งยืดเยื้อยาวนานก็ยิ่งเกิดความด้านชาทางความรู้สึกและจิตใจผู้คนในท้องถิ่น

        ดังนั้น  พวกเขาจึงเล็งเห็นความจำเป็นในการจัดตั้งขบวนตัวเองในรูปแบบสภาการพัฒนาของเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม  โดยเรียกชื่อว่า สภาประชาสังคมชายแดนใต้  ทั้งนี้ก็เพื่อจะให้เป็นกลไกประสานงานกลางและเป็นที่ประชุมประจำอย่างมีระเบียบวาระของเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน  องค์กรชุมชน  และองค์กรประชาสังคมทั้งหลายที่มีถิ่นฐานที่ตั้งหรือดำเนินกิจการงานพัฒนาสังคมอย่างถาวรในพื้นที่เป็นสำคัญ

          วัตถุประสงค์ข้อสำคัญที่สุดในการจัดตั้งคือการเพิ่มศักยภาพในการทำงานและเพิ่มพลังอำนาจของภาคประชาชน  ทั้งในภารกิจการงานพัฒนาแบบพึ่งตนเอง  การมีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายสาธารณะ  และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการสร้างความยุติธรรม-ลดความเหลื่อมล้ำ

          นอกจากนั้นยังมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางในการแก้ปัญหาและการพัฒนาพื้นที่   ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสานสนับสนุนซึ่งกันและกัน  และการสร้างพื้นที่สาธารณะเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมชายแดนใต้อย่างจริงจัง

          พวกเขาพูดถึงรูปแบบการทำงานและการเคลื่อนไหวของสภาประชาสังคมของพวกเขาว่าอาจมีได้หลากหลาย  อาทิ : การศึกษาวิจัย  การจัดการความรู้  เวทีสัมมนาวิชาการ  เวทีสมัชชาประชาสังคม  การสื่อสารรณรงค์  การออกแถลงการณ์  การแถลงข่าว  การนำเสนอนโยบายสาธารณะ  การเสนอกฎหมายโดยภาคประชาชน  การเจรจาต่อรองกับฝ่ายต่างๆ  และการปฏิบัติการสาธารณะอื่นๆ ตามที่เห็นสมควร

          โดยส่วนตัวผมเห็นว่านี่เป็นความพยายามที่น่าส่งเสริมและสนับสนุนอย่างยิ่ง  เพราะที่ผ่านมาคนเหล่านี้คือผู้ทำงานพัฒนาที่ปิดทองอยู่ข้างหลังพระ  หรือผู้ที่ซุ่มทำความดีช่วยเหลือชาวบ้านอยู่หลังมัสยิดโน่น  เสียงของพวกเขามักไม่มีใครได้ยิน  ยิ่งในสถานการณ์ผู้ที่สู้รบด้วยแล้วยิ่งถูกเสียงของผู้ถืออาวุธดังกลบไปหมด  การรวมตัวเช่นนี้น่าจะช่วยทำให้เสียงของพวกเขาดังขึ้นบ้าง

          ผมอยากเห็นพวกเขาจับประเด็นเฉพาะเรื่องใหญ่ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการคลี่คลายปัญหาสถานการณ์และการฟื้นฟูพัฒนาสู่ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันของผู้คนในพื้นที่  อย่างเช่น: ทำอย่างไรจะหยุดการสู้รบระหว่างฝ่ายขบวนการกับฝ่ายรัฐ  ทำอย่างไรจะคืนความเป็นธรรมให้กับประชาชนที่เดือดร้อนจากคดีความมั่นคงทั้งหลายทั้งปวง  จะปฏิรูปโครงสร้างอำนาจอย่างไรให้เอื้อต่อการแก้ปัญหาชายแดนใต้อย่างยั่งยืน  จะฟื้นฟูพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และสิ่งแวดล้อมชายแดนใต้อย่างไรเพื่อเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนที่เข้มแข็ง

          อย่างไรก็ตาม  แม้การรวมตัวก่อตั้งสภาประชาสังคมชายแดนใต้จะเป็นความริเริ่มที่ดี  แต่การบริหารจัดการองค์กรในเชิงเครือข่ายที่ก้าวกระโดดแบบนี้  ต้องตระหนักว่าเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยที่จะทำให้ประสบความสำเร็จดั่งที่ตั้งใจ  งานนี้ยังต้องการนักวิชาการและนักบริหารจัดการที่เป็นกัลยาณมิตรจากภายนอกช่วยหนุนเสริม

          ขอเอาใจช่วยครับ

 

พลเดช  ปิ่นประทีป

Be the first to comment on "สภาประชาคมชายแดนใต้"

Leave a comment

Your email address will not be published.