ตลอดระยะเวลา 3 ปีกว่าที่ฮักแพง แปงอุบลได้เชิญชวนและชักชวนทั้งผู้อาวุโส และชาวอุบลฯ ผู้เอาธุระกับส่วนรวม ทั้งภาคราชการ เอกชน ประชาสังคม เอ็นจีโอ นักวิชาการ เยาวชน สื่อมวลชน มาร่วมกันสร้างความเคลื่อนไหวต่างๆ ให้เกิดขึ้นในท้องถิ่นอุบล…
วิลาวัณย์ เอื้อวงศ์กูล |
|||
|
|||
นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2545 ผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่านในท้องถิ่นอุบลเริ่มได้ยินชื่อโครงการชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.อุบลราชธานี ซึ่งต่อมาได้ถูกเรียกให้ง่ายขึ้นว่า ฮักแพง แปงอุบล จากนั้นนับตั้งแต่ปี 2546 ชื่อของฮักแพง…แปงอุบลก็เริ่มเป็นที่คุ้นหูมากขึ้นผ่านงานสืบค้นคนดี ความดี คองดี ของท้องถิ่นเมืองอุบลราชธานี ผ่านเรื่องราวดีๆ ที่มีคุณค่าซึ่งคนอุบลช่วยกันระดมความคิดและคัดเลือกกันขึ้นมา กลายเป็นงานสืบค้นทั้งจากเอกสารหนังสือและการสัมภาษณ์บุคคลโดยตรงหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง พร้อมทั้งแปลงข้อมูลต่างๆ ที่มีออกมาเป็นรูปธรรมในรูปแบบกิจกรรมที่แตกต่างหลากหลาย ดังต่อไปนี้
โครงการฮักแพงครูเพลงเมืองดอกบัว พ่อพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิต ความคิดผลงานของครูเพลงลูกอุบลโดยแท้ให้ออกมาเป็นสารคดีภาพเคลื่อนไหว(วีซีดี) หนังสือแม่มูล ดอกคูน เสียงแคนและเวทีสาธารณะเล่าเรื่องเมืองอุบลผ่านบทเพลง
โครงการเชิดชูบรรพชนคนการเมือง นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ เพื่อเป็นแบบอย่างของนักการเมืองที่ดีของท้องถิ่น อันเป็นที่มาของการก่อเกิดคณะละครหุ่นฮักแพง และละครหุ่นเรื่องต่างๆ อีกหลายเรื่องในเวลาต่อมา
โครงการฮูปเก่า…เว้าอุบล สืบค้นภาพเก่าและข้อมูลจากเจ้าของภาพ ก่อนจะนำมาเรียบเรียงและจัดเป็นหมวดหมู่ภาพชุดต่างๆ ไว้เผยแพร่ทางจดหมายข่าว วารสารข่าว วีซีดีออกอากาศทางสถานีเคเบิลท้องถิ่นทั้ง 2 สถานี และหนังสือรวมภาพฮูปเก่า…เว้าอุบล
โครงการท่องธารธรรม งานสืบค้นอัตชีวประวัติและหลักธรรมของพระเถระสำคัญในจังหวัด โดยเฉพาะ หลวงปู่ชา สุภทฺโท พร้อมเปิดโอกาสให้เยาวชนในท้องถิ่นเข้ามาเรียนรู้หลักธรรมและนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวัน และการจัดอบรมมัคคุเทศก์ท่องธารธรรมให้กับเยาวชนในท้องถิ่น
โครงการประเทศฮิมของ สร้างการเรียนรู้ให้กับประชาชนภายใต้แนวคิดทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย เรื่องไกลตัวต้องเป็นเรื่องใกล้ตัว ด้วยการเปิดเวทีสาธารณะรวมทั้งหมด 7 เวที ในเรื่องยุทธศาสตร์ซีอีโอ พืชตัดต่อพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) และเขตการค้าเสรี…เรื่องใกล้ชิดชีวิตคนอุบล
สุดท้ายที่น่าจะทำให้คนรู้จักฮักแพง…แปงอุบลมากขึ้นก็คือ ลานโสเหล่สาธารณะ ซึ่งจัดขึ้นทุกวันเสาร์ที่ 2 ของเดือน ณ ลานสาธารณะหลังศาลาประชาคม เพื่อเป็นพื้นที่สาธารณะให้กับคนอุบลได้มีทางเลือกใหม่ในการสร้างคุณภาพชีวิตหมู่เหล่าให้มากขึ้น
ตลอดระยะเวลา 3 ปีกว่าที่ฮักแพง แปงอุบลได้เชิญชวนและชักชวนทั้งผู้อาวุโส และชาวอุบลฯ ผู้เอาธุระกับส่วนรวม ทั้งภาคราชการ เอกชน ประชาสังคม เอ็นจีโอ นักวิชาการ เยาวชน สื่อมวลชน มาร่วมกันสร้างความเคลื่อนไหวต่างๆ ให้เกิดขึ้นในท้องถิ่นอุบล บางกิจกรรมได้สรุป จบเป็นบทเรียนไปแล้วก่อนหน้านี้ และบางกิจกรรมยังมีความพยายามจะทำให้เกิดความต่อเนื่องต่อไป แต่เมื่อโครงการฯได้เดินทางมาถึงวันสิ้นสุดตามเงื่อนไขของงบประมาณจากแหล่งทุนซึ่งตรงกับเดือนกรกฎาคม 2549 สำนักงานฮักแพง…แปงอุบล จึงได้จัดงานปิดโครงการขึ้น ณ อาคารอเนกประสงค์ โรงเรียนสมเด็จ วัดสุปัฎนารามวรวิหาร เพื่อเป็นการรายงานให้คนอุบลได้ทราบถึงการทำงานและผลที่เกิดขึ้น พร้อมแลกเปลี่ยนทิศทางวันข้างหน้าหลังจบโครงการ เพราะการจัดงานครั้งนี้มุ่งหวังจะเป็นไม้ต่อให้กับพลเมืองอุบลที่ยังมีความคึกคักและต้องการสืบสานงานข้างต้นต่อไป เพื่อให้สมกับคำขวัญของโครงการที่ตั้งไว้ตั้งแต่เริ่มต้นว่า “สืบเสาะ สร้างสรรค์ สืบสาน…คนดี ความดี คองดี”
โดยเฉพาะเมื่อใครต่อใครมักถามหาความยั่งยืน ถ้าเห็นเป็นเรื่อดี เราก็ยิ่งต้องช่วยกัน ยิ่งต้องตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรให้โครงการยังอยู่ต่อไปได้ด้วยพลังความร่วมมือของคนในท้องถิ่นเองและหน่วยงานในท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีอำนาจการตัดสินใจในหลายๆ เรื่องต่อความเป็นไปในท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งท้ายที่สุด สิ่งนั้นจะพิสูจน์ความมีชีวิตสาธารณะของท้องถิ่นว่าได้ให้ความสำคัญกับเรื่องส่วนตัวหรือส่วนรวมมากกว่ากัน |
|||
ที่มา : วารสารข่าว ทุ่งศรีเมือง ทุกเรื่องเมืองอุบล ปีที่ 2 ฉบับที่ 3 เมษายน – มิถุนายน 2549 หน้า 7 |
Be the first to comment on "สรุปปิดเพื่อส่งต่อ ฮักแพง แปงอุบล"