“ขยะ” ถือเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สุดที่เราหลงลืมและมองข้ามว่าเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมยุคบริโภคนิยม ความขัดแย้งกลายเป็นเรื่องของคนสองกลุ่ม คือระหว่างชุมชนที่อยู่ใกล้พื้นที่ทิ้งขยะของสาธารณะกับเทศบาล ขณะที่ผู้สร้างขยะถูกขีดวงให้อยู่วงนอก ไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ…
|
|||||||||
เปลี่ยนวิธีคิดจัดการ “ขยะ” สมบัติ เหสกุล ผู้จัดการโครงการการพัฒนากระบวนการและข้อเสนอทางเลือกเชิงนโยบายสาธารณะที่ดีด้วยกรอบคิดการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์(SEA) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ชี้ให้เห็นว่านโยบายการจัดการขยะก่อนปี 2535 ไม่มีอะไรโดดเด่น เพราะไปเน้นแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เน้นการจัดการโดยรัฐ ขาดการมีส่วนร่วม มิหนำซ้ำยังใช้งบประมาณมากและสร้างปัญหาให้กับชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ทิ้งขยะ กล่าวได้ว่าการจัดการขยะที่ผ่านมาไม่เป็นไปตามหลักการ “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย” แนวทางในการจัดการก็ไม่ชัดเจนไม่ต่อเนื่อง ขณะที่สังคมบริโภคนิยมปัจจุบันผลิตขยะที่มีความซับซ้อนมากขึ้น คือกำจัดได้ยากขึ้น ในภาพรวมของโครงสร้างการจัดการขยะจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงชุมชนเข้ากับการจัดการปัญหาขยะให้มากขึ้น ประเด็นสำคัญที่พูดถึงกันมากคือการสร้างจิตสำนึกสาธารณะ ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ลงความเห็นว่าคือสิ่งที่สำคัญที่ควรทำมากที่สุด และเป็นเรื่องที่ต้องสร้างกันตั้งแต่เด็ก คือสำนึกความรับผิดชอบ และรับผิดรับชอบต่อสังคม เช่น การปลูกฝังให้อุปนิสัยรักความสะอาด การเก็บของให้เข้าที่เข้าทาง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้สร้างได้จากในบ้าน เพราะแท้จริงแล้วขยะก็เริ่มจากในบ้าน จากเรื่องส่วนตัวที่ทุกคนผลักภาระความรับผิดชอบโดยการนำไปทิ้งไว้หน้าบ้าน ขยะจึงกลายเป็นเรื่องส่วนรวมไปทันที พื้นที่นอกบ้าน องค์กร สถาบันต่างๆ เช่น โรงเรียน วัด อบต. ชุมชน ต้องหาช่องทางที่จะดึงเอาเด็กมาจัดโครงการเกี่ยวกับการจัดการขยะได้ อาจถือโอกาสช่วงวันหยุดสำคัญต่างๆ มาทำความสะอาดบ้านและชุมชนกัน ในส่วนของผู้ประกอบการที่สร้างขยะให้กับชุมชนนอกจากจะต้องรับผิดชอบต่อสังคมเช่นการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพแล้ว ต้องมีระบบการจัดการขยะที่ดี และมีกิจกรรมส่งเสริมชุมชนในเรื่องต่างๆ ด้วย สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องให้ความหมายต่อขยะเสียใหม่ จากที่มองว่าขยะคือสิ่งที่ไม่ต้องการ คือสิ่งที่ต้องกำจัดทำให้มุ่งไปแสวงหาวิธีกำจัด แทนที่จะมองว่าขยะคือสิ่งที่เราไม่ใช้แล้ว แต่มีคุณค่า วิธีการจัดการสิ่งที่ไม่ใช้แล้วทำได้หลายวิธี เช่น บางอย่างสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ทำปุ๋ยใหม่ หรือที่ไม่สามารถนำมาใช้แต่เป็นเชื้อเพลิงก็สามารถนำไปเผาแปลงเป็นพลังงานความร้อนได้ นพ.เกษม ทิ้งท้ายว่า หากเราจัดการขยะไม่ดีจะเกิดผลตามมาทั้งทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายสุขภาพ ทำลายสันติสุขและทรัพยากร ขณะที่ประธานมูลนิธิชุมชนไท มรว.อคิน รพีพัฒน์ เสนอในประเด็นเดียวกันว่าทำอย่างไรให้คนไทยคิดถึงพื้นที่สาธารณะ แทนที่จะมองว่าพื้นที่สาธารณะไม่ใช่ของเรา เป็นของหลวง ซึ่งเป็นการผลักภาระให้หลวงจัดการ บ้างก็ว่าจ่ายค่าเก็บขยะแล้วซึ่งเป็นความคิดที่คับแคบเกินไป ในหลายพื้นที่ที่ยืนยันว่าการจัดการขยะของภาครัฐไม่ประสบความสำเร็จ เช่นในตอนแรกเทศบาลนำถังขยะไปตั้งไว้ให้ชุมชน แต่ไม่มาเก็บตามกำหนด พอล่วงเวลาไปนานก็ส่งกลิ่นเหม็น ชุมชนทนไม่ไหวก็ต้องมาจัดการเอง ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่าจริงๆ แล้วชุมชนมีศักยภาพในการจัดการ หากเรายังคิดบนฐานว่าเป็นของหลวง ให้หลวงจัดการนั้น จะเห็นว่าในความเป็นจริงมันจัดการไม่ได้ มรว.อคิน เห็นว่าการร่วมมือกันของชุมชนจากการขยะนี้ยังนำไปสู่ความร่วมมือกันแก้ปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น ปัญหาของวัยรุ่นในหลายพื้นที่ ซึ่งพวกเขาขาดพื้นที่ในการแสดงออกฯลฯ และยังนำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชน ถ้าให้ชุมชนผู้ผลิตขยะเป็นผู้จัดการขยะด้วย ย่อมนำไปสู่การลดปริมาณขยะไปในตัว ที่สำคัญคือต้องเปลี่ยนทัศนคติที่มองว่าขยะเป็นสิ่งที่ใช้ไม่ได้ ไม่มีราคา ท้องถิ่นกับการจัดการ “ขยะ” ส่วนมุมมองของท้องถิ่นต่อการจัดการขยะนั้น รศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีตัวอย่างจากเทศบาลของญี่ปุ่นที่สร้างความเข้มแข็งขึ้นได้จากการจัดการขยะ โดยไม่ยอมถูกกำหนดแนวนโยบายที่มาจากภาครัฐฝ่ายเดียว แต่เสนอแนวทางของชุมชนเองด้วย และพบว่าวิธีการแยกขยะและนำกลับมาใช้ใหม่สามารถลดขยะไปได้ถึงร้อยละ 70 เลยทีเดียว หากย้อนมาดูในสังคมไทย อบต.ส่วนใหญ่ในชนบทยังไม่สนใจหรือมีท่าทีต่อการจัดการขยะ เมื่อปริมาณขยะเริ่มมากขึ้น อบต.ก็เรียนรู้วิธีการจัดการแบบเทศบาลในเมือง รศ.ดร.จรัส ยกตัวอย่าง อบต.ที่สมุทรสาคร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีคลองมาก การเก็บขยะจึงเป็นไปด้วยความลำบาก ขยะส่วนหนึ่งจึงลงไปอยู่ในน้ำ จึงมีการคิดหาวิธีให้ครัวเรือนรวมกลุ่มแยกขยะและจัดการเผาในถังน้ำมันที่ อบต.จัดให้ตอนแรก ขยะที่ครัวเรือนแยก ก็จะนำมาขาย 2-3 ปีพอถังหมดอายุก็นำเงินมาซื้อถังเปลี่ยนใหม่ได้ อบต.จึงลงทุนครั้งเดียวชุมชนก็พึ่งตัวเองได้ ขณะที่ อบต.และเทศบาลบางแห่งยังมีความคิดล้าสมัย เพราะไปติดแต่เรื่องหาพื้นที่ทิ้งขยะ การปรับที่ และรอของบจากรัฐบาล ซึ่งต้องใช้งบประมาณมหาศาล ปัจจุบันพบว่าในหลายพื้นที่มีองค์กรเข้าไปสนับสนุน หรือบางชุมชนก็จัดการคิดหากิจกรรมที่เกี่ยวกับการจัดการขยะโดยดึงเยาวชนในพื้นที่ร่วม ทำให้เด็กมีรายได้พิเศษจากการแยกขยะบางประเภทไปขาย ขยะเปียกจะมีการแจกเชื้อจุลินทรีย์ให้แต่ละครัวเรือนนำไปทำปุ๋ย อาหารปลา เป็นต้น การสร้างกิจกรรมเกี่ยวกับขยะทำได้หลายวิธี บางชุมชนใช้การทอดผ้าป่าขยะรีไซเคิล เพื่อสร้างความร่วมมือภายในชุมชน การร่วมกับจัดการขยะของชุมชนต่างๆ เวลานี้จึงเป็นการเคลื่อนกระบวนการภาคสังคมไปด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย รศ.ดร.ณรงค์ เพชรประเสริฐ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่าขยะกับการขับเคลื่อนกระบวนการภาคสังคมต้องไปด้วยกัน คือต้องคิดให้เป็น ปฏิบัติให้ได้จริง และเกิดประโยชน์จากสิ่งที่ทำไป ซึ่งนำไปสู่พลังทางสังคม ทางเลือกหลากหลายจัดการ “ขยะ” ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จเริ่มจากคนกลุ่มเล็กๆ ในสถาบันการศึกษา เช่นโรงเรียนบ้านกิโลสาม จ.สระแก้ว โดยอาจารย์โกมล จันทวงษ์ มีการตั้งธนาคารขยะให้เป็นศูนย์รวมของการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม เริ่มคิดสร้างมูลค่าจากขยะจนนำไปสู่เงินทุนในการอุดหนุนการศึกษา และด้านสุขอนามัย เมื่อโรงเรียนทำสำเร็จก็ขยายแนวคิดสู่ชุมชน ในเมืองใหญ่มีตัวอย่างจากโรงเรียนรุ่งอรุณ อาจารย์อภิดลน์ เจริญอักษร นำเด็กนักเรียนเข้าร่วมโครงการ “ของเสียเหลือศูนย์” จากการคัดแยกขยะและนำไปใช้ประโยชน์ต่อรวมถึงขายให้กับผู้รับซื้อ สิ่งที่ได้มิใช่รายได้จากการขายขยะ แต่เป็นการสร้างจิตสำนึกสาธารณะที่เข้าไปอยู่ในจิตใจของเด็ก ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดมากสำหรับคนในเมือง จากเดิมที่โรงเรียนมีปัญหาการจัดการขยะที่แก้ไม่ได้ กลายเป็นที่ที่ไม่มีของเหลือใช้เพราะขยะจำพวกบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ถึงร้อยละ 99 สามารถนำไปใช้ใหม่ได้ นอกจากนี้ยังมีแนวคิดจัดการคลังท้องถิ่นกับการจัดการขยะ ซึ่งความสำเร็จในการจัดการปัญหาดังกล่าวต้องเริ่มที่การสื่อสารกับประชาชน คนในชุมชนเองต้องสร้างสำนึกเรื่องการแยกขยะเพื่อลดภาระของเทศบาล ขณะที่ข้าราชการและผู้บริหารต้องเอาจริงเอาจังและตามติดปัญหาอย่างเหนียวแน่น ส่วน ”นโยบายการจัดการขยะ” นั้นต้องทำให้นโยบายเป็นปฏิบัติการทางสังคมที่เกิดจากประชาชนมิใช่จากภาครัฐ หรือสังคมต้องเป็นผู้กำหนดกติกาเอง ที่สำคัญคือเวลานี้ความรู้ในการจัดการขยะหายไปค่อนข้างมาก และยังเกิด “ช่องว่างของความรู้” ที่ไม่สามารถสื่อสารกันได้ ดังนั้นการสร้างกระบวนการร่วมในการดำเนินการจึงเป็นสิ่งสำคัญ และขยะคือทรัพยากรที่ให้มูลค่าต้องมีการนำกลับมาใช้กับภาคสังคมมากขึ้น ดังจะเห็นว่าการจัดการปัญหาขยะสามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันได้ ทิศทางการจัดการปัญหาขยะเวลานี้ ในหลายกลุ่มตัวอย่างถือว่าเริ่มไปได้ดี นอกจากการนำสิ่งเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่ หรือแปรสภาพไปเป็นอย่างอื่นที่เกิดมูลค่า ยังจำเป็นต้องมีแนวทางส่งเสริมให้ลดปริมาณขยะลง รวมถึงการหลีกเลี่ยงใช้บรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่ไม่ได้ การสร้างจิตสำนึกสาธารณะรู้จักรับผิดชอบต่อสังคม น่าจะเป็นแนวทางที่ยั่งยืนที่สุดที่สามารถสร้างแรงขับเคลื่อนภาคสังคมไปได้ไกลกว่าการจัดการขยะที่เกิดขึ้นเวลานี้ 1-7 สิงหาคม 2548 |
|||||||||
ที่มา :สำนักข่าวประชาธรรม |
Be the first to comment on "สร้างจิตสำนึกสาธารณะจัดการ ขยะ"