สร้างชีวิตที่อยู่เย็น – เป็นสุข ด้วย พลังประชาชน

เมื่อประมาณสี่ทศวรรษที่ผ่านมา บริเวณชายฝั่งทะเลสาปยูเนี่ยน ในรัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เกิดชุมชน “บ้านเรือ” ของคนชั้นกลางและยากจนรายรอบทะเลสาป ทำความไม่พอใจให้นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม…

โดย ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์

นสพ.มติชน วันพุธที่ 6 กรกฎาคม 2548

        ชุมชนทางกายภาพ คือ การที่ผู้คนหลากหลายต้องมาดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ที่แม้แต่ละคนจะมี ต้นแหล่งแห่งที่ของตน ไม่ว่าจะเป็นบ้านพักอาศัย หรือ สถานที่ประกอบอาชีพ ที่แตกต่างกันไปตามสถานภาพทางเศรษฐกิจ สังคม แต่ในที่สุดแล้ว บ้านเศรษฐี บ้านยาจก ร้านขายของชำ แม่ค้าในตลาด ร้านสะดวกซื้อ ฯลฯ ต่างก็ต้องมีพื้นที่สาธารณะที่ใช้ร่วมกัน ซึ่งอาจจะเป็นพื้นที่เพื่อการคมนาคม การซื้อขาย การพักผ่อน การออกกำลังกาย การพบปะเพื่อสนทนาวิสาสะ การประกอบกิจกรรมทางวัฒนธรรม ฯลฯ ที่สำคัญความผูกพันมิใช่แค่ทางกายภาพ แต่เป็นการร่วมชะตากรรมแห่งวิถีสังคม ดังนั้น ถ้าต่างตนต่างคำนึงแต่ประโยชน์ตน ดูแลแต่พื้นที่ของตน  สภาพชีวิตสาธารณะที่น่าอยู่ อันมีผลดีต่อคุณภาพชีวิตของทุกคน ย่อมไม่มีทางเกิดขึ้นได้

เมื่อประมาณสี่ทศวรรษที่ผ่านมา บริเวณชายฝั่งทะเลสาปยูเนี่ยน ในรัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เกิดชุมชน

พื้นที่สาธารณะที่ลำปาง

 

บ้านเรือของคนชั้นกลางและยากจนรายรอบทะเลสาป ทำความไม่พอใจให้นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะกังวลว่าชุมชนจะปล่อยของเสียสู่ทะเลสาป ในขณะที่นักลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ กะการกำไร ด้วยการเล็งหาพื้นที่เพื่อสร้างบ้าน และ รีสอร์ท  ที่อาจส่งผลให้ผู้อาศัยในบริเวณนั้นต้องแยกย้ายจากรกรากที่ปักหลักดำรงชีวิต ดูประหนึ่ง ความแตกต่างกำลังจะนำไปสู่ปัญหา ถ้าเป็นในสังคมไทย ภาพที่เราคุ้นชิน คือ การปักป้าย เดินขบวน ไปจนถึงความขัดแย้ง ความรุนแรง .. แต่ที่นั่น.. ชาวบ้านเรือ รวมตัวกัน หาแนวทางสื่อสารกับนักธุรกิจ และนักอนุรักษ์ โดยต่างฝ่ายต่างรักษาผลประโยชน์ทั้งของตนและของส่วนรวม เช่น เจ้าของบ้านเรือยอมจ่ายค่าท่อระบายของเสียไม่ให้ปล่อยลงทะเลสาป การตกลงสร้าง ชีวิตสาธารณะ ที่น่าอยู่นี้ เป็นไปโดย ความร่วมแรงร่วมใจ ไม่ได้ใช้ อำนาจ หรือ กฎหมายบังคับ จนทุกวันนี้ บริเวณดังกล่าว ยังคงความเป็นชุมชนที่น่าอยู่ ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ สวยงาม

         โครงการชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) โดยมุ่งหวังเสริมสร้างวิถีสาธารณะที่เข้มแข็ง เน้นประเด็นด้าน สุขภาวะด้วยกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของคนในสังคม โครงการนี้ ดำเนินการในพื้นที่ 35 จังหวัด คือ ภาคเหนือที่ ลำปาง แม่ฮ่องสอน เชียงราย ลำพูน พะเยา เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ตาก นครสวรรค์  ภาคอีสานที่ ชัยภูมิ สุรินทร์ อำนาจเจริญ นครราชสีมา เลย ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี ภาคใต้ ที่ปัตตานี นราธิวาส พัทลุง พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี ตรัง ที่เหลืออีก 11  จังหวัดภูมิภาคส่วนกลาง  คือ อุทัยธานี ลพบุรี นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ นครนายก สมุทรปราการ ตราด ปราจีนบุรี สระบุรี กาญจนบุรี สมุทรสงคราม  โครงการนี้ทำงานกับกลุ่มชุมชนในพื้นที่  35 จังหวัด มาตั้งแต่ปี 2546  และโครงการจะสิ้นสุดในปีหน้า คือปี 2549 นี้แล้ว

          ลักษณะสำคัญของ โครงการชีวิตสาธารณะ ท้องถิ่นน่าอยู่ คือ การเสริมสร้างให้ พลเมืองผู้ตื่นตัวหรือ กลุ่มคนเอาธุระเรื่องสาธารณะที่สนใจต้องการร่วมแก้ไขปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ด้านต่าง ๆ ในชุมชน ด้วยมุ่งหวังสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีร่วมกันในสังคม ได้เข้ามาร่วมงานกับโครงการ ซึ่งมีแนวทางสำคัญในการ เสริมสร้างท้องถิ่นน่าอยู่ และ ชีวิตที่อยู่เย็นเป็นสุข คือ

“สองล้อกับ ด.เด็ก” ที่แม่กลอง

1. การกำหนดประเด็นปัญหาโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งเป็นขั้นตอนงานในช่วงระยะปีแรกของโครงการ ด้วยการทำงานที่ยึดชุมชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง จึงทำให้เมื่อโครงการเข้าสู่ปีที่ 2  และปีที่ 3 (ปี 2548 – 2549) ประเด็นของแต่ละจังหวัด จึงแตกต่างหลากหลาย อย่างมีคุณค่า น่าสนใจ กล่าวคือ มีทั้งด้าน วัฒนธรรม ภูมิปัญญา สิ่งแวดล้อม สภาพกายภาพของเมือง เศรษฐกิจพอเพียงแบ่งปัน เกษตรปลอดสารพิษ ฯลฯ รูปธรรม เช่น คนแม่สอดกับการเป็นเขตเศรษฐกิจชายแดน  วิถีท้องถิ่นที่ถูกท้าทายที่แม่กลอง ตลาดสีเขียวสายใยของชุมชนเมืองกับชนบทที่สุรินทร์  ชะตากรรมแม่น้ำปราจีนบุรีที่กำลังถูกกระทำทั้งจาก นาข้าว กระชังปลา โรงงานอุตสาหกรรม ท่อระบายน้ำเสียจากเมือง ฯลฯ

ลาน “โสเหล่” จ.อุบลราชธานี
       2. การกำหนดทางออก ทางเลือกของปัญหา หรือ ชีวิตที่พึงปรารถนาร่วมกัน ด้วยกระบวนการสื่อสารสัมพันธ์ สนทนาอย่างพินิจพิเคราะห์ หรือ มีวิจารณญาณด้วยข้อมูล เหตุผลไม่ใช่อารมณ์ ความรู้สึก สิ่งนี้เป็นบุคลิกสำคัญของการทำงานโครงการชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ โดยมีกระบวนการพัฒนาศักยภาพ อาสาสมัครผู้ทำงาน ทั้งหลักคิด แนวทางปฏิบัติ ในการพูด การฟัง การคิด การทบทวน และ ออกแบบการทำงาน ด้วยการจัดกิจกรรมสนับสนุนอย่างเป็นระบบ สม่ำเสมอ และ ต่อเนื่อง อย่างเชื่อมั่นว่า ความคิดที่เป็นระบบ

ศักยภาพการสื่อสารและการทำงานกับเครือข่าย และชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างสรรค์  รวมทั้ง การจัดกิจกรรมชุมชน และ เวทีพูดคุย สนทนา ของผู้คน คือกลไก ที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน ความรู้ ความคิด ประสบการณ์ และที่สำคัญ เป็นการทำให้เกิด ความเข้าใจ และยอมรับเพื่อนร่วมชุมชน อย่างเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ส่งผลให้เกิด พลังทางบวกในการร่วมสร้าง สังคมที่ดี ด้วยพลังชุมชน ตัวอย่างรูปธรรมที่น่าสนใจ เช่น เวที โสเหล่สาธารณะที่อุบลราชธานี และ การจัดกิจกรรมสาธารณะรูปแบบหลากหลายของจังหวัดที่ร่วมโครงการ

ลาน “ลองแล” จ.ตรัง
3. การรวมตัวเป็นเครือข่ายเพื่อเสริมสร้าง พลัง และความเข้มแข็งให้กันและกัน การมีประเด็นสาธารณะ มีกิจกรรมสาธารณะ มีการสื่อสาร สนทนา สัมพันธ์ กันอย่างมีเป้าหมายเพื่อประโยชน์สาธารณะ  ทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ฉันท์มิตรแนวระนาบ ไม่มีสายการบังคับบัญชา หรือใช้อำนาจกดขี่ ข่มขู่ ต่างคนต่างมาสัมพันธ์กันในฐานะ พลเมืองเหมือนกันเกิดการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม เชื่อมโยงเป็นเครือข่าย รักษาสัมพันธ์กันด้วยการสื่อสาร ข้อมูล ความรู้ ความคิดเห็น ความร่วมแรงร่วมใจ รวมทั้งการให้กำลังใจกันและกัน มุ่งเสริม พลังความดีเพื่อชุมชน และส่วนรวม จึงนับเป็น การสร้าง สุขภาวะ ที่แท้จริง และ ยั่งยืน

4. รักษาคุณค่า และสายสัมพันธ์ด้วยการหมั่นประเมินผลโดยสาธารณะ สิ่งที่น่า

เศร้าและเกิดขึ้นบ่อย คือ ความสัมพันธ์เชิงสาธารณะมักจะถูกทำลายลงด้วยวิธีการประเมินผลแบบดั้งเดิม ที่ผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญใช้วิธีการเชิงปริมาณ และ มุ่งผลสำเร็จ ซึ่งมักลดทอนคุณค่างานสาธารณะ โดยเฉพาะ คุณค่าของการมีส่วนร่วม และกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนโครงการชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญคือ ทักษะ พลังปัญญา  และ พลังการทำงานเพื่อสาธารณะ ต้องคงอยู่กับประชาชนตลอดไป แม้โครงการจะต้องปิดลงดังนั้น จึงมีการจัดกระบวนการเสริมสร้างแนวคิด และทักษะการดำเนินการให้ชุมชนประเมินผลกิจกรรมด้วยตนเอง ซึ่งตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ได้พิสูจน์ชัดว่า ทำให้เกิดการประเมินอย่างสร้างสรรค์ และปรับปรุงการทำงานอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้งานมีทิศทาง และ รูปธรรมที่ชัดเจน ที่สำคัญ รักษาทั้งคุณค่างาน และ คุณค่าชุมชน รวมทั้งคนทำงาน

 

ด้วยการทำงานที่มุ่งเน้น การสร้าง ปัญญาและ พลเมืองที่ตื่นตัวแม้จะต่างเพศ วัย ฐานะ อาชีพ แต่มี ใจดวงเดียวกันคือ ต้องการมี สุขภาวะสังคมที่ประชาชนมีส่วนกำหนดชะตากรรมร่วมแห่งชีวิตสาธารณะ ในช่วงหนึ่งโครงการนี้จึงถูกมองอย่างหวาดระแวง และ ไม่เข้าใจ

ชีวิตสาธารณะ คือ อะไร เกี่ยวข้องกับท่าน หรือไม่   เป็นเรื่องที่ ต้องพิสูจน์และ ตาม

ไปดูด้วยตนเอง ในวันพฤหัสบดีที่ 7 เดือนนี้ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ปี2548  ที่อิมแพ็คเมืองทองธานี ในช่วงบ่ายที่ห้องย่อย 5 ชีวิตสาธารณะ เมืองน่าอยู่ สู่ความอยู่เย็นเป็นสุข ท่านจะได้พบ ตัวจริงจากทุกพื้นที่โครงการ ได้สัมผัส รูปธรรม ของโครงการจากนิทรรศการที่นำมาแสดง ได้เข้าใจและร่วมเห็นคุณค่าการสร้างชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ ด้วยการฟังเรื่องราวการทำงานและผลที่เกิดในชุมชน ของตัวอย่างจาก 5 จังหวัด คือ ปราจีนบุรี ตรัง ลำปาง สุรินทร์ ตาก เชิญไปร่วมงานครั้งนี้ เพื่อพิสูจน์ ระดับความเป็นจริงของพลังชุมชน ที่มุ่งมั่นร่วมสร้างสังคมที่ดี หรือ ชีวิตสาธารณะที่เบ่งบานว่าเกิดขึ้นได้ หรือไม่ เพียงใด ในสังคมไทย ซึ่งส่วนหนึ่งในบทความเรื่อง Elements of A Strong Society and Healthy Public Life ที่โครงการได้จัดแปลและพิมพ์เป็นหนังสือเล่มน้อยชื่อว่าจากปัจเจกสู่สาธารณะ : กระบวนการเสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง”** ของเดวิท แมททิวส์ ประธานมูลนิธิแคทเทอริง ซึ่งทำงานสนับสนุนด้านประชาสังคม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขศึกษาธิการและสวัสดิการ ประเทศสหรัฐอเมริกา เขียนไว้ว่า “…ในชุมชนที่ชีวิตสาธารณะเบ่งบาน ชุมชนเต็มไปด้วยภาวะการนำที่แต่ละคนสามารถจะริเริ่มนำในสิ่งที่สร้างสรรค์ ผู้นำมิได้มีไว้เพื่อทำหน้าที่ ปิดประตู  แต่เป็นคน เปิดประตูดึงการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้คนอย่างมากล้น และไม่ผูกขาดการเป็นเจ้าของปัญหาหรือเจ้าของชุมชน…”

**สนใจหนังสือ แจ้งชื่อที่อยู่ไปยัง สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา 693 .บำรุงเมือง เขตป้อมปราบ กทม.10100

Be the first to comment on "สร้างชีวิตที่อยู่เย็น – เป็นสุข ด้วย พลังประชาชน"

Leave a comment

Your email address will not be published.