สังคมจัดการตนเอง
ช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานที่มวลน้ำบุกกรุงได้ผ่านพ้นไปแล้ว ฝีไม้ลายมือของผู้บริหารประเทศและท้องถิ่นเป็นอย่างไรกันบ้าง ก็ได้เห็นกันอย่างหมดจดล่อนจ้อนแล้วโดยมีผลงานขั้นการเตรียมตัวและขั้นการรับมือในสถานการณ์จริงของแต่ละส่วน แต่ละระดับเป็นหลักฐานยืนยัน
ในตอนนั้นใครจะวิพากษ์วิจารณ์หรือเสนอแนะอันใดก็กลัวโดนข้อหาตั้งตนเป็นอริกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดย ๑๕ ล้านคะแนนเสียง ซึ่งที่จริงมันเป็นคนละเรื่องกันแท้ๆ แต่เอาเถอะ ยามนั้นต้องถนอมใจกันไว้ให้มากและช่วยตัวเองกันไปพลาง ต่อนี้ไปถึงเวลาต้องพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมาและหยุดหวาดระแวง หยุดยัดเยียดข้อกล่าวหากันเสียที
มวลน้ำถล่มกรุงเป็นพิบัติภัยธรรมชาติจากภาวะโลกร้อน ส่วนการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนและโรงงานอุตสาหกรรมขวางทางน้ำคือสาเหตุใหญ่ที่เราต้องรับผลกรรม อันนี้คนไทยน่าจะเข้าใจอย่างทราบซึ้งทั่วกันแล้วเพราะสื่อมวลชนและนักวิชาการช่วยกันให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง แต่ประเด็นผลกระทบอันเกิดจากการจัดการปัญหาที่ผิดพลาดนี่ซิ เป็นเรื่องที่สังคมต้องสะสางและสรุปบทเรียนครั้งใหญ่
ในภาพรวม ผมคิดว่ารัฐบาลและนักการเมืองที่เข้ามาบริหารประเทศรุ่นนี้สอบตก นี่ก็ไม่ได้หมายความว่าถ้าคนอื่นมาเป็นรัฐบาลจะสอบได้หรอกนะครับ ภาคราชการและหน่วยงานรัฐนั้นพบว่าเป็นอัมพาตไปเกือบทั้งหมดเพราะมัวแต่รอนักการเมืองสั่ง ปัญหาความขัดแย้งและคดีความที่กำลังทะยอยออกฤทธิ์จะเป็นเครื่องยืนยัน โชคร้ายที่สังคมไทยมีวิบากกรรมจากความแตกแยกทางความคิดและการเมืองอย่างเรื้อรัง ด้วยยุทธวิธีการเมืองการตลาดที่ใช้ต่อสู้กันไปมา ในที่สุดคนไทยจึงได้นายกรัฐมนตรีผู้อ่อนเยาว์มากุมบังเหียนประเทศในยามที่มีวิกฤตรอบด้าน มันทำให้ผมนึกถึงหนังจีนอิงประวัติศาสตร์ที่สถาปนาฮ่องเต้วัยอนุบาลขึ้นมาเป็นประมุขอย่างไรอย่างนั้น บ้านเมืองของเรายามนี้เหมือนเป็นของเล่นไปแล้ว
เรื่องสรุปบทเรียนรู้ในด้านต่างๆ ต้องค่อยว่ากันไป สิ่งสำคัญที่เร่งด่วนกว่าคือการจัดการปัญหาปัจจุบันและอนาคตด้วยตัวเราเอง มีประเด็นที่ฝากให้ช่วยกันคิด
๑. เครือข่ายผู้ประสบภัย ผมดูจากไทยพีบีเอสเวลานี้ใครๆ ก็เป็นผู้ประสบภัยด้วยกันทั้งนั้น ทั้งชาวบ้าน ชาวเมือง ข้าราชการ ศิลปินดารานักแสดง กวี นักเขียน อำมาตย์ ไพร่ พ่อค้าวานิช นักข่าว นักการเมือง มีกันครบถ้วนทุกอาชีพทุกชั้นชน ทำอย่างไรจะถักทอเชื่อมโยงกัน ระดมความคิดสติปัญญาเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูตัวเองและกำหนดทิศทางการป้องกันและรับมือพิบัติภัยที่อาจจะมาอีกใน ๘-๙ เดือนข้างหน้า อะไรที่ต้องปะทะประสานกับภาครัฐและนักการเมืองก็ทำไป อย่าไปทิ้งเขา แต่ฝากความหวังไว้ที่ตัวเราเองเป็นหลัก
๒. กรอบความคิดความเคยชิน ที่ผ่านมาคนไทยเรามักขี้เกรงใจและให้เกียรติข้าราชการและนักการเมือง แม้นักวิชาการและเอ็นจีโอเวลาจะเสนอแนวคิดใหม่ๆ ก็ยังชอบพูดอ้อมค้อมเพื่อถนอมน้ำใจอันเป็นวิถีแบบไทยๆ แต่บทเรียนจากหายนะภัยคราวนี้ผมคิดว่าถึงเวลาที่ต้องรื้อกรอบความเคยชินนี้ จงอย่ายึดติดกับโครงสร้าง กลไกและแผนรับมือพิบัติภัยของทางราชการใดๆ เอามาดูได้แต่ต้องกล้าคิดนอกกรอบให้มาก กล้าชำแหละกันอย่างตรงไปตรงมาถึงสาเหตุความล้มเหลว หากจำเป็นต้องสร้างกลไกใหม่ก็ออกแบบกันขึ้นมาและลงมือทำในนามภาคประชาชน ด้วยทุนทางสังคมของเราเอง อย่างไรก็ตามควรติดตามเฝ้าระวัง ตรวจสอบและเข้ามีส่วนร่วมกับกรรมการฟื้นฟูทุกชุดที่รัฐบาลตั้งขึ้นอย่างกัดติด อย่าปล่อยให้ทำแบบแก้บน
๓. ข้อมูลวิชาการและเทคโนโลยี ในศึกมวลน้ำครั้งนี้เราได้เห็นผู้นำชุมชนและผู้นำวงการเกิดขึ้นใหม่ๆ มากมาย ซึ่งเป็นตามธรรมชาติ ขนาดหมู่บ้านจัดสรรในเมืองกรุงที่อยู่ตัวใครตัวมันยังเกิดการรวมตัวกันได้ ทางด้านวิชาการเราก็ได้เห็นตัวตน ความเชี่ยวชาญและศักยภาพของนักวิชาการและสถาบันของพวกเขา ซึ่งมีจุดแข็งและข้อจำกัดที่ต่างกันไป หน้าที่ของภาคประชาชนคือการทำงานร่วมและเลือกใช้บริการจากเครือข่ายเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นด้านทำนายลมฟ้าอากาศ การชลประทาน ผังเมือง ฟลัดเวย์ กู้ชีพกู้ภัย องค์กรชุมชนท้องถิ่น คมนาคมสื่อสาร ช่างเครื่อง อุปกรณ์จักรกล
๔. จัดการตนเอง ในการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่นรับมือภัยธรรมชาติโดยทั่วไปควรมีเครือข่ายภาคประชนดูแลกันเองอย่างเบ็ดเสร็จแบบ Total Warfare Strategy ทั้งนี้โดยแบ่งกันเป็นรายพื้นที่ไป ขนาดพื้นที่ ๑ อำเภอน่าจะเป็นยูนิตที่พอเหมาะสำหรับการวางแผน ประสานสนับสนุนและการติดตามประเมินผล ส่วนการปฏิบัติการนั้นชุมชนท้องถิ่นระดับตำบลน่าจะดีที่สุด อย่างไรก็ตามยังมีเรื่องการจัดการลุ่มน้ำแบบองค์รวมในระยะยาว ซึ่งกลไกคณะกรรมการลุ่มน้ำ ๒๕ คณะของภาครัฐที่มีอยู่ถูกพิสูจน์แล้วว่าแทบไม่ได้ช่วยอะไรเลย ภาคประชาชนจึงควรจัดตั้งตนเองเป็นนิเวศน์ลุ่มน้ำขนาดจิ๋วคือประมาณ ๓๐-๕๐ ตารางกิโลเมตร อันอยู่ในวิสัยที่ชาวบ้านสามารถจัดการตัวเองได้ แล้วเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายเพื่อหนุนเสริมตรวจสอบไปในตัว
Be the first to comment on "สังคมจัดการตนเอง"