สายน้ำ.. ภูมิปัญญา… ป่า และ เมือง…แม่ฮ่องสอน

เมืองสามหมอก หรือ แม่ฮ่องสอน ดินแดนเลื่องชื่อของความงดงามแห่งขุนเขา สายน้ำ ทะเลหมอก และอากาศที่สดชื่น จนเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และ ต่างประเทศ

โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่

ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์

เมืองสามหมอก หรือ แม่ฮ่องสอน ดินแดนเลื่องชื่อของความงดงามแห่งขุนเขา สายน้ำ ทะเลหมอก และอากาศที่สดชื่น จนเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และ ต่างประเทศ

ดังนั้น ข้อมูล ข่าวสาร เรื่องราวของแม่ฮ่องสอนที่แพร่หลายจึงมักเป็นเรื่องที่กิน ที่พัก ที่เที่ยว และ กิจกรรมทางวัฒนธรรมที่ทุกวันนี้ ถูกลดคุณค่าให้เป็นเพียง จุดขาย ของท้องถิ่นต่าง ๆ อย่างละเลยเหตุที่มา คุณค่าแห่งกิจกรรม และความผูกพันกับผู้คนพื้นถิ่น จนดูเหมือนว่า ผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ที่ถือกำเนิด เกิดเป็น และมีอยู่ที่แม่ฮ่องสอน กำลังกลายเป็นเพียงสิ่งประดับติดพื้นที่ เครื่องสร้างสีสัน ผู้ให้บริการ และผู้พลอยได้รับประโยชน์บ้าง เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ส่วนใหญ่ของผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการในแม่ฮ่องสอน คือ ผู้อพยพไปจากเมืองอื่น ที่อื่น ทั้งชาวไทย และ ชาวต่างประเทศ

ในขณะที่ แม่ฮ่องสอน กำลังถูกเชยชม และร่วมใช้อย่างรุนแรง จากนักท่องเที่ยวจำนวนนับพันๆในแต่ละวัน .. ผู้คนหลากหลายกลุ่มและเผ่าพันธุ์ที่นั่น กำลังมุ่งมั่น ฟื้นคืน ปกปักรักษา ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการผังเมือง ด้วยความหวังว่า การมีผังเมืองที่ดีโดยยึดประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ จะเป็นการจัดระเบียบการอยู่ร่วมกันของ ผู้คนพื้นถิ่น และ นักท่องเที่ยว รวมทั้งผู้มีเงินที่เข้าไปกว้านซื้อที่ดิน กักเก็บ และ พักอาศัย อยู่ในแม่ฮ่องสอน ให้ร่วมกันใช้ชีวิตอย่างเคารพและเกื้อกูลพิทักษ์รักษาธรรมชาติ และ วิถีชีวิตท้องถิ่น เป็นการอยู่เพื่อวันข้างหน้า มิใช่เสพสุขเพียงเพื่อปัจจุบัน ดังที่ กลุ่มชุมชนต้นน้ำแม่ยวม ที่บ้านปางตอง ต.แม่อูคอ อ.ขุนยวม ได้พยายามสร้างและขยายกลุ่มเกษตรอินทรีย์ เพื่อลดการทำลายแหล่งน้ำและผืนดิ


 

สนั่นตน์ มหาบุรุษ เกษตรกรชาวม้ง หนึ่งในคนต้นแบบที่มุ่งมั่นในวิถีเกษตรอินทรีย์ ทั้งที่ถูกตั้งคำถามอย่างท้าทายจากหลายฝ่าย แม้แต่เพื่อนเกษตรกรด้วยกันว่า ทำอย่างนี้แล้วเมื่อไรจะรวย แต่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เขาเกิดความเชื่อมั่นกว่า 80% ว่าเกษตรอินทรีย์คือการหาเลี้ยงชีพอย่างรับผิดชอบต่อสายน้ำ และ แม่พระธรณี ที่สำคัญคือ .. เราไม่มีอะไรให้ลูกหลาน..นอกจากที่ดิน..ต้องรักษาดินให้สมบูรณ์เพื่อลูกหลานของเรา.. ไม่เท่านั้น ทุกวันนี้ ชุมชนต้นน้ำขุนยวม ยังร่วมกันศึกษาธรรมชาติ เพื่อประกันความมั่นใจในความสมบูรณ์ที่ยั่งยืนของสภาพแวดล้อม เช่น การค้นหา และ ศึกษา แหล่งน้ำธรรมชาติที่ ชาวบ้านพบว่า ในป่าต้นน้ำ มีแหล่งน้ำนับพันผุดขึ้นจากผืนดิน แล้วไหลรินรวมกันเป็นต้นน้ำ ที่น่าสนใจ คือ ที่ใดมีน้ำผุด ที่นั่นจะมีรากต้นไม้ลักษณะเป็นกลุ่มเส้นสีขาวลอยอยู่ นับเป็น มหัศจรรย์แห่งธรรมชาติ ที่ต่างร่วมกันสรรค์สร้างและ

มอบให้มวลมนุษย์ ด้วยเมตตา เสมอมา


เช่นเดียวกับ ชาวชุมชนอำเภอแม่ลาน้อย ที่นอกจากจะร่วมกันฟื้นฟูและเฝ้ารักษาป่าชุมชน แล้ว เขายังช่วยกันอนุรักษ์พันธุ์ปลาท้องถิ่นด้วย เป็นการนำกลไกร่วมรับผิดชอบโดยชุมชนท้องถิ่น ให้กลับคืนมา ด้วยตระหนักในความเกื้อกูลเกี่ยวพันกันเป็นวงจรลูกโซ่ ของ ป่า น้ำ สัตว์ป่า และ ปลา ดังความคิดและความหวังของ คำมา เกษมรัตนพร สมาชิก อบต. บ้านห้วยกู่ป๊ะ ต.แม่ลาหลวง อ. แม่ลาน้อย
“…อนุรักษ์ปา ก็มีสัตว์ป่า มีสัตว์ป่า ก็ต้องมีแหล่งน้ำ สัตว์น้ำ ให้เป็นอาหารของสัตว์ป่า.. อยากเพิ่มป่า ปลา สัตว์ป่า ปีละน้อย ๆ จนสิบปีข้างหน้า ป่าก็ดี ปลาก็เยอะ สัตว์ป่าก็มี.. ดังนั้น ชาวบ้านที่แม่ลาน้อยจึงรวมตัวกันเพื่อร่วมทำภาระนี้เพื่อแผ่นดิน ดังที่ ยงค์ยุธ เนตรพงศ์ คณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ อ.แม่ลาน้อย กล่าวว่า .. การทำงานเพื่อดิน น้ำ ป่า ที่แม่ลาน้อย ยึดกติกาของชาวบ้านเป็นหลัก จากเดิมที่มีการทำงานเป็นกลุ่ม ๆ ตอนนี้ เชื่อมโยงเป็นเครือข่าย เพื่อจัดการทรัพยากร ร่วมกัน ..

“ปอยฮอมพญา” พิธีสืบชะตาน้ำยวม

 

ด้วยเหตุที่ ป่า เขา และ สายน้ำ คือ แหล่งกำเนิดที่ยิ่งใหญ่ และมีความสำคัญยิ่งต่อการดำรงอยู่ของชีวิตของผู้คนแม่ฮ่องสอน ในแบบแผนแห่งขนบประเพณีและวัฒนธรรมคนพื้นถิ่นที่นั่น จึงมีประเพณีมากมาย เพื่อแสดงถึงความสำนึกในบุญคุณของธรรมชาติ และเพื่อร่วมประกาศความผูกพันในภาระหน้าที่ที่ต้องทำเพื่อ สายน้ำ ป่าเขา เช่น ปอยฮอมพญา พิธีสืบชะตาน้ำยวม ที่ อ.แม่สะเรียง ซึ่งมีทั้งกิจกรรมทางศาสนา และ ทางสังคมด้วยเป็นโอกาสการพบปะพูดคุย วาระสาธารณะ และ ร่วมกันปล่อยปลาเพื่อให้แพร่พันธุ์ในแม่น้ำยวม โสรัจจ์ ปวงคำคง ผู้ประสานงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ อ.แม่สะเรียง กล่าวว่า “… ปอย คือ การที่คนหลายคนมารวมตัวกัน โดยไม่ได้เอาเรื่องเงินเป็นตัวตั้ง แต่เอาจิตเพื่อสาธารณะมาก่อน พอจิตใจมา คนก็มา แล้วเอาข้อมูล ความรู้ ภูมิปัญญา มาแลกเปลี่ยน มาร้อยเรียง โดยมี วัฒนธรรมเป็นสิ่งหลอมรวมจิตสำนึก ..

จะเห็นได้ว่า ความสำคัญที่แท้จริงของการลงทุนเพื่อสร้างรายได้จากแหล่งท่องเที่ยวเช่นแม่ฮ่องสอน มิใช่ เพียงการทุ่มทุนเพื่อสร้างถนน โรงแรม อาคาร ร้านค้า และแม้แต่สนามบิน แต่เป็นการลงทุนเพื่อสร้างและรักษาความสมบูรณ์ของธรรมชาติ โดยกลุ่มบุคคลสำคัญที่ผูกพันรับผิดชอบธรรมชาติ อย่างยั่งยืน คือ ผู้ที่ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยความสมบูรณ์ของธรรมชาติ ซึ่งทุกวันนี้ เขาได้รวมตัวกัน เพื่อสร้างและรักษาทรัพยากรที่งดงามของแม่ฮ่องสอนไว้เพื่อลูกหลานของเขา และ เพื่อผู้มาเยี่ยมเยือน เพียงแต่ขอให้มา ท่องเที่ยว อย่าง เคารพในธรรมชาติ เรียนรู้ และ เข้าใจในวิถีชีวิตผู้คน ดังที่ อำพัน ปริชญาวิชัยกุล คณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ อ.ปาย กล่าวว่า “….เราไม่สะกัดกั้นความเจริญ ไม่สวนกระแส แต่ทำอย่างไรให้ความเจริญเติบโต ไม่ทำลายชุมชน มาปาย ก็ต้องมาเห็นปาย ไม่ใช่มาเห็นเชียงใหม่ เห็นกรุงเทพฯ มาเห็นปาย และช่วยกันให้ปายเป็น อย่างที่คนปายอยากเป็น..ถ้าการพัฒนาทางเศรษฐกิจมาทำลายล้าง ความเป็นชุมชน ผู้คนไม่มีความสุข บ้านเมืองนั้น จะเจริญได้อย่างไร.. สำหรับเมืองเล็ก ๆ ในหุบเขาอย่างปาย สิ่งที่สำคัญควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ คือ การมีผังเมืองรวมที่ดี ดังที่ อาภรณ์ แสงโชติ ประธานเครือข่ายเสริมสร้างความเข้มแข็งองค์กรชุมชน จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า .. เราอยากมีผังเมืองที่แบ่งแยกพื้นที่ให้ชัดเจน ไม่ใช่ขยายเมืองออกไปเรื่อย ๆ ไม่มีการจัดแบ่งว่า ตรงไหนเป็นวัด เป็นที่อยู่อาศัยของชุมชน เป็นโรงเรียน ตรงไหนเป็นที่สำหรับนักท่องเที่ยว ตรงไหนต้องเก็บป่า รักษาน้ำ ไม่ใช่ใครมีเงิน มีอำนาจแล้วจะทำอะไรก็ได้…”

เมืองปาย จ.แม่ฮ่องสอน

ไม่ว่าจะเป็น พิธีปอยฮอมพญาสืบชะตาแม่น้ำยวมที่ อ.แม่สะเรียง – การฟื้นฟูอนุรักษ์ป่าชุมชน และพันธุ์ปลาท้องถิ่นที่ อ. แม่ลาน้อย – การทำเกษตรอินทรีย์ และ ฟาร์มต้นแบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่ อ.ขุนยวม – ความตระหนักในอัตลักษณ์แห่งชุมชน รวมทั้งการใช้สิทธิมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดทำผังเมืองรวมที่ อ.ปาย ล้วนสะท้อนให้เห็น ความพยายามของชุมชนท้องถิ่นในการร่วมสร้าง สุขภาวะเมือง ที่ให้ความสำคัญกับ การสร้างปอดและสายเลือดให้แผ่นดิน นำความสมบูรณ์ของขุนเขา ป่าไม้ และ สายน้ำให้กลับคืนมา ไม่ใช่เพียงเพื่อพวกเขาและลูกหลานของเขา แต่เพื่อมนุษยชาติทุกคน กระบวนการพัฒนาสำนึกและปฏิบัติร่วมในงาน สุขภาวะเพื่อชีวิต เช่นนี้ ดูจะเป็นรูปธรรมที่ไม่ชัดเจน เช่น นโยบายและปฏิบัติการ งดเหล้า หยุดบุหรี่ ขับขี่ใส่หมวกนิรภัย แต่สำหรับคนที่อยู่กับป่า ขุนเขา และสายน้ำ เช่น คนในชุมชนท้องถิ่นกลุ่มนี้ที่แม่ฮ่องสอนแล้ว นี่คือ สุขภาวะที่แท้จริง เป็นสุขภาวะ ทั้งกาย ใจ ศักดิ์ศรี และ ความภาคภูมิใจในการทำภาระหน้าที่ เพื่อธำรงรักษา สายน้ำ ..ภูมิปัญญา.. ป่า ..และ เมือง


* สนใจ นำวีซีดีสารคดี สายน้ำ.. ภูมิปัญญา ป่า และ เมืองแม่ฮ่องสอนไปเผยแพร่เพื่อสาธารณะประโยชน์ / การศึกษา / การพัฒนาชุมชน ติดต่อ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา 693 ถนนบำรุงเมือง เขตป้อมปราบ กทม.10100 หรือ โทรสาร 02 – 6217842 – 3 *

Be the first to comment on "สายน้ำ.. ภูมิปัญญา… ป่า และ เมือง…แม่ฮ่องสอน"

Leave a comment

Your email address will not be published.