เมื่อชีวิตเหมือนการถูกจองจำไม่มีที่สิ้นสุด…
ใช่หรือไม่ว่า บางครั้งชีวิตคนเรานั้น เมื่อผ่านพ้นความทุกข์มืดดำไปแล้ว ย่อมพบกับแสงสว่าง แต่กับชาวบ้านปางแดง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ หาได้เป็นเช่นนั้นเลย…
ภู เชียงดาว: เรื่อง |
|||||||||
เมื่อชีวิตเหมือนการถูกจองจำไม่มีที่สิ้นสุด… ใช่หรือไม่ว่า บางครั้งชีวิตคนเรานั้น เมื่อผ่านพ้นความทุกข์มืดดำไปแล้ว ย่อมพบกับแสงสว่าง แต่กับชาวบ้านปางแดง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ หาได้เป็นเช่นนั้นเลย คล้ายกับว่าชีวิตนั้นถูกสาปให้พบกับความมืดมนอยู่ทุกห้วงเวลา เหมือนกับว่าชีวิตนั้นต้องถูกจองจำไม่มีที่สิ้นสุด
เมื่อเหตุการณ์อันเลวร้ายครั้งแรกผ่านไป พวกเขาต้องเผชิญกับเหยื่ออธรรมอีกหน บนความสับสนและไม่เข้าใจ
26 มีนาคม 2541 ชาวบ้านปางแดงก็ตกเป็นเหยื่อของรัฐเป็นครั้งที่สอง เมื่อเจ้าหน้าที่ป่าไม้และ อส.ได้เข้าจับกุมชาวบ้านไปอีก 56 คน และตั้งข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติและลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย
จากสถานการณ์การจับกุมชาวปางแดงหลังปี 2541 เป็นต้นมา ได้เกิดกระแสการเรียกร้องต่อสู้ในด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวเขา รวมทั้งปัญหาป่าไม้ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติกันอย่างกว้างขวาง
กระทั่ง ส่งผลให้กรมป่าไม้ยอมรับการอยู่ร่วมกันของคนกับป่าที่บ้านปางแดง ดังจะเห็นได้จากช่วงปี 2542 มีการกำหนดโครงสร้างบริหารและผู้รับผิดชอบปฏิบัติงานโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าสงวนแห่งชาติป่าเชียงดาว(บ้านปางแดง) ลุ่มน้ำแม่เตาะโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน
ซึ่งในเรื่องนี้ “ประทวน แก้วใจมา” ผู้ใหญ่บ้านปางแดงนอก ก็บอกย้ำว่า หลังจากเหตุการณ์ปี 2541 ปรากฎว่า ป่าไม้เอง ก็เข้ามาส่งเสริมชาวบ้านทำธนาคารอาหาร (ฟู้ดแบ๊งค์) และป่าชุมชน และศาลก็ยกฟ้องชาวบ้านทั้ง 56 คนแล้วด้วย จนชาวบ้านคิดว่าเรื่องจบไปแล้ว
ทว่า การแก้ไขปัญหาตามแนวทางดังกล่าวล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะไม่มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง หนำซ้ำยังไม่เปิดโอกาสให้ชาวปางแดงมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง รวมทั้งความไม่แน่นอนทางนโยบายและทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีต่อชุมชน นั่นจึงเป็นเหตุทำให้ชาวบ้านปางแดงถูกจับในเช้ามืดวันที่ 23 กรกฎาคม 2547อีกครั้งอีกหนหนึ่ง
เป็นการจับกุมชาวบ้านปางแดง เป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 15 ปี ด้วยข้อหาบุกรุกป่า ในขณะที่พวกเขากำลังนอนอยู่ในบ้าน เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ท่ามกลางความทุกข์ สับสน ไม่เข้าใจ…
“ผมคิดว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ หากไม่ต้องการให้ชาวบ้านอยู่ก็ให้กันเขตให้ชัดเจนว่าตรงไหนเป็นป่า ตรงไหนเป็นที่ทำกิน มีพื้นที่ให้ชัดเจน ความจริงชาวบ้านมีที่ทำกินไม่มาก เพียงครอบครัวละ 10 ไร่เท่านั้นเอง”ผู้ใหญ่บ้านปางแดงนอก เอ่ยออกมาด้วยความไม่เข้าใจ
เช่นเดียวกันกับการแสดงความคิดเห็นของ “วิวัฒน์ ตามี่” ผู้ประสานงานศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง(ศปส.) และกองเลขานุการสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.) กลุ่มเครือข่ายชาติพันธุ์ ก็บอกว่า กรณีที่เกิดขึ้น ประเด็นหลักไม่ได้อยู่ที่การบุกรุกป่า แต่เป็นเพราะพื้นที่ตรงนั้นมีความสวยงาม เหมาะแก่การทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว รีสอร์ท อีกทั้งกระแสการทำโฮมสเตย์ โดยนายทุนได้กว้านซื้อที่กันมากขึ้น อาจจะเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้มีการจับกุมชาวบ้านเพื่อกดดันชาวบ้านออกจากพื้นที่
“รัฐบาลควรยึดหลักความเท่าเทียมไม่เลือกปฏิบัติ แต่รัฐไม่เคยสนใจ อีกทั้งชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีบัตรประชาชน จึงถือเป็นข้ออ้างของหน่วยงานรัฐจะเข้ามาจัดการง่ายขึ้น ภายใต้ความคิดว่าเป็นคนอื่นไม่ใช่คนไทย ซึ่งถ้ารัฐยังมีความคิดนี้อยู่ การแก้ปัญหาก็จะยากมากขึ้น” |
|||||||||
“เป็นอะไรก็ไม่รู้ ไม่ว่าจะอยู่ปางแดงนอก ปางแดงใน ต้องโดนจับ แต่หมู่บ้านอื่นไม่เห็นจะไปจับบ้างเลย และบ้านผมไม่มีไม้เลื่อยซักแผ่น มีแต่ไม้ไผ่ เราเพียงขออาศัยอยู่ในเมืองไทย เรารักเมืองไทย” ลุงอินพรม พูดเหมือนรำพึงเบา ๆ
“เรื่องคดียังไม่จบใช่มั้ย…” ผมเอ่ยถาม “ใช่ ยังไม่จบ ยังอยู่ในชั้นศาล” “เห็นว่ามีคนช่วยประกันตัวออกมา…”
“ใช่ครับ เมื่อถูกจับได้ 84 วัน ทางศาลบอกว่า ถ้ารับสารภาพว่าถางป่าทำลายป่า จะให้ออกไป ถ้าไม่รับจะให้ติดคุก ผมเลยบอกเขาว่า ติดคุกไม่เป็นไร จ่างมันเต๊อะ ถ้าลักไก่ ขนไก่ยังไม่มีในกระเป๋าเฮาเลย”
“ และเขายังบอกอีกว่า ถ้าสูรับผิดทั้งหมด เรื่องที่อยู่อาศัยที่ของป่าไม้ ก็ไม่มีความผิด เราไม่มีความผิด เราไม่ได้ถางป่าบุกรุกป่า เราจึงไม่ยอมรับ หลังจากที่คุยกันเสร็จก็ต้องติดคุกต่ออีก 3 วัน แล้วพอดีมีทนาย อาจารย์ มาประกันตัวให้ออกไป”
ถ้าลักไก่ ขนไก่ยังไม่มีในกระเป๋าเฮาเลย…ผมพึมพำ ๆ ถึงถ้อยคำของลุงอินพรม และแอบจ้องมองสีหน้าผู้เฒ่า ดวงตาดูเศร้า ใบหน้าหมองคล้ำ
ก่อนที่ผมจะขอตัวกลับ ผมตั้งคำถามสุดท้ายกับชาวบ้านปางแดงที่นั่งล้อมวงสนทนา เป็นคำถามที่ผมคาในใจมานานแล้ว…
“ถ้าเรียกร้องได้ จะเรียกร้องอะไรบ้างจากรัฐ…”
“โดยส่วนตัวผม อยากให้รัฐยึดหลักความยุติธรรมให้มาก ให้คำนึงถึงชีวิตความเป็นคนบ้าง อยากให้ตรวจสอบว่าพวกเราตัดไม้ทำลายป่าจริงมั้ย อยากให้มาสำรวจว่าพวกเรามีที่ทำกินกี่ไร่ มารับทราบปัญหาต่าง ๆ ที่มี ไม่ใช่ใส่ร้ายเราว่า พวกเราทำลายป่า บุกรุกป่า มันไม่มีความยุติธรรม พวกเราถูกจับมาสองสามครั้งแล้ว น่าจะเข้ามาช่วยเหลือเราบ้าง อนาคตลูกหลานจะเป็นอย่างไร ทั้งชีวิตและความเป็นอยู่”
เป็นคำพูดที่หลั่งไหลมาจากก้อนทุกข์ที่จุกแน่นอยู่ข้างใน…ที่ทะลักทลายออกมาจากหัวใจ หัวใจของผู้คนที่เต็มไปด้วยปวดร้าวและหมองเศร้า |
|||||||||
ไม่รู้…ไม่มีใครล่วงรู้ได้… หากหัวใจของคนปางแดงทุกดวงนั้น ยังคงรอคอย…เฝ้าหวังและเฝ้าฝัน ฝันว่าสักวันหนึ่ง- – จะพบกับผืนแผ่นดินอันสงบ และสันติสุข ชีวิตหลายชีวิตนั้นจะหมดทุกข์หมดโศกเสียที
|
|||||||||
|
|||||||||
“ ขณะนี้คดียังอยู่ในชั้นศาล หลังจากที่อัยการยื่นฟ้องต่อศาล และต่อมา ทางศาลอนุญาตให้ใช้ตำแหน่งทนายความ ประกันตัวชาวบ้านออกมาได้ ซึ่งทางพวกเรา 5 คน จากสภาทนายความแห่งประเทศไทย ได้ใช้ตำแหน่งประกันตัวชาวบ้านออกไป และจะเริ่มกระบวนการพิจารณาคดี ทำการสืบพยานกันอีกครั้งในปี 2550 ถ้าถามในมุมมองของสภาทนาย เห็นว่า การสนธิกำลังของเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมชาวบ้านในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิอย่างชัดแจ้ง และขัดกับรัฐธรรมนูญปี 2540 เนื่องจากว่า ไม่ได้มีหมายจับจากศาล ซึ่งเมื่อทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเรียกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง และอ้างว่าได้ใช้กฎอัยการศึก แต่ทว่าทางทหารได้ออกมายืนยันชัดเจนว่า ไม่ได้ใช้กฎอัยการศึก และที่ทางทหารเข้าไปร่วมด้วยนั้น ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ทางชุดปฏิบัติการร่วมร้องขอเท่านั้น ดังนั้นการจับกุมชาวบ้านปางแดง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย” สุมิตรชัย หัตถสาร |
|||||||||
“การจับกุมของเจ้าหน้าที่ครั้งนี้ มิได้คำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและมิได้ใช้กฎหมายอย่างรอบคอบ เนื่องเพราะรัฐมองไม่เห็นชาวบ้านในฐานะประชาชนที่มีสิทธิขั้นพื้นฐานและที่สำคัญมองว่าคนเหล่านี้มิได้เป็นสมาชิกในรัฐชาติ แม้กรณีที่เกิดขึ้นมิได้รุนแรงอย่างปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แต่กรณีที่เกิดขึ้นก็ทำให้เห็นว่าวิธีคิด วิธีปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยของรัฐมิได้มองปัญหาอย่างเชื่อมโยงและรอบด้าน…” ดร.ชยันต์ วรรธณะภูติ นักวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
|
|||||||||
ข้อมูลประกอบ กลยุทธ์ในการเข้าถึงทรัพยากรของชุมชนตั้งถิ่นฐานใหม่ ท่ามกลางบริบทของการปิดล้อมพื้นที่ป่า, สกุณี ณัฐพูลวัฒน์ ,2544
สำนักข่าวประชาธรรม, สำนักข่าวประชาไท, นสพ.กรุงเทพธุรกิจ, กลุ่มละครมะขามป้อม |
|||||||||
หมายเหตุ : งานเขียนชิ้นนี้ตีพิมพ์อยู่ในหนังสือ “ผืนดิน สันติภาพ และชาติพันธุ์” รวมงานเขียนสารคดีโศกนาฏกรรมชนเผ่าบนดอยสูง จัดพิมพ์โดย ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง(ศปส.),เดือนเมษายน 2549, ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดจำหน่าย
|
Be the first to comment on "สารคดี : ปางแดง… เหตุการณ์เลวร้ายที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง(ตอนจบ)"