สิ้นเสียงไทยจาก ‘บีบีซี’

การปิดตำนานวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทยเมื่อวันที่ 13 มกราคม ที่ผ่านมา จะกลายเป็นกรณีศึกษาบทสำคัญของวงการสื่อสารมวลชนของคนไทยและผู้ฟังภาษาไทยอีกจำนวนไม่น้อย ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดสักกี่เหตุผล การมีส่วนร่วมในประชาคมสื่อวิทยุของบีบีซีภาษาไทย ในเสี้ยวเล็ก ๆ บนเวทีประวัติศาสตร์โลกนี้ไม่อาจถูกมองข้าม ประสาน อิงคนันท์ จากทีมงาน ‘คนค้น ฅน’ รายงานเป็นกรณีพิเศษ ถึงฉากสุดท้ายของเหตุการณ์นั้น…

 

ารปิดตำนานวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทยเมื่อวันที่ 13 มกราคม ที่ผ่านมา จะกลายเป็นกรณีศึกษาบทสำคัญของวงการสื่อสารมวลชนของคนไทยและผู้ฟังภาษาไทยอีกจำนวนไม่น้อย


ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดสักกี่เหตุผล การมีส่วนร่วมในประชาคมสื่อวิทยุของบีบีซีภาษาไทย ในเสี้ยวเล็ก ๆ บนเวทีประวัติศาสตร์โลกนี้ไม่อาจถูกมองข้าม ประสาน อิงคนันท์ จากทีมงาน คน ค้น ฅน รายงานเป็นกรณีพิเศษ ถึงฉากสุดท้ายของเหตุการณ์นั้น


สวัสดีครั้งสุดท้าย จากวิทยุบีบีซีกรุงลอนดอนครับ”

นั่นคือคำพูดเปิดรายการของการออกอากาศครั้งสุดท้ายของทีมงานวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทยรายการข่าววิทยุที่มีอายุยาวนานถึง 64 ปี หรือกว่าครึ่งศตวรรษ

และในขณะที่การออกอากาศครั้งสุดท้ายกำลังเริ่มต้นขึ้นที่อีกฟากฝั่งหนึ่งของโลก กลุ่มผู้ฟังที่มีทั้งเด็กตั้งแต่อายุ 7 ขวบ จนถึงผู้ใหญ่อายุ 70 ต่างสถานะ ต่างที่มา ที่เป็นแฟนประจำของวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทยก็กำลังรวมตัวกันอยู่ที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ เพื่อร่วมไว้อาลัยสำหรับการจากไป แม้อาจจะเป็นจำนวนไม่มาก แต่นัยสำคัญของการรวมตัวกันครั้งนี้ก็มีความหมายไม่น้อย

ทำไมรายการวิทยุที่ออกอากาศเพียงวันละ 2 ครั้ง หรือเพียงวันละหนึ่งชั่วโมง และอาจจะมีคนไทยรู้จักน้อยกว่าฟุตบอลพรีเมียร์ลีกของอังกฤษจึงสามารถสร้างความผูกพัน ให้กับผู้ฟังชาวไทยที่อยู่ไกลกันคนละซีกโลกได้มานานกว่าครึ่งศตวรรษ ทีมงานคนค้นฅนเกาะติดสถานการณ์ข้ามน้ำข้ามทะเลไปไกลอีกฟากฝั่งหนึ่งของทวีปถึงประเทศอังกฤษ เพื่อตามติดและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ในครั้งนี้ เฝ้าติดตามกันอย่างใกล้ชิดในสัปดาห์สุดท้ายจนถึงวันสิ้นสุดการออกอากาศครั้งสุดท้าย

 


กำเนิดบีบีซีภาคภาษาไทย


ศุกร์ที่
13 มกราคม 2549 หน้าบันทึกประวัติศาสตร์ของวงการสื่อสารมวลชนไทยน่าจะต้องบันทึกเอาไว้เมื่อวันนี้เป็นวันสุดท้ายของการออกอากาศของวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย และกำหนดที่จะปิดตัวลงในสิ้นปีนี้ ซึ่งนั่นก็หมายความว่าบนหน้าปัดวิทยุจากนี้ไปจะไม่มีรายการข่าววิทยุรายการนี้อีกต่อไป

 

ตอนแรกๆ เราก็ไม่คิดว่าจะถูกปิดตัวเอง พอรู้ว่าแผนกเราจะถูกปิดก็รู้สึกช็อก แม้แต่ตัวทีมงานเองก็ตาม” สมชัย สุวรรณบรรณ หัวหน้าแผนกภาคภาษาไทย ที่ทำงานกับบีบีซีมาอย่างยาวนาน 25 ปี เล่าถึงความรู้สึกแรกที่ได้รับแจ้งจากผู้บริหารบีบีซีภาคบริการโลก BBC World Service


ทางผู้บริหารของบีบีซีภาคบริการโลกต้องการจะเปิดโทรทัศน์ภาคภาษาอารบิค เขาสำรวจมาว่ารสนิยมการรับฟังข่าวสารของคนเปลี่ยนไปจากสื่อวิทยุเปลี่ยนมาเป็นสื่อโทรทัศน์มากขึ้น เป็นอย่างนี้ทุกที่ …ตอนแรกเราคิดว่าเราจะรอด แต่ก็ไม่รอด ภาษาไทยจึงเป็นหนึ่งในสิบภาษาที่ถูกปิดไป และเป็นภาษาเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เขาเลือก เหตุผลในการปิดเพราะเรทติ้งของคนฟังที่เมืองไทยน้อยไม่คุ้มกับการลงทุน เพราะจะให้ไปปิดภาษาอินโดนีเซีย ที่มีผู้ฟังมาก หรือภาษาพม่าที่สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศยังไม่เป็นประชาธิปไตยคงเป็นไปไม่ได้”


รู้สึกใจหาย” อรนุช อนุศักดิ์เสถียร ผู้ผลิตรายการอาวุโส ที่ทำงานกับบีบีซีภาคภาษาไทยมานานถึง 11 ปี แสดงความรู้สึกแรก เมื่อถูกถามความรู้สึก

เรารู้สึกเสียดายโอกาสในการทำงาน เพราะคงยากที่จะมีใครมาให้โอกาสในการทำรายการวิทยุแบบนี้อีก เพราะต้องใช้งบประมาณสูงมาก แล้วทางผู้บริหารบีบีซีเองก็ไม่เคยเข้ามาแทรกแซงการเสนอข่าว จะทำก็เพียงแค่การเข้ามาตรวจสอบคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐาน”


ก่อนที่จะยุติการรออกอากาศ วิทยุบีบีซีภาคภาษาไทยออกอากาศเป็นประจำทุกวัน ในภาคเช้าตั้งแต่เวลา
06.30-07.00 น. และช่วงค่ำเวลา 19.35-20.00 น. ตามเวลาในประเทศไทยที่กระจายเสียงส่งตรงมาจากห้องข่าวบีบีซีที่ตั้งอยู่ที่อาคารบุชเฮ้าส์ ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ย้อนกลับไปเมื่อ 64 ปีก่อน บีบีซีภาคภาษาไทยได้ถือกำเนิดขึ้นในช่วงที่โลกกำลังตกอยู่ในภาวะสงครามขนาดใหญ่ ที่มีจุดเริ่มต้นจากใจกลางยุโรป และลุกลามออกไปทั่วโลก


สถานีวิทยุบีบีซีของอังกฤษซึ่งแต่เดิมออกอากาศแต่ภาษาอังกฤษก็ได้เริ่มออกอากาศภาษาต่างประเทศ โดยเริ่มที่ภาษาอารบิคเป็นภาษาแรก แล้วก็ขยายตัวออกไปหลายภาษา โดยเฉพาะภาษาของประเทศต่างๆ ในยุโรป แต่ด้วยความวิตกว่าสงครามจะขยายตัวไปในทวีปเอเชียทำให้บีบีซีเริ่มเปิดบริการภาคภาษาฮินดูสถาน เป็นอันดับแรก จากนั้นก็ภาษาพม่า และแผนกภาษาไทยเป็นอันดับสาม


แม้ว่าตลอดครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา บีบีซีภาคภาษาไทยมีความเปลี่ยนแปลงทั้งเวลาและช่วงเวลาการออกอากาศ และถูกยุติการออกอากาศเป็นบางครั้ง แต่สุดท้ายวิทยุบีบีซีก็มีอายุยืนยงมาได้นานถึงครึ่งศตวรรษ เป็นหนึ่งใน
42 ภาษาต่างประเทศของบีบีซีภาคบริการโลก (BBC World Service)


จากรุ่นสู่รุ่นของผู้ฟังบีบีซี


คนฟังบีบีซีมีทุกเพศทุกวัย ฟังกันรุ่นต่อรุ่น ฟังมาตั้งแต่รุ่นพ่อ พ่อแนะนำให้ลูกฟัง บางคนฟังมาตั้งแต่เราออกอากาศทางวิทยุคลื่นสั้น ฟังมาก่อนที่ทีมงานบีบีซีปัจจุบันนี้จะเกิดเสียอีก” สมชัย เล่าถึงกลุ่มผู้ฟัง ที่บางคนบอกว่ามีจำนวนน้อย แต่ในความเป็นจริงกลุ่มผู้ฟังเป็นกลุ่มคนที่มีคุณภาพ


พอเขารู้ว่าเราจะปิดตัวเอง มีจดหมาย อีเมลเขียนเข้ามาหาเราเป็นจำนวนมาก ซึ่งเราไม่เคยคิดมาก่อนว่า เขาจะรู้สึกผูกพันกับเรามากขนาดนี้ มีนักศึกษาชาวจีนที่เรียนภาษาไทยในปักกิ่ง ครูสอนภาษาไทยในญี่ปุ่น อาจารย์มหาวิทยาลัย ที่เรียนวัฒนธรรมประวัติศาสตร์ไทย ที่ฟังบีบีซีทางอินเทอร์เน็ต หรือแม้กระทั่งเด็กอายุสิบขวบ จนกระทั่งผู้ใหญ่อายุ 80 กว่าก็ยังเขียนเข้ามาหาเรา พวกเขาคือกลุ่มคนฟังที่เหนียวแน่นไม่ได้ฟังแค่ผ่านเลยไป”

 

การรายงานข่าวสารที่เป็นกลางในแบบคุณภาพที่คับแก้ว ข่าวที่ได้มาจะต้องดับเบิลเช็คทุกครั้ง แหล่งข่าวในแต่ละข่าวต้องมีถึง 3 แหล่งขึ้นไป และมีการวิเคราะห์ข่าวแบบเรียบร้อย ขรึม และสุภาพ และที่สำคัญคือมีสารคดีดีๆ ที่หาฟังจากที่ไหนไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น วรรณกรรม ศิลปวัฒนธรรม หนังสือ การสอนภาษาอังกฤษ รายการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เป็นเสมือนกับเสน่ห์ของบีบีซีที่ทำให้มีกลุ่มผู้ฟังมาก และหลากหลายที่อาจจะบอกได้ว่า เป็นคนระดับรากหญ้าจนถึงคนระดับชั้นนำของประเทศ


และในจำนวนผู้ฟังเหล่านั้น คุณหมอสุโข วิริยะพงษ์ นายแพทย์เกษียณอายุวัย
72 ปี จากจังหวัดระยอง ที่เป็นแฟนบีบีซีภาคภาษาไทยมาอย่างเหนียวแน่นเกือบ 40 ปี ตั้งแต่วิทยุบีบีซียังออกอากาศทางวิทยุคลื่นสั้น เล่าให้ฟังว่า


บีบีซีเป็นเสมือนกับส่วนหนึ่งในชีวิตของผมไปแล้ว เพราะผมฟังมานานมาก จากฟังทางวิทยุคลื่นสั้น มาเป็นการฟังทางอินเทอร์เน็ตแทน ผมชอบในความเป็นกลางของการเสนอข่าว มีมาตรฐานและคุณภาพ ในช่วงที่สถานการณ์บ้านเมืองกำลังอยู่ในช่วงวิกฤติ ไม่รู้ว่าจะฟังข่าวสารจากที่ไหนที่เชื่อถือได้ บีบีซีได้เข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ และที่สำคัญคือรายการประเภทสารคดีที่เราหาฟังที่อื่นไม่ได้ ผมยังไม่เคยฟังรายการวิทยุไหนที่มีคุณภาพเท่ากับวิทยุบีบีซี”


และที่สำคัญ คุณหมอสุโข ไม่ได้ปล่อยให้สาระความรู้ของวิทยุบีบีซีหายไปกับอากาศ เมื่อคุณหมอสุโขเริ่มต้นบันทึกรายการประจำเก็บใส่แผ่นซีดีไว้ เพื่อหวังว่าเนื้อหาของรายการที่เป็นประโยชน์เหล่านี้จะสามารถนำกลับมาฟังใหม่ในวันข้างหน้า หรือให้ลูกหลานฟัง จนทำให้ชายชราวัย
72 ปีผู้นี้กลายเป็นผู้ใช้คอมพิวเตอร์ได้อย่างคล่องแคล่ว เพราะต้องเรียนรู้ไว้สำหรับการบันทึกรายการบีบีซีลงในแผ่นซีดีเป็นประจำทุกวัน

 

เช่นเดียวกับ พิทยา ศรีโกตะเพ็ชร ชายผู้พิการทางสายตา ซึ่งปัจจุบันทำงานอยู่ที่สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย บอกว่า ผมฟังบีบีซีมานานกว่า 7 ปีแล้ว สำหรับคนตาบอดอย่างผม ช่องทางในการรับข่าวสารตามสื่ออื่นนั้นเป็นไปได้ยากอยู่แล้ว จะมีก็เพียงแต่วิทยุเท่านั้น แต่รายการวิทยุในเมืองไทยก็เป็นรายการเพลงมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์


พอได้ฟังวิทยุบีบีซีก็เหมือนรู้สึกว่า บีบีซีมาเปิดโลกให้กับผม ไม่เกินเลยไป หากจะบอกว่า บีบีซีช่วยเปิดโลกให้กับผม เช่นเดียวกับคุณหมอสุโข นอกจากจะฟังรายการเป็นประจำ ชนิดเรียกได้ว่าแฟนรายการตัวยงแล้ว พิทยายังอัดเทปรายการลงม้วนคาสเซ็ทเก็บไว้ ถ้าวันไหนกลับบ้านไม่ทันฟัง ก็จะให้พี่สาวช่วยอัดไว้ให้ จนถึงตอนนี้เทปที่พิทยาอัดไว้มีมากกว่า
400 ม้วนแล้ว และถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี

 

วันสุดท้าย วันแห่งประวัติศาสตร์


และในที่สุดวันสุดท้ายก็เดินทางมาถึงวันศุกร์ที่
13 มกราคม 2549 หน้าบันทึกประวัติศาสตร์ของวงการสื่อสารมวลชนไทยน่าจะต้องบันทึกเอาไว้ เพราะวันนี้จะเป็นวันส่งสัญญาณกระจายเสียงครั้งสุดท้ายของรายการวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทยที่บรรยากาศบนชั้น 5 ของอาคารบุชเฮ้าส์ที่เป็นที่ตั้งของบีบีซีภาคภาษาไทยดูจะคึกคักเป็นพิเศษ

 

แต่คงไม่ใช่ความคึกคักจากความสนุกสนาน หากแต่เป็นความคึกคักจากการมารวมตัวกันของทั้งทีมงานปัจจุบันและอดีตที่เป็นทั้งนักศึกษา อาจารย์ มหาวิทยาลัย และเพื่อนนักข่าวจากแผนกอื่นๆ ทั้ง เวียดนาม พม่า อินโดนีเซีย มาร่วมกันให้กำลังใจ และมาร่วมแสดงความอาลัย

 

แม้สมาชิกหลายคนยังคงมีสีหน้ายิ้มแย้มและกำลังทำหน้าที่ของตนเองไปตามปกติ แต่สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้ก็คือ หลายคนรู้สึกใจหายและไม่อยากให้เวลาการออกอากาศครั้งสุดท้ายมาถึง

 

เวลา 12.20 น. ก่อนการออกอากาศประมาณสิบนาที ทีมงานบีบีซีทั้งหมดกว่า 20 ชีวิตทยอยลงไป ณ ห้องออกอากาศ และในขณะที่การออกอากาศครั้งสุดท้ายกำลังจะเริ่มต้นขึ้น ที่อีกฟากฝั่งหนึ่งของโลกแฟนประจำของบีบีซีกว่าร้อยคนที่มองเห็นถึงคุณค่าของวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทยกำลังรวมตัวกันเพื่อร่วมฟังการออกอากาศเป็นครั้งสุดท้าย และร่วมไว้อาลัยต่อการจากไปของวิทยุบีบีซีที่พวกเขารักและมีความรู้สึกผูกพันเช่นกัน

 

ผมฟังมากับพ่อตั้งแต่อายุ 5 ขวบ บีบีซีเป็นรายการที่สนุก โดยเฉพาะสารคดี” เด็กชายวัย 8 ขวบที่มาพร้อมกับพ่อแสดงความรู้สึก

 

ผมฟังมาตั้งแต่ปี 2494 สมัยทำงานเหมืองที่พังงา ไม่ใช่ญาติก็เหมือนญาติ มาถึงวันนี้พูดได้คำเดียวว่าเสียดาย” คุณลุงวัย 70 ปี กล่าวคำอาลัยเป็นครั้งสุดท้าย

 

และนี่คงเป็นการฟังวิทยุร่วมกันครั้งแรกของแฟนประจำบีบีซี และเป็นการฟังครั้งสุดท้าย

 

เมื่อการออกอากาศกำลังดำเนินไป ผู้ฟังบางคนแอบอมยิ้ม บางคนปาดน้ำตา บางคนพยายามหัวเราะแต่เสียงหัวเราะก็แตกพร่าเต็มที

 

รายการในวันนั้นนอกจากจะเป็นการรายงานข่าวสารประจำวัน ยังมีการนำเหตุการณ์ครั้งสำคัญ และสารคดีที่ยังอยู่ในความทรงจำของคุณผู้ฟังมาออกอากาศซ้ำ และแล้วนาทีสุดท้ายของการออกอากาศก็เดินทางมาถึง ทีมงานบีบีซีทั้งเก่าและปัจจุบัน ทยอยเดินเข้าไปในห้องออกอากาศ ด้วยบรรยากาศเงียบสงบ

 

พวกเราก็ขอกล่าวคำอำลาเป็นครั้งสุดท้าย จากบีบีซีภาคภาษาไทย” สิ้นเสียงที่ สัญญา บุนนาค ซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้อ่านข่าวในวันนั้นกล่าวคำอำลา ทุกคนในทีมงานก็กล่าวพร้อมกันว่า “สวัสดี” และนั่นก็คือคำอำลาครั้งสุดท้ายของบีบีซีภาคภาษาไทย

 

สิ้นเสียงคำอำลา ทุกคนนิ่งเงียบไปพักหนึ่ง ก่อนที่จะมีน้ำตาแห่งความอาลัย ไหลออกมาจากหลายๆ คน บางคนจับมือกันให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เหมือนกำลังจะบอกว่า และในที่สุดสิ่งที่ไม่อยากให้เดินทางมาถึงก็เดินทางมาถึง แต่นั่นคงไม่ใช่น้ำตาของความโศกเศร้าสูญเสียหน้าที่การงาน แต่นั่นเป็นน้ำตาของความผูกพันกับงานที่พวกเขารัก และมั่นใจได้ว่านั่นคืองานที่มีคุณค่าและมีประโยชน์ต่อผู้ฟัง

 

แต่ในขณะที่ความเงียบเข้าครอบคลุม บรรยากาศในห้องออกอากาศ บนชั้น 14 ของศูนย์หนังสือจุฬาฯ พิทยาซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ฟังบีบีซีที่ไปร่วมงานในวันนั้น ได้เป็นตัวแทนขึ้นกล่าวคำในใจว่า “บีบีซีเหมือนกับดวงตาของผม ช่วยเปิดโลก เมื่อไม่มีบีบีซีก็ไม่รู้ว่าผมจะเดินอย่างไร” สิ้นเสียงของพิทยา เสียงปรบมืออันยาวนานจากผู้ฟังชาวไทยที่รวมตัวกันก็ดังขึ้น เป็นเสียงปรบมือที่ดังและยาวนานที่สุดเหมือนกับพยายามที่จะกลบเสียงร่ำไห้แห่งความอาลัยภายในใจ ก่อนที่จะร่วมยืนไว้อาลัยร่วมกัน

 

สภาพสังคมไทยตอนนี้มีความจำเป็นที่ต้องมีสื่อที่อิสรเสรี และมีสาระ เพราะสื่อมีอิทธิพลมาก และสามารถสร้างกระแสในสังคมไทย สื่อแบบบีบีซีจึงจำเป็นมากในสังคมไทย วันนี้ผมรู้สึกเหมือนว่า เรานั่งดูญาติเราตายไปต่อหน้าต่อตา” อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์กล่าวความรู้สึกเป็นครั้งสุดท้าย

 

และจากนี้ไปก็คงจะไม่มีรายการข่าววิทยุบีบีซีภาคภาษาไทยบนหน้าปัดวิทยุอีกแล้ว แน่นอนว่าการจากไปย่อมสร้างความอาลัยอาวรณ์ให้ทั้งกับผู้ผลิตรายการและผู้ฟังรายการที่ผูกพันกันมาอย่างเหนียวแน่นและยาวนาน เพราะฉะนั้นการจะเสียน้ำตาให้กับการจากไปในครั้งนี้ก็คงจะไม่ใช่สิ่งที่น่าอายอะไร เพราะถ้าหากว่าเราเปรียบวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทยนั้นเป็นเสมือนกับคนคนหนึ่ง ที่จำเป็นจะต้องเกษียณอายุงานลงและยุติบทบาทการทำงานที่ตัวเองรักและทำมาได้อย่างสมศักดิ์ศรีมาอย่างยาวนานถึง 64 ปีเต็ม

 

การจากไปในครั้งนี้ ก็คงไม่จำเป็นที่จะต้องมีใครมาสร้างอนุสาวรีย์เพื่อมาเป็นอนุสรณ์ให้กับการจากไป เพราะว่ามาตรฐานการทำงานอย่างสมศักดิ์ศรี ความน่าเชื่อถือ ความเป็นสื่อที่เป็นกลาง ทั้งหมดเหล่านี้ได้สร้างอนุสาวรีย์ในความทรงจำไว้ในหัวใจของผู้ฟังในจำนวนไม่น้อยไว้แล้ว

 

การปิดตัวเองของวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทยนี้ก็คงจะไม่ใช่ทิ้งไว้แค่ความทรงจำและประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ยังทิ้งคำถามสำคัญให้สังคมไทยได้ขบคิดด้วยว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราควรจะมีสื่อที่เป็นกลางได้มาตรฐาน และทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงแทนผู้คนร่วมสังคมในวันข้างหน้า

 

ติดตามชมบรรยากาศและภาพแห่งความทรงจำนี้ได้ ในรายการ คนค้นฅน ในวันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ 4 ทุ่ม ทาง Modernine TV

 

ที่มา :นสพ.กรุงเทพธุรกิจ,  คอลัมน์ :  จุดประกาย

Be the first to comment on "สิ้นเสียงไทยจาก ‘บีบีซี’"

Leave a comment

Your email address will not be published.