26 ธันวาคม 2547 “สึนามิ” มหันตภัยร้าย ทำลายล้างทรัพย์สินมหาศาล พร่า 5,395 ชีวิต บาดเจ็บ 8,457 ราย สูญหาย 2,932 คน
ออกอากาศทางเนชั่นแชนแนล ทีทีวี1 วันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม 2548
|
26 ธันวาคม 2547 “สึนามิ” มหันตภัยร้าย ทำลายล้างทรัพย์สินมหาศาล พร่า 5,395 ชีวิต บาดเจ็บ 8,457 ราย สูญหาย 2,932 คน
รุ่งโรจน์ ขวัญยืน ชาวประมงบ้านกมลา อ .กะทู้ จ.ภูเก็ต “สึนามิลูกแรกมันจะมากวาดเก้าอี้ เบาะ ร่ม ไปเกลี้ยงเลย ลูกที่สองมันโผล่แต่ยอดมะพร้าว สักพักลูกที่สาม มา ช่วงลูกที่สองน้ำยังลงไม่หมดนะ ลูกนี้ใหญ่ มองดูกมลาบีช ตรงกลาง โรงแรมนี้ มิดเลย บอกหมดแล้วเพื่อนเอ๊ย บ้านกูก็หมดแล้ว ถ้าโรงแรมนี้หมด” นิคม ฉ่ำมาลี ชาวประมง ต .เกาะคอเขา อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา “มาสัก 3-4 นาทีได้ ก็หมด แล้วก็หมด คิดดูสร้างมา 30 กว่าปี” สุนีย์ โดยดี ชาวบ้าน ต .เกาะคอเขา อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา “พี่รักพ่อแม่พี่น้องมาก ทำใจไม่ได้ ได้แต่ร้องหาพี่” มีนา อยู่คง ชาวบ้านกมลา อ .กะทู้ จ.ภูเก็ต “พอกลับเข้ามา มาเห็นสภาพที่เสียหายแล้วก็ใจหาย เห็นบ้านตัวเองก็น้ำตาคลอเลย หมดแล้วฉันๆ” บรรยาย บาดแผลและความสูญเสียจาก “สึนามิ” คลื่นยักษ์จากแผ่นดินไหวใต้ท้องสมุทรที่ ซัดถล่มจังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันของไทย เมื่อ 26 ธันวาคม ปี 2547 แม้ผู้สูญเสียจะได้รับความช่วยเหลือ ทั้งเงิน บ้าน และสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาเกือบหนึ่งปี แต่วัตถุเหล่านี้ ไม่ใช่คำตอบเดียวของการเยียวยาผู้ประสบภัย ทว่าจิตใจที่เปราะบางต่างหากที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูเช่นกัน สุพจน์ สงวนกิตติพันธุ์ ประธานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ จ .ภูเก็ต “คือเรารู้ว่าทุกคนได้รับความช่วยเหลือ แต่เขาช่วยเป็นแค่วัตถุสิ่งของ เงินทอง ถามว่าจิตใจได้มีความช่วยเหลือไหม มันไม่มี มันเหมือนกับว่าจิตเขาจะล่องลอยอยู่ตลอดเวลา เอาเงินไปให้เขาร้อยบาท เขาก็กำอยู่อย่างนั้น เพราะมันเป็นเรื่องที่ช็อค เขาช็อคมากๆ คุยกันแทบไม่รู้เรื่อง เขาจะพูดหาแต่คนที่เขาสนิท เหมือนกับบางคนกำลังจูงลูกอยู่ พอลูกหายไปกับมือ หลังจากคลื่นจบไปแล้ว เขาหนีขึ้นไปบนภูเขาแล้ว กลับไปถามเขา เขาจะพูดถึงแต่ลูกเขา ว่าลูกเขาอยู่ไหน ตลอดเวลา” ยุพิน ตัณทวณิช ประธานคณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ จ .พังงา “การช่วยเหลือมันมากพอ มันเหลือเฟือ ถ้าจะคุยกับเขาคือ ตั้งวงคุย ทบทวนตัวเอง ทบทวนจากเหตุการณ์ แล้วก็ถอดบทเรียนจากตัวเอง ในกลุ่มตรงนั้น ออกมาว่า ควรจะให้เป็นยังไง ประโยชน์ที่จะได้คือ อย่างน้อยเขารู้จักคิด ประเด็นทุกวันนี้คือคนไม่คิด เมื่อไม่คิดก็เลยทำอะไรไม่ได้ หาใครก็ไม่ได้ พูดอะไรก็ไม่ได้ หาความก้าวหน้าก็ไม่ได้ ถ้าเราคิดเป็น พี่เชื่อว่า กระบวนการคิด มันช่วยให้สิ่งที่เป็นอยู่ อย่างน้อยครอบครัวตัวเองดีขึ้น ช่วยเพื่อนบ้านได้ ช่วยคนข้างเคียงได้” บรรยาย ไม่มีใครปฏิเสธความงดงามจากน้ำใจของคนไทยทั้งประเทศ ที่ส่งทั้งใจและทรัพย์สินเงินทองมากอบกู้ผู้ประสบภัยให้ลุกขึ้นได้อีกครั้ง แต่ในความงามนั้น ก็มีการหยิบยื่นเชิญชวน ที่สร้างความสงสัยและวางใจได้ไม่สนิทมาให้ด้วย อีกทั้งยังมีปัญหาจากการช่วยเหลือ ทั้งการช่วยเหลือในเรื่องที่ไม่ตรงตามความต้องการ ไม่เหมาะสมกับพื้นที่ ที่สำคัญคือการช่วยเหลือที่กระจายไปไม่ทั่วถึง จนก่อให้เกิดความขัดแย้งในชุมชน ยุพิน ตัณทวณิช ประธานคณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ จ.พังงา “ประเด็นที่ไม่ชอบมาพากลคือประเด็นยึดพื้นที่ องค์กรไหนมาจากพื้นที่ไหนแล้วก็ไม่ให้ใครเข้า อีกอย่างคือแจกของแบบไม่มีทิศทาง แจกซ้ำแล้วซ้ำเล่า คนที่มารับก็ไม่รู้ว่าใครบ้าง ไม่เกิดกระบวนการความเป็นธรรม ภาครัฐเองก็เหมือนกัน เราไม่สามารถจะตอบคำถามได้ว่า องค์กรไหนที่เราไปหาข้อมูลแล้วตอบคำถามเราแบบจะจะแจ้งๆว่าเงินที่มาเท่าไร ของมาเท่าไร แล้วมันอยู่ตรงไหน ทุกวันนี้เป็นยังไง เราไม่สามารถจะรู้ได้เลย” เจริญ ถิ่นเกาะแก้ว คณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ จ .ภูเก็ต “มันเหมือนกับท่อน้ำแตก ทุกอย่างทะลักลงมา ไม่ดูว่าสภาพตรงนี้รองรับอะไรได้ อ่างน้ำตรงนี้จะรับปริมาณน้ำเท่าไร หรือว่าจุน้ำได้เท่าไหร่ แต่ให้มาแบบทะลัก เหมือนเสื้อผ้ากองไว้ ทุกหน่วยงานบริจาคเสื้อผ้า ซึ่งมาแล้วก็กองอยู่ เดินย่ำกันอยู่ แต่บางคนถ้าเราไม่ได้ตั้งสติ ไม่มีฐานข้อมูลที่แท้จริง เหมือนกับบางคน ไม่ยอมช่วยตัวเอง ทำเหมือนกับว่าตัวเองได้รับทุกข์จากสึนามิอยู่ตลอด คอยแต่แบมือขอความช่วยเหลือ” บรรยาย จากปัญหาที่เกิดขึ้น โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ จ.ภูเก็ต และ จ.พังงา องค์กรที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่น จึงปรับแผนงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดนี้ ด้วยการระดมพลังร่วมจากชุมชนเร่งใช้พลังชุมชนเพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจ ให้ผู้ประสบภัยพร้อมสู้ชีวิตต่อไป สุพจน์ สงวนกิตติพันธุ์ ประธานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ -ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.ภูเก็ต “เนื่องจากเราอยู่ในพื้นที่ เรามองความช่วยเหลือ มันเหมือนเป็นความช่วยเหลือแบบรอบนอก ส่วนเนื้อหาจริงๆ คนที่ได้รับผลกระทบจริงๆ จะไม่ถึงตัวเขา เนื่องจากเขาไม่มีจิตใจที่จะมาคิดถึงความช่วยเหลือต่างๆ ขนาดทางศาลากลางประกาศว่า จะมีการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น รายละ 2,000 เชื่อไหมว่าคนที่เข้าไปรับส่วนมาก จะไม่ใช่คนที่เดือดร้อนจริง คนเดือดร้อนจริงไม่มีใครไปเลย แล้วทุกวันเขาจะมานั่งมองแต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเขา คิดดูสามวันแรก คนที่เดือดร้อนจริงๆเสียหายจริงๆ จะไม่ลงมาข้างล่างเลย จะอยู่แต่บนเขา เพราะฉะนั้นเรามองว่า ถ้าอย่างนี้ ขวัญเสียมาตลอด เมื่อขวัญเสียมาตลอดแล้ว ทำยังไงจะปลุกขวัญเขาขึ้นมา ก็เลยจัด เสวนาฟื้นจิตชีวิตอันดามัน ขึ้น ทำให้เรารู้ว่าเขาอยากได้อะไร เขาต้องการอะไร และทุกวันนี้เขาเป็นอยู่อย่างไร เขามีจิตใจอย่างไร” บรรยาย ที่จังหวัดภูเก็ต ทันทีที่คลื่นยักษ์เดินทางมาถึงหาดป่าตอง หาดกะตะ หาดกะรน หาดราไว หาดกมลา และหาดสุรินทร์ พลังมหาศาลของคลื่นจากทะเล ไม่ได้กวาดทำลายเพียงทรัพย์สมบัติและชีวิตผู้คนเท่านั้น แต่ยังได้พรากเอาจิตวิญญาณของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ไปด้วย ดังนั้นการนำทุนทางวัฒนธรรม ที่มีศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ มาเป็นหลักเพื่อสร้างสติ และปลุกขวัญกำลังใจ จึงเป็นทางออกของการเริ่มต้นใหม่ บัญญัติ จริยเลอพงศ์ คณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ จ .ภูเก็ต “เหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว ถ้าเราไม่สร้างจุดตัดว่า ทุกอย่างมันจบแล้วนะ จบเพื่ออะไร เพื่อเริ่มต้นใหม่ ตรงนี้อันตราย มันจะลากพาไปเรื่อย การบาดเจ็บทางจิตใจมันจะเรื้อรัง แล้วการเริ่มต้นใหม่ที่จะยอมรับสภาพ มันจะไม่เกิด เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำที่นี่คือ เราจัดพิธีทางศาสนามาเป็นการบ่งบอกจุดจบและจุดเริ่มต้นใหม่ จบคือบอกว่าจบเขาไปดีแล้ว เราไม่ควรมาโศกเศร้า เราไม่ควรเสียใจ ไม่ควรมาอาลัยอาวรณ์อยู่ เพราะเรื่องที่เหลือที่สำคัญกว่าคือ คนที่เหลือจะทำยังไง “ มีนา อยู่คง ชาวกมลา และ คณะทำงานโครงการชีวิตสาธารณะ -ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.ภูเก็ต “หลังบ้านนี้จะมีคนตายเยอะ คือน้ำมันจะพามา ส่วนมากเขาไม่ได้ตายด้วยการจมน้ำ แต่เป็นสิ่งของที่มากระแทกมากกว่า ทำให้ช่วยตัวเองไม่ได้” บรรยาย มีนา อยู่คง หนึ่งในชาวกมลาที่รอดชีวิตจากเงื้อมมือของคลื่นยักษ์ แต่สิ่งที่เหลือคือความเสียหายภายในบ้าน ที่ยังคงร่องรอยให้เห็นพิษสงของมหันตภัยสึนามิ วันนี้เธอผ่านพ้นความบอบช้ำมาได้ด้วยสติที่ทำให้เข้มแข็ง เพื่อก้าวเดินต่อไปในวงจรชีวิต มีนา อยู่คง ชาวกมลา และ คณะทำงานโครงการชีวิตสาธารณะ -ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.ภูเก็ต “พี่จะคิดว่ามันเป็นความต้องการของพระผู้เป็นเจ้ามากกว่า ในหลักศาสนาพระผู้เป็นเจ้าทรงเตือนให้เราเข้ามาทำในสิ่งที่ดีๆต่อไป อย่างในเรื่องของธรรมชาติ ก็อย่ารุกล้ำ เช่น คลอง หรือ อะไร อย่าบุกรุกเข้าไปให้มันเยอะนัก เพราะไม่ว่าจะเกิดกรณีเป็นสึนามิ หรือน้ำท่วม เป็นเพราะเราเข้าไปบุกรุกมากกว่า“ บรรยาย ก้าวใหม่ของ มีนา อยู่คง ไม่เพียงเพื่อตัวเอง และครอบครัว แต่ยังเผื่อแผ่สู่ชุมชนชาวกมลาด้วย ความเข้มแข็งทางจิตใจและวิธีคิดใหม่ในชีวิต เป็นสิ่งที่เธอได้รับจากการร่วมกิจกรรม ที่โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ จัดทำขึ้น มีนา อยู่คง ชาวกมลา คณะทำงานโครงการชีวิตสาธารณะ -ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.ภูเก็ต “ในส่วนขององค์กรเรา องค์กรเครือข่ายของเราที่เราทำอยู่ เขาไม่ได้ให้มาเป็นตัวเงิน แต่เขาให้ความรู้ ให้แนวคิดที่จะให้คนในชุมชนของเราช่วยเหลือตัวเองได้ ชุมชนนั้นมั่นคงได้ก็ต้องคนในชุมชน ไม่ใช่คนนอกที่จะเข้ามา แต่คนในชุมชนเองจะต้องเป็นคนทำ ไม่ว่าจะทำอะไร ก็ต้องให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานตรงนั้น บรรยาย แม้พิษภัย“สึนามิ”จะยังทำให้หลายคน หลายครอบครัว ทั้งชุมชน ยังมีบาดแผลที่ต้องรักษากันต่อไป แต่นั่นไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะวันนี้คนภูเก็ตกลุ่มหนึ่ง ได้เรียนรู้ถึงการใช้พลังใจ พลังความคิดและจิตเพื่อสาธารณะ มาร่วมกันพลิกฟื้นให้ชุมชน กลับมาเข้มแข็งและมีชีวิตชีวาอีกครั้ง จึงหวังได้ว่า อีกไม่นาน ภูเก็ตจะกลับมาเป็นไข่มุกแห่งอันดามันที่น่าภูมิใจของชาวไทยและอาคันตุกะต่างแดน แม้มีอีกหลายบาดแผลที่คนภูเก็ตต้องร่วมกันแก้ แต่หากได้เรียนรู้ร่วมกัน และใช้พลังสาธารณะ สร้างชุมชนให้เข้มแข็งอีกครั้ง อีกไม่นาน ภูเก็ตจะพลิกฟื้นกลับมาเป็นไข่มุกแห่งอันดามัน ได้อีกครั้ง บรรยาย ที่ จังหวัดพังงา “สึนามิ” สร้างความเสียหายให้กับเมืองเล็กๆ ที่สวยงามและสุขสงบแห่งนี้อย่างใหญ่หลวง แม้ว่าวิกฤติจากคลื่นยักษ์จะผ่านพ้นไปแล้ว แต่กลับเกิดบาดแผลใหม่ เป็นเรื่องคาใจคนในชุมชน จากสาเหตุความไม่ทั่วถึงและความไม่เป็นธรรมในการให้ความช่วยเหลือ เกาะคอเขา อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เกาะเล็กๆคนละฟากฝั่งทะเลกับชายหาดบ้านน้ำเค็ม เพียงแค่ข้ามแพขนานยนต์ไป 15 นาทีเท่านั้น แต่ความช่วยเหลือกลับแทบไปไม่ถึง โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ จังหวัดพังงา จึงประสานงานกับเครือข่ายทั่วประเทศ เพื่อชักชวนเยาวชนอาสาสมัคร ไปให้ความช่วยเหลือชาวเกาะคอเขา พระอาจารย์จบ กันตจาโร เจ้าอาวาส ที่พักสงฆ์ บ .ทุ่งตึก ต.เกาะคอเขา อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา “มีฝรั่งกับนักศึกษามา นอกนั้นเขาบอกว่าเสียหายเล็กน้อย ก็ผ่านเข้าไปข้างในหมด ทางราชการมา พาเข้าข้างในหมด ” สมยศ สิงหการ คณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ จ.พังงา “ส่วนตรงนี้ความช่วยเหลือต่อเนื่อง โดยเฉพาะชาวบ้านที่ยังไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีที่พักพิง หรือขาดหลายสิ่งหลายอย่าง ที่เป็นเครื่องอุปโภคบริโภค ยังได้น้อย ผมลงไปสำรวจข้อมูลก็เห็นว่า ส่วนอื่นๆ แม้จะหนัก แต่มีหลายหน่วยงาน หลายองค์กร ที่เข้ามารับผิดชอบ ทั้งภาครัฐภาคเอกชน แต่ที่นี่ พอมาดูจริงๆในส่วนที่เป็นข้างหน้า อาจจะถึง แต่ด้านหลังที่อยู่บริเวณหลังเกาะ เกือบไม่มีความช่วยเหลือเลยก็ว่าได้” บรรยาย สุนีย์ โดยดี ชาวเกาะคอเขาที่ “สึนามิ” พรากทั้งแม่ พี่สาว และบ้านอันเป็นที่รักหายไปพร้อมๆกัน รำลึกถึงความเจ็บปวด ที่ยังเป็นแผลลึกอยู่ในใจ สุนีย์ โดยดี ชาวบ้าน บ้านนอกนา ต .เกาะคอเขา อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา “พี่มีหกคนพี่น้อง ไม่เคยจากกันไปไหน ตอนเช้ายังได้นั่งคุยกันกับพี่ มาถึงก็สูญหายไป ทั้งแม่ทั้งพี่ คิดถึงมาก ไม่น่าเลย ตอนเช้ายังได้คุยกันอยู่เลย พี่รักพ่อแม่พี่น้องมาก ทำใจไม่ได้ ก็เอาแต่ร้องๆหาแต่พี่ ลูกก็บอกว่าให้ทำใจนะ เมื่อเขาจากเราไปแล้ว เราก็ต้องคิดเรื่องของเราว่าเราจะอยู่กันแบบไหน กลับมาบ้าน หม้อข้าว ถ้วยชามก็ไม่มี เสื้อผ้าก็ไม่มีใส่ ไม่มีอะไรสักอย่าง เราก็ท้อแท้ เราหมดไม่เหลืออะไร ไม่มีใครเหลืออะไรเลย” บรรยาย ในวันนี้ สุนีย์ ยิ้มได้อีกครั้ง เพราะได้รับความช่วยเหลือจากเยาวชนอาสาสมัคร จากหลายจังหวัดทั่วประเทศที่มารวมตัวกัน เพื่อร่วมแรงสร้างบ้านใหม่ให้ชุมชน วันนี้สุนีย์มีบ้านใหม่ ที่เป็นเสมือนสิ่งยึดเหนี่ยว และ กำลังใจให้สู้ชีวิตต่อไป สุนีย์ โดยดี ชาวบ้าน บ้านนอกนา ต .เกาะคอเขา อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา “น้องได้มาช่วยด้วยกำลังน้อง น้องจะขนดินขนทราย สงสารน้อง บางคนเขาก็ทำงานสบาย เรียนหนังสือ เขาต้องมาจับอิฐ ขนอิฐ ขนทราย แล้วร้อนก็ร้อน พี่เห็นก็สงสาร มือเขาก็แดง พี่ก็นึกนะว่าทั้งๆที่เขาถือแต่ปากกาสมุด น้องก็สละมาให้พวกเรา ต้องมาขนอิฐขนทรายให้เรา ดีใจมากๆเลย” น้องแอร์-น้องปิ๊ก เยาวชนอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัย “สึนามิ” จ.พังงา “สะเทือนใจที่สุดคงจะเป็นชาวบ้านที่เขาวิ่งมากอด มาร้องไห้ เราเป็นใคร เราสำคัญขนาดนั้นเลยเหรอ เขาไม่มีใครขนาดนั้นเลยหรือ ถึงขนาดที่ว่าเราเป็นใครที่เขาไม่รู้จักเลย แล้ววิ่งมากอดมาร้องไห้ คิดว่าเราเป็นที่พึ่ง รู้สึกสะเทือนใจ ทำให้คิดว่า เราอยู่นิ่งไม่ได้แล้วนะ ต้องมาช่วยเขาแล้วล่ะ และที่ประทับใจมากคือ หลายๆคนที่เราไม่รู้จัก แต่มารวมตัวกันเพื่อมาช่วยคนที่เราอยากช่วยเหมือนกัน ก็คือเพื่อนๆจากหลายๆจังหวัดทั่วประเทศ และที่ประทับใจมากๆคือ รอยยิ้มของผู้ประสบภัย เขาคอยยิ้มอยู่ตลอดเวลาที่เราทำงานอยู่กับเขา ทั้งๆที่เขาเหน็ดเหนื่อย เขาอ่อนล้าแต่เขาก็ยังยิ้มให้กำลังใจเราอยู่เสมอ” บาดแผลครั้งยิ่งใหญ่จาก “สึนามิ” เป็นบทเรียนสำคัญอีกบทหนึ่ง ของสังคมไทย ที่ต้องบันทึกความเสียหายและความสูญเสียใหญ่หลวง ทั้งชีวิต จิตใจ ร่างกาย ทรัพย์สิน และความเป็นชุมชน ทั้งยังสร้างบทเรียนของการเตรียมการเพื่อรับมือให้ได้หากภัยร้ายจะกลับมาอีก แต่ขณะเดียวกันก็ต้องบันทึกไว้ด้วยเช่นกันว่า ภายใต้ความสูญเสียที่ประมาณมิได้นั้น ได้สร้างวัฒนธรรมการช่วยเหลือเกื้อกูลที่ประมาณค่ามิได้เช่นกัน เป็นบทเรียนที่ทำให้คนไทยได้เรียนรู้ว่า ภัยใดบรรเทาได้ด้วยพลังใจเพื่อสาธารณะ ดังเช่นที่เราเห็นในบทเรียนจากสึนามิของคนภูเก็ตและพังงา |
สารคดี : บ้านเมืองเรื่องของเรา ชุดชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่
ผลิตโดย : งานพัฒนาการสื่อสารฯ โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา |
Be the first to comment on "สึนามิ แม้ทำลายล้าง แต่สร้างพลังใจสาธารณะ"