สื่อสาธารณะกับการมีส่วนร่วมของประชาชน

สื่อสาธารณะกับการมีส่วนร่วมของประชาชน

พลเดช  ปิ่นประทีป *

1. สื่อที่สังคมเป็นเจ้าของ

          มุมหนึ่งที่สำคัญในการทำความเข้าใจต่อสื่อมวลชนประเภทต่าง ๆ คือประเด็นว่าใครเป็นเจ้าของ เพราะจะทำให้สามารถเชื่อมโยงไปถึงเป้าหมายและบทบาทภารกิจของสื่อเหล่านั้นได้ง่ายขึ้น

            สื่อพาณิชย์นั้นมีภาคธุรกิจเป็นเจ้าของ จึงมีเป้าหมายการให้บริการสื่อสารเพื่อกำไรสูงสุดให้แก่ผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นบริษัท ซึ่งเป็นเรื่องปกติในระบบทุนนิยมเสรีของทุกประเทศทั่วโลก

            ส่วนสื่อรัฐก็มีรัฐบาลหรือส่วนราชการเป็นเจ้าของ ภารกิจจึงมุ่งรับใช้หน่วยราชการ และรัฐบาลเป็นสำคัญ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลและหน่วยงานราชการในแต่ละยุคสมัยที่จะกำหนดว่าจะให้มีบทบาทและน้ำหนักความเร่งด่วนในเรื่องอะไร

สำหรับสื่อสาธารณะนั้นสังคมส่วนรวมเป็นเจ้าของ กล่าวคือสังคมส่วนรวมได้แสดงเจตน์จำนงผ่านกระบวนการออกกฎหมายของรัฐสภาว่าให้จัดตั้งสื่อสาธารณะขึ้นโดยระบุวัตถุประสงค์ เป้าหมายและกำหนดที่มาของงบประมาณรายได้ไว้อย่างชัดเจน

สื่อสาธารณะจึงไม่ใช่เพียงแค่สื่อเพื่อสังคมเท่านั้น หากเป็นสื่อของสังคมอีกด้วย ดังนั้นกระบวนการมีส่วนร่วมของสังคมหรือประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ในฐานะผู้เป็นเจ้าของ จึงเป็นหัวใจของสื่อสาธารณะ เป็นคุณลักษณะสำคัญที่แตกต่างจากสื่อประเภทอื่น บางทีมีผู้เรียกเล่น ๆ ว่าเป็น รหัสพันธุกรรม (DNAหรือgene) ของสื่อสาธารณะที่เป็นตัวกำหนดสายพันธุ์ที่แตกต่างจากสื่อเดิม ๆ ที่มีอยู่ทั้งภายในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนเลยทีเดียว

2. ตัวชี้วัดประชาธิปไตยในเชิงคุณภาพ

          กระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยในรอบร้อยปีที่ผ่านมาอาจกล่าวได้ว่าผูกติดอยู่กับการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของสื่อมวลชน เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 นับเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนเมื่อสื่อถูกรัฐบาลนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการปราบปรามนักศึกษา – ประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย ในขณะที่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 การปิดกั้นสื่อของรัฐบาลเผด็จการทำให้ชนชั้นกลางหันมาตอบโต้โดยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่และแฟ็กซ์เป็นเครื่องมือในการเปิดเผยความจริงออกตีแผ่ จนถูกขนานนามว่า ม๊อบมือถือ

 

            หลังเหตุการณ์ครั้งนั้นจึงเกิด ไอทีวีขึ้นเป็นทีวีเสรีแห่งแรกจากแนวคิดในการเปิดเสรีภาพให้สื่อ ไม่ให้รัฐมาครอบงำหรือกำหนดทิศทาง แต่ในที่สุดก็พบว่าปัจจัยความอยู่รอดทางเศรษฐกิจเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้กลุ่มทุนทางการเมืองเข้ามาฮุบกิจการและใช้อำนาจการเป็นรัฐบาลไปปลดล็อคเงื่อนไขสัดส่วนข่าวกับบันเทิงไปจากเจตนาเดิม ไอทีวีจึงแปลงกลายไปเป็นสื่อพาณิชย์อย่างเต็มตัวนับแต่นั้น

 

 

            ในช่วงของความวุ่นวายทางการเมืองที่ต่อเนื่องอย่างยืดเยื้อและอำนาจรัฐพลิกขั้วไปมาตลอดเวลาระหว่างปี 2548 2554  ในขณะที่สื่อรัฐและสื่อทางเลือกใหม่ ๆ เช่น วิทยุชุมชน ทีวีดาวเทียม เคเบิ้ลทีวี และสื่อออนไลน์ ต่างถูกใช้เป็นเครื่องมือและอาวุธเข้าต่อสู้ห้ำหั่นกันอย่างรุนแรงโดยมีผลประโยชน์จากอำนาจรัฐส่วนบนเป็นเดิมพัน

 

            การพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารทั่วโลกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาและการขยายตัวของประชากรยุคดิจิตอลทำให้ภูมิทัศน์สื่อสารมวลชนเปลี่ยนแปลงไปมาก ในประเทศไทยเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรในเมืองแสวงหาทางเลือกใหม่ ๆ ในการรับข้อมูลข่าวสารโดยไม่ยึดติดกับสื่อกระแสหลักอย่างแต่ก่อน สื่อมิติใหม่ทางออนไลน์ช่วยให้ผู้คนสามารถสื่อสารทางตรงถึงกันได้มากขึ้น ประชาชนจึงไม่ใช่ผู้รับสารแต่เพียงด้านเดียวแต่ยังเป็นผู้ส่งสาร เป็นนักข่าวพลเมืองและเปิดโอกาสในการโต้ตอบ หรือสร้างพลังกดดันที่เป็นกลุ่มก้อนได้อย่างรวดเร็ว

            อย่างไรก็ตามสื่อมวลชนในมิติเก่าโดยเฉพาะโทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ยังคงมีบทบาทอย่างสูงมากต่อการกำหนดทิศทางความรับรู้ ทัศนคติและพฤติกรรมด้านต่าง ๆ ของประชาชนโดยส่วนใหญ่ ตลอดจนยังมีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงระดับนโยบายของรัฐ ดังนั้นการเกิดขึ้นของ ไทยพีบีเอส ในฐานะสื่อสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทยจึงเป็นการสร้างดุลทางการสื่อสารมวลชนในระบบประชาธิปไตยที่นับว่าก้าวหน้ากว่าอีกหลายประเทศในโลก

            บทบาทของสื่อสาธารณะ และสื่อมิติใหม่ของประชากรยุคดิจิตอล น่าจะเป็นพลังหลักในการปฏิรูปสื่อ และกำกับดูแลจริยธรรมของสื่อมวลชนกระแสหลัก ตลอดจนการขับเคลื่อนระบบประชาธิปไตยในยุคต่อไป

3. แนวคิดการมีส่วนร่วม: ความหมาย

 

 

          มีผู้ให้ความหมายคำว่า การมีส่วนร่วมไว้อย่างหลากหลาย มีความแตกต่างกันไปตามความเข้าใจ ความสนใจและประสบการณ์ของแต่ละบุคคล

 

ปาริชาติ  วลัยเสถียร และคณะได้ประมวลและสรุปภาพรวมไว้ในหนังสือกระบวนการและเทคนิคการทำงานของนักพัฒนาว่า การมีส่วนร่วมมีความหมายใน 2 ลักษณะ

1)      การมีส่วนร่วมในลักษณะที่เป็นกระบวนการของการพัฒนา

โดยการที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา ตั้งแต่เริ่มจนสิ้นสุดโครงการ ได้แก่ การร่วมกันค้นหาปัญหา การวางแผน การตัดสินใจ การระดมทรัพยากรและเทคโนโลยีท้องถิ่น การบริหารจัดการ การติดตามประเมินผล รวมทั้งการรับผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากโครงการ โดยโครงการพัฒนาดังกล่าวจะต้องมีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมของชุมชน

 

2)      การมีส่วนร่วมในนัยทางการเมือง ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท

 

          2.1) การส่งเสริมสิทธิและพลังอำนาจของพลเมือง โดยประชาชนหรือชุมชนพัฒนาขีดความสามารถของตนในการจัดการเพื่อรักษาผลประโยชน์ของกลุ่ม ควบคุมการใช้และการกระจายทรัพยากรของชุมชน อันจะก่อให้เกิดกระบวนการและโครงสร้างที่ประชาชนแสดงออกซึ่งความสามารถของตนและได้ประโยชน์จากการพัฒนา

 

          2.2) การเปลี่ยนแปลงการพัฒนาโดยรัฐ มาเป็นการพัฒนาที่ประชาชนมีบทบาทหลัก โดยการกระจายอำนาจในการวางแผนจากส่วนกลางมาเป็นส่วนภูมิภาค เพื่อให้ภูมิภาคเป็นเอกเทศ ให้มีอำนาจทางการเมือง การบริหาร มีอำนาจต่อรองในการจัดสรรทรัพยากรอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน โดยประชาชนสามารถตรวจสอบได้ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการคืนอำนาจ (empowerment) ในการพัฒนาให้แก่ประชาชนให้มีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของตนเอง ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงการพัฒนาที่เท่าเทียมกันของชายและหญิง (Gender) ในการดำเนินงานพัฒนาด้วย

4. ลักษณะของการมีส่วนร่วม

 

มีผู้ประมวลลักษณะการมีส่วนร่วมไว้ 5 แบบ ได้แก่ เป็นสมาชิก (Membership) เป็นผู้เข้าร่วมประชุม (Attendance at meeting),เป็นผู้บริจาคเงิน (Financial Contribution) , เป็นกรรมการ (Membership on Committees) และเป็นประธาน (Leader)

 

 

หรืออาจกล่าวโดยสรุปได้เป็น 2 แบบใหญ่ ๆ คือ

 

1)  การสนับสนุนทรัพยากร ได้แก่การสนับสนุนเงิน วัสดุอุปกรณ์ แรงงานหรือการช่วยทำกิจกรรมเช่นการวางแผน การประชุมแสดงความคิดเห็น การดำเนินการ การติดตามและประเมินผล

2)  การแสดงบทบาทในอำนาจหน้าที่ของผู้เข้าร่วม ได้แก่การเป็นผู้นำ เป็น

 

กรรมการ เป็นสมาชิก ซึ่งลักษณะการมีส่วนร่วมนี้ แสดงถึงระดับอำนาจของผู้เข้าร่วม จึงมีการ โต้แย้งว่าการมีส่วนร่วมโดยใช้วิธีการพัฒนาความสามารถของประชาชนเป็นเพียงการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าร่วมเพียงบางส่วน เพราะในหลายกรณีประชาชนไม่มีโอกาสเข้าร่วมในการตัดสินใจดังนั้นในกรณีเช่นนี้ทางออกที่ควรเป็นคือการเสริมพลังอำนาจ (Empowerment) แก่ประชาชน   

 

 

5. การมีส่วนร่วมของประชาชนในองค์กรสื่อ

 

          องค์กรสื่อหรือองค์กรอื่นใดที่มีนโยบาย หรือพันธกิจในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม มักมีระดับความเข้มข้นของการมีส่วนร่วมที่แตกต่างหลากหลายไปตามวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายขององค์กรนั้น ๆ ในภาพรวมสามารถแบ่งระดับการส่งเสริมบทบาทการมีส่วนร่วมของประชาชนได้เป็น 5 ระดับ ได้แก่

 

1)      Inform – มีเป้าหมายให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารตามที่องค์กรต้องการจะให้หรือองค์กรสามารถให้ได้

 

 

2)      Consult – ขอคำปรึกษาหรือรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในประเด็นต่าง ๆ ตามที่องค์กรมีความประสงค์จะได้เพิ่มเติม

 

 

3)      Involve – เชิญชวนหรือดึงภาคประชาชนเข้าร่วมในกระบวนการวางแผน หรือตัดสินใจในบางเรื่อง

 

 

4)      Collaborate – ร่วมมือกันเป็นพันธมิตรการทำงานในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งการตั้งเป็นกรรมการในองค์คณะที่มีอำนาจหน้าที่อย่างชัดเจน

 

 

5)      Empower – เสริมพลังอำนาจหรือกระจายอำนาจในระดับใดระดับหนึ่งให้ประชากรไปดูแลรับผิดชอบด้วยตนเอง

 

จะเห็นได้ว่าการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในความหมายอย่างแคบคือการที่ประชาชนสามารถเข้าไปสนับสนุนภารกิจของหน่วยงาน หรือองค์กรหนึ่ง ๆ ภายในกรอบของกฎหมาย หรือกรอบนโยบายขององค์กรนั้น

ส่วนในความหมายอย่างกว้าง คือการที่ประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและการบริหารองค์กรเหล่านั้นโดยผ่านกระบวนการทางการเมือง หรือการแต่งตั้งมอบหมายที่ชัดเจน

          สำหรับกรณีของไทยพีบีเอสนั้นโดยเจตนารมณ์ของกฎหมายจัดตั้งองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส ต้องการให้เป็นองค์กรที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเข้มข้นทั้งในความหมายเชิงการพัฒนาและเชิงนัยทางการเมือง ทั้งในด้านการร่วมสนับสนุนทรัพยากรและการมีอำนาจหน้าที่ ทั้งในระดับการมีส่วนร่วมอย่างแคบและอย่างกว้าง ดังที่กล่าวข้างต้นทุกประการ

            ดังปรากฎในกรอบความคิดการมีส่วนร่วมของ ส.ส.ท. ตามประกาศคณะกรรมการนโยบาย ฯ ว่าด้วยนโยบายการมีส่วนร่วมและการพัฒนาเครือข่ายดังนี้


6. กรอบความคิดการมีส่วนร่วมของ ส.ส.ท.

1)   การเชื่อมโยงและพัฒนาเครือข่ายทางสังคมเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสื่อสาธารณะทั้งด้านคุณภาพรายการ นโยบายและทิศทางการดำเนินงานและการตรวจสอบจากสังคม ถือเป็นนโยบายสำคัญของการบริหารงานทุกระดับในองค์การ

2)   การมีส่วนร่วมในการพัฒนาสื่อสาธารณะมุ่งหมายให้ครอบคลุมการเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน คือ การร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมทำ ร่วมประเมิน และร่วมรับประโยชน์ โดยมาจากความรู้สึกเป็นเจ้าของด้วยความศรัทธาเชื่อมั่นว่าสื่อสาธารณะเป็นสมบัติของประชาชน

3)   การสร้างการมีส่วนร่วมของ ส.ส.ท. จะต้องคำนึงถึงความหลากหลาย ความทั่วถึง และความเท่าเทียมในทุกมิติขององค์ประกอบที่มาร่วม ทั้งด้านฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม วัฒนธรรม วัย ระดับการศึกษา เพศ เชื่อชาติ ศาสนา ฯลฯ

4)   กระบวนการ ช่องทาง และวิธีสร้างการมีส่วนร่วมของส.ส.ท.จะต้องมีความหลากหลาย เอื้อแก่การเข้ามามีส่วนร่วมโดยสะดวก ระมัดระวังที่จะไม่กีดกันการมีส่วนร่วมโดยไม่เจตนาจากข้อจำกัดของระดับความรู้ ทักษะการสื่อสาร ความสามารถในการใช้และการเข้าถึงเทคโนโลยี ฯลฯ ซึ่งมีอยู่โดยไม่เท่าเทียมเทียมกันในตัวบุคคลและกลุ่ม

 

5)   ส.ส.ท.มุ่งสร้างการมีส่วนร่วมในเชิงรุก ไม่เพียงรอตั้งรับการเข้ามามีส่วนร่วมเพียงอย่างเดียว แต่จะแสวงหาวิธีการกระตุ้นและส่งเสริมให้กำลัง (Empower) แก่กลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มคนด้อยโอกาส กลุ่มเฉพาะ ให้เข้ามามีส่วนร่วมโดยทั่วถึงและเท่าเทียม

 

6)   ส.ส.ท. ให้ความสำคัญแก่การสื่อสารสองทางและการเรียนรู้ร่วมกันของผู้มีส่วนร่วมทั้งหมด 

 

7. การมีส่วนร่วมในกลไกสูงสุด : คณะกรรมการนโยบาย

 

          คณะกรรมการนโยบายเป็นกลไกบริหารสูงสุดขององค์กร กฎหมายได้กำหนดให้มีกรรมการที่มาจากการสรรหาจำนวน 9 คน โดยมีสัดส่วนเป็นผู้มีความรู้ความสามารถทางด้านสื่อสารมวลชน 2 คน  ด้านบริหารองค์กร 3 คน และด้านการมีส่วนร่วม 4 คนซึ่งมากที่สุด กรรมการแต่ละคนต้องผ่านกระบวนการคัดสรรโดยคณะกรรมการสรรหาที่เป็นอิสระตามที่กฎหมายออกแบบไว้อย่างรัดกุมและมีวาระการทำงาน 4 ปี

            นั่นหมายความว่าภาคประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและการบริหารถึงระดับสูงสุดขององค์กร รวมทั้งยังบ่งถึงนัยของการเป็นเจ้าของสื่อสาธารณะที่ภาคประชาชนจะมีตัวแทนเข้าไปดูแลได้ในกรรมการนโยบายทุกตำแหน่งอีกด้วย 

 

8. ร่วมสะท้อนความต้องการ : สภาผู้ชมผู้ฟัง

 

 

          สภาผู้ชมผู้ฟังเป็นกลไกสะท้อนความพึงพอใจและความต้องการของประชาชนที่ดูรายการข่าว สารคดีและสาระบันเทิงของไทยพีบีเอสโดยตรง กฎหมายได้ออกแบบให้มีสมาชิกที่มาจากกระบวนการสรรหาแบบมีส่วนร่วมจากกลุ่มเครือข่ายทางสังคมที่หลากหลายจำนวนไม่เกิน 50 คน และอาจมีสภาผู้ชมผู้ฟังในระดับพื้นที่อีกก็ได้

 

            กลไกสภาผู้ชมผู้ฟังจึงเป็นรูปธรรมการมีส่วนร่วมในหลายลักษณะทั้งในเชิงการเมืองและการพัฒนา ทั้งการตรวจสอบคุณภาพการบริการ สนับสนุนการบริหารองค์กร การร่วมเสนอนโยบาย การเสริมพลังและการกระจายอำนาจในระดับที่แน่นอน

 

            นอกจากสภาผู้ชมผู้ฟังแล้ว ไทยพีบีเอสยังมีกลไกศูนย์เพื่อนไทยพีบีเอส และCall Center ที่ทำหน้าที่รับฟังและรวบรวมข้อเสนอแนะและติ – ชมรายการตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งประชาชนทั่วไปที่รับชมรับฟังอยู่ทั่วประเทศจะสามารถสะท้อนความคิดเห็นและความต้องการที่มีต่อรายการทุกประเภทตลอดเวลาที่มีการออกอากาศ ข้อคิดเห็นติชมและเสนอแนะทุกชิ้นจะถูกประมวล วิเคราะห์ และป้อนกลับไปยังหน่วยปฎิบัติงานที่รับผิดชอบเพื่อใช้ประกอบการประเมินผลงานที่ผลิต – เผยแพร่และนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่งเพราะสื่อสาธารณะจะให้ความสำคัญต่อเสียงสะท้อนของผู้ชมที่กระตือรือร้นเหล่านี้มากกว่าคะแนนเรตติ้งเชิงปริมาณที่สื่อพาณิชย์ถือเป็นพระเจ้า

 9. มีส่วนร่วมในการผลิตสื่อ : ผู้ผลิตอิสระรายย่อย

 

 

          กฎหมายแสดงเจตนารมณ์ไว้อย่างชัดเจนว่าไทยพีบีเอสจะต้องให้ความสำคัญกับผู้ผลิตอิสระรายย่อยโดยกำหนดให้ต้องจัดงบประมาณประจำปีเพื่อการนี้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของการผลิตรายการ

            ผู้ผลิตรายย่อยดังกล่าวมีทั้งผู้ประกอบการสื่อเอกชนรายเล็กรายน้อย หน่วยงานองค์กรทางสังคมได้แก่มูลนิธิ  สมาคม สถาบันวิชาการ หรือกลุ่มเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคมต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนมีสิทธิและโอกาสในการเสนอโครงการที่จะผลิตและเผยแพร่รายการผ่านหน้าจอโดยได้รับการสนับสนุนเงินทุนการผลิตในอัตราที่เหมาะสม เป็นธรรม  และประหยัดมัธยัสถ์ตามอัตลักษณ์ขององค์การ ทั้งนี้ภายใต้แนวนโยบายและกรอบยุทธศาสตร์ขององค์กรที่ปรับเปลี่ยนไปตามจังหวะสถานการณ์ซึ่งจะปรากฎในแผนการจัดทำรายการประจำปี

            ในกรณีนี้จะเห็นได้ว่าเป็นรูปธรรมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอีกลักษณะหนึ่งที่เป็นการสร้างสรรค์และผลิตรายการเพื่อเผยแพร่ทางจอทีวีซึ่งเป็นพันธกิจหลักขององค์กร นอกจากนั้นกลุ่มเครือข่ายและองค์กรภาคประชาชนที่ตามปกติไม่สามารถเข้าถึงสื่อกระแสหลักก็จะมีโอกาสได้เผยแพร่เรื่องของตนและสะท้อนปัญหาผลกระทบ หรือความเป็นธรรมต่าง ๆ ที่ตนได้รับออกสู่สาธารณะ และสื่อสารถึงผู้บริหารประเทศไปพร้อมกัน

10. การร่วมรายงานข่าว : นักข่าวพลเมือง

          ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมาโครงการนักข่าวพลเมืองของไทยพีบีเอสได้ทำการฝึกอบรม และสนับสนุนการทำงานของนักข่าวอาสาสมัครภาคประชาชนจำนวนเกือบสามพันคนซึ่งกระจายอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศและมีผลงานเผยแพร่ผ่านหน้าจอโทรทัศน์ร่วมพันชิ้น รวมทั้งที่เผยแพร่ผ่านเว็ปไซด์และมัลติมีเดียขององค์กรอีกจำนวนมากกว่านี้หลายเท่าตัว กิจกรรมและการลงทุนพัฒนานักข่าวอาสาสมัครภาคประชาชนแบบนี้ก็เป็นอีกตัวอย่างรูปธรรมหนึ่งที่สะท้อนปรัชญาส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างเข้มข้นของภาคประชาชนที่น่าศึกษา

            นอกจากการรายงานข่าวแล้ว นักข่าวพลเมืองเหล่านี้ยังมีบทบาทในการผลิตสารคดีพลเมือง ภาพยนต์สั้น และการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาของชุมชนท้องถิ่นในระดับต่าง ๆ อีกด้วย

            ในกลไกระดับสถานีภูมิภาคของไทยพีบีเอสซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 3 แห่งได้แก่ ดีสลาตัน ณ แดนใต้ที่หาดใหญ่ , ทีวีจอเหนือที่เชียงใหม่ และทีวีจออีสานที่ขอนแก่น ก็มีกระบวนการมีส่วนร่วมอีกแบบหนึ่งที่น่าสนใจ กล่าวคือ การมีคณะกองบรรณาธิการสถานีภูมิภาคซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนกลุ่มเครือข่ายและผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาชนในพื้นที่ร่วมเป็นกรรมการกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของสถานี กลไกนี้มีหน้าที่กำหนดเนื้อหาสาระที่จะผลิตและเผยแพร่ในส่วนรายการภูมิภาคของตน


11. การใช้ประโยชน์จาก็ปไว์อาคารศูนย์การเรียนรู้

          อีกรูปแบบหนึ่งของการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนตามเจตนารมณ์ของกฎหมายจัดตั้งองค์การ ส.ส.ท. สะท้อนผ่านอาคารศูนย์การเรียนรู้ในสำนักงานใหญ่ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ซึ่งมีการออกแบบอาคารสถานที่ให้มีพื้นที่สาธารณะอย่างเพียงพอ และหลากหลายสำหรับประชาชนทั่วไป และกลุ่มเครือข่ายทางสังคมจะได้มาใช้ทำกิจกรรมเพื่อสังคม โดยมีความใกล้ชิดและเชื่อมโยงกับสื่อสาธารณะในอันที่จะผลักดันข้อเสนอต่อฝ่ายนโยบายของประเทศได้โดยสะดวกขึ้น

            ห้องประชุม ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์และลานสาธารณะต่าง ๆ ได้ถูกออกแบบไว้เพื่อรองรับภาคประชาชนโดยตรง รวมทั้งกำลังพัฒนาระบบบริหารจัดการที่เอื้ออำนวยต่อภาคประชาชนเป็นการเฉพาะ


12. มองไปข้างหน้า

          จากการเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ของคณะกรรมการการสื่อสารและการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกระแสแนวคิดที่ส่งผ่านออกมาใน (ร่าง)แผนแม่บทที่เกี่ยวข้อง เป็นที่คาดการณ์ว่าจะมีสื่อสาธารณะใหม่ ๆ เกิดขึ้นในประเทศไทยภายในระยะเวลาอีกไม่นานนัก ซึ่งอาจจะเป็นสถานีวิทยุหรือสถานีโทรทัศน์หรือทั้ง 2 แบบ และอาจเป็นสื่อสาธารณะระดับชุมชน ท้องถิ่น หรือระดับชาติก็ได้ ซึ่งบทเรียนรู้และประสบการณ์ของไทยพีบีเอสในฐานะสื่อสาธารณะแห่งแรกน่าจะเป็นประโยชน์อยู่ไม่น้อย

            นอกจากความเป็นมืออาชีพในด้านสื่อสารมวลชนและความเป็นแบบฉบับในเรื่องจริยธรรมวิชาชีพสื่อของสื่อสาธารณะแล้ว การมีส่วนร่วมของประชาชนคือระหัสพันธุกรรมที่แยกสื่อสาธารณะให้แตกต่างไปจากสื่อพาณิชย์และสื่อรัฐโดยทั่วไป

             หลักการการมีส่วนร่วมของสื่อสาธารณะมีขอบเขตที่กว้างขวางมากไม่ว่าจะมองในเชิงการพัฒนาสังคมหรือนัยทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของการร่วมสนับสนุนทรัพยากรแก่องค์กรสื่อ หรือลักษณะของการเข้าไปมีอำนาจหน้าที่ และไม่ว่าจะเป็นระดับความเข้มข้นของการมีส่วนร่วมในกรอบที่แคบหรือกรอบที่กว้าง

            ส่วนรูปธรรมของการมีส่วนร่วมนั้นนอกจากทิศทางนโยบายขององค์กรสื่อสาธารณะที่ประกาศชัดถึงหลักการมีส่วนร่วมแล้ว การออกแบบโครงสร้างการบริหารองค์กรและกลไกขับเคลื่อนต่าง ๆ คือหลักประกันที่เป็นรูปธรรมของการมีส่วนร่วมในภาคปฏิบัติ

            ไทยพีบีเอส กลุ่มและเครือข่ายองค์กรสื่อสาธารณะที่หลากหลายที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตล้วนเป็นคุณประโยชน์ต่อประเทศและสังคมประชาธิปไตยทั่วโลกได้ศึกษาแลกเปลี่ยนกันต่อไป

 


12. เอกสารอ่านประกอบ

 

1)      ปาริชาติ  วลัยเสถียรและคณะ , กระบวนการและเทคนิคการทำงานของนักพัฒนา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, กรุงเทพ ฯ , 2543

 

2)     สโรชา  พรอุดมศักดิ์ , พลังสังคมปฏิวัติสื่อ ,ในหนังสือสร้างเมืองไทยให้น่าอยู่ใน 999 วัน (เจิมศักดิ์  ปิ่นทอง : บรรณาธิการ) , สำนักพิมพ์ฃอคิดด้วยฅน , กรุงเทพ ฯ , 2553

 

3)      ระเบียบองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการดำเนินการของสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ พ.ศ.2551

4)     พระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551

5)     รายงานประจำปีผลการปฏิบัติงาน ประจำปี 2553 , องค์การกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.)

 

6)     ประกาศคณะกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพ  สาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ว่าด้วยนโยบายการมีส่วนร่วมและการพัฒนาเครือข่าย, 2552

          7)   Lee.J.Cary,Editor ,Community Development as a Process,Columbia : University of Missouri Pross, 1970.



[1] กรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ( 2551 2555 )

Be the first to comment on "สื่อสาธารณะกับการมีส่วนร่วมของประชาชน"

Leave a comment

Your email address will not be published.