สืบเนื่องจากเวทีอีสานโสเหล่ที่เมืองเลยที่อาจดูเหมือนคุยกันไม่จบดีนัก จึงเป็นที่มาของ เวทีอีสานโสเหล่ ภาคพิเศษ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการการสื่อสารเพื่อหนุนเสริมประสิทธิภาพงานให้บรรลุเป้าหมายโครงการ…
โดย วิลาวัณย์ เอื้อวงศ์กูล |
|||||||||
สืบเนื่องจากเวทีอีสานโสเหล่ที่เมืองเลยที่อาจดูเหมือนคุยกันไม่จบดีนัก จึงเป็นที่มาของ เวทีอีสานโสเหล่ ภาคพิเศษ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการการสื่อสารเพื่อหนุนเสริมประสิทธิภาพงานให้บรรลุเป้าหมายโครงการ โดยอาจารย์เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้จัดการงานพัฒนาการสื่อสารโครงการฯ พร้อมทีมงานสื่อสารสาธารณะอันได้แก่ นายหวาน นางสาวอ้อ และน้องหมู มาช่วยทำกระบวนการให้ตั้งแต่วันที่ ๑๔ – ๑๖ ก.ค. ๔๘ โดยมีโครงการชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.กาฬสินธุ์ รับเป็นเจ้าภาพเลี้ยงดูปูเสื่อเปิดหอพักนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฎกาฬสินธุ์ ( เฉพาะห้องพักที่ยังว่างอยู่เท่านั้นนะจ๊ะ ห้องที่มีนักศึกษาพักอยู่แล้วไม่เกี่ยว.. ) ต้อนรับผู้เข้าอบรม ๔๐ กว่าชีวิตบนมหา’ลัยที่เขาว่า…เป็นมหาวิทยาลัยที่เล็กที่สุดบนพื้นที่ที่กว้างใหญ่ที่สุดในประเทศไทย |
|||||||||
เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง กับการพิจารณาสื่ออย่างมีสติ ช่วยเปิดมุมมอง โลกทัศน์ ความคิด ความเชื่อ ของผู้ชมเป็นระยะ ๆ ผ่านท่วงทำนองและจังหวะจะโคนของสารคดีภาพเคลื่อนไหวที่ร้อยเรียงมาอย่างเป็นขั้นเป็นตอนเกี่ยวกับความเป็นเมืองชายแดน ๓ จังหวัดภาคใต้ ตั้งแต่ (๑) ความหลังที่ขังคน (๒) ความเป็นเมืองถิ่นชายแดน (๓) อำนาจรัฐจากส่วนกลาง (๔) ความไม่เท่าเทียมต่อวิถีวัฒนธรรม การศึกษา ฯลฯ และ (๕) กระแสรุกรานจากภายนอกทั้งระดับชาติระดับโลก ก้อนเนื้อทางความคิดทั้ง ๕ ค่อย ๆ ซึมซับเข้าสู่การรับรู้ของผู้ชม ทิ้งท้ายและเบรคแต่ละช่วงด้วยคำถาม ข้อคิด ข้อสังเกต ด้วยน้ำเสียงอันแน่นหนักของอาจารย์ขวัญสรวง อติโพธิ ผู้ทำหน้าที่เป็นพิธีกรและผู้อยู่เบื้องหลังงานสื่อชิ้นนี้อย่างใกล้ชิด แทรกคั่นก่อนเริ่มช่วงต่อไปด้วยการเปิดวงเสวนากับผู้ชมประมาณเกือบ ๆ ชั่วโมง โดยมีวิทยากรกระบวนการประจำกลุ่มทำหน้าที่ชักชวนและกระตุ้นให้แสดงความคิด ความเห็น และอาจมีบางคนปนความรู้สึกมาด้วย หลังจากที่โยนประเด็นคำถามนำเพื่อให้เกิดการพูดคุยอย่างเป็นสาธารณะ เช่น ท่านคิดว่าเหตุการณ์นี้เกิดจากอะไร? ในสถานภาพและบทบาทที่ท่านเป็นอยู่จะมีแนวทางแก้ไขปัญหานี้อย่างไร? ย้อนมาพิจารณาดูท้องถิ่นของท่านมี “เรื่อง” ทำนองนี้บ้างไหม? และจบลงที่ “หลังจากดูสื่อและร่วมเสวนาแล้ว ท่านรู้สึกและมีมุมมองอย่างไรต่อกรณี ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้?” เป็นเจตนาของคณะผู้จัดทำสื่อชิ้นนี้ที่ไม่ได้ทำขึ้นเพื่อชวนให้เชื่อโดยทันที หรือต้องมาคล้อยตามโดยไม่พินิจพิจารณาอะไรเลย แต่หากเป็นความตั้งใจทำและใช้สื่อชุดนี้เพื่อชวนและชงให้เกิดการคิดต่อ มองอย่างลุ่มลึก เพื่อให้เป็นสื่อที่สร้างสติในการดู–ชม และใคร่ครวญอย่างมีวิจารณญาณ เพียงหวังว่า…ความเข้าใจต่อกรณี ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้จะเป็นที่ประจักษ์ชัดขึ้นในความรู้สึกของความเป็นคนไทยด้วยกัน มิใช่การใช้สื่อกระแสใดกระแสหนึ่งเพื่อมาปลุกระดม ชวนเชื่อ หรือสร้างให้เกิดความรู้สึกแตกแยก แบ่งเขา แบ่งเรา เฉกเช่นที่เกิดขึ้นและแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วเหมือนเช่นในขณะนี้ ซึ่งหากมองในเชิงยุทธศาสตร์ ก็ต้องยอมรับว่านี่คือยุทธวิธีขั้นสุดยอดที่ฝ่ายผู้ไม่หวังดีกำลังดำเนินการอยู่ โดยมีสื่อมวลชน รัฐบาล ชาวบ้านและข้าราชการทั้งในและนอกพื้นที่ รวมถึงคนไทยอีกค่อนประเทศ กำลังเป็นตัวละครที่ตกเป็น “เหยื่อ” ให้เขาจับวางทั้งโดยไม่รู้ตัวหรืออาจรู้ตัวแล้วก็ตาม |
|||||||||
สุดท้าย การณ์กลับกลายเป็นคนไทยด้วยกันเองที่กำลังตกเป็นเหยื่อของความไม่รู้ และอารมณ์ของความเกลียดชัง ซึ่งถูกสั่งสมผ่านสื่อ ผ่านกระแส ผ่านเพียงความรู้สึก แล้วนำมากำหนดตัดสินปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด เพียงเพราะได้ยินผ่านสองหู ได้เห็นผ่านสองตา ได้อ่านผ่านตัวอักษร แต่เป็นความเลือนรางที่ห่างร้างจากความชัดเจน การฟังเสียงสะท้อนจากมุมของ ‘คนใน’ จึงจำเป็นไม่น้อยไปกว่าการเฝ้ามองในฐานะ ‘คนนอก’ ที่คอยเกาะรั้วอยู่รอบๆ เท่านั้น สื่ออย่างมีสติ กรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงน่าจะเป็นบทเรียนหนึ่งของความบรรจงที่จะสร้างความเข้าใจกับสาธารณะในมิติที่แตกต่าง เป็นการชวนมอง ชวนให้เข้าใจ ผ่านสายตาที่แฝงไว้ด้วยความรู้สึกนึกคิดของ ‘คนใน’ ที่ ‘คนนอก’ อย่างเราต้องพยายามเรียนรู้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่นเดียวกับการคิดที่จะทำสื่อ คิดจะใช้สื่อ หรือหากคิดที่จะสื่อสิ่งใดออกไป ต้องผ่านทั้งมุมของคนในและคนนอกอย่างใคร่ครวญ เพื่อจะได้ สื่อให้เป็น (รู้รูปแบบ วิธีการ จังหวะ ระยะห่าง ความเหมาะสม) สื่อให้ถึง (กลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน) และ สื่อให้ชัด (มีจุดมุ่งหมาย เนื้อหาไม่เบลอ ตรงตามเป้าประสงค์ที่ต้องการ) ไม่เผลอไผลตกเป็นเครื่องมือของใคร (ทั้งที่จะใช้เขา) หรือให้ใครอื่นหลอกใช้อยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า (แล้วงานตัวเองก็เดินไม่เข้าเป้าสักที) ก่อนจะมารู้ตัวอีกครั้งก็ตอนที่ทุกอย่างผ่านพ้นไปแล้ว…ทุกทีเลย
ปล. อย่าลืมหมั่นตั้งคำถามทุกครั้งที่ทำสื่อ ว่าเรา ได้ – ให้ – ใช้ – ชวน – เชื่อ – ชง งานสื่อเพื่องานเราแล้วหรือไม่ เพียงใด |
|||||||||
ที่มา : จดหมายข่าว “ฮักแพง” ปีที่ 2 ฉบับที่ 16 เดือนกรกฎาคม 2548 |
Be the first to comment on "สื่ออย่างมีสติ สื่อให้มียุทธศาสตร์"