สื่อ…กับความเข้มแข็ง…ของชุมชน

“ข้าราชการต้องอยู่เฉย ๆ ให้มาก นิ่งแล้วฟัง ควรฟังว่าชาวบ้านพูดอะไร มากกว่าฟังว่าเขาพูดอย่างไร ต้องไม่ใช่การไปจับผิดเขา”  แทบไม่น่าเชื่อว่า เสียงที่ได้ยินข้างต้น คือ คำพูดของข้าราชการคนหนึ่งต่อการเกิดขึ้นของวิทยุชุมชนในท้องถิ่นที่เขาพำนักอยู่…

จากเวทีโสเหล่ที่ด่านซ้าย จ.เลย

โดย  วิลาวัณย์  เอื้อวงศ์กูล

                     ข้าราชการต้องอยู่เฉย ๆ ให้มาก นิ่งแล้วฟัง ควรฟังว่าชาวบ้านพูดอะไร มากกว่าฟังว่าเขาพูดอย่างไร ต้องไม่ใช่การไปจับผิดเขา” 

          แทบไม่น่าเชื่อว่า เสียงที่ได้ยินข้างต้น คือ คำพูดของข้าราชการคนหนึ่งต่อการเกิดขึ้นของวิทยุชุมชนในท้องถิ่นที่เขาพำนักอยู่ ซึ่งน่าจะนำไปบอกต่อ ๆ กันให้ทั่วกับวิทยุชุมชนอีกหลายร้อยพันสถานีที่กำลังเบ่งบานและตั้งเสากันอยู่ดาษดื่นทั่วประเทศในขณะนี้

          เพราะการได้ยินได้ฟังชาวบ้านที่ยอมเสียสละเวลาส่วนตัวมานั่งจัดรายการวิทยุในชุมชนหรือท้องถิ่นของตนเอง  โดยไม่มีแม้แต่ค่ารถ ค่าเดินทาง ค่าตอบแทน ค่าขนม ค่าน้ำ หรือค่าเหนื่อย  ย่อมบ่งบอกถึง

ความตั้งใจและหัวใจของการเป็น นักพัฒนา ที่มาสวมบทผู้จัดรายการวิทยุและพกพา อะไร มาบอกมาเล่ามากกว่าจะให้ใครมาคอยนั่งจับสังเกตว่าจะพูดผิดพูดถูก ออกเสียงไม่ควบกล้ำ หรือตกอักขระตัวไหนตอนไหนในรายการหรือไม่

 

          อะไร ที่ว่านี้ต่างหากที่เปรียบเป็นมูลค่าเพิ่มให้กับสถานีวิทยุชุมชน เพราะหากเป็นวิทยุชุมชนโดยเนื้อแท้คงยากที่จะมีนักจัดรายการมืออาชีพมานั่งประจำอยู่ได้ตลอดทุกรายการ เป็นคุณค่าที่มีนอกเหนือไปจากเจตนารมณ์ที่ผู้ก่อตั้งต้องการผลักดันให้สื่อเล็ก ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องลงทุนมากมายได้ปรากฏตัวอยู่ในชุมชน เพื่อเป็นอีกทางเลือกของคนในชุมชนกับการเปิดรับสื่อ มากกว่าการถูกกำหนดให้รับเฉพาะข้อมูลข่าวสารจากสื่อส่วนกลางที่นำเสนอแต่สิ่งที่อยู่ไกลตัวจากความเป็นท้องถิ่นของตัวเอง

          การจะทำรายการวิทยุชุมชนที่แท้ คือ ทำไปเพื่ออะไร แก่นของมันคือ การเป็นนักพัฒนาที่สร้างสิ่งดี ๆ ในชุมชน ใช้วิทยุเป็นเครื่องมือในการพัฒนา สื่อสารสิ่งที่ต้องการทำเพื่อสังคมร่วมกัน  หลักใหญ่ คือ ประชาชนต้องมีช่องทางการสื่อสารของตนเอง เป็นเครื่องมือ กลไกของชุมชนในการสื่อสารกัน ไม่ให้ขาดช่วง

 

          ดร.เอื้อจิต  วิโรจน์ไตรรรัตน์ ผู้เคยคลุกคลีในวงข้าราชการแต่ผันตัวเองมาทำงานสื่อภาคประชาชนเต็มตัว กล่าวย้ำด้วยน้ำเสียงหนักแน่นจากประสบการณ์การทำงานวิทยุชุมชนในประเทศไทยมาตั้งแต่ยุคแรก ๆ  ฟังแล้วน่าจะทำให้กลุ่มคนฟังกว่าร้อยชีวิตในศาลาการเปรียญวัดโพนชัย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย รู้สึกมั่นใจและเห็นคำตอบขึ้นบ้าง หากละสายตาไปที่หัวข้อการเสวนาซึ่งเขียนบนป้ายผ้าหลังเวทีตัวโตว่า  สื่อ : เครื่องมือสนับสนุนกระบวนการชุมชนเข้มแข็งจริงหรือ? 


          ไม่นับรวมชาวบ้านร้านถิ่นที่ได้หมุนคลื่นวิทยุมาที่เอฟเอ็ม ๑๐๔.๕ เมกกะเฮิรต์ซ หรือที่ชาวบ้านแถบนั้นเรียกกันคุ้นปากว่า วิทยุชุมชนคนด่านซ้าย หรือผู้เฒ่าผู้แก่บางคนยังเรียกติดปากอยู่ว่า วิทยุวัดโพนชัย เหตุเพราะตัวสถานีที่ตั้งอยู่ชั้นล่างของหอระฆังภายในวัด   ผู้ฟังบางคนอาจกำลังครุ่นคิดในคำถามเดียวกันอยู่ว่า ด้วยอานุภาพของสื่อจะทำให้ชุมชนอย่างเขาเข้มแข็งได้จริง ๆ หรือ  บางคนอาจจะปักใจเชื่อโดยทันที ขณะที่หลายคนอาจยังลังเล  แต่ลำพังการถ่ายทอดสดการโสเหล่ (เสวนา) วิชาการที่จัดขึ้นในวันหยุดขัตฤกษ์ของเดือนพฤษภาคมที่ทำให้ชาวอำเภอด่านซ้ายหลายคนสามารถรับฟังเสียงการเสวนาอยู่ได้ในขณะนั้น  เบื้องหลังการถ่ายทอดสดที่ไม่ต้องเจรจาต่อรองกับผู้จัดรายการให้ยุ่งยาก ไม่ต้องกังวลเรื่องผลประโยชน์หรือค่าเช่าเวลาที่จะกระทบกับธุรกิจหลักล้านของใคร  อาศัยเพียงการพูดคุยตกลงกันแบบง่าย ๆ และเป็นกันเองระหว่างผู้ดูแลสถานีกับผู้จัดรายการที่มีช่วงเวลาตรงกับวันจัดงานพอดี เพียงแค่นี้ก็น่าจะพอพิสูจน์ได้ในระดับหนึ่งถึงการเป็นสื่อวิทยุชุมชนที่ทำหน้าที่เป็นกลไกการสื่อสารของชุมชนโดยคนในชุมชนเป็นผู้กำหนดเนื้อหาที่ตนเองสนใจได้เองโดยไม่ต้องรอการอนุมัติจากใคร

          เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การได้ยินได้ฟังหรือได้อ่านข่าวสารความเป็นไปที่มีความสำคัญระดับชาติหรือระดับโลก เป็นสิ่งจำเป็นจนบางคนไม่

สามารถตัดขาดได้ในภาวะโลกไร้พรมแดนเช่นนี้  แต่การมีสื่อกระแสหลักที่ครอบคลุมชีวิตชุมชนในทุกตำบลหนแห่งมายาวนานหลายสิบปีก็มิได้ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือของการสื่อสารที่กำลังสื่อเฉพาะเพียง สาร ที่จำเป็นหรือมีประโยชน์เท่านั้น  เพราะมันได้กลายเป็นเครื่องฉุดดึงคนในแต่ละท้องถิ่นให้ห่างไกลจากความเป็นตัวตนของตัวเองมากขึ้นทุกที

 

          ลัทธิบริโภคนิยมที่หลายคนพูดกัน แท้ที่จริงแล้วไม่ได้มาจากที่ไหนไกลไปกว่าจากหน้าจอทีวีที่บ้าน เสียงโฆษณาเจี้อยแจ้วที่คั่นในรายการวิทยุ เสียงประโคมเซ็งแซ่จากรถแห่ที่เพิ่งวิ่งผ่านหน้าบ้านไปเมื่อสักครู่  หรือแม้แต่สื่ออินเตอร์เน็ตที่หลายบ้านทยอยติดตั้งกันไปพร้อมกับโทรศัพท์บ้านที่โฆษณาหนาหูว่าทั้งเร็วทั้งสะดวกและราคาถูกโดยที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ซึ่งตกหล่นจากโลกเทคโนโลยีไม่สามารถจะรับรู้หรือตามลูก ๆ ได้ทัน

          ถ้าสื่อใหญ่พูดแต่เรื่องใหญ่ สื่อเล็กก็ต้องพูดเรื่องเล็ก เรื่องที่ใกล้ชุมชน แต่ไม่ใช่กบในกะลา  เป็นคำยืนยันอีกครั้งที่นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนคนเดิมช่วยประกาศศักดิ์ศรีของการเป็นสื่อท้องถิ่นหรือสื่อชุมชน

 

การมีสื่อเป็นของชุมชนจะต้องไม่ใช่แค่การมีเครื่องไม้เครื่องมือหรืออุปกรณ์พร้อมสรรพแล้วมีคนมานั่งจัดรายการ พอหมดเวลาก็จบกัน ชุมชนต้องเรียนรู้ที่จะผลิตสื่อเป็นของตัวเอง และสามารถใช้สื่อที่มีอยู่นั้นเป็นเครื่องมือนำไปสู่การเรียนรู้รากเหง้าและเข้าใจความเป็นชุมชนท้องถิ่นของตนเองได้  เพื่อให้คนในชุมชนเห็นคุณค่าและเกิดความภาคภูมิใจในรากเหง้าอันเป็นทุนดั้งเดิมของท้องถิ่นที่ไม่ต้องอาศัยเงินลงทุนมากมาย  แต่มีอยู่แล้วด้วยเพราะภูมิปัญญาของบรรพชนคนรุ่นก่อน  สิ่งสำคัญ การมีสื่อของชุมชนต้องสร้างให้เกิดสำนึกที่จะมาเอาธุระร่วมกันในเรื่องใด ๆ ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น เช่นเดียวกับการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนที่ต้องเกิดขึ้นไปพร้อม ๆ กัน

          มีตัวอย่างจากอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย  พื้นที่ที่คณะทำงานโครงการชีวิตสาธารณะ ท้องถิ่นน่าอยู่ภาคอีสาน ทั้ง ๘ จังหวัด ได้เดินทางไปศึกษาดูงานและร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยกันในวาระที่เวทีอีสานโสเหล่ครั้งที่ ๓ ได้เวียนมาบรรจบอีกครั้ง ระหว่างวันที่ ๔๖ พฤษภาคม ๒๕๔๘

 

          จากต้นแบบหลังการดูงานวิทยุชุมชนคนภูเรือและวิทยุเด็กและเยาวชน อำเภอเมืองเลย  ชาวด่านซ้ายกลุ่มหนึ่งได้นำแนวคิดการจัดตั้งวิทยุชุมชนมาทดลองทำ โดยระดมทุนจากงานบุญผ้าป่า เงินบริจาคจากหน่วยงานราชการ เอกชน และประชาชนที่มีจิตศรัทธาในอำเภอด่านซ้าย กระทั่งเพียงพอเพื่อจัดซื้อเครื่องส่งและวัสดุอุปกรณ์สำหรับออกอากาศได้  อาศัยความร่วมไม้ร่วมมือที่ทุกฝ่ายต่างเล็งเห็นประโยชน์และสันติสุขที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อคนด่านซ้ายทำให้ดึงการมีส่วนร่วมจากคนหลากหลายภาคฝ่ายได้ ทั้งจากวัด โรงพยาบาล สำนักงานที่ดิน องค์การโทรศัพท์ เทศบาล ผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งชาวบ้าน และเยาวชนที่สนใจเข้ามาทดลองเป็นอาสาสมัครจัดรายการวิทยุกันที่นี่

          เคยมีทันตแพทย์ท่านหนึ่งอยู่ที่นี่มา ๗ ๘ ปี ต้องย้ายกลับไปชุมพรบ้านเกิด พอคนจัดรายการเอามาพูดให้ฟังผ่านสถานี ก็มีชาวบ้านที่ได้ฟังรายการไปร่วมแสดงน้ำใจกับคุณหมอกันมากมาย  อีกกรณีหนึ่ง ชาวบ้านคนหนึ่งญาติเสีย ไม่รู้จะติดต่อรับเงินค่าฌาปนกิจศพอย่างไร พอเอามาพูดในรายการ ปรากฏว่าคืนนั้นมีคนไปช่วยงานรดน้ำศพกันไม่น้อยเลยอีกเหมือนกัน  น.พ.ภักดี  สืบนุการณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยุพราชด่านซ้าย เล่าด้วยความชื่นชมทั้งที่ไม่ใช่นักจัดรายการใด ๆ เลย  ด้วยความเชื่อว่าหากต้องการให้เกิดสถานีวิทยุที่เป็นของชุมชนจริง ชุมชนต้องมาเป็นคนทำ คนจัด และเป็นคนดูแลกันเอง

         

ชุมชนต้องมีอัตลักษณ์ มีความเป็นตัวตนของตัวเอง คนด่านซ้ายต้องพูดเรื่องของตนเองให้เป็นยุทธศาสตร์ได้  ไม่ใช่มาพูดยุทธศาสตร์ชาติซึ่งห่างไกลจากยุทธศาสตร์ของคนด่านซ้าย เสียงที่ได้ยินตามมายิ่งตอกย้ำขึ้นไปอีกว่า หากท้องถิ่นใดค้นหาความเป็นตัวตนของตัวเองพบ มีแง่มุมเชิงยุทธศาสตร์ที่จะนำไปสู่การพัฒนาท้องถิ่นของตนเองได้ ความเข้มแข็งของชุมชน ย่อมเกิดขึ้นและเป็นไปได้ในที่สุด

          ประเพณีหลายอย่างมักถูกตีตราเป็นเจ้าของโดยราชการ อย่างการอยู่ไฟของชาวบ้าน อยู่ ๆ กระทรวงสาธารณสุขที่เพิ่งตั้งมาสัก ๕๐ ปี  ก็มาบอกว่าอยู่ไฟไม่ดี ให้มาใช้การแพทย์สมัยใหม่  หรือประเพณีผีตาโขน ซึ่งถูกแสดงความเป็นเจ้าของโดย ททท. บางอย่างต้องเคารพภูมิปัญญาด้วย  คุณหมอหนุ่มที่แม้จะไม่ใช่คนด่านซ้ายโดยกำเนิดกล่าวตบท้าย

 

          ทุกวันนี้งานประเพณีผีตาโขนซึ่งเป็นวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของคนด่านซ้าย แต่มีชื่อเสียงโด่งดังไปแล้วทั่วโลกเนื่องด้วยเสน่ห์ สีสัน คุณค่า และภูมิปัญญาความเป็นท้องถิ่นที่สืบทอดมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ กำลังถูกกำหนดและควบคุมทั้งรูปแบบ วิธีการ ไปจนถึงช่วงวันเวลาการจัดงานเพียงเพื่อจะได้นำไปใส่ไว้ในปฏิทินการท่องเที่ยวเพื่อประชาสัมพันธ์ให้คนจากทั่วโลกมาร่วมงานกันมาก ๆ  โดยมิได้คำนึงว่า อันที่จริงแล้ว การกำหนดวันเวลาที่ชัดเจนจะสามารถระบุได้ก็ต่อเมื่อเจ้าพ่อกวนซึ่งสืบเชื้อสายจากรุ่นสู่รุ่นจะเป็นผู้ทำพิธีเข้าทรงเพียง ๑๐ กว่าวันก่อนหน้างานเท่านั้น  เพราะฉะนั้นในแต่ละปี ไม่ว่าใครก็ไม่สามารถทราบล่วงหน้าได้ว่าประเพณีผีตาโขนจะมีขึ้นในวันใด

 

          สิ่งที่ธำรงอยู่คู่เมืองด่านซ้ายมายาวนานกว่า ๔๐๐ ปีนี้ ไม่เคยเลยที่จะกระทบต่อวิถีชีวิตของคนด่านซ้าย  จนกระทั่งอิทธิพลของ สื่อใหญ่ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือเชิญชวนคนจากทั่วโลกให้เข้ามาเยือนดินแดนแห่งขุนเขาแห่งนี้ปรากฏขึ้น

          กรณีผีตาโขน คนด่านซ้ายต้องไม่ปรับตัวทั้งหมดเพื่อการท่องเที่ยว คนที่นี่ต้องเป็นคนที่นี่ เพราะผีตาโขนไม่ใช่หรสพให้คนมาเชยชมแล้วตีจาก   เสียงจากอีกด้านของเวทีโสเหล่ดังขึ้น  และดูเหมือนจะโดนใจคนด่านซ้ายอีกหลายคนทั้งที่นั่งอยู่ในศาลาการเปรียญและที่ฟังอยู่ทางบ้าน

          และหากวาทะดังกล่าวนี้กินเข้าไปถึงในใจคนด่านซ้าย  สื่อท้องถิ่นที่คนไทเลยด่านซ้ายร่วมกันสร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสื่อพื้นบ้านเช่นผีตาโขน สื่อบุคคลทางวัฒนธรรมเช่นเจ้าพ่อกวน หรือวิทยุชุมชนคนด่านซ้ายที่กำลังเดินเครื่องอยู่ขณะนี้ ย่อมจะเป็นกลไกสำคัญสู่การสร้างความเข้มแข็งของท้องถิ่นแห่งนี้ได้จริง

ที่มา : จดหมายข่าว ฮักแพง แปงอุบล

ปีที่ 2 ฉบับที่ 15 เดือนพฤษภาคม 2548  คอลัมน์  X – clusive

Be the first to comment on "สื่อ…กับความเข้มแข็ง…ของชุมชน"

Leave a comment

Your email address will not be published.