“สื่อ” วิทยุท้องถิ่น ต่อรองมาตรการ 30 วัตต์ 30 เมตร 15 กิโลฯ

กลุ่มเครือข่ายผู้ประกอบวิทยุท้องถิ่นไทยพบ “สุรนันท์ ต่อรองขอผ่อนผันมาตรการ 30 วัตต์ 30 เมตร 15 กิโล” เพื่อยื่นหนังสือขอโอกาสให้กลุ่มวิทยุท้องถิ่นสามารถดำเนินการภายใต้กรอบกำลังส่งไม่เกิน 500 วัตต์ เสาสูงไม่เกิน 60 เมตร รัศมีกระจายเสียงภายในจังหวัด

กลุ่มเครือข่ายผู้ประกอบวิทยุท้องถิ่นไทย (THAI LOCAL BROADCASTERS NETWORK) เข้าพบนายสุรนันท์ เวชชาชีวะ รมต. ประจำสำนักนายก ฯ เพื่อยื่นหนังสือขอโอกาสให้กลุ่มวิทยุท้องถิ่นสามารถดำเนินการภายใต้กรอบกำลังส่งไม่เกิน 500 วัตต์ เสาสูงไม่เกิน 60 เมตร รัศมีกระจายเสียงภายในจังหวัด มีโฆษณาธุรกิจและบริการของท้องถิ่น 70 % และพร้อมจะเสียภาษีให้รัฐและหักรายได้ส่วนหนึ่งสนับสนุนวิทยุชุมชน โดยขอให้รัฐผ่อนผันจากมาตรการดำเนินกับสถานีวิทยุชุมชนที่กำหนดหลักเกณฑ์ไม่ให้รบกวนคลื่นวิทยุการบินและกำลังส่งเกิน 30 วัตต์ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 15 มิ.ย. นี้เป็นต้นไป

นส.สกาว สืบสายเชื้อ ประธานเครือข่าย TLBN กล่าวกับนายสุรนันท์ว่าทางเครือข่าย ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกประมาณ 200 สถานี ได้มีการตรวจสอบกันแล้วว่าได้ใช้เครื่องส่งาตรฐานที่ไม่รบกวนคลื่นหลัก และคลื่นวิทยุการบิน แต่มีความกังวลว่าหากถูกลดกำลังส่งเหลือ 30 วัตต์ เสาสูงไม่เกิน 30 เมตร จะไม่สามารถประกอบธุรกิจระดับ SME ในท้องถิ่นได้ เพราะทางกลุ่มแม้จะเกิดขึ้นในช่วงที่มีการอลุ่มอล่วยให้มีวิทยุชุมชน แต่โดยเนื้อแท้ไม่ใช่วิทยุชุมชนที่ไม่ต้องการให้มีโฆษณา จึงอยากให้รัฐเปิดโอกาสให้สถานีวิทยุที่รองรับธุรกิจระดับท้องถิ่นให้สามารถอยู่ได้ อย่างน้อยจนกว่า กสช. จะเข้ามาจัดสรรคลื่นความถี่ เพื่อจะได้ทดลองเรียนรู้การออกอากาศเช่นเดียวกัน

นายสุรนันท์กล่าวว่าโดยหลักการรัฐเห็นด้วยที่จะให้มีวิทยุระดับ SME ที่รองรับภาคธุรกิจท้องถิ่น แต่เนื่องจากกลุ่มดังกล่าวไม่ได้มีมติ กกช. รองรับเหมือนกรณีของวิทยุชุมชน จึงต้องขอปรึกษากษฎีกา และฝ่ายกฎหมายว่าจะหากฎหมายอะไรมารองรับ เพราะไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นว่าตนจัดสรรคลื่นให้โดยผิดกฎหมาย

“จริง ๆ แล้วเรื่องกฎหมายไม่ยาก แก้ไขกันได้ แต่หลักเกณฑ์ต้องมีความโปร่งใสและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ประเทศไทยเราประนีประนอมกันได้ถ้าเป็นเด็กดีก็มานั่งคุยกัน ให้ตรวจสอบเครื่องส่งกันโดยดี แต่เรื่องการรบกวนวิทยุการบินผมยอมไม่ได้เด็ดขาด และถึงที่สุดเมื่อไหร่ที่ กสช. เกิด กติกาทุกอย่างก็ต้องมาเริ่มต้นว่ากันใหม่” นายสุรนันท์กล่าว

นายวุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายก ฯ กล่าวว่า ขอให้ทุกฝ่ายทั้งภาควิทยุกระแสหลัก วิทยุธุรกิจท้องถิ่น วิทยุชุมชน วิทยุภาครัฐ ได้เสนอแผนแม่บทมาเพื่อให้รัฐบาลโดยระดมนักวิชาการเรียบเรียงเป็นแผนแม่บทที่เสนอ กสช. เพื่อพิจารณา เพราะ กสช. เพียง 7 คนไปร่างแผนแม่บทเองอาจจะไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน

“รัฐยอมรับว่าวิทยุธุรกิจท้องถิ่นเหมือนคนที่มีโอกาสมาเตะฟุตบอลอยู่ข้างสนาม อยู่ ๆ จะให้เลิกเตะแล้วรอ กสช. ก็คงไม่ถูก เราต้องให้กลุ่มทุนเล็กทุนน้อยมีโอกาสทดลองการออกอากาศด้วย แต่วิทยุธุรกิจท้องถิ่นไม่ใช่วิทยุชุมชน จะต้องมีการศึกษาเพื่อหาทางออก ต้องปรึกษากฤษฎีกา ไม่ใช่รัฐเป็นฝ่ายทำผิดกฎหมายเอง เมื่อทางเครือข่ายวิทยุธุรกิจท้องถิ่นได้นำเสนอโครงสร้างที่ชัดเจน จะได้ขยายการผ่อนผัน แต่ทั้งนี้ทุกสถานีต้องยอมรับการตรวจสอบของภาครัฐด้วย และมีข้อห้ามว่าแต่ละสถานีไม่ให้ทำเครือข่ายการถ่ายทอดออกไปเป็นทอด ๆ ต้องเป็น SME โมเดล ไม่ใช่วิทยุระดับชาติ” นายวุฒิพงศ์กล่าว

นายวุฒิพงศ์ยังได้ร้องขอให้เครือข่ายช่วยประชาสัมพันธ์ด้วยว่าแนวคิดของการให้มีโฆษณาไม่ใช่เรื่องเลวร้าย เพราะถ้าไม่มีเลย แล้วไปรับเงินจากต่างชาติ หรือรับเงินจากองค์กรศาสนาเหมือนกรณีของหนังสือ “พลังแห่งชีวิต” จะเป็นเรื่องเสียหายยิ่งกว่า

อย่างไรก็ตามที่ปรึกษารัฐมนตรี ฯ ได้ย้ำหลักการอีกครั้งว่า วิทยุธุรกิจท้องถิ่นเป็นสิ่งที่ควรต้องเกิด เพื่อให้โอกาสของธุรกิจในระดับท้องถิ่น เช่นสินค้า OTOP กลุ่มแม่บ้านในจังหวัด หรือแม้กระทั่งร้านก๋วยเตี๋ยวในท้องถิ่น เพราะหลายจุดในหลายจังหวัดวิทยุกระแสหลักเองก็ยังครอบคลุมไม่ถึง

ดร.กณพ เกตุชาติ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายก ฯ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า รัฐมนตรีสุรนันท์ได้รับปากให้เวทีของกลุ่มวิทยุธุกิจท้องถิ่นได้มาร่วมเสนอแผนแม่บทด้วย ที่ผ่านมาการดำเนินการของ กทช. และกระประชาสัมพันธ์จะทำในส่วนของการรบกวนคลื่นวิทยุการบิน ซึ่งมีการสั่งระงับสถานีวิทยุชุมชนหลายสถานีในจังหวัดเชียงใหม่ อุดรธานี นครราชสีมา และล่าสุดที่ลพบุรีแล้ว และหลังจากวันที่ 15 มิ.ย. จะขยายลงไปเรื่องโครงสร้างในส่วนของวิทยุที่รบกวนคลื่นหลักและคลื่นโทรทัศน์ต่อไป

โดย มงคล บางประภา หนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ 6 มิ.ย. 48 สาระสำคัญของจดหมายและนิยามวทท. มีดังนี้ เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย (วทท.) ขอโอกาสเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้เตรียมความพร้อมวิทยุท้องถิ่นภาคเอกชนขนาดเล็กเต็มรูปแบบตาม พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาตรา ๒๖ การอนุญาตให้ประกอบการต้องคำนึงถึงสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างผู้ประกอบการภาครัฐภาคเอกชนและภาคประชาชนซึ่งขณะนี้มีแต่สถานีวิทยุภาครัฐ ที่ส่วนมากให้สัมปทานกับบริษัทเอกชนขนาดใหญ่เช่าทำธุรกิจ และสถานีวิทยุภาคประชาชน(วิทยุชุมชน)เท่านั้น และเพื่อให้ภาคเอกชนขนาดเล็กได้มีโอกาสประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่น และเป็นแนวทางสนับสนุนการจัดทำแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เมื่อมี กสช.แล้ว ดังนั้นจึงเรียนมาเพื่อขอโอกาสดังนี้

1.มาตรการของรัฐบาลที่จะทำการตรวจจุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนทุกแห่ง ตามประกาศวันที่ 27 พฤษภาคม 2548 ขอให้เป็นไปเพื่อตรวจสอบคุณภาพของเครื่องส่งให้เป็นไปตามมาตรฐานไม่ให้มีคลื่นไปรบกวนคลื่นอื่นๆและให้ระยะเวลาในการดำเนินการแก้ไข
1.1 ขอให้มีการตรวจสอบอย่างมีคุณภาพ และโปร่งใสไม่เลือกปฏิบัติ
1.2 ขอทราบหลักเกณฑ์ วิธีและกระบวนการตรวจวัด และมีผู้รับผิดชอบอย่างเปิดเผย
1.3 การตรวจสอบควรมีผู้แทนจาก 3 ฝ่าย วิชาการ ภาครัฐ ภาคประชาชน

2.ขอให้จัดเวทีสัมมนาภาคเรียนรู้ของผู้ประกอบการวิทยุเอกชนขนาดเล็ก และผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางในการปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรม

3.ขอให้ตั้งหน่วยงานรับผิดชอบและออกระเบียบโครงการการเรียนรู้วิทยุเอกชนขนาดเล็กแบบ SMEs ตามการเสนอของเครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย (วทท.) เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

ผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย (วทท.)

Thai Local Broadcasters Network

นิยาม ผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย (วทท.)

คือ “นักจัดรายการวิทยุอิสระท้องถิ่น ซึ่งดำเนินการโดยคนในท้องถิ่น เพื่อประโยชน์ท้องถิ่น และ เป็นอิสระจากกลุ่มทุนใหญ่”

คำอธิบาย “เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย (วทท)”

คือ กลุ่มนักจัดรายการวิทยุอิสระท้องถิ่น ซึ่งได้ดำเนินการจัดตั้งจุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชน ตามระเบียบกรมประชาสัมพันธ์ ว่า ด้วย จุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนสามารถ ซึ่งอนุญาตให้มีโฆษณาได้ไม่เกิน 6 นาที เครื่องส่งไม่เกิน 30 วัตต์ เสาส่งสูงไม่เกิน 30 เมตร และรัศมีไม่เกิน 15 กิโลเมตร และได้ผ่านการเรียนรู้มาในระยะเวลาหนึ่งแล้วนั้น จึงเห็นว่า ไม่สามารถที่จะดำเนินในลักษณะนี้ได้ อันเนื่องมาจากลักษณะของผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย (วทท.) ที่ต้องการกระจายข่าวสารข้อมูล และนำเสนอเนื้อหาในท้องถิ่นที่ครอบคลุมระดับจังหวัด ซึ่งจะต้องกว้างไกลกว่าวิทยุชุมชน อีกทั้งตามมาตรา 26 ยังได้ระบุไว้ชัดเจนว่า “ภาคประชาชนนั้นต้องดำเนินการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะและไม่แสวงหากำไรในธุรกิจ” ทางกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย (วทท.) เห็นว่าสัดส่วน ร้อยละ20 นั้นควรเป็นของวิทยุภาคประชาชนอย่างแท้จริง ดังนั้นจึงเห็นควรว่ากลุ่ม วทท. ควรจะต้องจัดอยู่ในกลุ่มวิทยุเอกชน ตาม กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 26 “…ให้คำนึงถึงสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างผู้ประกอบการภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน”

ดังนั้น สัดส่วนที่ภาครัฐและภาคเอกชนควรได้รับจะอยู่ที่ร้อยละ 80 และอิงตามมาตรา 25 คือ“…ต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนระดับชาติและระดับท้องถิ่น… รวมทั้งการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม และต้องดำเนินการในลักษณะที่มีการกระจายการใช้ประโยชน์โดยทั่วถึงในกิจการด้านต่างๆ ให้เหมาะสมแก่การเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ”

ดังนั้น เครือข่าย วทท. จึงมีความเห็นว่าควรจะจัดให้มีกระบวนการเรียนรู้สำหรับวิทยุภาคเอกชนระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย (วทท.) อันเนื่องมาจาก มีกลุ่มผู้ประกอบการวิทยุขนาดกลางและเล็กในลักษณะเดียวกันนี้ เกิดขึ้นและดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากประกาศดังกล่าวของกรมประชาสัมพันธ์

คำอธิบาย “การเรียนรู้ภาคเอกชนระดับท้องถิ่น (ผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย : วทท.)

คือ การเป็นวิทยุภาคเอกชนขนาดกลางและเล็ก ซึ่งเป็นคนในท้องถิ่น นำเสนอข่าวสาร และเนื้อหาของรายการเพื่อบริการท้องถิ่นที่ตนอาศัยอยู่ รวมทั้งมีการบริหารจัดการในรูปแบบของนิติบุคคล และต้องการมีแผนการเรียนรู้ภาควิทยุเอกชนขนาดกลางและเล็ก (SMEs) แบบครบวงจรดังต่อไปนี้

1. ด้านเนื้อหาสาระ

เนื่องจากเครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย(วทท.)ได้ระลึกเสมอมาว่าเราเป็นคนในท้องถิ่น ถือกำเนิดมาจากท้องถิ่นนั้น จึงอยากเห็นการพัฒนาด้านข้อมูลข่าวสาร สาระ ความบันเทิงสู่ท้องถิ่นในรูปแบบของรายการวิทยุที่ดี เพื่อประโยชน์สู่ท้องถิ่นดังนี้

1. เป็นการสื่อสารข้อมูลข่าวสาร จากภาครัฐสู่ประชาชน
– เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจอันดีร่วมกันกับข้อมูลที่ภาครัฐต้องการสื่อสารให้กับประชาชน
– เพิ่มรายละเอียดข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องให้สามารถสื่อสารสู่ประชาชนให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น
– สร้างทัศนคติอันดี ของประชาชนที่มีต่อรัฐ

2. เป็นการสื่อสารข้อมูลข่าวสาร จากประชาชนสู่ภาครัฐ

– รับข้อมูล ข้อร้องเรียน ปัญหาต่างๆ จากประชาชน สื่อสารผ่านสื่อให้รัฐได้รับทราบ
– เป็นสื่อกลางร่วมแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน โดยร่วมมือกับภาครัฐ
– หาทางออกของปัญหาให้กับคนในท้องถิ่น ได้อย่างแท้จริง

3. สื่อสารข้อมูลของประชาชนในท้องถิ่นสู่ท้องถิ่น

– เป็นการประชาสัมพันธ์ สื่อสารข้อมูลข่าวสารของประชาชนในท้องถิ่นร่วมกัน
– พัฒนาการเข้าถึงข้อมูลของท้องถิ่นร่วมกันกับประชาชน

4. สร้างสรรค์ ความเข้าใจ และความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนในท้องถิ่นด้วยกัน

5. สื่อข่าวสารสาระ และความบันเทิง ในท้องถิ่น เพื่อคนท้องถิ่น

6. สนับสนุนกิจกรรมของท้องถิ่นในด้านต่างๆ โดยคำนึงถึง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สังคม วัฒนธรรม ประเพณี การศึกษา กีฬา ฯลฯ

7. มีโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าโดยรวม ไม่เกิน 8 นาทีต่อชั่วโมง

8. สามารถตอบสนองด้านการโฆษณาของธุรกิจท้องถิ่นนั้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 70

– เพื่อการสนับสนุนธุรกิจในท้องถิ่นให้สามารถประชาสัมพันธ์ แบบเข้าถึงประชาชนในท้องถิ่น
– สร้างรายได้จากการโฆษณาให้เกิดการหมุนเวียนอยู่ในท้องถิ่นนั้นและตอบสนองคืนสู่ท้องถิ่น
– เพื่อให้ธุรกิจท้องถิ่นจ่ายค่าโฆษณาในราคาที่เหมาะสม และเป็นธรรม
– เพื่อตัดการผูกขาดด้านธุรกิจวิทยุท้องถิ่น โดยกลุ่มนายทุนใหญ่

2. ด้านจรรยาบรรณ

1. ต้องธำรงและรักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มีความเลื่อมใส และส่งเสริมการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข
2. เสริมสร้างความเข้มแข็ง ความรัก ความเข้าใจ ความสามัคคีภายในท้องถิ่นของตนเองและท้องถิ่นอื่น ไม่ก่อให้เกิดการทำลายวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น
3. เสนอข้อมูลข่าวสารอย่างตรงไปตรงมา ไม่บิดเบือนและแต่งเติม แยกข้อเท็จจริงออกจากความคิดเห็นส่วนตัว และสร้างบทวิเคราะห์อย่างเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
4. ไม่พูดส่อเสียด คำหยาบ เพ้อเจ้อ หรือคำพูดที่เป็นการลบหลู่ดูหมิ่น ดูถูกเหยียดหยามซึ่งทำให้ผู้อื่นเสียหาย รวมถึงศาสนา ประเพณี วัฒนธรรมความเชื่อของบุคคลทั่วไป
5. ให้ความเสมอภาคในการเสนอข้อมูลข่าวสาร มีความยุติธรรม มีความเป็นกลางทางการเมืองในทุกระดับ
6. ส่งเสริมการเรียนรู้ สิทธิและหน้าที่ของประชาชนชาวไทย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย การศึกษา เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ประเพณี ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม สังคม แบบเอื้ออาทรของท้องถิ่น
7. การดำเนินการใด ๆ จะต้องคำนึงถึงประโยชน์ของท้องถิ่นเป็นสำคัญ ดำเนินรายการโดยมีจิตสาธารณะ ซื่อสัตย์ ตรงต่อเวลา ทันเหตุการณ์และความต้องการของท้องถิ่น แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ
8. ดำรงไว้ซึ่งภาษาไทย ภาษาถิ่นที่สุภาพ และถูกต้องตามหลักของภาษา
9. เป็นผู้มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ และมีศีลธรรมประจำใจ ไม่เสพสิ่งมึงเมาใด ๆ ในขณะปฏิบัติหน้าที่ ทำตัวให้เป็นที่เคารพ รัก ศรัทธาของคนในท้องถิ่น
10. ดำรงไว้ซึ่งเกียรติ์ และศักดิ์ศรี แห่งความเป็นนักวิชาชีพนักจัดรายการวิทยุ

3. ด้านเทคนิค

1. ใช้เครื่องส่ง ไม่เกิน 500 วัตต์
– ให้เครื่องรับวิทยุในรัศมีทำการ สามารถรับสัญญาณได้คมชัดครอบคลุมภายในจังหวัด
– ให้ครอบคลุม รัศมีทำการในระยะ 50 กิโลเมตร

2. เสาส่งสูงไม่เกิน 60 เมตร

– เพื่อให้ครอบคลุมการกระจายเสียงไม่ให้เกินกว่าที่กำหนด
– ป้องกันการรบกวนคลื่นอื่น ๆ ที่อยู่ในแนวระดับเดียวกับเสาส่ง

3. มีการควบคุมการส่งกระจายสัญญาณทั้งความถี่ และเสียง มิให้ไปรบกวนคลื่นความถี่อื่น ๆ

– โดยใช้อุปกรณ์เครื่องส่งและอุปกรณ์ประกอบที่มีคุณภาพมาตรฐาน
4. มีการบำรุงรักษาอุปกรณ์ต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ
– ป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุต่อบุคคลอื่น
– ตรวจสอบอุปกรณ์ให้สามารถใช้งานได้ดีตลอดเวลา

4. ด้านการจัดการองค์กร

1. จัดตั้งโดยบุคคลในท้องถิ่นรวมตัวกันไม่น้อยกว่า 5 คน
– เพื่อคนในท้องถิ่นได้มีโอกาสดำเนินกิจการด้านวิทยุกระจายเสียงอย่างทั่วถึง
– ตัดการผูกขาดจากกลุ่มนายทุนขนาดใหญ่ หรือกลุ่มบุคคลจากนอกท้องถิ่น

2. จัดตั้งและดำเนินการในรูปแบบของนิติบุคคล
– เพื่อให้การบริหารจัดการเป็นไปแบบสากล
– ให้รัฐสามารถจัดเก็บภาษี และค่าธรรมเนียมได้อย่างถูกต้องและเป็นธรรม
– สร้างวงจรธุรกิจระดับท้องถิ่นแบบ SMEs ให้มีศักยภาพ

3. ถือหุ้นในกิจการวิทยุฯ ไม่เกินร้อยละ 20 ต่อคน
– ลดการผูกขาดจากบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
– ป้องกันการสร้างอิทธิพลในท้องถิ่น
– ป้องกันการผู้ขาดจากกลุ่มนายทุนขนาดใหญ่

4. มีงบลงทุนที่สามารถตรวจสอบได้ไม่เกิน 5,000,000 บาท

5. มีการจัดองค์กรในการบริหารงาน เป็นไปตามรูปแบบสถานีวิทยุอย่างมีมาตรฐาน

6. มีการจัดทำผังรายการสอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่นอย่างชัดเจน

5. ด้านการจัดสรรรายได้

เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย(วทท.) เห็นควรว่า การจัดรายการวิทยุผ่านการกระจายเสียง ทางคลื่นความถี่เป็นการใช้ทรัพยากรสื่อสารของชาติ เพื่อประโยชน์สาธารณะ ดังนั้น จึงเห็นว่าในระหว่างที่การจัดตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ยังไม่เสร็จสิ้น ควรจ่ายรายได้ส่วนหนึ่งจากการดำเนินการเข้าสู่กองทุนพัฒนากิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อประโยชน์สาธารณะ ตามมาตรา 31 อัตราส่วนร้อยละ 2 ต่อปี จากรายได้สุทธิ (ก่อนหักค่าใช้จ่าย) และยินดีจ่ายภาษีตามกฎหมายทุกประการ

– เพื่อเป็นการสนับสนุน สื่อภาคประชาชน(วิทยุชุมชน) ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
– เพื่อริเริ่มก่อตั้งกองทุนพัฒนากิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ก่อนที่จะเกิด กทช. และกสช.
– สร้างการเรียนรู้วิทยุภาคเอกชนขนาดกลางและเล็ก (SMEs) แบบครบวงจร
ดังที่กล่าวมาขึ้นต้นแล้วนั้น เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย (วทท.) ขอโอกาส ฯพณฯรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (คุณสุรนันทน์ เวชชาชีวะ) ซึ่งสนใจ และให้ความสำคัญกับการปฏิรูปสื่อตามรัฐธรรมนูญมาตรา 40 ให้กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย (วทท.) ได้มีเวทีเรียนรู้สำหรับวิทยุท้องถิ่นภาคเอกชนขนาดกลางและเล็ก (SMEs) อย่างเสรี และเป็นธรรม เช่นเดียวกับการเรียนรู้ของสื่อภาคประชาชนที่ผ่านมา และเพื่อเป็นแนวทางให้กับหน่วยงานที่จะเกิดขึ้นใหม่ ทั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ได้มีข้อมูล และมีแนวทางในการทำงานเพื่อให้ตอบสนองตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอย่างแท้จริง และสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติออย่างสูงสุดต่อไป

ที่มา : www.thaibja.org

Be the first to comment on "“สื่อ” วิทยุท้องถิ่น ต่อรองมาตรการ 30 วัตต์ 30 เมตร 15 กิโลฯ"

Leave a comment

Your email address will not be published.